กกต.ยันไม่ได้รับแจ้งจาก ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เหตุทุจริตวันเลือก ส.ว.ระดับประเทศ

Last updated: 20 พ.ค. 2568  |  3387 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กกต.ยันไม่ได้รับแจ้งจาก ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เหตุทุจริตวันเลือก ส.ว.ระดับประเทศ

กกต.แจงไม่ได้รับเรื่องแจ้งจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง เหตุการกระทำทุจริตการเลือก ส.ว. ในวันเลือกระดับประเทศ 26 มิ.ย. ชี้การนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อน แต่ข้อเท็จจริงยื่นแจ้งต่อ ปธ.กกต. พร้อมแจงจัด 6 มาตรการ ดักทางทุจริตการเลือก ส.ว.

          เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่มีบางสื่อนำเสนอข่าวว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ไม่ได้ดำเนินการกรณีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตามที่มีการแจ้งว่าจะมีโพยฮั้ว ส.ว. ซึ่งเป็นการเอื้อให้มีการฮั้วในวันเลือกระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ เมืองทองธานี

          โดยชี้แจงว่า 1.ในวันดังกล่าวไม่ได้ปรากฏว่ามีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดผู้ใด รายงานการกระทำผิดตามแบบรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้งข้อ 32 แต่อย่างใด ซึ่งหากพบการกระทำผิด เป็นหน้าที่ของกำหนดการเลือกตั้งประจำจังหวัด ต้องรายงาน กกต.ทันที เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และตามอำนาจต่อไป และแบบรายงานดังกล่าวจะเป็นต้นเรื่องเพื่อให้สำนักงาน กกต.พิจารณาดำเนินการตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวนไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด ปี 2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ปี 2566 ต่อไป แต่ปรากฏภายหลังการเลือก ส.ว.ระดับประเทศผ่านไปแล้วว่าผู้จัดการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ยื่นแบบตรวจการเลือกตั้ง ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ต่อประธาน กกต. ซึ่งผ่านการเลือกระดับประเทศไปแล้ว และ 2.ในวันเลือกระดับประเทศ พนักงานสืบสวนที่ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หรือร้องคัดค้านในการกระทำผิดในสถานที่เลือก ก็ไม่ได้รายงานว่ามีผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดผู้ใดยื่นแบบรายงานต่อพนักงานสืบสวน หรือมีผู้สมัครคนใดมาร้องหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานสืบสวน ที่จุดรับเรื่องร้องเรียนในสถานที่เลือก ถึงเหตุที่มีการกระทำผิดตามกฏหมายแต่อย่างใด ซึ่งการนำเสนอข่าวดังกล่าวที่มีการแจ้งว่ามีการกระทำผิดนั้นจึงไม่เป็นความจริง

          ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความสุจริตและเที่ยงธรรมในสถานที่เลือก กกต.และผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศ ได้มีมาตรการเพื่อการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม 6 มาตรการ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.จัดให้มีจุดรับเรื่องร้องเรียนเรื่องที่กระทำผิดอันอาจเป็นความผิดในสถานที่เลือก 2.จากสถานที่ให้สื่อมวลชนสังเกตการณ์มองได้อย่างชัดเจน 3.อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ตัวแทนจากสถานทูตประจำประเทศไทย หรืออียู และองค์กรเอกชนไทย เข้าไปสังเกตการณ์ในสถานที่เลือก 4.สั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งระดับจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าไปตรวจในสถานที่เลือก 5.บันทึกภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด ตั้งแต่เหตุการณ์ผู้มาสมัครรายงานตัว การลงคะแนน การนับคะแนน การประกาศผลคะแนน และ 6. สั่งการให้ชุดสืบสวนหาข่าวแฝงตัวในพื้นที่สถานที่เลือกและโรงแรมที่ผู้สมัครมาพักโดยรอบ เพื่อหาข่าวเกี่ยวกับการกระทำความผิดก่อนวันเลือกจนถึงสิ้นสุดกระบวนการเลือก

          โดยได้แนบตัวอย่างเอกสารแบบรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่จะมีการบันทึกแจ้งเหตุการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหรือการกระทำใดที่เป็นเหตุให้การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรมชอบด้วยกฎหมาย 2 หน้ากระดาษ ซึ่งเป็นเอกสารลับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้