Last updated: 3 พ.ย. 2561 | 2374 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและคณะรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ไปประชุมคณะรัฐมนตรีในพื้นที่จังหวัดเชียงราย – พะเยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือตอนบน เป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาให้เข้ากับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ได้ โดยมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง ทั้ง 2 จังหวัดนี้ยังเป็นฐานผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เราสามารถจะนำมาต่อยอดเรื่องของการท่องเที่ยวได้ครับ
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็เพื่อพบปะกับพี่น้องประชาชน ทั้งภาคธุรกิจและส่วนราชการในพื้นที่ ผมและคณะรัฐมนตรีได้หารือกันในหลายประเด็น เพื่อจะสนับสนุนให้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนในส่วนนี้ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และทั่วถึง รวมทั้งการดูแลสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ เพื่อจะพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างมูลเพิ่มให้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรมและสุขภาพ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค GMS BIMSTEC และ AEC แบบ Multi-destination ตามนโยบายประเทศไทย+ 1, +2, +3 อะไรก็แล้วแต่ ที่เราจะต้องขยายไปยังประทศอื่นด้วย เพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวในอาเซียน (ASEAN for ASEAN) และดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ 3 (ASEAN for All) ผมก็ขอเน้นว่าเราจะต้องเตรียมความพร้อม ด้านกฎ ระเบียบ การข้ามแดน รองรับการขยายตัวของเส้นทางข้ามแดนใหม่ ๆ ให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว รวมทั้งการรักษาความสะอาดของแม่น้ำ คูคลองและถนนในพื้นที่ให้สวยงาม เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน และการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ปลอดภัยด้วย
นอกจากเรื่องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแล้ว ก็ได้มีการหารือกันเพื่อสนับสนุนการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในเรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1. ด้านการค้า การลงทุน คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการยกการระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวก จังหวัดพะเยา ให้เป็นด่านถาวรเพื่อสนับสนุนการค้า รวมถึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรม SMEs 4.0 เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป ผ่านการยกระดับคุณภาพ การเชื่อมโยงการตลาดและธุรกิจออนไลน์ อีกทั้งจะต้องนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนารูปแบบของการผลิตอาหารเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย
เรื่องที่ 2. ด้านการเกษตร ได้มีการเตรียมพร้อมด้านการพัฒนา ไปสู่เกษตรปลอดภัยที่เรียกว่าเกษตร GAP แล้วก็เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็น 2 ระดับด้วยกัน โดยเร่งรัดพัฒนาสารกำจัดศัตรูพืชใช้แทนสารเคมี เพื่อให้สามารถเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร, การพัฒนาและส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า, การสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง อีกทั้งเราจะต้องเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้ประกอบการใหม่ ที่เรียกว่า Start up ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าเกษตรที่แปลกใหม่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย มีรายละเอียดหลายอย่างครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Demand - Supply และการแก้ปัญหาในเรื่องของยาสูบอีก เกษตรกรที่ปลูกยาสูบอีก รัฐบาลก็นำไปสู่การแก้ปัญหาทุกวัน หลายอย่างก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไปนะครับ
เรื่องที่ 3. เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเชื่อมต่อทั้งระบบ ทั้งถนนและรถไฟ อาทิ การพัฒนาสายทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภายในกลุ่มจังหวัด, มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งทางรางที่จังหวัดพะเยา และเร่งออกแบบแผนแม่บทโลจิสติกส์เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงเด่นชัย – พะเยา - เชียงของ รวมทั้งศึกษาและกำหนดตำแหน่งจุดพักกระจายสินค้าและจุดพักรถ (Rest Area) ที่เหมาะสมในจังหวัดพะเยาอีกด้วย
4. การพัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนส่วนนี้ เป็น เมืองต้นแบบสุขภาวะในผู้สูงวัย (Health Aging Smart Cities) ซึ่งจะใช้หลักการปฏิรูปสาธารณสุขภาครัฐ โดยเริ่มตั้งแต่การป้องกัน การรักษา และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลสุขภาพ อาทิ การพัฒนาบริการชุมชนและบริการสุขภาพ ที่รวมถึงระบบบริการการแพทย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน รองรับผู้สูงอายุ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สมุนไพรครบวงจรไปสู่เชิงพาณิชย์ และศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยสาหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ที่มีการพัฒนาอาชีพ และศึกษาออกแบบรายละเอียดอารยสถาปัตย์ของสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ป้องกันให้ได้ก่อนที่จะไปสู่การรักษา แล้วก็ขอขอบคุณ อสม. ที่ร่วมกับโรงพยาบาลประจำตำบล ที่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รวมทั้งอาสาสมัครต่าง ๆ ด้วยในการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน หลายอย่างก็มีการปฏิรูปไปแล้ว
5. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่กลุ่มจังหวัดนี้ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ อย่างที่ทุกคนทราบดี ของภูมิภาคและของประเทศ เราจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ของน้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ เราจะต้องพิจารณาดำเนินการตามลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วน ให้สอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการของพื้นที่ และของประชาชน แต่เราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณด้วย ต้องเป็นไปตาม พรบ. การเงินการคลังด้วย แผนงานงบประมาณต่าง ๆ เหล่านี้
มาตรการที่เราได้จากการหารือกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดนี้ ผมได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกลุ่มจังหวัด ได้มีการติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นไปตามแผน ตามระยะเวลาที่กำหนด ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่น ให้มีการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ ให้คำนึงถึงการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน รับฟังเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือ ในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วย เราต้องเชื่อมโยงและสร้างความเจริญไปพร้อม ๆ กันทั่วประเทศ ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ส่วนราชการ และภาคเอกชน ที่ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในการนำไปเร่งดำเนินการ ให้ตรงตามความต้องการของประชาชน และของพื้นที่ ที่สำคัญผมต้องขอขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นกันเองจากทุกฝ่าย ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับทุก ๆ ครั้ง ผมเองก็มีความประทับใจ ได้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ที่มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ตามแนวทางประชารัฐที่เรากล่าวมาแล้ว เป็นการบริหารราชการแผ่นดิน เคียงข้างกัน ไม่ว่าคนพื้นที่ราบ คนพื้นที่สูง ไม่ว่าคนในเมือง คนในพื้นที่ห่างไกล เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนะครับ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
วันนี้ ผมมีตัวอย่างการน้อมนำศาสตร์พระราชาหลายเรื่อง ไปใช้ในกิจกรรมเดียว เปรียบเหมือนเครื่องเทศ เครื่องปรุง ที่โขลกให้เข้ากัน กลายเป็นพริกแกงสำหรับทำอาหารได้อร่อย นั่นก็คือการสร้างฝายมีชีวิต ที่เป็นการผสมผสานหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายประการ อาทิ การมีส่วนร่วม, การระเบิดจากภายใน, การปลูกป่าในใจคน, การให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ไปจนถึงการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม เป็นต้น แม้ว่ารัฐบาลเราจะมีแผนแม่บทและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ แบบบูรณาการแล้ว ที่เปรียบเสมือนรากแก้วก็ตาม แต่ถ้าไม่มีเครือข่ายฝายมีชีวิตที่ผมกำลังจะกล่าวถึง มาเติมเต็ม ก็เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากฝอย การเข้าถึงแหล่งน้ำ หรือระบบชลประทานของพี่น้องประชาชน ก็ไม่ทั่วถึง ไม่สมบูรณ์
“ฝายมีชีวิต” เกิดจากการต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน เสริมด้วยเทคโนโลยีท้องถิ่นแบบง่าย ๆ ที่เป็นการสั่งสมประสบการณ์ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ มีโครงสร้างที่เกิดจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ หิน กรวด ทราย ที่ก่อตัวเป็นขั้นบันได แล้วมีการปลูกต้นไม้ หรือไม้ยืนต้นเสริม เพื่อใช้รากไม้ในการค้ำยันตัวฝา ให้มีความคงทน ด้วยกลไกการทำงานตามธรรมชาตินี้ จะทำให้ “ฝายมีชีวิต” แตกต่างจาก “ฝายน้ำล้น” ที่มีโครงสร้างเป็นปูนซีเมนต์ ไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับธรรมชาติ นอกจากนั้น “ฝายน้ำล้น” ก็ใช้งบประมาณของรัฐในการก่อสร้าง แต่ “ฝายมีชีวิต” นั้นใช้ทุนท้องถิ่น ก็คือวัตถุดิบในหมู่บ้านและแรงงานชาวบ้าน ทำให้สามารถสร้าง บริหาร ซ่อมแซม ฝายของเขาด้วยตัวเขาเอง ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ ก็นับว่าเป็นนวัตกรรมของชุมชน ที่เรียกว่านวัตกรรมของ 1.0 ที่ลุกขึ้นมาเรียนรู้ข้อมูลน้ำของชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการส่งเสริมความรักใคร่ สามัคคี และปรองดองกัน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดในระดับฐานราก ด้วยการร่วมกันเผชิญหน้า แก้ไขปัญหาน้ำแล้ง – น้ำท่วม ด้วยชุมชนเอง โดย “ฝายมีชีวิต” เหล่านี้ จะเป็นกลไกบรรเทาความรุนแรงน้ำหลากและเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการเติมน้ำใต้ดิน หรือชลประทานใต้ดิน ด้วยกลไกทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่โดยรอบตัวฝายมีความชุ่มชื้น เช่น ในบางพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สามารถปลูกมังคุดนอกฤดูกาลได้ ช่วยให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มอย่างมาก นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของฝายที่มีชีวิตยังมีอีกมาก อาทิ เป็นแหล่งน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านตลอดปี, เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชน เนื่องจากเป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือปลูกพืชสมุนไพร ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เพราะเมื่อคืนน้ำให้กับผืนดินได้ ระบบนิเวศน์ก็จะกลับคืนมา อันนี้ก็ขอให้ไปดูพิจารณาในเรื่องพื้นที่ของป่าชุมชนด้วย ในการดำเนินการเรื่องฝายเหล่านี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ผมมองเห็นนั้น คงไม่ใช่เพียงตัวฝาย แต่ผมเห็นถึง 2 กระบวนการ เบื้องหลังการสร้างฝายมีชีวิตนี้ ผมว่าน่าสนใจนะครับ สำคัญมาก สำหรับบ้านเมืองของเราในปัจจุบัน
1. กระบวนการสร้างฝายมีชีวิตที่เน้นการมีส่วนร่วม คือร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรักษา โดยมาร่วมแรง ร่วมพลังแบบจิตอาสา จากนั้น ก็กำหนดข้อตกลงเพื่อดูแลรักษาฝายร่วมกันเรียกว่า ธรรมนูญฝายมีชีวิต อันเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ก็เป็นการสร้างจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองอีกด้วย และ 2. กระบวนการสร้างเครือข่ายฝายมีชีวิต จากแหล่งกำเนิดขององค์ความรู้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขยายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยการถ่ายทอดความรู้ จากครูฝายไปสู่ลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์ก็กลายเป็นครูฝาย ต่อเป็นทอด ๆ กันไป ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นความสำคัญในการสร้างฝายมีชีวิตตามความเหมาะสมของแต่ละลุ่มน้ำ เราตั้งเป้าหมายด้วยการสร้างฝาย 5,000 แห่งใน 1 ปี และสร้าง 60,000 แห่งในระยะ 5 ปี ทั้ง 25 ลุ่มน้ำของประเทศ โดยเน้นการระเบิดจากภายในของแต่ละลุ่มน้ำ แล้วภาครัฐจะสนับสนุน การวิจัย การสร้างครูฝาย ไปจนถึงการสร้างฝาย อย่างเป็นระบบ เป็นต้น
ผมคาดหวังว่าหากเราร่วมกันสร้างฝายมีชีวิตให้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ ที่สามารถกระทำได้ พื้นที่รอบ ๆ ฝายก็จะได้รับผลประโยชน์จากความชุ่มชื้น, พืชผลอุดมสมบูรณ์, ชุมชนมีพื้นที่พักผ่อน เด็ก ๆ ได้เล่น ได้ฝึกว่ายน้ำ, ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากพืชที่ปลูก แล้วก็เกิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย ก็จะเป็นพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน เกิด “ชีวาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยที่มีชีวิตเช่นเดียวกับ “ฝายที่มีชีวิต” เพราะประชาชนจะเป็นผู้ดูแลบ้านเมืองของพวกเขาด้วยจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างเปี่ยมล้นนะครับ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
จริง ๆ แล้วผมไม่อยากพูดเรื่องนี้ แต่ผมเห็นว่ากำลังเป็นวาทกรรมในแง่ลบ กับบ้านเมืองของเรา อาทิ บางคนก็ใช้คำพูดว่า “คนจนมากขึ้น ๆ หมดตัวแล้ว” จริงหรือไม่ครับ ความจริงคืออะไร ก็ช่วยกันหาคำตอบ ตั้งคำถามกับตนเองด้วย ถ้าเราไม่มีเงิน หรือเงินไม่พอใช้ ไม่พอเที่ยว ไม่พอใช้จ่าย ซื้อของแพง ฯลฯ เราจะต้องพิจารณาแล้ว ว่าเราจะทำอย่างไร เพราะความต้องการของมนุษย์ของคนนี่ ขีดจำกัดยาก เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณา ว่าเราประกอบอาชีพอะไรอยู่ เราได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรไปบ้างหรือยัง
จากอดีตที่เคยทำมาแล้วได้เงิน วันนี้ก็มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจระดับบน ระดับกลาง ระดับล่าง เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทั้งในประเทศ นอกประเทศด้วย เราจะต้องมีการรวมกลุ่ม มีการเรียนรู้ มีการพัฒนาตนเอง หาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาเดิม ๆ ถ้าเราทำตามเดิม ขณะที่โลกเปลี่ยน เราไม่ปรับ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เราจะเป็นอย่างไรต่อไป ลองคิดเอาเอง สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ผลิตผลบางชนิดช่วงนี้ราคาตกต่ำ รัฐบาลทราบดี ก็พยายามเต็มที่ เราก็ต้องส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเกินที่จะใช้ภายในประเทศ บริโภคภายในประเทศ ความหมายก็คือเราต้องพึ่งพาราคาตลาดนอกประเทศมาพิจารณาด้วย ดังนั้นในเรื่องของ Demand - Supply เรื่องของความต้องการ กับการผลิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เราก็พยายามจะทำความเข้าใจ แสวงหาความร่วมมือมาระยะหนึ่งแล้ว ก็คือการส่งเสริมการรวมกลุ่ม, การตั้งสหกรณ์, ทำเกษตรแปลงใหญ่, เกษตรควบวงจร, ตลาดประชารัฐ, สินเชื่อชะลอการขาย, ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช เหล่านี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ขจัดปัญหาการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แล้วก็ไปสร้างธุรกิจ ในเรื่องของโลจิสติกส์เพิ่มเติมมาด้วย โดยเกษตรกร หรือไม่ใช่เกษตรกร ก็ไปอยู่ในวงจรต่าง ๆ เหล่านี้ เราจะได้ไม่ไปหาว่าคนกลางมาเอารัดเอาเปรียบได้อีกต่อไป ก็เป็นการแข่งขันในเรื่องราคา เราทำเอง เราส่งเอง การที่ให้คนอื่นมาซื้อไป รับซื้อไป อันไหนดีกว่ากันต้องคิดแบบนี้ครับ
อีกเรื่องหนึ่งคือบางคน เดิมอาจจะเคยหาเงินจากธุรกิจหรือธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ต้องดู เคยทำได้ แต่วันนี้ทำไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ อย่างที่ผมบอก เราต้องสร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมกันทุกคน เราอย่าปล่อยปละละเลยกันไปเลย บางคนเสียประโยชน์มาก บางคนได้ประโยชน์ ถ้าทำแบบเดิม วันนี้เราต้องแก้ไขอย่าไปทำอีกเลย แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง อย่าคิดว่า เพราะว่ารัฐบาลนี้ทำให้ทำมาหากินได้ยากขึ้น กฎหมายทั้งนั้นครับ เราต้องรักษาตั้งแต่ที่เรียกว่าไข้หวัดธรรมดา เราอย่าให้กลายเป็นอาการป่วยเรื้อรัง เป็นโรคติดเชื้อต่อไป เราต้องหยุดวงจรเหล่านี้ในวันนี้ดีกว่า ไม่อย่างนั้นก็เหมือนกับเราก็ทุจริตอยู่เหมือนกัน ทำทุจริตแล้วก็มีรายได้ขึ้นมา ก็ไม่ใช่ ทุจริตนี่อาจจะไม่มากมายนักเพราะผิดกฎหมาย บางอย่างก็ขายของผิดที่บ้าง อะไรบ้าง ทำนองนี้ รัฐบาลก็พยายามจะปลดล็อค หาวิธีการที่เหมาะสม ต้องใช้เวลาครับ ก็อดทนกันสักนิดหนึ่งนะ
อีกเรื่องคือการใช้จ่ายในระดับล่าง บางคนก็เคยได้รับเงินมาง่าย ๆ ที่ว่ามาแล้ว จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บางทีก็ใช้เงินที่ได้มาง่าย ไปง่าย ๆ เหมือนกัน ไม่คิดตรึกตรอง ไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาพิจารณา ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณในการใช้จ่าย มีความรู้อะไร จะประหยัดได้อย่างไร เราจะซื้อของอย่างไรที่ราคาถูกและมีคุณภาพ วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ท่านต้องใช้ในเรื่องของออนไลน์ เรื่องดิจิตอล เรื่องต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ ร้านค้าก็เหมือนกัน ร้านค้าบางร้านค้าเคยขายอยู่กับร้านนั้นอยู่แล้วก็มีคนมาซื้อ วันนี้เขาไปซื้อกันออนไลน์ ทางร้านค้าปกติก็บ่นกันมาว่า รัฐบาลนี้ทำให้ออนไลน์ก้าวหน้าเกินไปจนเขาขายของไม่ได้ ท่านก็ต้องติดตามไปด้วย ท่านสามารถที่จะไปขายออนไลน์ก็ได้ ร้านค้าต่าง ๆ เหล่านี้
เรื่องการใช้บัตรเครดิต บางคนก็มีหลายใบ ก็รู้ว่าจำเป็นนะ แต่ท่านลองดูสิว่าการใช้ไปแล้วน่ะง่าย พอใช้น่ะง่าย พอจะหาเงินชำระหาไม่ได้ พอหาไม่ได้ก็กดดันตัวเอง แล้วก็โทษคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ บางทีก็ไม่ใช่นะ ต้องไปดูทั้งหมดครับ อันนี้คือเรื่องของตัวเองนะ รัฐบาล อะไรที่จะแบ่งเบาได้เราก็จะทำจะช่วยเหลือให้ เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของท่าน ถ้าเราไม่พยายามที่จะเข้มแข็ง ไม่พยายามพัฒนาตนเอง ไม่คิดจะพึ่งพาตนเองให้ได้ ในระยะแรกก็ลำบาก เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การมีเหตุมีผล พอประมาณ ภูมิคุ้มกันที่ดี ความรู้คู่คุณธรรม เข้าใจให้ลึกซึ้งนะครับ
วาทกรรมที่ 2 คือเรื่องของการ “เอื้อประโยชน์ ดูแลแต่เศรษฐกิจรายใหญ่ ร่ำรวย มีเงินทอน” ผมก็เรียนว่า มีหลายกลไก มีการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเรื่องของการจัดทำโครงการ การทำสัญญา การจัดทำทีโออาร์ การประกาศเข้ามาประมูลอะไรต่าง ๆ มีกฎหมายทุกตัว มีหน่วยงานตรวจสอบมากมาย เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดกันไปโดยไม่รู้จริง ก็ทำให้เกิดความเสียหาย ที่มันดีแล้วก็เลยไม่ดีไปด้วย ที่ไม่ดีอาจจะมีอยู่บ้าง ทุจริตก็ต้องดำเนินการต่อไป วันนี้เราก็ลงโทษไปเยอะพอสมควร เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เศรษฐกิจของประเทศนั้นมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีระดับล่าง ระดับกลาง ระดับบน โยงกันทั้งหมด ถ้าเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ดีมาตรการในเรื่องของการกีดกันทางการค้าก็เกิดขึ้น ก็จะมีผลกับตลาดภายนอกประเทศ มีผลต่อการลงทุน มีผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งในการลงทุนต่าง ๆ ของเรานั้น ทั้งรูปแบบเอกชน บริษัท นิติบุคคล ห้างร้านต่าง ๆ ก็มีคนไทยทั้งสิ้นอยู่ในห่วงโซ่ดังกล่าวนั้น มีผลกระทบทั้งสิ้น รายได้ รายรับ ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป มากขึ้นบ้าง น้อยลงบ้าง ก็เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไปด้วย
สำหรับ SMEs Startup ก็เช่นกันครับ ก็อาจจะมีผลกระทบไปด้วย เพราะอยู่ในห่วงโซ่เหมือนกัน ในส่วนของคนรายได้น้อย อาจมีผลกระทบมาก เพราะว่าอยู่ในห่วงโซ่ของ SMEs ซึ่งในแต่ละกิจกรรม เช่น SMEs เรื่องของการเกษตร จะมีผู้ที่อยู่ในวงจรนี้ประมาณ 10 ล้านราย เรามีตั้งหลายกิจกรรม SMEs ต้องมองในภาพรวมด้วย แล้วเราจะดูสิว่า เราต้องดูว่าเราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเราพูดไปบ่นไป แล้วก็รอรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไปไม่ทัน ไปไม่ได้ พอรัฐบาลทำอะไรออกมาให้แล้ว ก็ไม่พร้อม เพราะฉะนั้นท่านต้องพร้อมในขั้นต้นของท่านก่อน จะได้หาช่องทางสนับสนุนได้ ช่วยเหลือได้ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป ไปจนเรื่องตลาด วันนี้ก็ต้องมีทั้งตลาดรายวัน ตลาดอนาคต ตลาดขายส่ง ขายปลีก ที่เป็นของประชาชน ของเกษตรกรเอง วันนี้ก็ได้สั่งการไปหมดแล้ว เรื่องที่ต้องระมัดระวังก็คือ ธุรกิจออนไลน์เข้ามาตามเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการเปิดช่องทางใหม่ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน ร้านค้าทั่วไป อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว “โชห่วย” อาจจะรู้สึกว่ารายได้ลดลง มีคู่แข่งใหม่ มีการแบ่งตลาด แย่งลูกค้าเดิม ๆ เหล่านี้ท่านต้องพัฒนาตัวเองไปสู่การค้าขายออนไลน์ด้วย ท่านรวมกลุ่มร้านค้าเหล่านี้มา แล้วก็ขายออนไลน์ไป ระบบโลจิสติกส์ก็มีอยู่แล้ว
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นวิถีเศรษฐกิจโลก ที่เราเรียกว่าการค้าเสรี รัฐบาลจะไปห้าม กีดกันใครคงไม่ได้ แต่ต้องทำกฎหมายให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบ คราวนี้จะทำให้ตรงนี้อย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องดูในภาพรวมด้วย สำคัญที่สุดก็คือต้องส่งเสริมให้เกิดการรู้เท่าทัน ปรับตัว พัฒนาตนเอง รัฐ อย่างที่บอกแล้ว เราจะไปเฉพาะรายเฉพาะเรื่องไม่ได้ทั้งหมด ต้องมีการบูรณาการร่วมกันให้ได้ ผิดหลักสากลไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการประกอบการค้าธุรกิจเสรี รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ ในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ กระบวนการที่ส่งเสริม อำนวยความสะดวกที่จะทำให้เกิดการค้า การลงทุน มีระบบภาษี ระบบราชการ ที่เอื้อต่อการค้าเสรี เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทุกคนก็ต้องเข้ามาสู่ในระบบ จดทะเบียนให้เรียบร้อย ภาษีก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้มากมายอะไร ตามสัดส่วนของผลการประกอบการของท่าน ผมกล่าวไปแล้ว หลายครั้งแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศด้วย แล้วก็มีผลการประเมินโดยองค์กรระหว่างประเทศที่เราเห็นว่าดีขึ้นมาโดยลำดับ อย่าให้ต่ำลง
วาทกรรมที่ 3 “ไม่มีที่ดิน ที่อยู่อาศัย เป็นของตนเอง” เพราะฉะนั้นต้องไปดูสิว่า บางคนเคยมีที่ดิน แต่ถูกสัญญาเอารัดเอาเปรียบ รัฐก็เร่งออกกฎหมายขายฝาก เพื่อขจัดจุดอ่อน ช่องว่างกฎหมายในอดีต รวมทั้งลดเงื่อนไขหนี้นอกระบบ ที่เป็นสาเหตุให้พี่น้องเกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ต้องมาเช่าที่ดินเก่าของตนทำกิน บางคนก็ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินทำกิน หรืออยู่อาศัย รัฐบาลนี้ก็สร้างกลไกการทำงาน เช่น คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ธนาคารที่ดิน เพื่อจะกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม บางคนก็มีลูกหลานเยอะ ภาระครอบครัวก็มาก รัฐบาลก็พยายามอย่างยิ่ง จะเข้าไปดูแลให้ทั่วถึง รวมทั้งในเรื่องของการจัดหาที่อยู่อาศัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำ กรณีใดที่ง่าย รัฐบาลก็สามารถแก้ไขได้ในทันที กรณีที่ยากซับซ้อน หลายหน่วยงานก็คงต้องใช้เวลาอยู่บ้าง ผมก็คาดหวังและเป็นกำลังใจให้ทุกคน ให้ความร่วมมือ เข้ามาร่วมในโครงการพัฒนาต่าง ๆ สำคัญที่สุดคือต้องรับฟัง รับรู้ เพื่อจะหาโอกาสในการสร้างงาน เสริมอาชีพในพื้นที่ จนกว่าเราจะพึ่งพาตนเองได้ เน้นการสร้างความเข้มแข็ง ในระดับชุมชน เป็นกลุ่ม
วาทกรรมสุดท้าย ก็อาจจะมีคนพูดว่า “รัฐบาลนี้ ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเพื่อใครเลย” ผมก็ไม่อยากจะโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์มากนัก ทุกคนน่าจะพอทราบอยู่แล้วบ้าง ก็ต้องไปดูว่าใครได้อะไร ใครยังไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้จะต้องแก้ไขอะไร ปรับปรุงตัวเองอย่างไร รัฐบาลพยายามดูอย่างเต็มที่ ในหลาย ๆ มิติด้วยกัน ท่านติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ บางเรื่องท่านไม่รู้เลยว่ารัฐบาลเขาทำอย่างนี้ อย่างนั้นไปแล้ว มีคนได้ประโยชน์ไปแล้ว เพราะท่านไม่ติดตาม เพราะฉะนั้นช่องทางที่ท่านติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้อยู่ตรงไหน ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำของประเทศ ให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย มีที่ดินทำกิน มีแหล่งน้ำไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ปลูกพืช ตลอดทั้งปี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เช่น ทางราง ที่เราแทบจะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมมาเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ที่เป็นรูปธรรม วันนี้เราเร่งสร้างรถไฟทางคู่ให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของผู้มีรายได้น้อย ช่วยลดการจราจรโดยเฉพาะช่วงเทศกาล ลดอุบัติเหตุได้ด้วย ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศอีกทางหนึ่ง
ที่สำคัญของทุกการปฏิรูป คือ การที่เราจะต้องแก้กฎหมายเดิม ออกกฎหมายใหม่ ให้เป็นสากล สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ซึ่งต้องผ่านการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนไปด้วย ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU), การบินพลเรือน (ICAO), การค้ามนุษย์ และการค้างาช้าง (CITES) ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายขายฝาก, กฎหมายไม้มีค่า ภาษีที่ดิน เหล่านี้เป็นต้น จะส่งผลกระทบกับเราทุกคนในอนาคตในทางที่ดีขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ความสนใจของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ก็จะติดตามข่าวสารในสิ่งที่กระทบกับสิทธิของตนเองเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านเมืองของเรายังไม่มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงเลย ต้องมองในภาพรวมไปด้วย ก็ขอความเป็นธรรมกับรัฐบาลบ้าง ให้กำลังใจบ้าง เราต้องดูแลคนทั้งประเทศและทุกมิติ ทุกปัญหา
ช่วงนี้ อีกเรื่องหนึ่งก็อยากจะขอความร่วมมือครับ จะเห็นได้ว่าการเมือง การเลือกตั้ง ก็กำลังจะใกล้เข้ามาแล้ว อย่าให้วุ่นวาย สับสน อีกเลยนะครับ ประชาชนอาจจะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่มากพอ หลายคนอาจจะพูดเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ให้ได้รับเลือกอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มีการติติงว่ากันไป-มา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนบางคนก็ชอบดู ชอบฟัง แล้วก็พูดต่อ โพสต์ต่อ บางทีก็ไม่ได้รู้ว่าถูกหรือไม่ถูก บางทีก็สนุกดี แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศจะเป็นผู้ที่ได้หรือเสีย ประชาชนก็จะตามมา you get what you do เพราะฉะนั้นที่สุดนี้เราก็ต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว ก็ต้องหาคนที่ทำงานจริง ทำงานเป็น ทำงานได้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าได้ทำ แล้วทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ
แผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญที่ออกมาแล้ว ก็ยังมีอคติ ออกมาแล้ว ก็ดำเนินการใช้ให้เกิดประโยชน์ไปก่อน วันหน้าค่อยว่ากัน ถ้าเรายังไม่ปฏิบัติก็เหมือนติเรือทั้งโกลน ติโขนยังไม่ได้ทรงเครื่อง เราจะคาดหวังกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทำลายของเก่าเพื่อจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เข้ามาแก้ไขดีกว่า ไม่ใช่ไปล้มในสิ่งที่ยังไม่เคยใช้ คือสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ หลายคนก็เคยอยู่ในระบบการบริหารราชการแผ่นดินมาแล้ว วันนี้ออกมาพูด ตำหนิ ติติง สื่อก็นำมาขยายความให้ โซเชียลมีเดียขยายให้ ก็ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด สับสนอลหม่านไปหมด ในสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดก็เสียหายไป ก็กลับไปสู่ที่เดิม เริ่มต้นใหม่ไม่ได้ เสียเวลาวันข้างหน้าไปอีกกี่รัฐบาลล่ะ เพราะฉะนั้นการเป็นประชาธิปไตยนั้น เราไม่จำเป็นต้องให้ร้ายหรือสร้างความเกลียดชัง นี่คือการปฏิรูปทางการเมืองอันดับหนึ่งเลย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการยอมรับ เมื่อผู้ตัดสินถูก-ผิด ตามหลักฐานแล้ว ก็ต้องไม่มีใครก้าวล่วง หากผู้ทำความผิด ไม่ไปให้ผลประโยชน์ แลกเปลี่ยนกับคนที่ไม่ดี ก็อาจจะมีอยู่บ้าง น่าอับอายแทนคนเหล่านั้นครับ ทุกคนรู้ตัวดี ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร ศาล อัยการ ขอร้องอย่าให้มีอีกต่อไปครับ
สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว บางพื้นที่ก็ต้องเจอกับภัยแล้ง เพราะมีปัญหาเรื่องระบบกระจายน้ำ หรือแหล่งน้ำ ในพื้นที่ที่ไม่เพียงพอ บางพื้นที่ก็เก็บน้ำไม่ได้ บางที่ก็ไม่มีน้ำจะให้เก็บ ก็ต้องไปดูว่าจะทำอาชีพอะไรกันอย่างไร การเกษตรอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นบ้าง ก็ไปดูนะครับ โครงการไทยนิยมเขาก็เสนอไปหลายอย่างด้วยกัน ถ้าเราไม่รับรู้ รับทราบ ก็ต้องอยู่ที่เดิม แบบเดิมทั้งหมด แล้วก็เจอแต่ปัญหาเดิม ๆ รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ครับ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิในตอนเช้า ตอนนี้เข้าฤดูหนาวแล้ว จะเย็นลงประมาณ 2 - 4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ภาคใต้ ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศ มีระดับน้ำปานกลาง ถึงมาก สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่และขนาดกลาง ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี จากการบริหารจัดการที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำมากกว่า 61 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ใกล้เคียงกับปีก่อน ร้อยละ 83 ปีนี้ก็ฝนตกสั้นไป ตกนอกพื้นที่ เก็บน้ำไปบ้างพอสมควร ตกซ้ำที่บ้างอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงนี้ก็ถือว่าไหลเข้าเขื่อนมากกว่าระบายออก กล่าวได้ว่า มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการเฉลี่ย สำหรับอุปโภค - บริโภค การเกษตรก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และในการรักษาระบบนิเวศด้วย ในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝนถึงปีหน้า ต้องระมัดระวัง บริหารจัดการให้ดี หน่วยที่รับผิดชอบ
สำหรับเรื่องอุบัติเหตุจากการใช้รถ ใช้ถนน เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากครับ และทุกคนก็เป็นห่วงเช่นกัน เฉพาะวันที่ 29 ตุลาคม วันเดียว มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนน 43 ราย บาดเจ็บกว่า 3,000 รายรวมทั้งปีมีผู้เสียชีวิต มากกว่า 12,000 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 800,000 ราย เป็นการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ที่เราน่าจะป้องกันได้ ไม่น่าจะปล่อยให้เกิด เพียงแต่เรารักษาวินัยจราจร มีน้ำใจในการใช้เส้นทาง มีการตรวจสอบสภาพรถ ศึกษาเส้นทางให้ดี ที่สำคัญก็คือ “เมาไม่ขับรถ” ไม่ขึ้นรถดีกว่านะครับ ใครจะทานเหล้าก็อย่าขับรถเลย ให้คนอื่นขับไป พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้เรา ครอบครัว และผู้ร่วมทาง ก็จะปลอดภัย ทุกคนต่างเป็นที่รักซึ่งกันและกันทั้งสิ้น
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีสวัสดิภาพ และครอบครัวมีความสุข ทุก ๆ วัน นะครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard