ป.ป.ช.รับสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น 'ทวี-ยุทธนา' โดนร้องจงใจกลั่นแกล้งคดีฮั้วเลือก สว.

Last updated: 26 พ.ค. 2568  |  1167 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช.รับสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น 'ทวี-ยุทธนา' โดนร้องจงใจกลั่นแกล้งคดีฮั้วเลือก สว.

ป.ป.ช.ลงมติรับเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กลุ่ม สว. ร้องเรียน 'พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง' รมว.ยุติธรรม - 'พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ' อธิบดีดีเอสไอ จงใจกลั่นแกล้งคดีฮั้วเลือก สว. ให้ได้รับความเสียหายถึงขั้นล้มล้างการปกครอง เผย 4 ขั้นตอน ถ้าไม่มีมูลโดนตีตก

          จากกรณีกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดึเอสไอ) ตั้งข้อกล่าวหาฟอกเงินในการเลือก สว. หรือคดีฮั้ว สว. นำโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมคณะฯ ยื่นหนังสือถึงนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เพื่อส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการสืบสวนไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ทำให้ สว. ได้รับความเสียหายและอาจถึงขั้นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ นั้น

          เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้รับเรื่องที่กลุ่ม สว. ร้องเรียน พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.ต.ยุทธนา ไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ในขั้นตอนการรับเรื่องไว้ไต่สวนของ ป.ป.ช. มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้ 

          ขั้นตอนแรก คือ การรับเรื่องร้องเรียนซึ่งจะมีการพิจารณาว่าเรื่องที่ร้องเรียนมีมูลที่น่าจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบหรือไม่ ถ้าไม่มีมูลก็ให้ตีตกไป

          ขั้นตอนที่สอง หลังจากพิจารณาเรื่องร้องเรียนแล้ว ถ้าเห็นว่ามีมูลเพียงพอก็จะเสนอคณะกรรมการให้พิจารณาว่าจะมีมติรับเรื่องไว้ตรวจสอบเบื้องต้นหรือไม่

          ขั้นตอนที่สาม เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้รับเรื่องไว้ตรวจสอบเบื้องต้น ทางสำนักที่มีหน้าที่ในการดำเนินการ เช่น สำนักไต่สวนการเมือง ก็จะเข้าไปดำเนินการหากข้อเท็จจริง เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนให้ได้ข้อมูลประมาณ 70 - 80% ถ้าเห็นว่า ข้อมูลเพียงพอก็จะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะขึ้นมาไต่สวน

"ถ้าเป็นเรื่องสำคัญมีระดับรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีกรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะ หรือถ้าเรื่องสำคัญมาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะจะเป็นองค์คณะไต่สวนเอง ทั้งนี้ในการไต่สวนสามารถใช้ข้อเท็จจริงที่ได้จากตรวจสอบเบื้องต้นมาใช้ในสำนวนได้ด้วย"

          ขั้นตอนที่สี่ ถ้าการไต่สวน เห็นว่าข้อกล่าวหามูลก็จะแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและชี้แจงข้อกล่าวหา จากนั้นจะสรุปสำนวนเพื่อชี้มูลความผิดต่อไป

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-news/138260-invesnewsds-3.html

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้