ปลุก ‘กสทช.’ รับบทหนุนธุรกิจไทยสู้ Digital Disruption

Last updated: 23 ม.ค. 2564  |  1543 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปลุก ‘กสทช.’ รับบทหนุนธุรกิจไทยสู้ Digital Disruption

เอกชนประสานเสียงฝากการบ้าน “กสทช.” ชุดใหม่ ปรับบทบาทจากผู้กำกับสู่บทบาทผู้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยแข่งขันเท่าเทียมไม่เสียเปรียบ ยักษ์ “แพลตฟอร์ม” ข้ามชาติ เร่ง 4 ภารกิจ สร้าง “อีโคซิสเต็ม 5G-ประมูลคลื่นใหม่-ไลเซ่นส์ ดาวเทียม-แก้กฎระเบียบ” ให้เท่าทันยุค “ดิจิทัลดิสรัปต์” ยกระดับธุรกิจพลิกโฉมประเทศ

งวดเข้ามาทุกทีกับการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ โดยคณะกรรมการสรรหา กสทช. กำหนดให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ และสัมภาษณ์ วันที่ 19 - 21 มกราคม 2564 ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะเสนอรายชื่อให้สมาชิกวุฒิสภาคัดเลือกได้ในเดือนมีนาคม และรับตำแหน่งเดือนเมษายน หรืออย่างช้าเดือนพฤษภาคม นี้ โดยกรรมการ กสทช. ชุดนี้จะมี 7 คน

ปรับบทบาทเสริมส่งธุรกิจ

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่ มีนโยบาย proactive ปรับเปลี่ยนจากความเป็นองค์กรกำกับไปสู่องค์กรส่งเสริมรองรับการเปลี่ยนแปลงจาก disruption technology ที่เกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาต ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. อย่างกรณีการมาของแพลตฟอร์มระดับโลกที่ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เช่น เน็ตฟลิกซ์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งกระดานสิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งผู้ประกอบการโทรทัศน์ คือ มีคู่แข่งระดับโลกเข้ามาแข่งในตลาดไทยโดยง่าย มีต้นทุนต่ำ ขณะที่ regulatory fee เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้รับใบอนุญาตในประเทศ อีกด้านยังทำร้ายผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องจัดเตรียมทรัพยากร ทั้งความถี่ที่มีราคาสูง ค่าใช้คลื่น ค่าเลขหมาย และค่า USO ภายใต้การกำกับอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ กสทช. ควรปรับปรุงระเบียบข้อบังคับและประกาศต่าง ๆ ให้ทันสมัย โดยจัดทำแผนแม่บทการใช้คลื่น (spectrum master plan), แผนกำหนดคลื่น (frequency plan) และการจัดสรรคลื่น (frequency allocation) สำหรับปัจจุบันและอนาคต โดยปรับปรุง พ.ร.บ.กสทช. ในส่วนการเพิ่มวิธีจัดสรรคลื่นจากเดิมที่มีเพียงวิธีประมูล

“เราพร้อมที่จะให้บริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าเสมอ แต่ในฐานะคนไทยอยากเห็นนโยบายที่สะท้อนการแข่งขันเท่าเทียม เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์ อย่างน้อยก็ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพชิงแชมป์กับเขาได้บ้าง ซึ่งเอกชนทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีนโยบายรัฐเป็นแกนหลัก กสทช.ต้องมุ่งเน้นส่งเสริมความแข็งแรงของผู้ประกอบการให้แข่งกับแพลตฟอร์มต่างชาติได้”

สร้างอีโคซิสเต็ม 5G

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวว่า กสทช.ชุดใหม่ควรสร้างอีโคซิสเต็ม 5G และดูแลผู้ประกอบการให้นำไปใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการ 5G รวมถึงปรับกฎระเบียบ และพิจารณามาตรฐานให้สอดรับเทคโนโลยี เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมพลิกโฉมไปมาก มีการออกร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศรองรับการให้บริการดาวเทียม และการใช้ประโยชน์จากอวกาศ

“การบริหารจัดคลื่นเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่ง เพราะเทคโนโลยีในอนาคตต้องใช้ความถี่ ทั้งเทคโนโลยีภาคพื้นดินหรือดาวเทียม และยังมีคลื่นที่ประมูลยังไม่หมด เช่น 1800 MHz หรือแม้แต่บริษัท NT ก็มีคลื่นในมือ ซึ่งตามกฎหมายจะนำมาใช้ได้ปี 2568 เป็นโจทย์ให้ กสทช.ชุดใหม่ต้องคิดว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร”

กสทช. มีแผนนำคลื่นวิทยุ FM ความถี่ 88-108 MHz มาจัดสรรใหม่ทั้งระบบแอนะล็อกและดิจิทัลในปี 2565 แต่ปัจจุบันยังไม่ยุติการให้บริการ ทั้งสถานีวิทยุ FM ที่เป็นพอดแคสต์หรือดิจิทัลวอยซ์ให้บริการโดยไม่ต้องขออนุญาต และแพลตฟอร์ม OTT ที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทยไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ จะอยู่ใต้การกำกับดูแลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ กสทช. ชุดใหม่ต้องจัดระเบียบ รวมไปถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก ทั้งโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง, เฟกนิวส์ และกรณีข้อมูลคนไทยโดนแฮกจากอีคอมเมิร์ซ

“หากไม่มีอะไรผิดพลาดใน 2 เดือนนี้คงเห็นหน้ากรรมการตัวจริง ถ้าจะช้าก็น่าจะอยู่ในขั้นวุฒิสภา ต้องลุ้นว่าจะเปิดประชุมทันหรือไม่ หากไม่ทันอาจลากยาวไปเดือนพฤษภาคม จากนั้นต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ให้ กสทช.ชุดใหม่ระดมความเห็น และกำหนดนโยบายต่าง ๆ”

ฝากเร่งเดินหน้า 4 ภารกิจ

ขณะที่นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสทช. ชุดใหม่มีภารกิจที่ต้องทำ คือ 1.สนับสนุน 5G 2.เปิดประมูลคลื่น 3500 MHz 3.ประมูลวงโคจรดาวเทียม และ 4.นำคลื่นที่ยังประมูลไม่หมด เช่น 900 MHz มาประมูล ส่วนภารกิจปลีกย่อยก็มี เช่น แก้กฎหมาย ปรับแก้ข้อกำหนดต่าง ๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง “เอกชนและผู้บริโภคคาดหวังต่อ กสทช.ชุดใหม่ต่างกัน ผู้ประกอบการโทรคมฯเป็นผู้เล่นรายใหญ่ต้องการให้สนับสนุน 5G โดยเฉพาะเอไอเอสและทรูมูฟ เอช เพื่อให้สร้างรายได้เพิ่มได้ เพราะผู้ประกอบการทำได้เพียงพัฒนาโครงข่ายและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องจาก 4G เป็น 5G ส่วนดีแทค หวังให้นำคลื่น 3500 MHz มาประมูล เพื่อให้ไทยมี 5G ที่มีมาตรฐานเท่าเทียมต่างประเทศ ซึ่งสำนักงาน กสทช. คงเตรียมไว้รอ กสทช.ชุดใหม่ชี้ขาด คาดว่าจะเกิดปีนี้หรือช้าสุดต้นปี 2565 รวมถึงการประมูลวงโคจรดาวเทียม จากสัมปทานไทยคมที่จะหมดเดือนกันยายน นี้

ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คาดหวังให้ กสทช. ชุดใหม่จัดทำระบบวัดความนิยมผู้ชม (เรตติ้ง) ในทุกแพลตฟอร์มให้สอดรับพฤติกรรมการรับสื่อผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณากลับมาแข็งแรงขึ้น ส่วนประชาชนคาดหวังให้ กสทช.กำกับดูแลการแข่งขันให้เหมาะสม ส่วนการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างประเทศอาจเกินบทบาท กสทช. สิ่งที่ทำได้ คือกำกับดูแลคอนเทนต์ แต่ต้องศึกษารายละเอียด เพราะถ้ากำกับมากไปก็อาจจำกัดเสรีภาพประชาชน

ดีอีเอส ฝากการบ้าน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กสทช.ชุดใหม่ ต้องเร่งพัฒนาการสื่อสาร โดยเฉพาะ 5G ให้มีการนำไปใช้ในทุกเซ็กเตอร์ และประมูลดาวเทียมเร็วที่สุด เพราะหลังประมูลต้องใช้เวลา 2 ปีถึงจะใช้งานได้ และเชื่อว่า กสทช. ชุดใหม่จะมีความรู้ ความสามารถ และมีส่วนขับเคลื่อนการสื่อสารของประเทศ ซึ่งต้องเร็ว ถ้าช้าจะตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้