รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562

Last updated: 16 มี.ค. 2562  |  2314 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 เวลา 20.15 น.
-------------------------

พิธีกร:

  • เมทนี บุรณศิริ

ผู้ร่วมรายการ:

  • ธวัญชัย สหัสสพาศน์
  • คณิตา คนิยมเวคิน
  • นพวรรณ สุมังคละสิริ
  • ศรีธนา ชื่นอังกูร
  • นิมิต รัตนรงคาภรณ์
  • มณทิรา เจริญวัลย์
  • ตรีนุช ชีวกิตติกุล
  • กฤติมา นวมโคกสูง
  • สุวิจักขณ์ วงศ์นพภัสรากร

 

พิธีกร: สวัสดีครับท่านผู้ชมครับ ขอต้อนรับท่านเข้าสู่รายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน นะครับ เราปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ นะครับว่าสื่อออนไลน์มีผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเราแทบทุกคน เราตื่นเช้ามานะครับ เราต้องเช็คไลน์ เช็คเฟซบุ๊ก คือเช็คไอจี ของเรากัน นอกจากนี้ ตอนนี้เป็นที่นิยมมากก็คือการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั่นเอง วันนี้ครับผมนำเจ้าของสินค้า หรือผู้ประกอบการที่ใช้การตลาดและการขายออนไลน์ มาพูดคุยกันกับท่านผู้ชมกันก่อน หลังจากนั้นเราค่อยไปคุยกันเรื่องนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนและต่อยอดการขายแบบออนไลน์กัน จะเป็นอย่างไรตอนนี้ไปพบกับพวกเขาก่อนเลยครับ  เรามาคุยกับเจ้าของสินค้ารายแรกเลยดีกว่านะครับ Brooklyn and Brighton แล้วเป็นอย่างไรหลังจากมาทำออนไลน์ 
ผู้ขาย: (Brooklyn and Brighton) ได้ผลตอบรับที่ดีมาก ๆ เลย
ผู้ขาย: (Soda Printing)  โซดาพริ้นติ้งนะครับ ของขวัญแบบนี้มีชิ้นเดียวในโลกครับ สามารถทำภาพจากรูปเฟซบุ๊ก ไอจี หรือว่าทางมือถือ ไม่ต้องไปที่ร้านสามารถส่งภาพทางไลน์ได้เลย   
ผู้ขาย: (Suptar petshop) ซุปตา เพ็ทช็อปครับ ก็ไปหาสินค้ามามาขายในร้านน่ะครับ เรารู้ว่าคนชอบแบบไหน เราก็นำสินค้าต่าง ๆ นี่ออกมาวาง
พิธีกร: ตอนนี้มาถึงอีกรายหนึ่ง ชื่อว่า Panita  นะครับ เอารากเหง้าของบรรพบุรุษเรา ออกแบบเป็นภาชนะ กระเป๋า นั่นเอง ขายดีไหม
ผู้ขาย: (Panita) ดีค่ะ ตั้งแต่เริ่มทำออนไลน์ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ
พิธีกร: ร้านน่ารักมากเลยทีเดียว ต่างหู ตุ้มหู
ผู้ขาย: ใช่ค่ะ ต่างหูจักสานจิ๋วค่ะ
พิธีกร: ทำเองหรือครับ
ผู้ขาย: กลุ่มผู้สูงอายุของศรีสะเกษค่ะ
พิธีกร: อ้าวแล้วยายเล่นออนไลน์เป็นหรือ
ผู้ขาย: ไม่ค่ะ เรามาตีตลาดออนไลน์ให้กับผู้สูงอายุค่ะ
พิธีกร: มาแรง ๆ ขนมเข่งฮ่องเต้
ผู้ขาย: หลัก ๆ เลยนี่ คือขนมเข่งมะพร้าวอ่อน
พิธีกร: คุณพ่อ คุณแม่บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ก็สามารถทำของเหล่านี้มาเสริมรายได้ให้กับครอบครัว
พิธีกร: เดี๋ยว ๆ อาหารสดอะไรแบบนี้ ขายออนไลน์ได้หรือครับ
ผู้ขาย: ค่ะขายออนไลน์ได้ค่ะ แล้วส่งได้ทั่วประเทศด้วย ชื่อ Lobster Gangsters ค่ะ
พิธีกร: ถ้าบอกว่าตอนนี้สามารถสั่งซื้อได้ทั้งประเทศ
ผู้ขาย: ใช่ค่ะ
พิธีกร: นี่คือสินค้าอีกอย่างหนึ่งนะครับ เมื่อก่อนก็ไปเลือกซื้อเอง เดี๋ยวนี้ง่ายมาก สั่งออนไลน์ได้แล้ว สินค้าชื่ออะไรครับ
ผู้ขาย: ชมเฌย ค่ะ ถ้าต่างประเทศเราจะขายในอเมซอน กับอีเบย์ ค่ะ ข้าวกับปลานี่เราจะเน้นที่ไทยค่ะ จะเป็น LAZADA กับ Shopee ค่ะ
ผู้ขาย: แบรนด์ชื่อ เมียมตาล อาร์ตเวิร์ค (Meamtarn Artwork) นะคะ เหมือนเป็นแบรนด์เปิดห้องศิลปะของตัวเอง คอนเซ็ป ง่าย ๆ เลยค่ะ ก็คือว่าสินค้าทุกชิ้นจะทำด้วยมือตัวเอง แล้วสินค้าแต่ละใบก็คือจะมีใบเดียวในโลกเท่านั้นค่ะ
ผู้ขาย: ชุดครอบครัว Moshi Family ค่ะ พอมีลูกแล้วอยากใส่แมทชิ่ง เป็นครอบครัวน่ารัก ๆ ค่ะ ก็เลยลองเปิดเพจทางเฟซบุ๊ก แล้วก็ลงสินค้าดู ตอนแรกนี่เรามีช่างแค่ประมาณ 2 คน ตอนนี้ มีช่างเกือบ 50 คน แล้วค่ะ
พิธีกร: และนี่คือส่วนหนึ่งนะครับของผู้ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จกับการทำสินค้าออนไลน์ แน่นอนนะครับ การทำสินค้าออนไลน์ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนะครับ เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทางภาครัฐครับจะให้การสนับสนุน และมีนโยบายอย่างไรกับผู้ประกอบการสินค้าออนไลน์ เดี๋ยวเราไปคุยกับท่านนายกรัฐมนตรีกันครับ
พิธีกร: สวัสดีครับ กราบสวัสดีท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นะครับ วันนี้ที่นั่งอยู่ตรงหน้าท่านทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบการนะครับ สินค้าออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่เรานำมาพูดคุยกับท่านในวันนี้ ก็เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่าการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน เพราะฉะนั้นวันนี้ เราก็จะมาพูดคุยนะครับกับท่านในส่วนของภาครัฐนะครับ กับนโยบายต่าง ๆ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น คำถามแรกที่ผมจะกราบเรียนถามท่านนะครับ ง่าย ๆ แต่เป็นคำพูดสุดฮิต นั่นก็คือคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 คืออะไรครับ 
นายกฯ: คำว่าไทยแลนด์ 4.0 ทุกคนก็อาจจะยังสงสัยอยู่นะ จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตั้งแต่รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยสำหรับคอมพิวเตอร์ ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพระองค์เอง  เครื่องกลเติมอากาศอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็พัฒนาไปตามลำดับมานะ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงให้สืบสาน พัฒนา ต่อยอดสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเริ่มไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไปทำความเข้าใจก่อนว่าอะไรคือ 1.0 ใช่ไหม 1.0 คืออะไร เกษตรกร 2.0 ก็ยังเป็นเกษตรกรอยู่ หรืออะไร ที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนบ้าง อะไรบ้างที่ไม่ใช้เครื่องจักรทันสมัยมากนัก พอ 3.0 เอาแล้ว ขนาดใหญ่ขึ้นใช่ไหม ที่เรียกว่าบริษัทใหญ่ บริษัทข้ามชาติ พวกนี้ก็มีต้องใช้เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือมาทดแทนแรงงานของมนุษย์ แรงงานของคนให้มากขึ้น 1.0 - 2.0 - 3.0 และ 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไปด้วยกันได้ คือพวกเรานี่  อะไรที่จะเสริมตรงนี้ได้คือดิจิทัลใช่ไหม  ออนไลน์ใช่ไหม หรือว่าการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมพวกนี้ จะนำพาสิ่งเหล่านี้ไปสู่ 4.0 ได้ เราช้าไม่ได้อีกแล้ว โลกกำลังเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม คนบริโภค พฤติกรรมการผลิตเปลี่ยนไปทั้งหมด คนรักความสบายขึ้น อะไรขึ้น เหล่านี้ถึงต้องมาเพิ่มการขายออนไลน์ นี่ที่เขาบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ดีเพราะว่า ถ้าเรายังใช้การค้าขายแบบเดิม ไปไม่ได้แล้ว ต้นทุนมากขึ้น ถ้าเป็นรายย่อยมากเกินไปไม่รวมกลุ่มกัน ก็สนับสนุนไม่ได้ รัฐบาลไม่มีช่องทางให้ ต้องถูกกฎหมายด้วยนะ ต้องจดทะเบียนอะไรต่าง ๆ ให้ชัดเจน  วันนี้รัฐบาลได้พยายามเตรียมโครงสร้างเหล่านี้ไว้ให้ วันนี้กำลังอยู่ในขั้นการสร้างการเรียนรู้กับคนของเรานี่ ให้ทำงานกับเครื่องจักรได้ก่อน อะไรที่จะไปสู่การใช้หุ่นยนต์ นั่นเป็นเรื่องของการผลิตที่เป็นอันตราย มาตรฐานเดียวกันที่ผิดไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามในไลน์การผลิตต้องมีคนคุมเสมอนั่นแหละ เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาทั้งคน ทั้งเครื่องจักร ทั้งวิธีการ ทั้งกฎหมาย อะไรต่าง ๆ ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง คือการตลาดด้วย ที่เรามาเจอกันวันนี้
พิธีกร: แล้วนโยบายที่รับมือนะครับ เพื่อส่งเสริมการตลาดของออนไลน์นี่ล่ะครับ ทางรัฐบาลมีนโยบายอย่างไรบ้าง
นายกฯ: วันนี้ถ้าเราจะพูดถึงทั้งหมดที่รัฐบาลควรจะต้องทำ หรือโอกาส โอกาสที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมของคนทุกคน ทุกกิจการ พวกนี้ต้องมีโอกาส โอกาสที่เท่าเทียมกันคือ 1. กฎหมายเท่าเทียมกัน กฎหมายฉบับเดียวกัน และสิ่งที่ต้องทำคือโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทางดิจิทัล เหล่านี้จะต้องสร้าง วันนี้รัฐบาลก็ให้มีอินเทอร์เน็ต มี Wifi อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ให้มีการค้าขายสินค้าออนไลน์ขึ้นมา อะไรมา ซึ่งต้องมีมาตรการในการที่จะควบคุมมาตรฐานให้ได้ ควบคุมความปลอดภัยให้ได้ อินเทอร์เน็ตหมู่บ้านใช่ไหม อินเทอร์เน็ตประชารัฐ 75,000 แห่ง ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศนะครับ ทุกคนจะต้องเข้าถึงบริการภาครัฐตรงนี้ ก็ต้องไปทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก เช่น เคเบิ้ลใยแก้วนำแสง วันนี้เราทำแล้วนะ วันหน้าพวกเราจะสบายขึ้นแล้วล่ะ จะไวขึ้น จะกว้างขวางขึ้น เป็นของเราเอง 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ในวันนี้เราทำแล้ว กำลังก่อสร้างโครงสร้างการคมนาคมขนส่งอีก 2.4 ล้านล้านบาท ที่เราพัฒนาทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ท่าเรือ เพื่อจะขนคน ขนสินค้า แล้วก็เคลื่อนย้ายทรัพยากรบุคคลเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อจะเปิดตลาดต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของผู้ค้าเอง อย่างพวกเรานี่ ถ้าเราเข้าไปใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้จริง ๆ เราจะเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจ เปิดตลาดใหม่ สร้างการรับรู้กับผู้บริโภคใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดอีกอัน Logistics ต้องดูแลเขานะ ว่าจะส่งอย่างไร ของจะส่งถึงภายในกี่ชั่วโมง กี่วัน บางทีเขาสั่งมาแล้ว ไม่ส่งสักที มี 2 อย่างคือส่งไม่ได้ อันที่ 2 คือทำไม่ทัน เหมือนทุกที่ โฆษณาเสร็จ พอเขาสั่งของมาปั๊บ 10 อันทำได้ 100 อันทำได้ พอเริ่ม 1,000 อัน ทำไม่ได้แล้ว ไม่พร้อม เราต้องเร่ง เร่งพัฒนา แต่ต้องอย่าลืมอะไรนะจ๊ะ ภูมิคุ้มกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลงทุนอะไรต่าง ๆ ที่พูดกันเมื่อกี้นี้ ว่าต้องระมัดระวังนะ แล้วก็สามารถที่จะตรวจสอบต้นทางมายังผู้ผลิตได้ เกิดการเชื่อมโยงวัตถุดิบ บางทีเราไม่ต้องทำทั้งหมด เราอาจจะกระจายวัตถุดิบมาจากหลาย ๆ ส่วนด้วยกัน เราทำลงทุนเองทั้งหมด บางทีไปไม่ไหว นี่ไปหยิบตรงนั้นมา หยิบตรงนี้มา ท้องถิ่นเขาก็มี เพื่อให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มกันทั้งหมด วันหน้าเราก็เป็นอะไร ผู้บริหารจัดการตรงนี้ วันนี้เกิดขึ้นหลายพื้นที่นะโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประชารัฐ เริ่มมาจากพวกเรานี่แหละ วันหน้ายกระดับขึ้นมา แล้วก็สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ต้องทยอยมาอย่างนี้ รุ่นเก่ารุ่นใหม่ต้องไล่ขึ้นมานะ
พิธีกร: มาในส่วนของโครงสร้างของการเจริญเติบโตนะครับ ของสื่อออนไลน์ การขายของออนไลน์นี่นะครับ ท่านคิดว่าเติบโตขนาดไหน อนาคตจะเป็นอย่างไรนะครับ ท่านพอจะตอบได้บ้างไหมครับ
นายกฯ: ผมอยากให้ข้อมูลในปัจจุบันนะครับ  ที่ได้รับการสรุปรายงานขึ้นมาตลอดเวลานี่จะโตมาเรื่อย ๆ วันนี้ไทยโตแรงที่สุดในอาเซียน เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานเราค่อนข้างจะพร้อม เราเริ่มมาก่อนยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโตเกือบ 4 เท่า จาก 10 ปีที่ผ่านมา ปี 2551  9.3 ล้านคน ปี 2561 สูงถึง 45 ล้านคน  มูลค่า e-commerce ไทยโตต่อเนื่อง ปี 60 ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท พอถึงปี 61 พุ่งสูง 3.2 ล้านล้านบาท โตขึ้น 14% มูลค่า e-commerce ไทย สูงสุดในอาเซียน ประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
พิธีกร: ท่านตอบได้ค่อนข้างถูกใจผู้ประกอบการที่นั่งอยู่ตรงนี้แน่ ๆ แต่ผมว่าจริง ๆ นี่ ภาพรวมที่เราคุยกัน เพราะฉะนั้น แต่ละคนเขาคงจะต้องมีปัญหา มีข้อสอบถามท่านในส่วนของการทำสื่อออนไลน์ อย่างนี้นะครับ เอาเป็นว่าผมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสถามท่านนายกฯ เลยดีกว่า ใครจะเป็นคนถามคนแรกดีครับ
ผู้ขาย: (ศรีธนา ชื่นอังกูร) ขอเริ่มถามได้ไหมคะ คือสินค้าที่หนูทำน่ะค่ะ เป็นสินค้าที่ผลิตด้วยมือ ทำด้วยมือตัวเองทั้งหมด โดยที่ในการทำ สร้างความน่าสนใจด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นหัตถกรรมจากชาวบ้านเข้ามาเพิ่ม ทำให้มูลค่าดูน่าสนใจมากขึ้น ไม่ทราบว่าท่านนายกฯ พอที่จะมีนโยบายอะไร ที่จะสนับสนุนให้กลุ่มคนที่เขามี Product ที่ดี แต่ว่าเขายังไม่รู้วิธีในการที่จะเข้ามาทางช่องทางนี้น่ะค่ะ ได้เปิดตลาดตรงนี้บ้างไหมคะ
นายกฯ: คราวนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดนะ เราต้องเข้าใจก่อนว่ามีอะไรประกอบบ้างนะ การค้าขายออนไลน์นี่ สิ่งแรกคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ผู้ขาย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ตกยุคทันที ที่ผมเป็นกังวลคือเกษตรกร ขาดที่ทำกินอะไรบ้าง เป็นหนี้เป็นสินบ้าง วันนี้รัฐบาลไปแก้ทุกอัน เพราะฉะนั้นสิ่งตรงนี้ก็คือว่าเราทำอย่างไรเราจะรวมกลุ่มได้ ถ้าเราทำในเรื่องนี้ เอาอัตลักษณ์มาทำ มาต่าง ๆ ว่าแฮนด์เมดต่าง ๆ ท่านก็ต้องรวมกลุ่มท่านขึ้นมาให้ได้ รัฐบาลจะได้ Support ไปได้ตรง กลุ่มนี้ ใช่ไหม จาก อัตลักษณ์ จากโอทอป จากอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลก็เร่งรัดโอทอปอยู่นะ ขึ้นรายได้มหาศาลจากเดิมหลายเท่าวันนี้ ต้องทำระบบภาษีอะไรต่าง ๆ ต้องศึกษาด้วยนะจ๊ะ หลายอย่างเกิดขึ้นยาก เพราะทุกคนกลัวภาษี ในเรื่องของศูนย์ดิจิตอลชุมชนนี่ มีอยู่แล้ว มีประมาณสัก  7,000 – 8,000 ศูนย์ตอนนี้ ไปเรียนรู้กับเขาสิ วันนี้ก็มีเรื่องเกษตร เรื่องอะไรต่าง ๆ เข้าไปเรียนรู้ในท้องถิ่นนะ อีกส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของเรียนรู้จากเว็บไซต์ของรัฐบาล อยากรู้อะไร เรื่องอะไรก็ตาม เรื่องการประกอบการ SMEs ไปเปิดเว็บไซต์ เรื่องนี้เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง กดเว็บไซต์ ดู Google เข้าไป วันนี้ถ้าใครจะไปอาลีบาบา ไม่ได้ ไปอเมซอน ไม่ได้ เพราะเราเล็กอยู่ เรายังไม่พร้อม โน่น เข้า ไทยเทรด ดอท คอม (Thaitrade.com) นี่ของกระทรวงพาณิชย์นะ ตลาดวันนี้ ตลาดในประเทศมีเพียงเท่าไร 70 ล้าน ไม่เกินนั้น เราต้องไปดูว่าตลาด อาเซียนมีเท่าไร 640 ล้านคนนะ ผู้ชายอีก ผู้หญิงอีก คนต่างวัยอีก เธอต้องคิดสินค้ามาให้คนเหล่านี้ ทุกช่วงวัย บางทีนี่ เอาวัสดุเรา แล้วผลิตสินค้าที่เขานิยม เรื่องของการแบ่งปันความรู้นะ วันนี้ SMEs อย่างเรานี่ Startup  SMEs ที่มีการจดทะเบียนบริษัทโดยคนคนเดียว มีลูกจ้างได้แค่ 3 คน ไม่ต้องมีโรงงานกว้างใหญ่โตหรอก ทั้งหมดนี่คือเรื่องวิสาหกิจชุมชนด้วยนะ สหกรณ์ทั้งหมด ทำได้หมด เพื่อจะไปสู่การค้าออนไลน์นี่ หาสินค้าให้ดีแล้วกัน วันนี้เราอบรมคนมาแล้วกว่า 3,000 รายไปแล้ว พอเราต่อยอดเรื่องไทยเทรด ดอท คอม วันนี้นะ สมาชิกผู้ขายนี่ พวกเรานี่ สมมุติผ่านเกณฑ์คุณสมบัติกว่า 20,000 ร้านค้า มีผู้ใช้บริการจากทั่วโลก 5.6 ล้านรายไปแล้ว นี่ไทยเทรด ดอท คอม นะ ของคนอื่นไปเปิดดู เว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ นะ ว่าจะทำอย่างไร เป็นการรวบรวมสินค้าส่งออกไทยให้ผู้ซื้อผู้ขายติดต่อกัน ให้การบริการในรูปแบบการค้าแบบ B2B ใช่ไหม อันนี้จะส่งกำลังการขยายบริการเหล่านี้ไปสู่การขายแบบ B2C ขายปลีกอย่างไร พอเข้าใจแล้วมั้ง
พิธีกร: ครับ ผมว่าท่านตอบจนถึงคำถามสุดท้ายเลยครับ
นายกฯ:  ลดเวลา ๆ
พิธีกร: ท่านสุดยอดมาก  มาถึงคำถามที่ 2 ดีกว่า มีใครอยากถามบ้าง
ผู้ขาย: (มณทิรา) คำถามที่ 2 อันนี้มาจากประสบการณ์ของตัวเองเลย ในปัจจุบันนี้ ซึ่งคนที่จะค้าขายออนไลน์ ส่วนใหญ่ก็จะในเฟซบุ๊ก (Facebook ) ไอจี (IG ) ไลน์ (Line) ใช่ไหมคะ และเนื่องจากแพลทฟอร์มพวกนี้ เขามีการปรับอัลกอริธึม (Algorithm) ของเขาใหม่ ทำให้เห็นสิ่งที่เราจะขาย น้อยลงมาก ๆ มันเป็นไปได้ไหมคะ ที่รัฐบาลจะสามารถทำแพลทฟอร์มอะไรขึ้นมาหรือทำ Market place ขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนให้ผู้ที่เข้ามาเอา Product ของเขาเข้ามาโดยที่เขาไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับทางด้าน Market เท่าไร ไม่ต้องไปเสียเงินลงทุนในทางที่ผิด ๆ กับการซื้อโฆษณาแล้วไม่ได้ผลตอบแทนอะไรกลับมา
นายกฯ: อันนี้เข้าใจเรื่องแพลทฟอร์มอย่างที่บอกแล้ว เราทำ 2 แพลทฟอร์มคู่ขนานกัน คือ  1. ไทยเทรด ดอท คอม นี่ของไทยเอง  2. แพลทฟอร์มของอาลีบาบาใช่ไหม  วันนี้ก็กำลังทำตรงนี้ให้แข็งแรงขึ้น  อันแรกผมรับเรื่องนี้ไปว่าขับเคลื่อนต่อไป ลองไปเปิดดูสิว่าไทยเทรด ดอท คอมทำอย่างไรอยู่ ตอนนี้ผมเข้าใจว่าเขามีแพลทฟอร์มเขาอยู่แล้วนะ อยากให้เปิดดูก่อน ถ้าไทยเทรด ดอท คอม เปิดของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องของการลงทุน เขาจะเขียนไว้หมด ถ้าอยากรู้เรื่อง SMEs เปิด SMEs เข้าไป  นี่ใช้กันหรือยัง
พิธีกร:   ขออีกสักคำถามจากผู้ประกอบการดีกว่าครับ
ผู้ขาย: (ธวัชชัย)  ขออนุญาตคำถามสุดท้ายนะครับ ตลาดออนไลน์ทุกวันนี้ มันไม่ใช่แค่อยู่ในประเทศแล้วนะครับ มันเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราไปแข่งขัน ไม่น่ากลัวเท่ากับเขามาแข่งกับเรา อยากทราบว่ารัฐบาลมีแนวทางหรือวิธีในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยอย่างไร ให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ที่เข้ามาลงทุนในตลาดออนไลน์ของเรา
นายกฯ:  อันแรกคือเรามีกฎหมายตรงนี้  เขาเรียกความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทางออนไลน์ ต้องมีการตรวจสอบที่มา มาอย่างไร ที่ไหน อย่างไร ข้อสำคัญคือมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องมี มาตรการการกีดกันทางการค้า WTO มีอยู่ เราห้ามใครทั้งหมด แล้วไทยผลิตอย่างเดียว ผิดกติกาสัญญาโลกทั้งหมด เพราะว่าเป็นการค้าขายเรียกว่าต่างตอบแทน หลายคนบอกทำไมไม่เก็บไว้ให้คนไทยล่ะ ถ้าเก็บทั้งหมดเขาก็ไม่ซื้อของ You ใช่ไหม เพื่อเป็นการตอบโต้ในสิ่งที่เราไปห้ามเขา คือโลกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เราต้องเข้าใจว่านี่คือการค้าเสรี การค้าที่เป็นสากลนะ WTO นะ เราส่งเสริมอะไรไปตรงนี้ก็ไม่ได้มากนัก เราต้องส่งเสริมต้นทุนการผลิตของเธอ  ให้เป็นการส่งเสริมปลายทาง เช่น ราคาสินค้าอะไรต่าง ๆ เติมให้ You ไปนี่ แล้วส่งออกนอกไป ผิดทั้งหมดเลย ต้องไปส่งเสริมต้นทางทางโน้น เพื่อให้เกิดมูลค่าขึ้นมา เกิดนวัตกรรมขึ้นมา นี่ตอบในภาพรวมในนามของรัฐบาลก่อนนะ ผมจะสั่งการในส่วนของการปฏิบัติ ในวันพรุ่งนี้นะ เรื่องทั้งหมดที่พูดมาวันนี้ ผมจะให้ ครม. เขาไปหารือ เพื่อจะแจ้งคำตอบของท่านว่า ตรงไหน อย่างไร เพราะรายละเอียดบางอัน นายกฯ รู้นโยบายเท่าที่รายงานมา มันก็อย่างนี้ ๆ ๆ แต่วิธีการปฏิบัติซอยยิบ ๆ ๆ ๆ นายกฯ รับไม่ไหว หัวโต เยอะเหลือเกิน
พิธีกร:  ครับ ของผู้ประกอบการก็คงเท่านี้ ก็คงจะถามผู้ที่อยู่ในห้องนี้นะครับ หลายคน ผู้บริโภคมีใครอยากถามอะไรไหมครับ
ผู้บริโภค: (เทพวิชญ์) ขออนุญาตสอบถามผู้ค้าเสื้อผ้าครอบครัวว่ามีจุดเด่นอย่างไร เพื่อที่จะตีตลาด ให้กับผู้บริโภคครับ
ผู้ขาย: จริง ๆ แล้วตอนแรกที่หนูเปิดก็กลัวว่า เพราะว่าสินค้าจากจีนกับเกาหลีเยอะมาก พวกเสื้อผ้า แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสู้เราไม่ได้ก็คือ เขาไม่เข้าใจว่าคนไทยชอบใส่อะไร ในความเป็นไทย เทศกาล ลอยกระทงอย่างนี้ค่ะ สงกรานต์ หรือแม่การะเกดมาปุ๊ป เขาจะใส่อะไรกัน คือเขาก็ยังสู้เราตรงนี้ไม่ได้ และอีกจุดนึ่งที่หนูสร้างความแตกต่างก็คือสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ต่างประเทศ อย่างไรก็ต้องมาเป็นไซส์ มาตรฐาน แต่ของเราสามารถ Fix size ได้ตามตัว หนูผลิตตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งโต หนูก็ทำให้ได้ อันนี้หนูว่าต่างประเทศอย่างไรก็สู้เราไม่ได้
นายกฯ :  มีทุกไซส์ใช่ไหม ใช่
พิธีกร:  อันนี้ก็ตรงกับที่ท่านตอบไปแล้ว ว่าอัตลักษณ์เป็นตัวตนของเรา เป็นจุดขายของเขา
นายกฯ:   ต้องปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อย่าทิ้งนะ มันเกิดขึ้นแล้ว อย่าทิ้งนะ อย่าทำไฟไหม้ฟาง อ้าวทางนี้มีอะไรอีก
ผู้บริโภค: (ไกรวิทย์) อยากถามผู้ประกอบการครับ เครื่องหนังครับ ซึ่งต่างประเทศมีการแข่งขันกัน เรื่องเครื่องหนังค่อนข้างมาก จะสอบถามผู้ประกอบการเครื่องหนังว่าเรามี Signature ของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนขนมไทย แล้วเราคิดว่าเราจะตอบโจทย์ต่างประเทศอย่างไร มีแนวโน้มว่าจะขยายตัว มากน้อยเพียงใดครับ
ผู้ขาย: (คณิตา) คือ โดยหลัก ๆ ตอนนี้ ลูกค้าก็ยังเป็นคนไทยอยู่ เริ่มมีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ มีลาว ญี่ปุ่น ที่ติดต่อเข้ามา เพื่อที่จะอยากเป็นตัวแทนจำหน่าย ถ้านำไปอยู่ในต่างประเทศที่เขามีความต้องการที่จะจำหน่าย จะทำให้มีความน่าสนใจ และดึงดูดให้ลูกค้าที่เขาต้องการซื้อค่ะ
นายกฯ:  อันนี้ก็อยากแนะนำว่าต้องสำรวจตลาดก่อน ไม่ใช่ผลิตกันเยอะ ๆ แล้วไปขายทีเดียวไม่ได้ ช่วงแรกต้องสำรวจตลาด เอารูปแบบออกไปลอง Catch ดูสิว่าถ้าจะสั่ง มันจะถึงโน่นต้องใช้เวลาเท่านี้ ๆ วัน  แล้วสั่ง จำนวนต้องไม่ต่ำกว่าเท่าไร นี่จะเช็คออกเลย ว่าเขาต้องการแค่ไหน น้อยเกินไป บางทีมันก็ไม่คุ้ม You ต้องคำนวณค่าขนส่งด้วย ว่าเท่าไรด้วย แล้วก็ออกรูปแบบมาเท่านี้ เขายังไม่สนใจ ก็ออกมาอีก วันนี้ทำเรื่องขนมไทยใช่ไหม กระเป๋า และขนมใส่ไส้ แล้วทำขนาดห่อหมก มีไหม  (ไม่มี ค่ะ) ก็ ใหญ่กว่านี้หน่อย มันใส่อย่างอื่นได้ ใส่โทรศัพท์มือถือได้ อะไรได้  วันนี้เขาเรียกการเกิดนวัตกรรมไปข้างหน้า วันก่อนไปนั่งฟังที่ผมพูดเมื่อกี้ เขาพูดถึงนวัตกรรมต่าง ๆ เขาบอกว่า Elon Musk เขาผลิต ตอนนี้กำลังคิดเรื่องอุโมงค์ที่ขนส่งคนจากนี่ไปถึงโน่น และความเร็วประมาณ 4,000 กม. ต่อ ชม. เขาทำอุโมงค์มีเครื่องส่งอะไรต่าง ๆ คนเขาก็ถามบอกว่า ส่งไปอย่างนั้นแล้วความโน้มถ่วง แรงดึงดูด มันจะไม่ทำให้ตายหรือ วันนี้เขาบอกตรงนั้นเขายังไม่ได้คิด ผมบอกในที่ประชุมในที่เสวนาว่า คนไทยอาจจะคิดได้ก็ได้ อย่างน้อยก็เบรกไว้ได้เสียก่อน แต่มันต้องคิด การคิดนอกกรอบ โอเค มีอะไรอีก
ผู้บริโภค: (สิพร พรประเสริฐ)  ขออนุญาตถามผู้ประกอบการที่ทำขนมเข่ง อยากถามว่าแรงบันดาลใจที่สามารถเอาขนมที่เป็นของที่ตัวเองชอบ หรือว่าที่บ้านทำอยู่แล้ว ให้สามารถขายได้ คืออยากถามว่ามีแนวคิดหรือว่ามีแรงบันดาลใจอย่างไร
ผู้ขาย:  (นิมิตร รัตนรงคาภรณ์)  หลัก ๆ เลย คือผมต้องบอกก่อนเลยว่า ขนมเข่งนี่ ที่บ้านทำนี่ ทำไหว้ ทำไหว้ทุกเทศกาลตั้งแต่ผมเด็ก ๆ แล้ว ก็คือพอไหว้เสร็จแล้วเราก็เอาไปแจก แจกเพื่อน ที่ทำงาน ที่เรียน แจกทุก ๆ คน แล้วทุกคนชื่นชอบ ชื่นชอบจนเรียกกันว่าขนมเข่งของป๊า ซึ่งหมายความว่าป๊าเป็นคนทำทุกเทศกาล  คือตัวแรงบันดาลใจก็คือตรงนี้แหละครับ ที่ว่าอยากจะให้ขนมของคุณพ่อผมไปให้ทุกคนได้ทาน แล้วเวลาที่ทุกคนมาบ้าน มาซื้อ มารับนี่ เขาถามว่าขนมเราไม่แพง เราตั้งราคาให้ทุกระดับซื้อทานได้ แล้วเวลามา ทุกคนเขาก็ชมว่าขนมอร่อย ป๊าบอกว่ากำไรไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่อยู่ที่ความภูมิใจ
นายกฯ: น่าอิจฉานะ ลูกกตัญญู รับราชการด้วย ทำ 2 อาชีพ ก็อย่าทิ้งอะไรสักอันนะ ทั้งราชการอะไรก็ต้องทำนะ มันได้ทั้งคู่นะลูก คราวนี้มันต้องเริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ถึงจะตั้งตัวได้ มั่นคงยั่งยืน แล้วเรื่องที่เราทำมันเยอะมาก เรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยี ออนไลน์ ต้องเร็วที่สุด ผมคุยกับเขา บอกประเทศไทยศักยภาพมากมาย เกษตรก็มี อะไรก็มี แต่เพียงแต่บริหารจัดการอย่างไร จะใช้ออนไลน์เข้ามาได้อย่างไร ใช้ดิจิทัลมาเสริมได้อย่างไร เหล่านี้คือมูลค่า ต้องขายของให้กับคนทุกระดับได้ สินค้าของท่าน แต่คุณภาพดีเหมือนกัน โอเคไหม ขอบคุณนะจ๊ะทุกคน สวัสดีนะลูก
พิธีกร: แน่นอนต้องขอบคุณมาก ๆ จากทั้งคำถามจากผู้ผลิต หรือผู้บริโภคที่นำมาถามท่านนายกฯและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วรัฐของเราก็มีนโยบายการส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์อยู่แล้วนะครับ เพียงแต่วันนี้พูดคุยมันก็จะชัดเจนขึ้น  เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจในการทำธุรกิจออนไลน์ ก็อย่างที่ท่านนายกฯ บอก มีหลายวิธี มีหลายวิถี ที่จะเรียนรู้และรู้จักกับการค้าขายออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้นก็ศึกษาให้ดี แล้วก็ทำกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกี้ท่านพูดถึงเศรษฐศาสตร์ก็ต้องดูเรื่อง Demand  - Supply ความต้องการของตลาด อัตลักษณ์ความเป็นประเทศไทยของเรา ความเป็นตัวตนของเจ้าของสินค้า อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นฝากเอาไว้
พิธีกร: วันนี้ต้องขอบคุณท่านนายกฯ มาก ๆ ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นะครับ ที่ให้เกียรติมาพูดคุยกับเราในวันนี้นะครับ และเราจะกลับมาพบกันใหม่ศุกร์หน้า กับศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในวันศุกร์ต่อไปครับ วันนี้ลาท่านผู้ชมทุก ๆ ท่านไปก่อนครับ สวัสดีครับ
ผู้ขาย:  (ธวัญชัย สหัสสพาศน์)  คติที่เราใช้ยึดประจำใจของเราก็คือ ใจบันดาล สำคัญกว่าแรงบันดาลใจ เข้ามาช่วยฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
ผู้ขาย: (คณิตา คนิยมเวคิน)  เราสร้างแบรนด์บนพื้นฐานของความเป็นไทย และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานค่ะ
ผู้ขาย:  (นพวรรณ สุมังคละสิริ) ทุกวันนี้นะคะเราก็สามารถหยิบจับความสุขเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ตัวของเรานะคะ ขึ้นมาทำธุรกิจ ผสานกับความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย สร้างรายได้และทำให้เกิดความสุข ความรัก และความพอเพียงในธุรกิจของเราได้นะคะ
ผู้ขาย:  (ศรีธนา ชื่นอังกูร)  ระเบียบวินัย ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้พัฒนามาได้ถึงทุกวันนี้ และคิดว่าจะพัฒนาต่อไปสู่ความยั่งยืนได้ค่ะ
ผู้ขาย:  (มณทิรา เจริญวัลย์)  มีความพอเพียง และมีเหตุผลในความพอเพียง และมีภูมิคุ้มกันที่ดี เราก็เลยค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปในการทำธุรกิจ
ผู้ขาย:  (ตรีนุช ชีวกิตติกุล) คนเราต้องมีความตั้งใจ และมีความมุ่งมั่น จึงจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนค่ะ
ผู้ขาย:  (กฤติมา นวมโคกสูง)  เรามีความสุขจากการได้ให้ และแบ่งปัน เกษตรและพัฒนาชุมชนของเรา เป็นความสุขที่เราสร้างจากตัวเราเอง โดยการที่เราเป็นคนมีความรู้ แล้วก็มาพัฒนาชุมชนของเราให้ดีขึ้นค่ะ
ผู้ขาย:  (สุวิจักขณ์ วงศ์นพภัสรากร)  ถ้าเราทำธุรกิจแล้ว เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราจะมีความสุขไปกับมัน แล้วก็อาจจะประสบความสำเร็จได้อย่างง่าย ๆ ครับ
ผู้ขาย:  (นิมิต รัตนรงคาภรณ์) ความขยัน ตั้งใจและอดทน ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้านครับ
ผู้ขาย:  (เขมิกา ชัญโต) การกลับถิ่นฐานบ้านเกิดและนำสินค้าของท้องถิ่นมาต่อยอดประกอบธุรกิจ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนค่ะ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

  • https://www.youtube.com/playlist?list=PL3oGjSmPvOeTPgk6LzRuUoBjyIlJs-haz

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้