รายการ “ภารกิจพิชิตโกง” วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 19.30-20.00 น.

Last updated: 7 ก.พ. 2561  |  2436 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ภารกิจพิชิตโกง” วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 19.30-20.00 น.

พิพิธภัณฑ์ต้านโกงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านคุณธรรม เพื่อต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศที่เป็นศูนย์กลางและพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริต และการส่งเสริมสังคมแห่งความสุจริตและโปร่งใส

อาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 10 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ลานสนุกคิด
ให้ผู้เข้าชมคิดวิเคราะห์พฤติกรรมที่เคยทำในชีวิตประจำวันว่าเสี่ยงต่อ "การทุจริต" หรือ "โกง" หรือไม่ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการค้นหาความหมายของการ "ทุจริต" โดยสื่อสารผ่านสถานการณ์จำลอง 

ส่วนที่ 2 เลือกทางเดิน
วีดีทัศน์แสดงภาพรวมปัญหาการทุจริตของประเทศไทยเพื่อสะท้อนให้ผู้เข้าชมทราบถึงที่มาของปัญหาการทุจริตที่มักเกิดขึ้นจากความเคยชินแม้จะเป็นการโกงเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน

ส่วนที่ 3 เมืองมนต์ดำ
สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้เข้าชมทราบถึงมูลค่าความสูญเสียเงินภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาลอันเกิดจาก "การทุจริต”เพื่อปรับทัศนคติให้ผู้เข้าชมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผลประโยชน์
ส่วนรวมของคนไทย

ส่วนที่ 4 ตีแผ่กลโกง 
ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้รูปแบบกลโกงในการทุจริต 6 ประเภท เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงการทุจริตที่มีความซับซ้อน

ส่วนที่ 5 กำจัดกลโกง
ให้ผู้เข้าชมรับรู้ถึงบทบาท ภารกิจ และพัฒนาการของสำนักงาน ป.ป.ช. นับจากเริ่มก่อตั้ง ให้ผู้เข้าชมเข้าใจวิธีการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. รวมถึงรายละเอียดคดีสำคัญที่เป็นผลงานของสำนัก
งาน ป.ป.ช. เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงผลเสียของการ "โกง”

ส่วนที่ 6 วันชี้ชะตา
บทสรุปของคน "โกง” ผ่านคดีการทุจริตที่คลองด่าน ซึ่งเกิดจากการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนในการร่วมตรวจสอบการทุจริต "คนโกงต้องได้รับการลงโทษ”

ส่วนที่ 7 พลังคุณธรรมขับเคลื่อนสังคม
สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าชมเห็นแบบอย่างของการทำดี มีความซื่อสัตย์ จากสถาบันหลักของชาติ ประกอบด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์ อดีตผู้นำประเทศ ผู้นำทางศาสนา และภาคประชาสังคม

ส่วนที่ 8 เมืองแห่งแสงสว่าง
กิจกรรมการเรียนรู้การดำเนินชีวิตที่ยึดหลักคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคการเมือง และภาครัฐ

ส่วนที่ 9 พลเมืองข่าว ป.ป.ช.
กิจกรรมการรายงานข่าวทางสถานีโทรทัศน์จำลอง "ACM NEWS” เพื่อเปิดโปงการโกง การแจ้งเบาะแสการทุจริต และการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต

ส่วนที่ 10 รวมพลังสร้างสังคมไทยใสสะอาด
ภารกิจและเครือข่ายต้านโกงทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมสมัครเป็นเครือข่าย ป.ป.ช. เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริต

การปลูกฝังเรื่องค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ต้องปลูกฝังให้ลึกเข้าไปในจิตใจไม่ใช่สอนกันเพียงผิวเผิน การศึกษามีบทบาทในการเสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ได้อย่างไรบ้าง

  1. ทำไมต้องมาพูดกันเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เนื่องจากสภาพปัจจุบันมีปัญหามากมายอาทิเช่นธุรกิจนอกกฎหมาย การคอรัปชั่น การพนัน โสเภณี ฯลฯ เหตุเกิดเพราะความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้าและประชาชนกล่าวได้ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า และ- ประชาชน กล่าวได้ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นต้นตอ และรากเหง้าของปัญหาหลาย ๆ อย่าง ถ้าคนเราเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาหลายอย่างจะไม่เกิด หรือเกิดก็ไม่มาก ถ้าข้าราชการซื่อสัตย์ไม่ทุจริต ก็จะไม่มีช่องทางให้คนอื่นอาศัยประโยชน์ ถ้านักการเมืองซื่อสัตย์เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมการกำหนดนโยบาย และการตัดสินใจก็จะเกิดผลดีกับประเทศชาติและประชาชน ถ้าพ่อค้านักธุรกิจ ซื่อสัตย์ไม่ติดสินบาทคาดสินบน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ก็ไม่ทำให้คนอื่นพะวักพะวงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะช่วยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดคนกระทำผิดขึ้น จึงจำเป็นต้องคิดปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้กับคนไทยทุกคน คนไทยทั้งชาติไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย คนรวยหรือคนจน ประชาชนหรือข้าราชการ เพื่อให้เป็นพื้นฐานความเจริญรุ่งเรืองของชาติไม่ใช่เพียงข้าราชการเท่านั้นที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต คนไทยทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วย
  2. เราจะเริ่มปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเมื่อไร นิสัยความซื่อสัตย์สุจริตสร้างตั้งแต่แรกเกิดและเริ่มก่อตัวขึ้น จากความรักความอบอุ่นที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องได้แสดงออกแก่เด็ก พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่สำคัญในวัยเด็ก เมื่อถึงวัยเข้าสู่โรงเรียนถือครูเสมือนพ่อแม่คนที่สอง เด็กเชื่อในสิ่งที่ครูสอน ครูทำให้ดูเป็นตัวอย่างไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตามการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติเรื่อความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นบทบาทของครูทุกคนในโรงเรียน และผู้บริหารที่ต้องทำตนเป็นแบบอย่าง
  3. การปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหน้าที่ของใคร องค์กรหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญคือ
    3.1 ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ต้องช่วยกันดูแลสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกนี้ด้วยการแนะนำสั่งสอน ทำตัวอย่างที่ดีให้กับคนในครอบครัวของตน
    3.2 โรงเรียนและสถานศึกษา เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมบ่มนิสัยคือ ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง การสร้างนิสัย การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องหัวใจสำคัญของการศึกษา คือทำให้คนเป็นคนดีเป็นคนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นทั้งต่อสังคมที่ตนอยู่อาศัย และต่อประเทศชาติ การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็เหมือนกัน ต้องทำให้ผู้เรียน เกิดศรัทธา เชื่อในสิ่งที่ดีและปฏิบัติจนเป็นกิจนิสัย
    3.3 สถาบันสังคมต่าง ๆ ต้องมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนการสร้างลักษณะนิสัยความซื่อสัตย์สุจริต วัดและองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ ช่วยได้มากในการอบรมสร้างความเชื่อความศรัทธาให้เกิดขึ้น
  4. การเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต ผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคงเป็นของโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความงอกงามในทุก ๆ ด้านอย่างมีดุลยภาพ คือต้องให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านจิตใจ ปัญญา ร่างกาย และทางสังคม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณลักษณะทางจิตใจ ประการหนึ่งที่พึงปลูกฝังพัฒนาให้เกิกับเด็กทุกคน แต่การพัฒนาคุณลักษณะด้านความซื่อสัตย์สุจริตก็ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทางด้านปัญญาคือ ความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาทางร่างกาย และสังคม เช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการพัฒนา นิสัยเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต จึงน่าจะมีกระบวนการ จัดการเรียนการสอนดังนี้
    4.1 กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตทำได้โดยวิธีง่าย ๆ เช่น ข่าวเหตุการณ์ประจำวัน การเล่านิทาน ถ้าเด็กโตสามารถเล่าเรื่องจริงและมีรายละเอียดประกอบ ได้มากขึ้น
    4.2 การยกย่องสรรเสริฐผู้ทำความดีต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่แสดงออกถึงความซื่อสัตย์สุจริต ควรยกย่อง
    4.3 การให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า หาบุคคลตัวอย่างที่แสดงถึงความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โดยพูดคุยกับคนในชุมชนเพื่อหาคนที่ชุมชนยกย่องนับถือและศึกษาจากหนังสือและให้เด็กบอกเหตุผลในการเลือกบุคคลนั้นมาเป็นตัวอย่าง
    4.4 ให้นักเรียนจัดนิทรรศการแสดงประวัติและความประพฤติของผู้เรียนที่นักเรียนยกย่อง ว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
    4.5 โรงเรียนประกาศยกย่องนักเรียนหรือครูที่มีความซื่อสัตย์สิจริตให้ปรากฎแก่นักเรียน โดยทั่วไปทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ฯลฯ
  5. กิจกรรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริต
    5.1 การให้เห็นตัวอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
    5.2 ยกย่องสรรเสริญให้ขวัญและกำลังใจกับผู้ประกอบความดี เป็นต้น

การจะปลูกฝังให้เด็กไทยรุ่นใหม่เกิดความซื่อสัตย์สุจริต ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนเริ่มตั้งแต่ครอบครัวต้องให้ความรักความอบอุ่น และอบรมสั่งสอนต่อจากนั้นโรงเรียน โดยผู้บริหารและครูอาจารย์ ต้องปลูกฝังค่านิยมในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ให้เด็กทราบในรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ จึงนับว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดกับเด็กเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศชาติต่อไป

รายการ “ภารกิจพิชิตโกง”

  • วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561
  • เวลา 19.30-20.00 น.

ผู้ดำเนินรายการ

  • นางสาวสิรินทร ชุมวรฐายี

ผู้ผลิตรายการ

  • สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ช.)
  • สมาคมสื่อช่อสะอาด

ห้องบันทึกเสียง

  • สถานีวิทยุปากเกร็ด FM 93.75 MHz จังหวัดนนทบุรี

ผู้ควบคุมรายการ

  • นายสุทนต์ กล้าการขาย
  • นางอิสรีย์ กล้าการขาย

รูปแบบรายการ

  • รายการข่าวสารประโยชน์ต่อสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ ความเคลื่อนไหว และภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของสำนักงาน ป.ป.ช. ตามสัดส่วน 25% สำหรับผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2556
  • ความยาว 30 นาที

วิธีการดำเนินงาน

  • สด/บันทึกรายการล่วงหน้า

งบประมาณสนับสนุน

  • ไม่มี

ช่องทางการเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดเสียง

ช่องทางการส่งกระจายเสียง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

  • สถานีวิทยุกระจายเสียง จำนวน 421 สถานี

ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้