Last updated: 24 ก.ค. 2562 | 2088 จำนวนผู้เข้าชม |
เชิญร่วมงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนน “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” 7-8 สิงหาคม 2562 ณ ไบเทค บางนา ผนึกภาคีทุกภาคส่วนกว่า 30 องค์กร สร้างถนนปลอดภัย เผยปี 2561มีเด็กและเยาวชน อายุ 15-25 ปีเสียชีวิตมากสุดจากการขับขี่ เฉลี่ยปีละ 2,510 ราย หรือ วันละ 6.8 คน แนะยกคดีแพรวา ชู การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ การจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” (14th Thailand Road Safety Seminar : Play your part and share the road) กล่าวว่า งานสัมมนาฯ ที่จะมีขึ้นครั้งนี้ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก และภาคีเครือข่าย ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเชิญผู้ที่ทำงานด้านอุบัติเหตุมานั่งล้อมวงถกปัญหา เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง ได้แก่ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า และผู้ใช้รถจักรยาน พร้อมกับรวบรวมเอาผลงานขององค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมมากกว่า 30 องค์กร ที่ขับเคลื่อนงานป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน มาจัดแสดงทั้งในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ ตลอดทั้ง 2 วันมีการจัดประชุมห้องย่อยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนในทุกๆ มิติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชาวไทยและต่างประเทศ
“จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียชีวิตสูงสุดประมาณร้อยละ 88 คนเดินเท้าร้อยละ 10 และผู้ใช้รถจักรยานกว่าร้อยละ 1 โดยในปี 2561ที่ผ่านมาเด็กและเยาวชน อายุ 15-25 ปีเสียชีวิตมากสุดจากการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อก เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2,510 ราย หรือ เฉลี่ยวันละ 6.8 คน ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียเยาวชนที่จะเป็นกำลังของประเทศ และยังพบว่ารถจักรยานยนต์สูงสุดร้อยละ 79.5 ข้อมูลชี้ 5 ปี เด็กไทยตายบนถนนเกือบ 20,000 คน มอเตอร์ไซค์คร่าชีวิตมากสุด เตือนพ่อแม่คิดรอบคอบ ก่อนซื้อให้ลูก” นายพรหมมินทร์ กล่าว
สำหรับสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ ในช่วงพิธีเปิดวันที่ 7 ส.ค. จะมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “คมนาคม กับ วิถีแห่งระบบความปลอดภัย” MOT & Safe System Approach โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อด้วยปาฐกถานำหัวข้อ “มุ่งเสริมความปลอดภัยทางถนนให้เข้มแข็ง” โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส., Mr. David Ward จาก Global NCAP ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติ ด้านการทดสอบความปลอดภัยของรถ ร่วมบรรยายพิเศษในประเด็น “ก้าวใหม่มอเตอร์ไซค์ ปลอดภัย”
ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ยังให้ความเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เป็น ตัวอย่างให้สังคมหันมาตระหนักถึงภัยอันตรายของอุบัติเหตุ และความสูญเสีย เช่น คดีแพรวา คือเรื่อง การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง ของภาครัฐ ประเด็นใบขับขี่ ที่มีการปล่อยปละละเลย ให้ผู้เยาว์อายุ 16 ขับรถจนเกิดอันตรายต่อชีวิตผู้อื่น ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นตัวอย่าง ชดเชยความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีผู้สูญเสียที่ถูกละเลยไม่ได้รับการชดเชยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี และว่าเรายังสามารถใช้คดีแพรวาเป็นโอกาสของการปรับปรุง ระบบของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงศาลจราจร การรวบรวมพยานหลักฐาน การส่งอัยการเพื่อสั่งฟ้อง กระบวนการตัดสินและการบังคับคดีให้เป็นไปตาม คำสั่งศาล ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมจนสังคมและสื่อต้องมาเรียกร้อง เช่น คดีแพรวา 9 ศพ
14 มี.ค. 2567