สช.ย้ำเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย "โควิด-19" เท่าที่จำเป็นได้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

Last updated: 8 เม.ย 2563  |  3827 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สช.ย้ำเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย "โควิด-19" เท่าที่จำเป็นได้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้สถานการณ์โควิด-19 ระบาด สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยเท่าที่จำเป็นได้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ พร้อมเร่งปูพรมขับเคลื่อนทั่วประเทศ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐ สู้ภัยโควิด-19” หามาตรการเชิงสังคม ที่ชุมชนมีส่วนร่วมเฝ้าระวังและลดการแพร่ระบาดโควิด-19

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุ อสมท. คลื่นความคิด FM 96.5 ช่วง ‘สานพลังสร้างสุขภาวะ’ ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพหรืออื่นใด โดยพื้นฐานแล้วมีกฎหมายปกป้องคุ้มครอง โดยข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพตาม มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปเปิดเผยเพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้นได้ เว้นแต่เจ้าตัวประสงค์ให้เปิดเผย หรือมีกฎหมายเฉพาะบางอย่าง ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็นและจำเพาะเจาะจงว่าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

“ยกตัวอย่าง มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 6 ราย จะเห็นว่าเป็นการเปิดเผยในลักษณะภาพรวมว่าเป็นชายหรือหญิง อยู่ไหน แต่ไม่จำเพาะเจาะจงถึงชื่อหรือตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการเปิดเผย เพราะถ้าไม่เปิดเลยสังคมก็จะสงสัย แต่ก็ไม่เปิดจนกระทบสิทธิส่วนบุคคล”

“ประเด็นสำคัญกว่านั้น หากในสถานประกอบการมีพนักงานเจ็บป่วย ต้องบอกว่าตอนนี้เกิดเหตุแล้ว และต้องระบุให้ชัดเจนว่าเขาติดต่อจากใครและใครมาสัมผัสจากเขา จึงต้องรู้ชื่อ นี่เป็นดุลพินิจในการเปิดเผย เพื่อป้องกันตัวเขาและคนอื่นด้วย”

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ แสดงทัศนะว่า สังคมควรมองในภาพใหญ่และต้องเข้าใจว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างรัดกุม เพื่อเฝ้าระวังอาการและป้องกันการแพร่เชื้อ โดยที่สังคมจะต้องไม่โทษกันและกัน เพราะจะยิ่งทำให้ผู้มีอาการหลบเข้ามุมมืด ตรงกันข้าม ควรให้คำแนะนำช่วยเหลือว่าผู้มีอาการต้องปฏิบัติตนอย่างไรและควรรีบติดต่อหน่วยงานรัฐทางช่องทางไหน เป็นต้น

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ และได้หารือกับภาคีองค์กรหลักๆ แล้ว ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางรับมือ ยับยั้ง และชะลอการระบาดใหญ่

โดย สช. กำลังเร่งมือให้เกิดการจัดเวที “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐ สู้ภัยโควิด19” ในทุกจังหวัด เพื่อระดมความคิด รณรงค์ เปลี่ยนความตระหนกให้เป็นความตระหนัก ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ช่วยกันเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ระดับชุมชน ครอบครัว และตัวบุคคล

“สช. มีเครือข่ายถึงระดับตำบล ที่มีธรรมนูญสุขภาพในมิติต่างๆ และสามารถไปจัดเวทีเครือข่ายพลเมืองระดับตำบลต่อ แล้วยังมีสภาองค์กรชุมชน พอช. ในระดับตำบล เมื่อจับมือกับกองทุนสุขภาพตำบลของ สปสช. ก็จะเป็นพลังทางสังคมที่ยิ่งใหญ่มาก”

“ถ้าลงไปถึงจังหวัด ตำบล โดยมีองค์กรชุมชนร่วมกันการจัดเวทีภาคพลเมือง หนุนเสริมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เห็นแนวทางว่าจะร่วมมือกับชุมชนช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร จะมีการทำจริงจังในระดับตำบลอย่างไร จะเฝ้าระวังอย่างไรเวลามีคนเข้ามาในชุมชน เพราะเจ้าหน้าที่ทางการกำลังไม่พอ แต่หากมี อาสาสมัครช่วยกันในชุมชน ก็ทำให้เกิดกำลังที่เพียงพอได้”

นอกจากนี้ สช. ยังจัดกิจกรรมเล็กๆ เพื่อร่วมเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่อว่า ‘สานพลังจิตอาสา หน้ากากผ้า สู่สังคม’ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่และภาคีร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยผ้า 500 ชิ้นเพื่อนำไปแจกให้แก่ภาคีและผู้ที่เข้าร่วมประชุมงานกับ สช. เป็นการช่วยลดปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน พร้อมกับให้ความรู้ในการใช้หน้ากากอนามัย “สช. อาสาเป็นเจ้าภาพเชื่อมร้อยเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดการเคลื่อนตัวทั่วประเทศ ถ้าร่วมมือกันขยายไปทั่วประเทศ ทางการก็จะเบา คนไข้รายใหม่ก็จะน้อย โรงพยาบาลก็จะรับมือกับผู้ป่วยลดลง” นพ.ปรีดา กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้