Last updated: 23 มิ.ย. 2563 | 4203 จำนวนผู้เข้าชม |
มูลนิธิต่อต้านการทุจริต ชวนน้อง ร้อง รำ ทำอย่างไทย ต้านภัยทุจริต ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา รวมมูลค่ากว่า 600,000 บาท
>> ดาวโหลดใบสมัคร กดคลิ๊ก!! <<
๑. หลักการและเหตุผล
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาที่สำคัญของชาติที่สร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้รัฐต้องสูญเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน เศรษฐกิจถดถอยมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม และความมั่นคง ของชาติ งบประมาณแผ่นดินและทรัพยากรชาติต้องสูญเปล่าไปเป็นจำนวนมหาศาล แม้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย จะประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติก็ตาม แต่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ยังไม่สามารถขจัด ให้ลดน้อยลงได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดให้ทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในทุกมิติ
ซึ่งมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มีความมุ่งมั่นในการขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ โดยจัดให้มีกิจกรรมในการปลูกจิตสำนึกให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนของชาติให้เป็นคนดี ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อร่วมกันสร้างสังคมให้โปร่งใส ไร้การทุจริต และร่วมกันปลุกจิตสำนึกในการสร้างสังคม ที่ไม่ยอม ไม่ทน และไม่เฉยต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และได้จัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชน ทุกระดับให้เห็นถึงผลเสียหายของการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ อย่างต่อเนื่องตลอดมา สำหรับในปีนี้ มูลนิธิต่อต้าน การทุจริตได้ผนึกกำลังกับ กระทรวงวัฒนธรรม, ครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มทรู โดยการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารออมสิน จัดโครงการประกวด “การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน” ประจำปี ๒๕๖๓ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาอาชีวะศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ ส่งผลงานคลิปวิดีโอ การรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคมคม ๒๕๖๓ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเกียรติบัตร และทุนการศึกษามูลค่ากว่า ๖๐๐,๐๐๐ บาท
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อจัดการประกวดการต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการ ต่อต้านการทุจริต ให้กับพี่น้องประชาชนในแต่ละภูมิภาค ผ่านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่นนั้นๆ
๒.๒ เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตให้กับชาวไทยอย่างยั่งยืนสืบไป
๒.๓ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยร่วมกันสืบสาน เผยแพร่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงการแสดง พื้นบ้านแบบไทย ๆ เป็นการสร้างจิตสำนึกรัก และปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทยให้คงอยู่กับเยาวชนไทย
๒.๔ เพื่อแสดงถึงจุดยืนของมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน และครอบครัว ซึ่งเป็นกำลังพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของทุกสังคม
๒.๕ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงวิธีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตผ่านการประกวดโครงการนี้
๒.๖ เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าประกวด ในการร่วมมือกันรณรงค์ต่อต้านการทุจริต
๒.๗ เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มีคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
๒.๘ เพื่อนำผลงานที่ได้จากการประกวดในรอบชิงชนะเลิศมาใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของมูลนิธิต่อต้านการทุจริต, กระทรวงวัฒนธรรม, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มทรู เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทุจริตต่อไป
๓. การบริหารจัดการโครงการ
๓.๑ เจ้าของโครงการ : มูลนิธิต่อต้านการทุจริต
๓.๒ ผู้ดำเนินโครงการ : กระทรวงวัฒนธรรม เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มทรู
๓.๓ ผู้สนับสนุนโครงการ : ธนาคารออมสิน
๔. ประเภทการประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน
การแสดงพื้นบ้านรณรงค์ต่อต้านการทุจริตความยาวไม่เกิน ๗ นาที โดยผู้เข้าประกวดจะต้องส่งผลงานคลิปวิดีโอศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภูมิภาคที่โรงเรียนตั้งอยู่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นเชื่อมโยงให้เห็นถึงการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปการแสดงพื้นบ้านของตัวเอง
๕. คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าประกวด
๕.๑ ผู้สมัครต้องศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษา, มัธยมศึกษา หรืออาชีวะศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ
๕.๒ สมัครประกวดโรงเรียนละ ๑ ทีมเท่านั้น และจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้บริหารสถานศึกษารับรอง
๕.๓ สมาชิกในคณะการแสดงต้องอยู่โรงเรียนเดียวกัน
๕.๔ การแสดงมีจำนวนสมาชิกในทีมไม่เกิน ๑๕ คน
๖. การสมัครประกวด และการส่งผลงาน
๖.๑ ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.acf.or.th หรือ www.trueplookpanya.com
๖.๒ รูปแบบการจัดส่งผลงาน
ผู้สมัครแต่ละทีมส่งใบสมัครพร้อมผลงานการแสดงผ่านคลิปวิดิโอ ความยาวไม่เกิน ๗ นาที ประเภทไฟล์ mp4 (Full HD ๑,๙๒๐ x ๑,๐๘๐) และส่งบทร้องที่แสดงในคลิปวิดีโอ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้คณะกรรมการพิจารณา
๖.๓ ส่งมาที่ ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู
เลขที่ ๑๘ อาคารทรู ทาวเวอร์ ชั้น ๒๓ ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๑๐
ภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓
๖.๔ หรือส่งทาง E-mail : ppyactivities@trueplookpanya.com ภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ โดยการแนบลิงค์สำหรับให้เจ้าหน้าที่สามารถดาวน์โหลดได้ พร้อมกับแนบไฟล์ใบสมัครเป็น pdf.แบบชัดเจน
๖.๕ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ๐๒-๘๕๘-๖๔๗๑
๗. หลักเกณฑ์การจัดประกวด
๗.๑ การประกวดรอบแรก
๗.๑.๑ คณะกรรมการตัดสินรอบแรกประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต, กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงาน ป.ป.ช. เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ผู้แทนธนาคารออมสิน
- การแสดงที่เป็นไปตามแม่แบบถูกต้องตามประเพณีไทย หรือกระทรวงวัฒนธรรมรับรอง โดยสามารถประยุกต์การแสดงให้น่าสนใจ โดยต้องไม่ทำให้เสียเอกลักษณ์ความเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน
- มีเนื้อหาชักชวนให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านการทุจริต
- การแสดงไม่มีเนื้อหาหรือถ้อยคำที่หยาบคาย มีความหมายสองแง่สองง่าม หรือพาดพิงถึงบุคคล องค์กร หรือสถาบันให้ เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง
- การแสดงที่ส่งมาเป็นคลิปในรอบแรก ต้องสามารถแสดงจริงได้ในรอบชิงชนะเลิศ โดยคณะกรรมการมิได้คัดเลือกจากผลงานการถ่ายทำหรือการตัดต่อที่ดีและสมบูรณ์
๗.๑.๒ คณะกรรมการจะคัดเลือกการแสดงที่ดีที่สุดผ่านรอบแรก ๒๔ ทีม และรับเงินทุนการศึกษา ทีมละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตรของมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โดยคัดเลือกจากผลงานที่ส่งมาจากทั้ง ๔ ภูมิภาค ดังนี้
ภาคกลาง ๒๖ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสาราคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี บึงกาฬ
ภาคเหนือ ๑๗ จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี
ภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี
๗.๑.๓ คณะกรรมการอาจจะมีการแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขการแสดงของแต่ละทีมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งทีมที่ผ่านเข้ารอบแรกนี้ต้องนำไปปรับปรุงให้เหมาะสม แล้วจัดการแสดงพร้อมถ่ายคลิปส่งกลับมาให้คณะกรรมการพิจารณาในรอบต่อไป (ส่วนทีมที่ไม่มีคำแนะนำ อาจปรับปรุง และฝึกซ้อมการแสดงให้ดียิ่งขึ้น ก่อนถ่ายคลิปการแสดงส่งกลับมาให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง) ซึ่งทั้ง ๒๔ ทีมที่ผ่านรอบแรกต้องส่งตัวแทนเข้ารับฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุม กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร
๗.๒ การประกวดรอบที่สอง
คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงาน ป.ป.ช. เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน), ผู้แทนธนาคารออมสินโดยพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ ๘ ทีม เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป โดยพิจารณาจากผลงานที่มีเนื้อหาต่อต้านการทุจริตที่โดนใจ การแสดงที่งดงาม มีคุณภาพ ถูกต้องตามประเพณีของการแสดงในแต่ละภูมิภาค และมีความเหมาะสมสำหรับการแสดงรอบชิงชนะเลิศ
๗.๓ รอบชิงชนะเลิศ
๗.๓.๑ คณะกรรมการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วย มูลนิธิต่อต้านการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. กระทรวงวัฒนธรรม, เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ผู้แทนธนาคารออมสิน และสื่อมวลชน
๗.๓.๒ เกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการจะพิจารณาคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- เนื้อหา คำร้องต้องเป็นชุดเดียวกับในคลิปวิดีโอ ที่ส่งมาในรอบแรก แต่อนุญาตให้ปรับเพิ่มเติมเนื้อหาการแสดงหรือสร้างความน่าสนใจในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตได้ตามความเหมาะสม
- การแสดงต้องถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่กระทรวงวัฒนธรรมรับรอง
- เนื้อหาการแสดงสามารถชักชวนให้ให้ประชาชนมาร่วมกันต่อต้านการทุจริต
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และรูปแบบการแสดงที่น่าสนใจ
๗.๓.๓ ขั้นตอนการประกวด
- ผู้เข้าประกวดนำเสนอแนวคิดในการสร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ ๑ นาที
- จัดการแสดงในเวลาไม่เกิน ๗ นาที บนเวทีต่อหน้าคณะกรรมการ
- คณะกรรมการจะให้คะแนนจากการแสดงต่อหน้าคณะกรรมการเท่านั้น
- พิธีมอบรางวัล
- การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
๘. รางวัลการประกวด
๘.๑ รางวัลชนะเลิศ
- ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- เกียรติบัตรจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- ทุนการศึกษา ๑๐๐,๐๐๐ บาท
๘.๒ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑
- ถ้วยเกียรติยศ จากกระทรวงวัฒนธรรม
- เกียรติบัตรจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- ทุนการศึกษา ๘๐,๐๐๐ บาท
๘.๓ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒
- ถ้วยเกียรติยศ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- เกียรติบัตรจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- ทุนการศึกษา ๖๐,๐๐๐ บาท
๘.๔ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๓
- ถ้วยเกียรติยศ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- เกียรติบัตรจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- ทุนการศึกษา ๔๐,๐๐๐ บาท
๘.๕ รางวัลชมเชย ๔ รางวัล
- โล่เกียรติยศ ของมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- เกียรติบัตรจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
- ทุนการศึกษา ๒๐,๐๐๐ บาท
๙. กำหนดการโครงการประกวด "การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน" ประจำปี ๒๕๖๓
๙.๑ เปิดตัวโครงการ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
๙.๒ เปิดรับผลงานตั้งแต่ วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓
๙.๓ คัดเลือกรอบแรก ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ กันยายน ๒๕๖๓
๙.๔ ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรก วันจันทร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓
๙.๕ พิธีมอบรางวัลผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรก วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓
๙.๖ ผู้ผ่านรอบแรกเข้าฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓
๙.๗ ส่งคลิปวิดีโอที่ปรับใหม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกภายใน วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓
๙.๘ คัดเลือกผลงานรอบรองชนะเลิศ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓
๙.๙ ประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓
๙.๑๐ ประกวดรอบชิงชนะเลิศวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ต้นฉบับ โครงการประกวด "การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน" ประจำปี ๒๕๖๓
14 มี.ค. 2567