“ทีวีดิจิทัล” ไปต่อหรือพอแค่นี้? ส่งสัญญาณ 3 ปี แห่ลาจอ จี้ กสทช. เร่งช่วยแก้ขาดทุน

Last updated: 14 มี.ค. 2564  |  3938 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ทีวีดิจิทัล” ไปต่อหรือพอแค่นี้? ส่งสัญญาณ 3 ปี แห่ลาจอ จี้ กสทช. เร่งช่วยแก้ขาดทุน

สารพันปัญหา กระทบ "ทีวีดิจิทัลถดถอย" ทั้งเศรษฐกิจ เทคโนโลยีดิสรัป คนดูจอแก้วลดลง กตป. เปิดเวทีโฟกัส กรุ๊ป ระดมความเห็นเอกชน เนชั่นฯ คาดผู้เล่นอยู่ต่อไหวแค่ 3 ปี นักวิชาการ จับตาสึนามิใหม่ลัง “ทีวีไทย” ชนะคดีฟ้อง กสทช. คืนไลเซ่นส์ เรียกเงินคืน

สารพันปัญหา กระเทือน "ทีวีดิจิทัลถดถอย" ต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจ เทคโนโลยีดิสรัป คนดูจอแก้วลดลง กตป. เปิดเวทีโฟกัส กรุ๊ป ระดมความเห็นเอกชน เนชั่นฯ คาดผู้ประกอบการอยู่ไม่ครบระยะเวลาถือใบอนุญาตฯ เชื่อ 3 ปี ชี้อยู่หรือไป นักวิชาการ จับตาสึนามิใหม่ หลัง “ทีวีไทย” ชนะคดีฟ้อง กสทช. คืนไลเซ่นส์ เรียกเงินคืน แนะรัฐอัพเดทกฏหมายให้ทันยุคสมัย เอื้อการฟื้นธุรกิจ

เป็นเวลาเกือบครึ่งทางของการเกิด “ทีวีดิจิทัล” ในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกไปสู่การประมูลโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเมื่อปี 2556 ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ได้เงินนำส่งเข้ารัฐกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ทว่า เส้นทางของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกลับไม่สวยหรู ผู้ชนะประมูลดีใจเพียงวันเดียว จากนั้นธุรกิจต้องเผชิญวิบากกรรมมาโดยตลอดทั้งงบลงทุนจากการประมูลที่สูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัว งบโฆษณาหดตัว เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดิสรัปอย่างหนักหน่วง การแข่งขันรุนแรง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ดูทีวีลดลง เป็นต้น

แม้ กสทช. ตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว หามตรการมาแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลถดถอย เยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล(ไลเซ่นส์) สนุบสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนอุปกรณ์โครงงการข่ายโทรคมนาคม กระทั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ใช้มาตรา 44 เปิดทางให้คืนใบอนุญาต มี 7 ราย โบกมือลาสมรภูมิ แต่สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลกยังไม่ดีขึ้น

ล่าสุด คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ได้จัดการประชุมเฉพาะกลุ่มหรือโฟกัส กรุ๊ป เพื่อติดตามและประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สําคัญในด้านกิจการโทรทัศน์ : การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ถดถอย พร้อมเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมองไปข้างหน้าคือการอยู่รอดจนครบกำหนดการถือครองไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัลอีก 8 ปีที่เหลือหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบันมีสภาพไม่แตกต่างจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเผชิญความยากลำบาก

ทั้งนี้ หากคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ลบหรือworst case scenario อาจเห็นทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 18 ช่องที่เหลืออยู่ได้ไม่ถึง 3 ปี แม้บางรายจะประเมินว่าอยู่ได้ถึง 5 ปีก็ตาม และแนวโน้มทีวีดิจิทัลในอนาคตจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยมีสินค้าหรือทีวีโฮมชอปปิงขายเกลื่อนจอ

นอกจากนี้ หากมองย้อนการลงทุนทำธุรกิจทีวีดิจิทัล ยอมรับว่าการประมูลเป็นต้นทุนที่สูงมากเกินไป ขณะเดียวกันเทคโนโลยี โลกดิจิทัล เข้ามาดิสรัปเร็วมาก จนทำให้ผู้ประกอบการมองไม่เห็นหายนะข้างหน้า

“มองย้อนไปตอนประมูลทีวีดิจิทัล เป็นการลงทุนที่สูง ไม่มีใครผิด และตอนนั้นเทคโนโลยีมาดิสรัปเร็วมาก เดือนธันวาคมที่ชนะประมูลผู้ประกอบการทุกรายดีใจหมด ผ่านไป 7 วัน เริ่มมองเห็นหายนะข้างหน้า เพราะไม่มีคอนเทนท์ เกิดรัฐประหารมีการเบียดบังเวลาในการออกอากาศของทีวีดิจิทัล ระหว่างทางผู้ได้รับใบอนุญาตเจออุปสรรคมากมายกระทบธุรกิจ แม้จะมีมาตรา 44 ออกมา แต่ช่วยธุรกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม เดิมจะมีการประมูลทีวีดิจิทัล 48 ช่อง ทำให้กสทช.มีการวางโครงงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโครงข่ายที่เปรียบเสมือนสร้างถนนรองรับจำนวนช่องดังกล่าว แต่การประมูลจริงมี 24 ช่อง ทำให้กลายเป็นการสร้างถนนแต่ปราศจากรถวิ่งถือเป็นการลงทุนที่สูญเสียมหาศาล ดังนั้นจึงควรหาแนวทางนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุงสุด เช่น ช่วงโควิด-19 ระบาดเด็กต้องเรียนหนังสือผ่านออนไลน์ อาจคลื่นความถี่ ช่องที่มีไปใช้ด้านการศึกษาได้ เป็นต้น

ส่วนทีวีโฮมชอปปิงที่มีเกลื่อนจอ ไม่ควรตั้งแง่รังเกียจ เพราะผู้ประกอบการต้องหารายได้เพื่อเอาตัวรอด และฝ่ากระแสดิสรัปต่างๆ เป็นต้น

นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวว่า ระหว่างกระบวนการสรรหาคระกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ถือเป็นเวลาที่ดีในมองหา กสทช. แบบที่ประชาชนคาดหวังในยุค 5G ซึ่งต้องมีฟังก์ชั่นที่สมบูรณ์เพื่อขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม

สำหรับภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัล 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งอยู่บนสถานการณ์หรือซีนาริโอที่ขาาดทุนมาโดยตลอด ส่วนแนวโน้มอีก 8 ปีที่เหลือของใบอนุญาตฯ ทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไรในยุค 5G จะมีโมเดลใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ ภาครัฐควรมีงานวิจัยในเรื่องเหล่านี้เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ที่ต้องจับตามองเป็นแรงกระเพื่อมที่อาาจเป็นสึนามิขนาดย่อมให้ทีวีดิจิทัล คือ กรณีศาลปกครองสุดตัดสินคดีให้นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของทีวีดิจิทัล ช่องไทยทีวีและโลก้า ชนะคดีที่ฟ้องร้องกสทช.สามารถคืนใบอนุญาตประกอบกิจการและได้เงินคืนค่าใบอนุญาตงวดที่ 1 ที่จ่ายไปแล้ว 152 ล้านบาทด้วย

“กรณีศาลปกครองตัดสินคดี ทีวีไทย อาจเป็นสึนามิโมเดลให้ 7 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต จะคิดคำนวณต้นทุนใหม่ว่าจะมีเงินทอนจากการได้รับเงินชดเชยหรือไม่”

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมทีวีถดถอย เกิดจากเนื้อหา ทำให้คนดูทีวีน้อยลง กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ควรมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตคอนเทนท์ และเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ภาครัฐต้องหาแนวทางสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์มาพร้อมคอนเทนท์ที่ดีแบบจีน สหรัฐ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบอบช้ำจากหลายประเด็น แต่อนาคตสิ่งที่กังวลคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่างๆควรเท่าทันเหตุการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น กรณีที่ผู้ประกอบการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์ทั้งภาพยนตร์ ซีรี่ส์ กีฬาฯ จากต่างประเทศ เพื่อออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ดึงสัญญาณ เนื้อหาไปออกอากาศแพลตฟอร์มอื่น ส่งผลกระทบให้ถูกฟ้องร้องจากเจ้าของสิทธิ์ แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงต้องการผลักดันให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

“ในการหารายได้โฆษณาสู่ทีวีดิจิทัลหลักแสนบาทเป็นเรื่องยากมาก แต่หากผู้ประกอบการถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนท์มหาศาล สภาพกลับกันอย่างมาก”

นอกจากนี้ การสร้างสรรค์คอนเทนท์ดีแต่ไม่มีคนดู ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้น แต่การจะเจาะกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ต้องใช้ภาษาเดียวกัน สร้างความใกล้ชิด มีส่วนร่วม แต่การเซ็นเซอร์กลับเข้มข้นมาก ส่วนการจัดระดับความเหมาะสมของรายการ เช่น เวลา 16.00-18.00 น. ช่วงเวลาของเด็กและครอบครัว ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายดูเวลาดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่ง กสทช.ต้องหาคำตอบให้ผู้ประกอบการ

“รัฐต้องกลับมาดูว่ากฏเกณฑ์ต่างๆ มีข้อกำหนดมากเกินไปไหมเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการเซ็นเซอร์การใช้คำพูดเข้มงวดมาก ทำให้เห็นอินฟลูเอนเซอร์ คนดังหนีจากผลิตคอนเทนท์ทางทีวีไปนำเสนอผ่านออนไลน์แทน”

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://www.bangkokbiznews.com | https://www.google.co.th/ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้