Last updated: 15 ก.ย. 2562 | 5250 จำนวนผู้เข้าชม |
ท่ามกลางการชะลอตัวของอุตสาหกรรมโฆษณาสื่อดั้งเดิมหลายประเภท ที่สะท้อนผ่านภาพรวมการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องเรียกว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ "ลดลง"
หากย้อนกับไปดูตัวเลขโฆษณาที่ “นีลเส็น ประเทศไทย” รายงาน 5 ปี
ขณะที่สัญญาณปี 2561 เริ่มเห็นตัวเลข “บวก” ในเดือนตุลาคม 2561 โดยเม็ดเงินโฆษณา 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 2561 มีมูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.18% (สรุปเดือนธันวาคม 2561 และทั้งปี 2561 นีลเส็น จะรายงานตัวเลขในเดือนมกราคม 2562)
แม้ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาสรุปปี 2561 นีลเส็น ยังไม่รายงานออกมาอย่างเป็นทางการ ช่วงปลายปีก่อน สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 1.16 แสนล้านบาท เติบโต 4% เป็นการกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังถดถอยในช่วง 2 ปีก่อน พร้อมคาดการณ์ว่า ปี 2562 มูลค่าอยู่ที่ 1.21 แสนล้านบาท เติบโต 4% เช่นเดียวกับปี 2561
ปีนี้มีสัญญาณบวกที่ดี จากการเลือกตั้ง ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “เติบโต” ผู้บริโภคมีกำลังจับจ่ายมากขึ้น แต่ไม่ใช่ “ทุกสื่อ” เม็ดเงินจะกลับมาเติบโตในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อดั้งเดิมที่ยังอยู่ในช่วงเทคโนโลยี disrupt อย่างไรก็ตามพบว่าปี 2562 มี “3 สื่อ” ที่มีแนวโน้มชัดเจนว่ายังไปได้ต่อ คือ สื่อออนไลน์, โฆษณานอกบ้าน และทีวี
โฆษณา “ดิจิทัล” ยังแรงต่อ
ไม่ต้องบอกก็พอจะเดากันออกว่า “สื่อดิจิทัล” หรือ “ออนไลน์” ยังคงมาแรงและเป็นพระเอกในปีนี้ ด้วยปัจจัยประชากรไทยเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 80% หรือ 57 ล้านคน โดยผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ค่าย “เอไอเอส ดีแทค ทรู” ได้ยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอยุติการให้บริการ 2G ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อก้าวสู่ยุค 5G
ขณะที่ปีก่อนมีรายงาน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำมีจำนวน 51 ล้านราย หรือ 74% และใช้ โมบาย โซเชียล มีเดียเป็นประจำ 46 ล้านคน หรือ 67% ด้วยแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานระดับ 40-50 ล้านคน จึงมีอิทธิพลต่อการสื่อสารกับผู้บริโภคและการใช้งบโฆษณา
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT องค์กรที่จัดเก็บข้อมูลการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลทุกประเภทของบรรดามีเดียเอเยนซีต่าง ๆ ที่เริ่มรายงานตัวเลขโฆษณาสื่อดิจิทัลออนไลน์เติบโตมาต่อเนื่อง
หากเปรียบเทียบขนาดของเม็ดเงินโฆษณารายประเภท พบว่า สื่อทีวี (ทีวีดิจิทัล เคเบิลและทีวีดาวเทียม) ครองอันดับ 1 อุตสาหกรรมโฆษณาสัดส่วนราว 59% เดิมอันดับ 2 คือ หนังสือพิมพ์ ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาตลอด
นับตั้งแต่ปี 2560 โฆษณาสื่อดิจิทัล ที่มูลค่า 12,402 ล้านบาท เติบโต 31% เบียดโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ ขึ้นมาครองอันดับ 2 อุตสาหกรรมโฆษณา อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
ปี 2562 MAAT คาดการณ์ว่าสื่อโฆษณาดิจิทัล จะมีมูลค่า 1.87 หมื่นล้านบาท เติบโต 25% สูงสุดเมื่อเทียบกับสื่อประเภทอื่น ๆ
ข้อมูลจาก We Are Social ดิจิทัลเอเยนซี และ Hootsuite ระบุถึงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยต่อวัน ในปี 2561 ใช้เวลากับสื่ออินเทอร์เน็ต 9.38 ชั่วโมง ,ดูทีวี รวมรูปแบบสตรีมมิงและวิดีโอดีมานด์ 4.03 ชั่วโมง และฟังวิทยุสตรีมมิง 1.35 ชั่วโมง ประเทศไทยครองอันดับ 1 ของโลกที่ใช้เวลากับสื่ออินเทอร์เน็ตในทุกอุปกรณ์ต่อวันสูงสุด เช่นเดียวกับการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4.56 ชั่วโมง สูงที่สุดในโลก
รัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) และ กรุ๊ปเอ็ม เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ เอเยนซี่วางกลยุทธ์การสื่อสารและโฆษณา ให้มุมมองว่า ปี 2562 โฆษณาดิจิทัลยังครองตำแหน่ง ประเภทสื่อเติบโตสูงสุด นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลตัวเลขในปี 2555 มาจาก 5 ปัจจัยหลัก
1.การปรับตัวของผู้ผลิตสื่อและคอนเทนท์ดั้งเดิมขยายสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสื่อทีวีทุกช่องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางให้รับชมรายการ ที่เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และโซเชียล มีเดีย เช่นเดียวกับ สื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ ที่ขยายช่องทางสู่สื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงคอนเทนท์ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา
2.การเติบโตของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย รวมทั้งการสื่อสารผ่าน อินฟลูเอ็นเซอร์ และ Key Opinion Leader หรือ KOL ที่คอนเทนท์รีวิวและการนำเสนอสินค้าของกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ทำให้แบรนด์ต่างๆ สนใจใช้งบโฆษณาในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
3.ตลาดอีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มเติบโตสูงและมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการไทยปรับตัวขยายบริการอีคอมเมิร์ซ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่หันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น
4.เทคโนโลยี AI ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค รวมทั้งการเปิดตัวเครื่องมือและฟีเจอร์ใหม่ ของ กูเกิล เฟซบุ๊ก ที่นักการตลาดจะใช้เป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค
5.ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ 3 ล้านราย เป็นกลุ่มแอคทีฟกว่า 1 ล้านราย ที่เรียนรู้การใช้สื่อดิจิทัล ในการธุรกิจและสื่อสารกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางโซเชียล มีเดีย จะเห็นได้ว่าการค้าขายผ่านช่องทางโซเชียล คอนเมิร์ซของไทยขยายตัวสูงต่อเนื่อง
ขณะที่ ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT และ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) มีเดีย เอเยนซี ให้มุมมองต่อโอกาสการเติบโต ของโฆษณาสื่อดิจิทัลว่า สมาคมฯ ได้ร่วมกับบริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ประเทศไทย) คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2561 มีมูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% เมื่อเทียบกับปี 2560 หากพิจารณามูลค่าดังกล่าวถือว่ายังต่ำกว่าตลาดโฆษณาดิจิทัลในต่างประเทศ ที่มีสัดส่วนประมาณ 40% ของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา
ขณะที่ประเทศไทยสัดส่วนอยู่ที่ 15% ของมูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณา “แสนล้านบาท” ดังนั้นหากเป็นไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ โฆษณาสื่อดิจิทัลในประเทศไทย มีโอกาสสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท จากตัวเลขโฆษณาดิจิทัลไทยปัจจุบัน จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
“แนวโน้มสื่อดิจิทัล ปี 2562 ตัวเลขยังคงสามารถทำลายสถิติต่อไปได้ไป จากศักยภาพของสื่อรวมไปถึงความเชื่อมั่นจากนักการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ที่ให้ความสนใจกับสื่อดิจิทัลมากกว่าสื่อดั้งเดิม
วันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัลและเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ มีแต่ “เดินหน้า” และไปในทิศทางเติบโต จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. ผู้บริโภคเข้าถึงและใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น สื่อที่มีคนใช้งานมากขึ้น งบโฆษณาต้องเติบโตอยู่แล้ว
2. ความสามารถของสื่อออนไลน์เอง ที่มีความสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าและได้ผลมากกว่า ทำให้โฆษณาสื่อออนไลน์ยังไปในทิศทางเติบโต
3. ความเข้าใจของนักการตลาด ที่ใช้เครื่องมือออนไลน์ หากมีความเข้าใจมากขึ้น เชื่อว่าโฆษณาดิจิทัล ยังเติบโตได้มากกว่านี้
หากย้อนไป 5 ปีก่อนเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล คิดเป็นสัดส่วนตัวเลขหลักเดียวของอุตสาหกรรมโฆษณา แต่ปี 2561 สัดส่วนอยู่ที่ 15% ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยของสินค้าที่ใช้งบโฆษณาดิจิทัล แต่หากเป็นแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือดิจิทัลจะมีสัดส่วนการใช้งบในสื่อออนไลน์ที่อัตรา 30-50% ของงบประมาณการตลาด อีกทั้งบางแคมเปญใช้สื่อดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ปี 2562 ยังมีแนวโน้มเติบโต
ช่องทางการใช้งบโฆษณาออนไลน์หลักๆ ยังอยู่ที่ 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ เฟซบุ๊ก กูเกิล (ยูทูบ) ไลน์ โดยเครื่องมือ อินฟลูเอนเซอร์ และโปรแกรมเมติก มีการใช้งานมากขึ้นในปีที่ผ่านมาและปีนี้
ต้องบอกว่าเป็นอีกปีที่ “เหนื่อย” สำหรับอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2561 เพราะกว่าจะเห็นตัวเลขภาพรวมเป็น “บวก” ก็ปาเข้าไปเดือนตุลาคม ทั้งที่ปีก่อน มีปัจจัยบวกจากบิ๊กอีเวนท์กีฬาระดับโลก ทั้งฟุตบอลโลก เอเชี่ยนเกมส์ โมโตจีพี รวมทั้งกระแสไอดอล BNK 48 และละครดัง บุพเพสันนิวาส มาช่วยหนุนก็ตาม!!
ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด บอกว่า ปี 2561 สื่อที่เป็น “พระเอก” ครองงบโฆษณาสูงสุด สัดส่วนกว่า 84% ของอุตสาหกรรมโฆษณา มี 3 สื่อหลัก คือ
ทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 คาดเติบโต 5-10% โดย 3 สื่อหลัก คือ ทีวี, ออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน ยังคงครองสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด 3 อันดับแรก แต่ สื่อทีวี มีแนวโน้มลดลง จากพฤติกรรมผู้บริโภคหันไปเสพสื่อออนไลน์มากขึ้นในทุกวัย ไม่เฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มสูงวัย จากทิศทางดังกล่าวทำให้ สื่อทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ “ไม่มีการปรับขึ้นราคาโฆษณา” ในปีนี้
“ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ อาจมีปรับขึ้นโฆษณาบางรายการ ที่มีเรตติ้งเพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรับขึ้นราคา เพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจ พบว่าช่องฟรีทีวีรายเดิม ไม่มีการปรับขึ้นราคาโฆษณาตั้งแต่ปี 2557 ที่เริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัล”
สื่อที่มีการประกาศ “ปรับขึ้นราคาโฆษณา” ชัดเจนในปี 2562 เพียงสื่อเดียว คือ สื่อนอกบ้าน ที่ประกอบไปด้วย ป้ายโฆษณาและสื่อเคลื่อนที่ เฉลี่ยที่ 15% ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสื่อนอกบ้าน มีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วน 5% ของอุตสาหกรรมโฆษณา ขยับขึ้นมาเป็น 12% ในปี 2561
การเติบโตของสื่อนอกบ้านมาจากปัจจัย การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเมือง ที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเฉลี่ยวันละ 8-10 ชั่วโมง จากสภาพการจราจรติดขัดทำให้สื่อป้ายโฆษณามีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคและเห็นซ้ำในจุดเดิมที่เป็นไพร์ม แอเรีย เช่น สี่แยกสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารได้อีกด้วย ทำให้การลงทุนในสื่อนอกบ้านสามารถเข้าถึงกลุ่มที่ต้องการได้ 100%
แต่ “ป้ายโฆษณา” หรือ ป้ายนิ่ง ที่ยังได้รับความสนใจลงโฆษณาจะอยู่ในโลเคชั่นสำคัญๆ เท่านั้น จะเห็นได้ว่า “ป้ายนิ่ง” ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สำคัญจะ “ว่าง” เช่นกัน แต่อาจมีการใช้งานเพิ่มขึ้น จากการใช้เป็นสื่อของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งปีนี้
ช่วงที่ผ่านมา “ป้ายนิ่ง” ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “จอดิจิทัล” ที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งสามารถรับลูกค้าโฆษณาได้จำนวนมากใน 1 ป้าย เพราะเป็นรูปแบบหมุนเวียนการลงคอนเทนท์โฆษณาของแต่ละสินค้า ทำให้สื่อดังกล่าวมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มมากกว่าป้ายนิ่ง ที่มีลูกค้ารายเดียวและมีต้นทุนการผลิตโฆษณาสูงกว่าป้ายจอดิจิทัล ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีกว่า 100 จอ และกำลังขยายตัวสูงต่างจังหวัด
การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิจิทัล “วิทยุ” ถือเป็นอีกสื่อที่ได้รับผลกระทบเม็ดเงินโฆษณาถดถอย หากดูตัวเลขการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ ที่รายงานโดยนีลเส็น เริ่มมีสัญญาณที่ดี
ปี 2559 มูลค่า 5,252 ล้านบาท ติดลบ 7.28%
ปี 2560 โฆษณาวิทยุ อยู่ที่ 4,476 ล้านบาท ติดลบ 14.95%
2561 ตัวเลขล่าสุด 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มูลค่าโฆษณาวิทยุอยู่ที่ 4,352 ล้านบาท เติบโต 6.96%
เรียกว่าเป็นการฟื้นตัวในรอบ 2 ปี MAAT คาดการณ์ปี 2561 มีมูลค่า 4,600 ล้านบาท เติบโต 3% ปี 2562 คาดการณ์มูลค่าอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท “ทรงตัว” แม้ในแง่มูลค่าโฆษณาวิทยุจะถดถอยจากปี 2553 ที่มีมูลค่าสูงสุด 6,114 ล้านบาท แต่อัตราการลดลงเริ่ม “นิ่ง” แล้ว เมื่อเทียบกับ สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้ง หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร ที่เม็ดเงินลดลงในอัตรา 2 หลักมาต่อเนื่อง รวมทั้งปีนี้ ที่จะยังลดลงราว 25-30%
ปัจจุบัน “วิทยุ” ยังเป็นสื่อโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนกรุงเทพฯ ได้ดี โดยเฉพาะการรับฟังในรถยนต์ ที่สภาพการจราจรติดขัด และการฟังในที่ทำงาน ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ
สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.)
สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานสภาพตลาดกิจการวิทยุล่าสุด เดือนพฤศจิกายน 2561 ผู้ฟังวิทยุคลื่นหลักระบบเอฟ.เอ็ม. 40 สถานี (87.5-107.0 MHz) จากทุกช่องทาง เช่น เครื่องรับฟังวิทยุ โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 12 ปีขึ้นไป ฟังวิทยุประมาณ 10.5 ล้านคน ลดลง 0.3% จากเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ จากข้อมูลพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ พบว่าผู้คนส่วนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน สัดส่วน 52.16% ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุในรถยนต์ 36.17%, ฟังในที่ทำงาน 11.07% และอื่นๆ 0.6%
นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่นิยมฟังวิทยุผ่านเครื่องรับวิทยุ 73.12% ตามด้วยโทรศัพท์มือถือ 25.83% และคอมพิวเตอร์ 1.05%
อีกสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงหลังยุคทีวีดิจิทัล ต้องยกให้ “เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม” นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา มีทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีมี “ช่องใหม่” เกิดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งมีการเข้ามาลงทุนของคอนเทนท์ โปรวายเดอร์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, กันตนา, อาร์เอส, เจเอสแอล รวมทั้ง เวิร์คพอยท์
ปี 2553-2554 มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม หรือ โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวม 1,000 ช่อง และได้ลดลงอย่างมากหลังยุคทีวีดิจิทัลปี 2557 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี สะท้อนได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้ในอุตสาหกรรมนี้ นีลเส็น ประเทศไทย รายงานการใช้งบโฆษณาสื่อเคเบิลและทีวีดาวเทียม ก่อนยุคทีวีดิจิทัล คือ
ปี 2561 MAAT ประเมินงบโฆษณาเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม มีมูลค่า 2,400 ล้านบาท ลดลง 11% และปี 2562 มีมูลค่า 1,800 ล้านบาท ลดลง 25% จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินโฆษณาเคเบิลและทีวีดาวเทียม เป็นอีกสื่อที่ลดลงจากระดับ “หมื่นล้าน” เหลือหลัก “พันล้าน” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ภาพรวมโฆษณาสื่อทีวีทุกประเภท (ทีวีดิจิทัล เคเบิลและทีวีดาวเทียม) ปี 2560 มูลค่าอยู่ที่ 68,400 ล้านบาท เติบโต 4% และปี 2562 มูลค่า 71,000 ล้านบาท เติบโต 4% เช่นเดียวกับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 4% หลังจากชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2559
ขอบคุณข้อมูลภาพข่าวจาก www.thebangkokinsight.com