Last updated: 4 มี.ค. 2563 | 1745 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช. ชี้มูล 3 ผู้บริหารการบินไทย กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบิน เอื้อประโยชน์เอกชนโดยมิชอบทำรัฐสูญ 147 ล้านบาท
วันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 15.30 น. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีพลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 กรมการขนส่งทางอากาศส่งข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 65 ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยในบริเวณส่วนของผู้ประจำหน้าที่ภาคอากาศ ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อทราบและถือปฏิบัติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ระบุไว้ใน ข้อ 5.2 และข้อ 6 กล่าวคือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องจัดให้มีวิธีการที่สามารถตรวจตราพื้นที่ด้านนอกประตูที่แบ่งเป็นส่วนของผู้ประจำหน้าที่ภาคอากาศโดยรอบทั้งหมดได้จากบริเวณปฏิบัติงานของนักบินแต่ละคน เพื่อพิสูจน์ทราบบุคคลที่ขอเข้าและเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัยหรือเหตุที่อาจเป็นภัยอันตราย
ที่ประชุมฝ่ายบริหารงานนโยบาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 26/2549 วันที่ 22 สิงหาคม 2549 ได้รับทราบและเห็นว่าในส่วนของอุปกรณ์ในห้องนักบินเพื่อรองรับข้อมูลปฏิบัติการบินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบบริเวณห้องนักบิน (Electronic Flight Bag/Cockpit Door Surveillance System, EFB/CDSS) เป็นเรื่องที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์ในห้องนักบินเพื่อรองรับข้อมูลปฏิบัติการบินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบบริเวณห้องนักบิน (Electronic Flight Bag/Cockpit Door Surveillance System, EFB/CDSS) ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 เพื่อพิจารณา และคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2549 วันที่ 30 สิงหาคม 2549 อนุมัติในหลักการให้ฝ่ายปฏิบัติการ (DO) ไปดำเนินการจัดหาโครงการ EFB/CDSS โดยเร็ว
เรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบและพัฒนาการบิน (OE) และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภารกิจพิเศษฝ่ายปฏิบัติการ สังกัดฝ่ายปฏิบัติการบิน ระดับรองผู้อำนวยการใหญ่ จึงมีหนังสือถึงเรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ขณะดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการ (DO) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เสนอแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดคุณสมบัติ ของระบบโครงการ EFB/CDSS ส่วนคณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับให้ฝ่ายช่าง (DT) เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากโครงการ EFB/CDSS มีการถ่ายโอนงบประมาณให้ฝ่ายช่าง (DT) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งระบบตามขั้นตอนและระเบียบของฝ่ายช่าง (DT) และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ลงนามอนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดคุณสมบัติของระบบ EFB/CDSS
ในขณะที่ฝ่ายช่าง (DT) ยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อโดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ และยังไม่มีการอนุมัติจัดซื้อจากคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้มีอำนาจตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ปรากฏว่าในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 เรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กลับมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) ถึง บริษัท Global Airworks Inc. แจ้งว่าได้รับการคัดเลือกให้เตรียมทำสัญญา และให้เริ่มดำเนินการโดยเร็ว
ต่อมา เรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ได้มีหนังสือที่ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ถึง เรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอให้เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ 070225-08 กับ บริษัท Global Airworks Inc. ซึ่งตามเอกสารที่เสนอให้ ลงนามในสัญญาดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการระบุว่าเป็นการจัดซื้อโดยวิธีใด ได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดซื้อและได้รับการอนุมัติจัดซื้อจากผู้มีอำนาจจัดซื้อตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 หรือไม่ อย่างไร แต่เรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กลับเห็นชอบ และเรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงนามในสัญญา Purchase Terms Agreement PTA 070225-08 MAY 17, 2007 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และเมื่อมีการทำสัญญาซื้อ EFB/CDSS กับบริษัท Global Airworks Inc. แล้ว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตรวจรับและชำระเงินให้แก่บริษัท Global Airworks Inc. ไปจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 147,395,028.586 บาท แต่ปรากฏว่าบริษัท Global Airworks Inc. ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงทำการเลิกสัญญากับบริษัท Global Airworks Inc. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าการกระทำของเรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และเรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลเป็นความผิดอาญา ฐานร่วมกันเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และฐานร่วมกันเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท ฐานจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ฐานฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทอย่างร้ายแรง ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2537 ข้อ 13.2.1 ข้อ 13.2.2 ข้อ 13.2.3 สำหรับการกระทำของเรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย
"การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด"