Last updated: 1 ธ.ค. 2562 | 8781 จำนวนผู้เข้าชม |
กระทำผิดนอกเวลาราชการและเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้... ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่ ?
โดย : นางสาวนิตา บุณยรัตน์ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักงานศาลปกครอง
การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นอำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยคำนึงถึงคุณภาพ ปริมาณงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่ได้ปฏิบัติ ตลอดจนการรักษาวินัยและการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ จะต้อง เป็นไปตามข้อ ๘ (๑) ถึง (๙) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๒ เช่น (๒) ในครึ่งปีที่แล้วมา ต้องไม่ถูกสั่งลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่ถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ ของตน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
กรณีที่ข้าราชการถูกดำเนินคดีข้อหาขับรถในขณะ “เมาสุรานอกเวลาราชการ” และศาลพิพากษาลงโทษจำคุก แต่รอการลงโทษ ๒ ปี ส่วนโทษทางวินัยให้งดโทษ แต่ให้ทำหนังสือทัณฑ์บน ... พฤติการณ์ดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่ ?
คดีที่จะยกมาเป็นอุทาหรณ์นี้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นในขณะใช้บังคับตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการ เลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่ตามข้อ ๗ (๒) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติไว้มีข้อความทำนองเดียวกับข้อ ๘ (๒) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยมูลเหตุเกิดจากผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งบุคลากร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด พบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน ๗๖ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิน ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และศาลแขวง ได้พิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ลงโทษจำคุก ๑ เดือน ปรับ ๓,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี ผู้อำนวยการส านักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากพฤติกรรมทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ ๗ (๒) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน จึงร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดซึ่งมีมติยกคำร้องทุกข์ จึงยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนและเพิกถอนมติยกคำร้องทุกข์ ข้อเท็จจริงคือ เป็นการกระทำความผิดนอกเวลาราชการในเวลากลางคืน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ โดยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ. ๒๕๔๔ จังหวัดได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงมาตรการในการลดและป้องกันอุบัติเหตุของจังหวัด จ านวน ๕ ข้อ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งให้บุคลากรในสังกัดทราบและถือปฏิบัติ โดยมาตรการข้อ ๔ กำหนดให้ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดีจากการกระทำผิดวินัยจราจร เช่น ไม่สวม ๒ หมวกนิรภัย เมาแล้วขับ จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนและงดบำเหน็จ เนื่องจากไม่เคารพกฎหมาย ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๖ พฤติกรรมความผิดของผู้ฟ้องคดี เป็นความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง หน้าที่ราชการของตนหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้การกระทำผิด กรณีเมาแล้วขับอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ.๒๕๔๔ การที่จังหวัดกำหนดมาตรการในการลดและป้องกันอุบัติเหตุ จำนวน ๕ ข้อ ซึ่งมาตรการข้อ ๔ กำหนดให้ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดีจากการกระทำผิดวินัยจราจร จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนและ งดบำเหน็จ เนื่องจากไม่เคารพกฎหมาย จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย นอกเหนือจากมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ และการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดนอกเวลาราชการและเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือทำให้เสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรพึงกระทำแต่ไม่ถึงขนาดเมาสุรา ในที่ชุมชนหรือมีพฤติการณ์อื่นที่ทำให้เกิดเรื่องเสื่อมเสียหรือถูกติเตียนรังเกียจจากประชาชนทั่วไป จนเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งโดยอาศัยเหตุที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดี ในเรื่องการใช้อำนาจ กำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ ของฝ่ายปกครอง จะต้องอยู่ภายในขอบเขตกฎหมายที่ให้อำนาจหรือหากมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ ฝ่ายปกครองก็ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ ที่นอกเหนือจากมติคณะรัฐมนตรีได้ และการใช้อำนาจดุลพินิจของผู้มีอำนาจจะต้องใช้ดุลพินิจบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ก้าวล่วงกรอบของกฎหมายและอย่างสมเหตุผลที่รับฟังได้ ไม่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ดังเช่น กระทำผิดนอกเวลาราชการและเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จำต้อง ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าทำให้เสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างไร ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ของตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างไร หรือไม่ เป็นต้น ( ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. ๑๒๕/๒๕๖๐ )