ครม.เห็นชอบกลไกเฝ้าระวังทุจริตเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท สั่งทุกหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน หากมีเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสทุจริตให้รายงานต่อ ศอ.ตช. ทันที
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ต้องการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ สังคม เอกชน และประชาชน โดยครอบคลุมทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส ซึ่งทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงานหรือโครงการ ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่แผนการดำเนินงาน การใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตผ่านทางเว็บไซต์ และจุดบริการข้อมูลข่าวสาร ผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่จะเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงาน และเว็บไซต์ภาษีไปไหน
- หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
- ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือปัญหาความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณตามแผนงาน/โครงการ
- เปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสการทุจริตของประชาชนที่เกิดจากการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ และเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางหรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐของ สพร. โดยให้ ศอตช. เป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงาน
2. การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ
- ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เป็นกลไกกำกับและขับเคลื่อน
- ให้ ศอตช. ทำการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่มีความเสี่ยงการทุจริตสูง เพื่อแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริต
- ให้ ศอตช. เผยแพร่ข้อมูลและสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส
3. เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสการทุจริตให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งในช่วงก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และหลังดำเนินโครงการ หากมีเหตุสงสัยหรือเรื่องร้องเรียนให้รีบดำเนินการตรวจสอบทันที
- ให้ ศอตช. ทำการตรวจสอบการดำเนินโครงการเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเรื่องร้องเรียน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานหรือข้อมูลว่ามีเหตุแห่งการทุจริตหรือไม่ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ
- เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสการทุจริตให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง พร้อมข้อมูลให้ ศอตช.
4. การดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัยและอาญา เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่ามีความผิด ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งนี้ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ทำการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ และรายงานต่อ ศอ.ตช. เพื่อดำเนินการต่อไป
- เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
- ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ทำการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2563) การรับรายงานผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และรายงานต่อ ศอตช. เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้รัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณ อย่างเข้มงวด และจริงจังสอดคล้องกับแถลงการณ์องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ที่กำชับให้ประเทศสมสาชิกระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณ และกำหนดให้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19