Last updated: 26 ก.ย. 2562 | 1996 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช. จัดสัมมนาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ช. จัดโครงการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประจำภาค 1 – 9 และผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องนนทบุรี 1 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าวรายงาน และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่องนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังจากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อแผนบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการเสวนา โดย นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายในหัวข้อ แนวทาง วิธีการปฏิบัติ ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับภาคและจังหวัด โดยวิทยากรประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (สปท.) นายปิติธรรม ฐิติมนตรี กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (สปท.)ดำเนินการอภิปราย โดย นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สำหรับการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประจำภาค 1 – 9 ได้ทราบแผนบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และบทบาท หน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับแต่งตั้งและเพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ได้ทราบแนวทาง และวิธีการปฏิบัติในการขับเคลื่อน การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตลอดจนเพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประจำภาค 1 – 9 และผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ในภารกิจการป้องกันการทุจริต
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประจำภาค 1 – 9 จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในภารกิจ แนวทางและวิธีการปฏิบัติในการขับเคลื่อน รวมถึงความเข้าใจในหน้าที่และอำนาจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนภารกิจตามหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ รวมถึงการกิจอื่นๆ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และบรรลุตามวัตถุประสงค์
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า การตั้งอนุกรรมการ สปท. จะทำให้การป้องกันการทุจริตเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเป็นการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการทุจริตอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมา ป.ป.ช. ถูกมองว่าทำงานด้านการปราบปรามการทุจริต แต่สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาการทุจริตได้คือการป้องกันการทุจริต การสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) มีเป้าหมายที่จะให้การทุจริตลดลง ประเทศไทยมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยเน้นความร่วมมือและการบูรณาการของทุกภาคส่วน และมีเป้าหมายที่จะให้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยได้คะแนนมากกว่า 50 คะแนน ภายในปี 2564 ซึ่งการจะทำให้ค่าคะแนน CPI ถึง 50 คะแนนนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นความฝันที่ยังเป็นไปได้
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ปัจจุบันค่าคะแนน CPI ของประเทศไทยอยู่ที่ 36 คะแนน ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังป่วยจากเชื้อโรคทุจริต การจะลดการทุจริตได้ต้นทางสายหลักคือการทำให้คนไทยรับรู้เกี่ยวกับผลเสียจากเชื้อโรคทุจริต และแยกแยกผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากกันได้โดยอัตโนมัติ สร้างสังคมที่รับรู้เรื่องการทุจริตในทุกระดับ ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการออกมาเปิดโปงการทุจริตมากยิ่งขึ้น อย่างกรณีโกงเงินคนพิการ กรณีอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังเริ่มไม่ทนต่อการทุจริตแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของแผนบูรณาการการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมวงเงิน 957 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 25 หน่วยงาน ซึ่งยังถือว่าเป็นงบประมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตในแต่ละปี @สื่อช่อสะอาด