Last updated: 1 เม.ย 2563 | 2436 จำนวนผู้เข้าชม |
รายงานสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563
สถานการณ์ในต่างประเทศ
มีรายงานผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก รวม 197 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 นครรัฐ เรือ Diamond Princess เรือ Grands Princess และเรือ MS Zaandam ในวันที่ 31 มีนาคม จำนวน 789,240 ราย มีอาการรุนแรง 29,661 ราย เสียชีวิต 38,092 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ป่วยยืนยัน 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 164,359 ราย อิตาลี 101,739 ราย สเปน 87,956 ราย จีน 82,270 ราย (รวม ฮ่องกง 714 ราย มาเก๊า 38 ราย) เยอรมนี 67,051 ราย ฝรั่งเศส 44,550 ราย อิหร่าน 41,495 ราย สหราชอาณาจักร 22,141 ราย สวิสเซอร์แลนด์ 15,922 ราย และ เบลเยี่ยม 12,775 ราย
ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563
ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาจะส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน โดยจะส่งไปโรงพยาบาลที่ประเทศอิตาลีก่อนมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศอิตาลี นายกรัฐมนตรี แสดงความไม่พอใจต่อกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอในการช่วยเหลืออิตาลีขณะที่ยอดการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก
สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เปิดโรงเรียนสอนออนไลน์ในสัปดาห์หน้า และกำหนดตารางสอบเข้าเรียนประจำปีของวิทยาลัยใหม่
ประเทศมาเลเซีย เพิ่มมาตรการบังคับสถานีบริการน้ำมัน ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านอาหาร และบริการจัดส่งอาหาร ให้เปิดบริการระหว่างเวลา 08.00 น. ถึง 20.00 น. เท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2563
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เตรียมมาตรการเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของประชากรกว่า 270 ล้านคน ซึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คนงานหลายพันคนเดินทางออกจากเมืองหลวงจาการ์ตาซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดทำให้เกิดความกังวลว่าการติดเชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วหมู่เกาะ พร้อมทั้งสั่งห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส 2019
ประเทศสิงคโปร์ กองทัพสิงคโปร์จะทำการฝึกอบรมในกลุ่มย่อยและเลื่อนการฝึกอบรมในค่ายที่ไม่จำเป็นเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน
สถานการณ์ภายในประเทศ
การคัดกรองตามนิยามการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
การคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกที่ท่าอากาศยาน คัดกรองเที่ยวบินสะสมตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 36,151 เที่ยวบิน ผู้เดินทางได้รับการคัดกรองสะสมรวม 4,366,787 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยามการคัดกรองจำนวน 488 ราย การคัดกรองผู้เดินทางที่ท่าเรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 มียอดการคัดกรองเรือสะสม 1,198 ลำ มีผู้ที่เดินทางได้รับการคัดกรองสะสมรวม 130,075 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยามการคัดกรองจำนวน 2 ราย การคัดกรองผู้เดินทางผ่านด่านพรมแดนทางบก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 30 มีนาคม 2563 มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสมรวม 1,736,408 ราย และการคัดกรองผู้มาต่ออายุหนังสือเดินทางที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563 ถึง 31 มีนาคม 2563 ได้ทำการคัดกรองรวมทั้งสิ้น 137,860 ราย รวมพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยามการคัดกรองที่ช่องทางเข้าออกประเทศ จำนวน 490 ราย
ผลดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังโรค
วันที่ 31 มีนาคม 2563 ณ เวลา 18.00 น. พบผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังโรครายใหม่ จำนวน 1,401 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด จำนวน 20,097 ราย รายละเอียดตามตารางที่ 1
ขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1,651 ราย รักษาหายและแพทย์ให้กลับบ้าน 416 ราย ผู้ป่วยยืนยันที่เสียชีวิต 10 ราย ผลตรวจผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังที่เหลือ 18,446 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 10,853 ราย และอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 7,593 ราย
ผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่พบในประเทศไทย มีค่ามัธยฐานของอายุเท่ากับ 34 ปี (5 เดือน - 84 ปี) เพศชาย 915 ราย เพศหญิง 650 ราย (ชาย:หญิง = 1.41:1) ไม่ทราบเพศ 86 ราย สัญชาติไทย 1,386 ราย จีน 31 ราย ฝรั่งเศส 16 ราย อังกฤษ 15 ราย อเมริกัน 7 ราย ญี่ปุ่น 6 ราย อิตาลี 6 ราย พม่า 6 ราย เดนมาร์ก 5 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 4 ราย แคนาดา 4 ราย เยอรมนี 4 ราย สวีเดน 3 ราย เบลเยี่ยม 3 ราย ปากีสถาน 3 ราย เกาหลีใต้ 3 ราย สิงคโปร์ 2 ราย โปรตุเกส 2 ราย อินโดนีเซีย 2 ราย สเปน 2 ราย กัมพูชา 2 ราย อินเดีย 2 ราย เฟรนช์เกียนา 1 ราย อุซเบกิสถาน 1 ราย อิหร่าน 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย นิวซีแลนด์ 1 ราย ฟิลิปปินส์ 1 ราย ฟินแลนด์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย ไทย/เบลเยี่ยม 1 ราย รัสเซีย 1 ราย ลาว 1 ราย เวียดนาม 1 ราย แอลเบเนียน 1 ราย ไต้หวัน 1 ราย ไม่ทราบ 123 ราย ประวัติโรคประจำตัวที่พบ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง (9 ราย) ภูมิแพ้ (6 ราย) เบาหวาน (4 ราย) เบาหวานและความดันโลหิตสูง (5 ราย) หอบหืด (7 ราย) ความดันโลหิตสูง หัวใจโต และเกาต์ (1 ราย) ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (1 ราย) เบาหวานและไขมันในเลือดสูง (1 ราย) เบาหวานความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรัง (1 ราย) ไขมันในเลือดสูง (1 ราย) เบาหวาน มะเร็งลำไส้ และตับอักเสบ (1 ราย) สะเก็ดเงิน (1 ราย) ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการปรับตัว (1 ราย) มะเร็งต่อมน้ำลาย (1 ราย) ไซนัส (1 ราย) ไม่มีโรคประจำตัว (1,610 ราย) พบผู้ป่วยจากการคัดกรองที่สนามบิน 20 ราย เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยตนเอง 1,059 ราย จากการติดตามผู้สัมผัส 572 ราย และคัดกรองพบในกลุ่มพลเมืองไทยที่รับกลับจากเมืองอู่ฮั่น 1 ราย
มาตรการในประเทศไทย
มูลนิธิชัยพัฒนา โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญ และที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครนายก เป็นสถานที่ฟื้นฟูผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รักษาหายแล้วก่อนกลับบ้าน
กระทรวงการต่างประเทศ ประชุมศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศ พร้อมทั้งหารือเร่งช่วยคนไทยตกค้างกลับประเทศ และการบริหารจัดการคนต่างชาติที่ตกค้างในประเทศไทย รวมถึงการเดินทางออกจากประเทศไทยของคนต่างชาติ
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนการกระจายเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ระหว่างวันที่ 7 - 28 มีนาคม 2563 ซึ่งในส่วนของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) มีการกระจายไปแล้วกว่า 19 ล้านชิ้น และจัดหาเพิ่มอีกวันละ 1.3 ล้านชิ้น ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับเดือนเมษายนมีสต็อคเพิ่มอีก 3 แสนเม็ด
จังหวัดนนทบุรี ออกมาตรการเพิ่มเติมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีงดออกจากบ้าน ผู้ใกล้ชิด ผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยต้องดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ออกจากบ้านทุกคน งดการรวมกลุ่มเพื่อประกอบกิจกรรมทุกชนิด งานแต่ง งานบวชให้งดหรือเลื่อน งานศพให้ร่วมงานเท่าที่จำเป็น สถานที่ทำงาน สถานที่ก่อสร้างให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า จัดให้มีจุดล้างมือ หรืออุปกรณ์ล้างมือ และควบคุมไม่ให้เกิดความแออัดในที่ทำงาน พร้อมทั้งมีการออกประกาศสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ได้แก่ สถานศึกษาทุกระดับ ศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุมและสถานที่จัดนิทรรศการ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ตลาดและตลาดนัดเปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง ฯลฯ ร้านอาหารให้เปิดเฉพาะจำหน่ายอาหาร ห้ามมีพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหาร ส่วนร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดจำหน่ายได้ในช่วงเวลาตั้งแต่เวลา 05.00 - 23.00 น. อีกทั้งให้ผู้ให้บริการขอความร่วมมือจากผู้บริโภคให้สวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าร้านทุกคนและงดให้บริการแก่ผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งให้ปิดสถานที่ที่มีการให้บริการและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ
การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศงดให้บริการเชิงพาณิชย์ 22 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ 6 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ขบวน และสายใต้ 10 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยผู้โดยสารสามารถขอรับคืนเงินค่าตั๋วได้เต็มจำนวน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดหอพักกักตัว 57 นักศึกษาไทยที่กลับจากประเทศปากีสถาน เพื่อกักตัวนักศึกษาเป็นเวลา 14 วัน ก่อนส่งกลับภูมิลำเนา โดยมีคณะเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีเป็นผู้ดูแลการกักตัวในหอพักตามมาตรการกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
จังหวัดระนอง เตรียมออกประกาศบังคับใช้มาตรการคนนอกพื้นที่เข้า-ออกจังหวัดต้องมีใบรับรองแพทย์ เริ่ม 1 เมษายน สำหรับผู้ที่เข้าพื้นที่จังหวัดระนองมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่มาจากกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล พื้นที่เสี่ยง (พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด) ต้องรายงานตัวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายกเทศมนตรีและกักตัว 14 วัน หากพบมีการฝ่าฝืน จะมีโทษตามกฎหมาย โดยหลังจากนี้จะออกประกาศจังหวัด มีเนื้อหาบังคับให้ผู้ที่เดินทางออกจากจังหวัดระนองไปยังพื้นที่อื่น หากกลับมาต้องกักตัว 14 วัน ส่วนคนนอกพื้นที่ที่เดินทางเข้ามา ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ต้องมีใบรับรองแพทย์เช่นเดียวกัน และต้องกักตัว โดยจะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง 14 วัน
ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ออกประกาศห้ามร้านค้า-สถานประกอบการจำหน่ายสุรา แต่จำหน่ายสินค้าอื่นได้ พร้อมทั้งให้ปิดสถานที่ ได้แก่ ร้านค้าและสถานประกอบการขายสุรา ประเภท 1 ประเภท 2 ที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เป็นการชั่วคราว แต่ยังสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึง 16 เมษายน 2563 เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ออกมาเตือนประชาชน โดยระบุว่า ในหลายประเทศวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ผู้คนจะเล่นมุกตลกและเรื่องหลอกลวงต่อกัน ดังนั้นอย่าเผยแพร่อย่าแชร์ข่าวลวง ข่าวเท็จ ผิดกฎหมาย จะมีโทษหนัก และระบุว่าการแชร์ข้อมูลที่เป็นเรื่องเท็จอาจเสี่ยงมีโทษหนักตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
การสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ป้องกันได้โดยใช้หลักการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีน และประเทศที่มีรายงานการแพร่เชื้อในท้องที่ (Local transmission) ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย
ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีการรายงานการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศ ได้แก่ จีน (รวมฮ่องกงและมาเก๊า) เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ออสเตรีย เบลเยียม มาเลเซีย แคนาดา โปรตุเกส บราซิล เช็กเกีย อิสราเอล ออสเตรเลีย เกาะไอร์แลนด์ ปากีสถาน ฟินแลนด์ ตุรกี กรีซ ชิลี ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส สเปน อเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น หากมีไข้ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจ เหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันทีพร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางไปในเมืองของประเทศดังกล่าวข้างต้นร่วมด้วย โดยดูรายละเอียดได้จาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php
หลีกเลี่ยงการไปตลาดที่ขายซากสัตว์ป่าหรือที่มีชีวิตและการสัมผัสโดยไม่ใช้ถุงมือ
หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปากโดยไม่จำเป็น
ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
รับประทานอาหารปรุงสุกร้อน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข