Last updated: 22 ธ.ค. 2560 | 2288 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ช่วงนี้ ใกล้เทศกาลปีใหม่ เทศกาลที่เราคนไทยนิยม "ส่งความสุข" ถึงกัน และอำนวยอวยพรซึ่งกันและกัน ให้พบแต่สิ่งดี ๆ ในโอกาสนี้ ผมก็อยากให้พี่น้องชาวไทยทุกคนมี "ความสุขที่ยั่งยืน" ใครที่มีความฝัน ก็ขอให้สมความหวังด้วยการลงมือทำ ไม่ต้องรอคอยความหวังแต่เพียงอย่างเดียว การช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว หรือรอโชคชะตาฟ้าลิขิต รอการเลือกตั้ง รอรัฐบาลใหม่อะไรทำนองนี้ ต้องทำตั้งแต่วันนี้ ไม่มีพรใดจะศักดิ์สิทธิ์ หรือส่งผลสัมฤทธิ์ได้ หากเราไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยปัญญา ไม่ใช้ความเพียรอย่างมุ่งมั่น ผมอยากให้ทุกคนอยู่บนโลกของความเป็นจริง มีหลักคิดบนพื้นฐานของเหตุและผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และก็ใช้อดีตเป็นบทเรียนสอนใจ แม้ใครจะเคยล้ม ก็ขอให้ลุกขึ้นก้าวเดินต่อไปได้ เราจะเป็นกำลังใจให้แก่กันตลอดไป
สัปดาห์หน้า ก็จะเป็นวันสิ้นสุดโครงการ "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาล ทั่วประเทศ" ของ "คุณตูน บอรดี้สแลม" และทีมงาน ก็ขอให้ประสบความ สำเร็จ ปลอดภัย โดยสวัสดิภาพ ขอขอบคุณที่นำความสุข และรอยยิ้มมาสู่คนไทยทั้งประเทศ ตลอดระยะเวลา 2 เดือน ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ขอบคุณที่เป็นสะพานเชื่อมใจคนไทยในการมีความรัก ความสามัคคี เผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดเส้นทาง 2 พันกว่ากิโลเมตร ขอขอบคุณที่ได้สอนให้คนไทยได้มีการรักสุขภาพ จากจุดนี้ก็อยากจะขอให้คนไทย ช่วยกัน "ก้าวคนละก้าว" แต่จะเป็นการ "ก้าวไปพร้อม ๆ กัน" เพื่อวันข้างหน้าของเราที่ดีกว่าวันนี้ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วก็จะต้องเป็น "ก้าวย่างที่มั่นคง" ตลอดไป
พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่าน ครับ
รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้เพียงคำนึงถึง "เพียงของขวัญปีใหม่" สำหรับคนไทยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ในแต่ละปีเท่านั้น เพราะว่าการช่วยลดค่าใช้จ่าย การบรรเทาความเดือดร้อนก็จะเป็นเพียง ความสุขชั่วคราว ความสุขชั่วข้ามคืน ซึ่งอาจจะต้องยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพราะว่าประเพณีของไทยเราในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ก็ต้องมีอะไรมอบให้กัน แต่สิ่งที่ผมปรารถนา ก็คือการนำพาบ้านเมืองของเราไปสู่ ให้เป็น "ของขวัญในวันหน้าให้กับลูกหลาน" ซึ่งก็จะเป็น "ความสุขที่ยั่งยืน" สิ่งสำคัญคือเราจะต้องดูในเรื่อง การบริหารราชการแผ่นดิน ในลักษณะที่การมีส่วนร่วม ทั้งรัฐ และประชาชน แล้วเราก็น้อมนำหลักปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้แล้วก็พระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาสืบสาน ต่อยอดไปให้ได้ เพื่อจะไปสู่การ เป็นแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างต่อเนื่อง เกิดการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ คือวันนี้เราต้องปฏิรูปประเทศให้ได้
ที่ผ่านมาเราก็ทำไปมากพอสมควร อย่าไปคำนึงถึงว่าจะปฏิรูปก่อน ปฏิรูปหลัง อะไรทำนองนี้ เราปฏิรูปได้ตลอดเวลา ทุกวันทุกเวลา เริ่มจากตัวตนไปก่อนก็ได้ ซึ่งเราทุกคน ก็พอจะรับทราบไปบ้างแล้ว ก็ขอให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงอนาคตอันใกล้ของเรา หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อม มีกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา ในการที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง สิ่งดี ๆ ก็กำลังจะเกิดขึ้น ผมก็อยากให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่เราทุกคนได้ร่วมกันสร้างมา ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็คงจะมีสิ่งดี ๆ ค่อย ๆ ทยอยออกมา อย่างต่อเนื่อง เราต้องช่วยกัน ทั้งจากภายในและภายนอก โดยคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ถ้าเราร่วมกันสร้างความดี ก็สำเร็จแน่นอน
หากพูดถึง "ของขวัญ" แล้วรัฐบาลและ คสช. ไม่ได้รอที่จะมอบให้กับพี่น้องประชาชน เฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ แต่จะมอบให้ทุก ๆ วัน เราจะเร่งมือในการทำงาน ในทุกประเด็น ทุกมิติ ทั้งแก้ไขปัญหาทั้งที่เริ่มใหม่ แล้วก็ดำเนินทุกอย่างให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน หลายสิ่งที่ลงมือทำไปแล้ว ลงมือแก้ปัญหาไปแล้ว ตลอดระยะเวลา 3 ปี บางอย่างบรรลุผลไปแล้ว ทุกคนอย่าลืมสิ่งเหล่านั้นบ้าน เมืองของเราก็มีสิ่งดี ๆ มากมายจากการทำงานร่วมกัน โดยการขับเคลื่อนกลไก "ประชารัฐ" เราทุกคน ยังคงจำกันได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของชาวโลกที่ผ่านมานั้นอาจจะถูกสะสม ทับถม รอการสะสางมานานนับสิบ ๆ ปี เป็นปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ จะบอกว่าไม่สำคัญไม่ได้ เพราะทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในเวทีระหว่างประเทศ ต่างประเทศ ทำให้นำมาสู่แรงกดดันทางเวทีประชาคมโลก คงไม่ใช่จากเรื่องเป็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดียว วันนี้ต้องดูในหลายมิติด้วยกัน ซึ่งอาจจะทำให้การค้า การเจรจา การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับชาติพันธมิตร - คู่ค้า - คู่สัญญา ก็ทำให้เกิดเงื่อนไข ที่เราเป็น "ฝ่ายเสียเปรียบ" อยู่ตลอดเวลา เราอาจจะไม่สามารถทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือ สิ่งที่เป็นกติกาสากลได้ เพราะว่าปัญหาภายในของเราเอง
ปัญหาเหล่านั้น ที่ได้รับการคลี่คลาย และ แก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไปสู่ความยั่งยืน ได้แก่
(1) การแก้ปัญหาการค้างาช้างภายในประเทศ ตามอนุสัญญาไซเตส (CITES)
(2) การ "ปลดธงแดง" ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งมีความก้าวหน้ามาไปตามลำดับ
(3) การต่อสู้กับการค้ามนุษย์ เราได้กำหนดให้เป็น "วาระแห่งชาติ" จนสามารถลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์การค้ามนุษย์ลง ไม่ได้หมายความว่าลดลงได้ 100% ทุกคนต้องช่วยกัน ทุกคนต้องเป็นหูเป็นตา เจ้าหน้าที่ก็ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย อย่าปล่อยปละละเลย ประชาชน ผู้ประกอบการ ก็ต้องไม่ฝืนกฎหมาย จากสถานการณ์การค้ามนุษย์ตามรายงาน TIP Report ของสหรัฐฯ เราได้หลุดจาก "ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง" (Tier 2 Watch list)
(4) การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งวันนี้ก็มีความคืบหน้าไปมาก ล่าสุดเราได้แจ้งให้ทาง EU ได้ทราบความคืบหน้าในการดำเนินการที่ผ่าน ๆ มา เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ เราก็พยายามที่จะแก้ปัญหาให้เป็น มาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการ "ปลดธงเหลือง" เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับเรือประมงนอกน่านน้ำ และการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อน เราต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ หลายอย่างที่ต้องแก้ไขทั้ง 3 ส่วน ไปด้วยกัน 3 วิธีการไปด้วยกัน อันนี้ก็ขอขอบคุณบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมดด้วย ถ้าท่านไม่ร่วมมือก็ไปไม่ได้ ประมงพื้นบ้านไม่ร่วมมือก็ไปไม่ได้อีก เพราะทุกคนอยู่ในห่วงโซ่ เรื่องประมงด้วยกัน ทุกคนก็มีผลประโยชน์มากน้อยบ้างอะไรตรงนั้น ทำอย่างไรจะเกิดความสมดุลได้ แล้วก็ทำให้ทรัพยากรเรามีหลงเหลือให้อนาคตด้วย หลายสิ่งได้รับการแก้ไขไปแล้ว แน่นอนต้องมีคนเดือดร้อน ถ้าเดือดร้อนด้วยทำผิดกฎหมาย ผมก็ไม่รู้จะอย่างไรเหมือนกัน เพราะกฎหมายคือกฎหมาย แต่ท่านต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงไปบ้าง รัฐก็พยายามที่จะดูแลอยู่แล้ว
(5) ผลการประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย พูดง่าย ๆ คือเรื่องลิขสิทธิ์ การปลอมแปลงสินค้าอะไรเหล่านี้ สหรัฐฯ ได้เผยแพร่มาแล้ว โดยถอดประเทศไทยออกจาก "กลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ" ให้อยู่เพียงใน "กลุ่มบัญชีจับตาธรรมดา" หลังประเทศไทยได้ใช้ความพยายามในเรื่องนี้มาแล้วกว่า 10 ปี ก็ไม่สำเร็จ รัฐบาลนี้ได้ประกาศสงครามกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกรูปแบบ เราใช้เวลา 3 ปี อย่างเอาจริงเอาจัง ในการสร้างจิตสำนึก ทำความเข้าใจ ปราบปราม และขอความร่วมมือ ทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตลาดต่าง ๆ ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลดี คือสหรัฐฯ ยอมรับในการทำงานที่กล่าวมา ซึ่งจับต้องได้ เห็นผลเป็นรูปธรรม แสดงออกถึงความจริงใจ เจตนารมย์มุ่งมั่นในการแก้ปัญหา เช่น การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว กฎหมายหลายฉบับเราไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล เราต้องแก้ไข มีการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจ สอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า มากขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน หลายอย่างใช้โครงสร้างเดิมไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่จำนวนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ประเภทนี้ ในทุก ๆ กิจกรรม ในเรื่องของการตรวจสอบ เพื่อจะลดปริมาณคำขอจด ที่ค้างอยู่จำนวนมาก ลดเวลาจดให้ได้ตามมาตรฐานสากล สนับสนุนงบประมาณสำหรับเครื่องไม้เครื่องมือ และระบบ IT ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจน สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ ทั้งตำรวจ ทหาร กอ.รมน. DSI ปปง. กรมศุลกากร และทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน และเด็ดขาด ทำอย่างต่อเนื่อง ให้มากขึ้นไปอีก ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้พิจารณาทบทวนเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะประเทศไทย เป็นประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาอยู่ช่วงนี้
ความสำเร็จต่าง ๆ เหล่านั้น เราทุกคนเข้าใจดีว่า ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายนะครับ หลายคนต้องปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรมและ เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง อาจจะมีผลกระทบทางด้านธุรกิจบ้างแต่เป็นความจำเป็น รัฐบาลเอง ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านเศรษฐกิจไปด้วย เนื่องจาก "เงินจากธุรกิจสีเทา" เหล่านั้น คือการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะมาก จะน้อย ได้หดหายไปจากระบบเศรษฐกิจฐานราก เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่เราก็ต้อง มาช่วยกันคิดว่าเราควรจะต้องเลือกทำในสิ่งที่ถูก ละเลิกในสิ่งที่ผิด แม้จะต้องลำบากในช่วงต้น อันนี้ก็ต้องขอร้อง บรรดาประชาชนผู้ที่มีรายได้จากในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ที่ผิดกฎหมาย ผิดกติกา ไม่อย่างนั้นก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้เหมือนเดิม แล้วเราก็มาดูแลกันว่าจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้น ก็ต้องแสดงตัวกันออกมา รวมกลุ่ม รัฐบาลจะได้ดูแลแก้ปัญหาได้ เป็นนโยบายต่อไปที่เราจะทำอยู่
สิ่งที่ทำวันนี้จะทำให้เกิดความสุขสบายที่ยั่งยืน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นผลงานสำคัญของฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล ที่จะส่งผลดีต่อฝ่ายเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ให้สามารถดำเนินนโยบายได้ง่ายขึ้น เหมือนกับวิสัยทัศน์ของประเทศที่ได้กำหนดไว้ว่าให้สร้าง "ความมั่นคง" ให้ได้ก่อนแล้ว "ความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน" ก็จะตามมาด้วย หากเราทำในสิ่งที่ถูกต้องในวันนี้ รายได้อาจลดลงบ้าง เดือดร้อนบ้าง เราก็ไปดูแลกันตรงนั้น ระยะต่อ ๆ ไปก็จะดีขึ้นตามลำดับ เพราะจะเป็นการทำให้ทุกคนที่สุจริต เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม ในการที่จะหารายได้ในทุกกิจกรรม ไม่ถูกบางกลุ่ม บางฝ่าย หรือบางคนที่ทำผิดกฎหมาย เข้ามายึด เข้ามาครอบครอง ในการทำความผิดอยู่ในพื้นที่ทุกพื้นที่นะครับ ก็จะเปิดเวที เปิดแหล่งน้ำให้มากยิ่งขึ้น ให้ทุกคนเอาเบ็ดมาตกปลาได้มากขึ้น ช่วงนี้อาจจะต้องลำบากไปอยู่บ้าง ก็ต้องขอโทษด้วย ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าที่ผมพูดผิดหรือถูก ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็ไม่ทำอีก
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ศักราชใหม่นั้น ผมอยากให้พวกเราทุกคนได้มองปัญหาแบบใหม่ ๆ ในมุมมองที่แตกต่าง เราจะต้อง "แปลงปัญหา หรือแปลงวิกฤติต่าง ๆ ให้เป็นโอกาส" หมายถึง เป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมแรง ร่วมใจกัน เพื่อที่จะสานพลัง "ประชารัฐ" ต่อสู้และผลักดัน "ประชารัฐ" ไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว มีทั้งประชาชน ประชาสังคมแล้วก็ทั้งธุรกิจเอกชน ทุกคนที่เป็นคนไทยต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพลังเหล่านี้ เพื่อจะแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็ก ปัญหาน้อย ปัญหาใหญ่ เช่น ยกตัวอย่าง จังหวัดกาฬสินธุ์ รายได้น้อย อยู่ลำดับท้าย ๆ ของ 76 จังหวัด แต่ก็รายล้อมด้วยจังหวัดต่าง ๆ ที่มีรายได้สูง เราจะทำอย่างไร เราจะทิ้งกาฬสินธุ์ไว้ ก็ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 20 จังหวัดที่มีความยากจนลำดับจากท้ายขึ้นมา ไม่รวมกรุงเทพมหานคร 76 จังหวัด 20 จังหวัดท้าย ๆ นี้ ที่มีรายได้ต่ำ เราจะทำอย่างไรกับเขา ก็ต้องหากลุ่มจังหวัด มาเชื่อมโยงเราจะต้องไม่ทิ้งกาฬสินธุ์ไว้ข้างหลัง อันนี้เฉพาะกลุ่มจังหวัดตรงนี้ มีอีกหลายกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่มจังหวัด ต้องช่วยกันดู จากจังหวัดก็ไปกลุ่มจังหวัด แล้วก็ไปภาค
วันนี้เราได้บริหารประเทศในภาพรวม เราก็มีทั้งจังหวัด กลุ่มจังหวัด แล้วก็ในส่วนของภาค กบพ. จัดตั้งขึ้นมาใหม่แล้วก็จะเติมกันไปตั้งแต่พื้นฐาน งานฟังค์ชั่น งานบูรณาการ แล้วบูรณาการอีกขั้นหนึ่งคือบูรณาการระดับภาค เพราะฉะนั้นจะ Top down ลงไปในเรื่องงบประมาณ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเสนอแผนงานจากข้างล่างขึ้นมาด้วย ความต้องการของพื้นที่ ของประชาชน เป็นไปตามข้อมูลของแต่ละพื้นที่ มีปัจจัยต่างกัน เราจะต้องสร้างความเชื่อมโยงให้ได้ทุกกิจกรรม ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เอาทุกกลุ่ม ทุกสาขาวิชาชีพ เข้ามาอยู่ในวงจร ในห่วงโซ่อุปทาน เราจึงจะสามรถเสริมสร้างความเข้มแข็งร่วมกันได้
สำหรับยุทธศาสตร์บริหารประเทศในภาพรวมตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" อาทิ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เช่น การสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นบนมือถือ มายกระดับการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย และให้บริการประชาชน หรือ "โปลิศ - ไอ - เลิ้ท - ยู" (Police I lert u) ผมเคยกล่าวถึงเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้ได้พัฒนาไปมาก โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการเดิม เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปสู่ทุกจังหวัด ทั่วประเทศแล้วนะครับ จุดแข็งของระบบ ก็คือการแจ้งเหตุเข้าศูนย์ 191 ของทุกจังหวัด ด้วยระบบกำหนดที่ตั้งโดยดาวเทียม GPS ทำให้ตำรวจสามารถไปถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นทุกสถานีตำรวจ ทุกหน่วยงานความมั่นคง ก็ต้อง Standby ให้พร้อม ไม่ใช่เขาแจ้งมาแล้วไม่ไปอีก หรือไปช้า
วันนี้เรามียอดประชาชนดาว์นโหลด ที่เรียกว่า "แอปฯ ช่วยชีวิต" นี้ ไปใช้แล้ว กว่า 2 แสนราย ซึ่งผมอยากแนะนำให้เด็ก ผู้หญิง คนชรา ผู้บกพร่องทางร่างกาย ได้มีไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วย คงไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมแต่เพียงอย่างเดียว เรื่องสุขภาพ เรื่องการบริการ โรงพยาบาล เหล่านี้ จะได้รู้ทันเวลา เพราะเราไม่อาจจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องสุขภาพส่วนตัว ทั้งเรื่องเหตุร้ายต่าง ๆ เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุ ในระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นปีใหม่ปีนี้ ขอความกรุณาดาวน์โหลดไปด้วย ในช่วงกลับภูมิลำเนาในช่วงปีใหม่ และเทศกาลต่าง ๆ ที่อาจจะมีการสัญจรทางถนนมาก ๆ
นอกจากนี้ ยังมีแอพลิเคชั่นบนมือมืออีกจำนวนมาก นี่คือการใช้ประโยชน์จากมือถือ ใน "ศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ" ที่เรียกว่า (GAC) ซึ่งกำหนดเน้นให้บริการประชาชน ให้ตอบสนองความต้องการในชีวิต ประจำวันเป็นหลัก ทุกคนลองเลือกใช้ดู นี่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิตอลในวันนี้ ก็เลือกใช้ดูแล้วกัน อีกประการหนึ่ง อยากระดมทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันทำกิจกรรมอาสาสมัคร เรามีอยู่หลายอาสาสมัครแล้ว แล้วก็เป็นประโยชน์มาก เพราะอยู่ในทุกพื้นที่ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะส่งเสริมกิจกรรมของอาสาสมัครเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครเรื่องความมั่นคง อาสาสมัครเรื่องการสาธารณสุข การดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ในชุมชนของท่าน จะช่วยรัฐ ช่วยเจ้าหน้าที่ได้มาก ให้ช่วยกันทำประโยชน์ให้กับสังคม นอกจากรัฐที่จะต้องดูแลสนับสนุนแล้วส่วนหนึ่ง ก็อยากจะขอร้องให้ภาคธุรกิจเอกชน ที่ได้ประกอบการอยู่ในพื้นที่ ได้เข้ามาดูแล อาสาสมัครเหล่านี้ด้วย ให้งบประมาณ ให้อะไรต่าง ๆ เพื่อเข้าไปช่วยในการที่จะดูแล ดูแลคน เพราะว่าเขาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด แล้วสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือวันนี้เรามีจิตอาสาตามแนวพระราชโยบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ด้วย ซึ่งก็ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจเพื่อประเทศไทยของเรา มีอยู่ทุกพื้นที่เช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องทำงานร่วมกันให้ได้หลาย ๆ ภาคส่วน
ข้อสำคัญคือ ภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายน้อย รายใหญ่ ตามขีดความสามารถของท่านช่วยกันเข้ามาดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย ไม่ว่าจะปัญหาหนี้สิน ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต การสาธรณสุข อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะต้องมาเข้ากลไก หรือผ่านในเรื่องของอาสาสมัครก็ได้ บางท่านก็มีโอกาสที่จะช่วยชาติได้อีกมากมาย แล้วก็จะเป็นกุศล ชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ การไว้เนื้อเชื่อใจ ในการสนับสนุนของท่านจากประชาชนในพื้นที่โดยทั่วไปอีกด้วย จากสังคม วันนี้ต้องลดแรงกดดันตรงนี้ไปให้ได้นะครับ สำหรับภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมด
นอกจากนั้นแล้วการขับเคลื่อนประเทศ ด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของ "ไทยแลนด์ 4.0" โดยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้วก็นำร่องอีก 10เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในอนาคต ส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดของ BOI สะท้อนให้เห็นลู่ทางที่สดใส มีสถิติการลงทุนที่น่าสนใจอย่างมาก ในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา ของรัฐบาลนี้ อาทิ มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั่วประเทศ กว่า 6,300 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 2.7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เกือบ 1,700 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของโครงการทั่วประเทศ ซึ่งก็มีมูลค่าเกือบ "ครึ่งหนึ่ง" ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เราต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ จะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ แล้วเชื่อมโยงไปยังภายนอกด้วย ผมเห็นมาแล้วนะครับโดยเราแยกเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม คือการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ท่องเที่ยว อาหารแปรรูป ซึ่งเรามีอยู่แล้ว แต่เราทำให้ทันสมัยขึ้นด้วย มีการขยายกิจการ เพิ่มเทคโนโลยีใหม่ อะไรใหม่ ปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรเหล่านี้ รวมกว่า 1,800 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท และ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม "ใหม่" ที่เราเรียกว่า New S Curve ได้แก่ ดิจิทัล การแพทย์ ปิโตร เคมี เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน เกือบ 1,500 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 0.3 ล้านล้านบาท เหล่านี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นการลงทันเตรียมการเพื่ออนาคต เพื่อรองรับสังคมสูงวัย การขาดแคลนแรงงานในอนาคตด้วย เราต้องทำทั้ง 2 อย่างด้วยกัน เราทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความสงบเรียบร้อย ปลอดภัยในช่วงที่ผ่านมานี้ และจาการที่เรามีนโยบายที่ชัดเจน มีการ การบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์จนเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่ต้องการความมั่นใจ ในการที่จะนำเงินมหาศาลเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ซึ่งสิ่งดี ๆ เหล่านั้น ความก้าวหน้าต่าง ๆ เหล่านั้น ผมก็อยากนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ อันนี้ก็ขอให้ฟังทางเราบ้าง เราจะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ และ ของโลกในอนาคต อย่างรู้เท่าทัน โดยเฉพาะบรรดาเยาวชน นักศึกษา แรงงาน เราจะได้มองเห็นโอกาสงาน และอาชีพของตน ในอนาคตด้วย ที่ทำวันนี้ อนาคตทั้งสิ้น วันนี้ทำ 2 อย่างคือ 1 อนาคต 2 ดูแลคนในปัจจุบัน ให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องใช้เวลา หลาย ๆ อย่าง หลายมาตรการ
สุดท้ายนี้
ผมจะกลับมาพูดคุยกับท่านในเรื่องของประชาธิปไตย ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งเช่นกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันในเรื่องเหล่านี้ ที่ผมพูดต่อไปนี้เป็นข้อมูล ผมได้มาจากการอ่านหนังสือ "เศรษฐกิจดิจิทัล" เขียนโดยดอน แท็ปสก็อต ซึ่งเป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยม เจ้าของหนังสือ "วิกิโนมิกส์" และ "โกรวน์ อัพ ดิจิทัล" หนังสือเล่มนี้ แปลและเรียบเรียง โดย พรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ ซึ่งก็กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ จะผิดจะถูกไปคิดกัน ไปอ่านกัน ว่าหากเรามองไปรอบ ๆ ตัวแล้ว หลายประเทศในโลกก็ประสบปัญหาทางการเมืองคล้าย ๆ กัน อาจสังเกตได้ว่าปัญหาทางการเมืองใหญ่โตมากขึ้น ตามจำนวนประชากร แล้วก็เท่าที่เขาติดตามวิเคราะห์มาก็แนวโน้มในการที่ประชาชนจะเลือก จะงดออกเสียง ยังไม่นับกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนักการเมือง พรรคการเมืองอะไรก็แล้วแต่ที่ผ่านมา อันนี้ผมพูดถึงนอกประเทศ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยลง อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง ผมยกตัวอย่างต่างประเทศให้ฟัง ที่เคยมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ เกือบร้อยละ 90 ในปี1992 ลดลงมาเหลือ ประมาณ 66% ในปี 2012 ก็อาจกล่าวได้ว่า "ประชาธิปไตยในรูปแบบของสภาผู้แทน" นั้น อาจหมดสมัยไปแล้ว กลายเป็นยุค "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" นี่เขาเขียนมา เป็นคนต่างประเทศ แล้วเป็นประเทศใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น เขาก็เขียนมา เราก็เอามาคิดดูซิว่า ควรจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต วันนี้เราก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้ทั้งสิน แต่เป็นการคิดเพื่ออนาคต
หลักการที่เขาว่ามามี 5 ประการที่ต้องคำนึงถึง ดังต่อไปนี้
1. ความซื่อสัตย์ เขาวงเล็บไว้ว่าของนักการเมือง นับเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญสุด ในการสร้างศรัทธาจากประชาชน โดยการเลือกตั้งนั้นจะต้องโปร่งใส นักการเมืองต้องเปิดเผย และยุติธรรม รวมทั้งต้องสื่อสารกับผู้คนด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ชัดเจน และเชื่อถือได้ รวมถึงให้ความสำคัญกับความคิดเห็น ใส่ใจกับความรู้สึกของประชาชน และต้องไม่บ่อนทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และจะต้องไม่โจมตีให้ร้ายผู้อื่น ผมก็พยายามทำตรงนี้อยู่ ผมไม่เคยไปริเริ่มไปให้ร้ายใครก่อนทั้งสิ้นเลย และผมก็จะไม่ไปตอบโต้อะไรกับท่านอีกต่อไป ไม่ว่าจะใครก็ตาม
2. ความรับผิดชอบ (ของประชาชน) คือ เราจะต้องไม่สนับสนุนนักการเมืองที่เห็นแก่เงิน หรือ ใช้เงินในการลงทุนเพื่อเข้าสู่การเมือง และแสวงหาผลประโยชน์ให้ได้ในอนาคต อันนี้ก็ไปแยกกันให้ออกว่าอะไรคือเรื่องของผลประโยชน์ ผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ส่วนตัว เรื่องส่วนรวม เรื่องส่วนตัว ทุจริต โครงการ หรือทุจริตส่วนตัว มีกฎหมายทุกตัว ก็ไปว่ากันมา แก้ปัญหากันให้ได้ ผมคิดอย่างนั้น
3. การพึ่งพาอาศัยกัน โดยรัฐบาลที่ดี และมั่นคง ก็จะเกิดจากการที่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และสังคม ช่วยกันสร้างชุมชนที่แข็งแรง มีกฎเกณฑ์ และกฎหมาย ที่มีคุณภาพ แล้วก็ให้สอดคล้องกับบทบาทขององค์กรภาคเอกชนที่มีมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องหาแนวทางในการพึ่งพาอาศัย และเกื้อกูลกันในการก้าวไปข้างหน้า อันนี้เราก็มีประชารัฐไง ก็ค่อนข้างจะตรงกับเขาอยู่เหมือนกัน ตรงนี้
4. การเข้าถึงจิตใจประชาชน นักการเมือง และรัฐบาล สามารถแบ่งปันและ สร้างความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายขึ้น ผ่านเทคโนโลยี เช่น อินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องมือ ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในด้านในการใช้งบประมาณ และ การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยภาคประชาชน
5. ความโปร่งใสซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทั้งยังเป็นแกนกลางที่สร้างความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร ซึ่งความโปร่งใสนี้ จะต้องใช้ความรับผิดชอบและ ความซื่อสัตย์ เป็นเครื่องมือสำคัญ อันนี้ก็เป็นที่เขาเขียนมา เราก็ช่วยกันไปคิดแล้วกัน ทุกกลุ่มทุกฝ่ายผมไม่ว่าใครผิดใครถูกหรอก แต่อันนี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลของต่างประเทศ
เรื่องที่สองคือ กรณีเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา มีหลายท่านไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม นักวิชาการ นักการเมือง สื่อ แล้วก็หลายคน ทั้งเจตนาดี เจตนาบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ ก็แล้วแต่ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ของผู้มีรายได้น้อยผมก็อยากเรียนทำความเข้าใจไว้ว่า เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในเวลาอันรวดเร็ว สามปี ท่านออกจะบอกว่าตั้งสามปีไปแล้ว แต่ปัญหาเหล่านั้นเกิดมาหลายสิบปี บางครั้ง บางเรื่อง เพราะฉะนั้นผมก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผม คสช. รัฐบาลเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ก็ต้องช่วยพยายามแก้ไขกันต่อไป ฉะนั้นอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็แก้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะแก้แบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาที่เราเผชิญอยู่ เป็นปัญหาที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ มีความแตกต่างกันตั้งแต่ สังคม ฐานะ อาชีพ รายได้และศักยภาพ ขีดความสามารถ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยมาตรการเฉพาะหน้าแต่เพียงลำพัง
สิ่งเหล่านี้ เราต้องแก้ปัญหาในหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน และต้องใช้เวลาภายใต้กรอบของการเป็นประชาธิปไตยเของเรา ซึ่งเราก็มีทั้งการค้าเสรี ทุนเสรี พันธะสัญญาต่างประเทศ กฎหมายต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และที่เป็นสากล กฎหมายการค้า การลงทุน สิ่งเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่ประกอบกันหลายอย่างเป็นปัญหา หลายอย่างไม่เป็นปัญหา แต่ก็สั่งสมทับถมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ ของคนระดับบน ระดับกลาง ระดับล่าง มันห่างออกมาจากกันเรื่อย ๆ เพราะว่าพื้นฐานต่างกัน ทรัพย์สินต่างกันตั้งแต่แรก แต่ด้วยกลไกของประชาธิปไตย กลไกของการค้าเสรี ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างนี้มันห่างไปเรื่อย ๆ เราจะทำอย่างไร ต้องช่วยกันคิด เพราะฉะนั้นโอกาสของทุกคนเลยไม่เท่าเทียมกัน จะทำอย่างไรต้องช่วยกันคิด อย่ามัวแต่ติติงกันไปเลย ท่านที่กรุณาชี้แนะทุกวันตามสื่อต่าง ๆ กรุณาตอบผมมา หรือช่วยคิดให้ผมหน่อยว่า เราจะลดช่องว่านี้ได้อย่างไร ไม่ใช่เสนอการแก้ปัญหาปลายทางแต่เพียงอย่างเดียว เอาเงินมาให้ตรงนั้น ตรงนี้ อยากหนุนราคาแต่ไม่ได้มองว่าจะยั่งยืนอย่างไร จะหาเงินจากที่ไหนที่ถูกต้อง ที่เป็นไปตามกลไกของโลก
ประเทศไทยบางครั้งก็ไม่ใช่ทำแต่เพียงวิธีการของเราอย่างเดียว เพราะติดหลายกฎหมาย ทำบางอย่างผิด ถูก ฟ้องก็เดือดร้อนอีก รัฐบาลและ คสช. วันนี้ก็พยายามหามาตรการที่เหมาะสมมาดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของเราวันนี้ เราต้องทำอย่างไรให้ทั่วถึง ให้เป็นธรรม อะไรที่ยังมีปัญหาในพื้นที่ที่มีความยากจนแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัด20 กว่าจังหวัด ที่มีความแตกต่าง จะทำอย่างไรกับเขา อะไรที่เป็นศักยภาพของพื้นที่ ที่ยังด้อย เราต้องไปเติมให้เขา เขาเรียกว่างานฟังก์ชั่น เติมทั้งในกลุ่มจังหวัด ในส่วนของภาคลงไป งบประมาณมี 3 ส่วนนำลงไป โดยคิดทั้งสองทาง จากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง แล้วเอาตรงกลางมาเจอกัน อะไรเล็ก กลาง ใหญ่ จะเชื่อมโยงกันตรงไหน ถ้าไปทำทุกอย่างเป็นไปไม่ได้
เพราะคนที่มีรายได้น้อยมีมาก มีหลายกลุ่ม โดยเฉพาะภาคการเกษตร ถ้าเราเน้นเกษตรอย่างเดียว อย่างอื่นก็ไปไม่ได้อีก เงินจะลงทุนทำถนนหนทาง พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาแหล่งน้ำ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าเราไปโปะในเรื่องของราคาสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว อย่างอื่นไปไม่ได้ ก็เหมือนเดิม พอเงินหมดก็หมดไปทั้งหมดเพราะฉะนั้นก็ต้องแบ่งสันปันส่วนกันให้ดี เราจะรวมกลุ่มกันได้ไหม รวมการเกษตรจะทำกันอย่างไร ไปหาต้นทาง กลางทาง ปลายทาง กันอย่างไร ทั้งผลิต ทั้งแปรรูป ทั้งการตลาด อันนี้ก็พยายามทำอยู่ทุกอย่าง ตลาดประชารัฐก็เกิดขึ้นแล้ว ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมผมก็จะเป็นตลาด 5 ดาว ของประเทศไทยแล้วกัน เป็น 6 ดาว ทุกจังหวัดก็ต้องคัดมาขายที่นี่ เพื่อเป็นโครงการนำร่องไปสู่การเป็นตลาดสุขภาพ เป็นตลาดโอทอป 7 ดาว 8 ที่เหลือก็ไปขายในตลาดประชารัฐ อันนี้ก็ขอให้ช่วยกันคิดต่อไป
เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ดีมานด์ไซ้ ซัพพลายไซ้ ไปจนถึงความต้องการของพื้นที่ แอเรียเรทต่าง ๆ พูดกันมามากแล้วสามสี่คำนี้ ทำให้ได้จริง ๆ ก็แล้วกัน ให้เป็นไปตามความต้องการ ขีดความสามารถของประชาชนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งพื้นฐาน ทั้งการศึกษา ทั้งความคิด อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ผมถึงบอกว่าเราต้องสร้างสังคมเมืองขึ้นมาในชนบทบ้าง ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปย้ายคนมาอยู่ในเมืองทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ เราก็ไปสร้างสังคมเมืองในชนบทอื่น สังคมที่มีการติดต่อ สื่อสาร มีการพูดคุย มีการพบปะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอาชีพเกษตร แล้วก็ห่างไกลกันจนไม่เจอกันเลย บางทีไม่เจอกันเพราะไกลกันมาก ไปไม่ได้ บ้านช่องก็ไม่มีการพัฒนา น้ำประปาก็ไม่ได้ใช้ คนเหล่านั้นแตกต่างยิ่งกว่าอีก บางคนก็ไม่มีที่ดินทำกิน ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน ลงทุนก็ไม่ได้อะไรเพราะต้องไปใช้หนี้เขาหมดไง วันหน้าก็ไปกู้เขาใหม่ ก็เป็นหนี้อยู่อย่างนี้ จนแก่ จนเฒ่า จนตาย ลูกหลานก็เป็นแบบเดิม แล้วอีกหน่อยลูกหลานก็ไม่อยากทำการเกษตร แล้วทำอย่างไร ใครจะทำการเกษตรให้เรารับประทาน ทำสินค้าเกษตรให้เราไปขาย ประเทศไทยจะยิ่งกว่านี้
เพราะฉะนั้นก็ต้องแบ่งสันปันส่วนกันให้ดีว่าเราจะทำอย่างไรในการบริหารราชการแผ่นดิน ในการใช้จ่ายงบประมาณในการการสร้างวิธีคิด สร้างหลักคิด การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ช่วยเหล่านี้ได้มากและเร็วที่สุด ฝากกระทรวงศึกษาธิการด้วย ต้องคิด ให้คนคิดแบบนี้ว่าเราจะอยู่กันยังไงในวันหน้าไม่ใช่สอนให้คนจบปริญญาแต่เพียงอย่างเดียว สอนให้เขาคิดว่าเขาจะมีวิตอยู่อย่างไร ผมคิดว่าทุกประเทศเขาแก้ด้วยการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตย เขาไม่รู้จะแก้ด้วยวิธีไหน อย่างไร อย่างที่บอกไปแล้ว หนังสือเขาก็เขียนไว้ เพราะเป็นประชาธิปไตย เป็นการค้าเสรี ก็ต้องแก้ด้วยการศึกษา ให้ทุกคนได้มีสติปัญญาในการแก้ปัญหาของตัวเอง แล้วรัฐบาลก็ลงไปช่วยให้ตรงกับความต้องการนะครับ
ปัญหาเหล่านี้เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทุกประเทศ ผมอ่านหนังสือเหมือนกัน เขาบอกว่า ประเทศก่อนที่จะเป็นประชาธิปไตย มีการปกครองมาหลาย ๆ รูปแบบ พอเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ต้นทุนต่างกันตั้งแต่ตอนนั้น พื้นฐานต่างกัน พอเป็นประชาธิปไตย ทุกคนก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ การเป็นเจ้าของที่ดินเดิมสินทรัพย์ประเดิมช่วงแรก การเปลี่ยนแปลงก็ต่างไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อมีการค้าเสรี มีช่องทาง มีโอกาส มีทุนมากโอกาสมาก รายได้ก็มากขึ้น ทำให้ช่องว่างมันถ่างออกไปเรื่อย ๆ มีการซื้อขายที่ดิน ถูกยึดที่ดิน การค้าขายเสรี การลงทุน ก็มีการเพิ่มสินทรัพย์มากยิ่งขึ้น คนที่มีมากอยู่แล้วก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีนี้จะทำยังไงล่ะ เป็นการค้าเสรี ถ้าถูกกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก รัฐบาลต้องมาทำอย่างไร ต้องหาวิธีการสร้างสมดุลให้ได้ โดยเรารังแกใครไม่ได้ทั้งสิ้น เป็นเรื่องของกฎหมาย ผู้ที่เขาทำธุรกิจได้ดี มีทุนประเดิมม มีทุนมากขึ้น สินทรัพย์เพิ่มขึ้น กำไรมากขึ้น ในที่สุดคนไม่มีสินทรัพย์ก็กลายมาเป็นแรงงาน เป็นพนักงาน ลูกจ้างแต่เพียงอย่างเดียว ได้เงินแต่เพียงค่าจ้าง สินทรัพย์ไม่มีวัน
วันนี้ถ้าเราไปดูสัดส่วนการตอบแทนผลประโยชน์ ก็อาจจะกระจุกอยู่กับคนที่มีรายได้สูง มากกว่าระดับล่างซึ่งเป็นระดับแรงงาน พนักงานลูกจ้าง รายได้สูง อันนี้เป็นไปตามกลไกของประชาธิปไตยและการค้าเสรี ไม่น่าแปลกใจ ที่จะเห็นเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศในโลก รวมถึงไทย ผูกติดไว้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย ถ้าพูดถึงว่ามั่งมีที่สุดก็ 1% อยู่ในเกณฑ์มั่งมีก็ประมาณ 10% ของประชากรทั้งประเทศ ที่เหลือ 80-90% ก็อยู่ปานกลางทั้งนั้น และรายได้เป็นส่วนใหญ่ 60-70 % รายได้น้อย ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ก็เป็นผลมาจากส่วนแบ่งของผลประโยชน์จากการประกอบการของธุรกิจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเจ้าของที่ เจ้าของทรัพย์สิน เจ้าของเงินทุน ซึ่งถ้าเขาได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะไปบังคับเอาคืนก็ลำบาก คนเหล่านี้ต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ในการลงทุน อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็แล้วแต่ อาจด้วยวิธีการบริหารจัดการทางธุรกิจ ก็ทำให้เขาสามารถที่จะรวบรวมหลายอย่างเข้ามาอยู่กับเขาได้ ตามหลักการธุรกิจ
วันนี้เขาก็คิดว่า เขาควรได้ส่วนแบ่งจากกำไรมากที่สุด เพราะเขาเป็นผู้ที่เสียงมากที่สุดเป็นผู้ลงทุนไง ขณะที่กำไรส่วนที่ถูกแบ่งลงมาสู่ ลูกจ้าง สู่พนักงาน แรงงานต่าง ๆ จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่า เช่นข้างบนเอาไปสัก 35% ข้างล่างเหลือ 65% แต่ข้างบน 35%มีคนส่วนน้อย คือเจ้าของกิจการหรือระดับผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นอะไรก็แล้วแต่ ข้างล่าง 65% แบ่งกันเท่าไหร่ยังไม่รู้เลย ตั้งแต่ผลิตขั้นต้น เกษตรกร แรงงาน พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งมีจำนวนมาก ฉะนั้นส่วนแบ่ง 65 % แบ่งมาแล้วมันน้อยกว่าข้างบน นี่คือการค้าเสรี เราจะทำอย่างไร
สิ่งเหล่านี้เราต้องมาหาแนวทางพิจารณาว่าจะทำกันอย่างไรในการแบ่งปันตรงนี้ ให้กระจายลงมาสู่คนหมู่มากให้ได้ ก็คือเรื่องของการกระจายรายได้ซึ่งยังเป็นปัญหาในระบอบการประกอบการธุรกิจ การค้าเสรี เราต้องสร้างห่วงโซ่ใหม่ให้ ห่วงโซ่เดิม มาดูแลให้มากขึ้น แบ่งสัดส่วนให้มากขึ้น สร้างห่วงโซ่ใหม่ของผู้มีรายได้น้อย ว่าจะทำยังไงให้เขามีทุน มีการประกอบการของเขาเองขึ้นมา ผู้ประกอบการรายใหม่นี่ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากเรื่องของการรวมกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เพราะเขาไม่มีทุน รัฐบาลก็ไปส่งเสริมทุนให้ตรงนั้น เขาก็จะได้เพิ่มการประกอบการให้มากขึ้น ครบทั้งวงจร แต่ก็เป็นเสี้ยวหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ของการประกอบการขนาดใหญ่ แล้ววันหน้าพอเขาเข้มแข็งขึ้นก็จะเป็นสองทางขึ้นไปข้างบน เพราะฉะนั้น อันนี้ก็คงต้องเร่งให้การเรียนรู้ให้กับภาคประชาชนไปด้วย เกษตรกรไปด้วย เรียนรู้อีกมากมายเลย
เรื่องกฎระเบียบ กฎหมาย การค้าเสรี บางทีเราปลูกพืชอย่างเดียว ไม่รู้เรื่องการค้าเลย ก็ผลิตเดี๋ยวก็มากเกินไป น้อยเกินไปไม่ตรงตามความต้องการ สิ่งที่อยากจะปลูก ขายไม่ออก เพราะฉะนั้นต้องรู้ทั้งหมด วันนี้ถึงอยากจะบอกให้ภาคการเกษตรให้เรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้น แล้วก็อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริม ในโทรศัพท์เปิดดูนะครับเรื่องการใช้น้ำ การปลูกพืช พันธุ์พืช การแก้ไขแมลง เชื้อโรค อะไรต่าง ๆ มันมีให้หมด ถ้าท่านยังทำแบบเดิม ใช้สารเคมีแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม ๆ ตลอด ตั้งแต่พ่อแม่มาจนกระทั่งถึงลูกหลานยี่ห้อเดียว ยี่ห้อเดิม ไม่มีอะไรที่จะดีขึ้นได้เลย 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ อาจจะติดอยู่บ้าง บางกลุ่ม บางขั้วที่มองต่างไปจากเรา ต่างจากหนังสือที่ผมเขียน ต่างจากหลักวิชาการที่เค้าเรียน เขาก็คิดเพียงว่าการเพิ่มรายได้โดยเงินงบประมาณของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราต้องทำอย่างอื่นไปด้วย
เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก กิจกรรมตั้งหลายกิจกรรมก็อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจในกลไกของระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง กรุณาศึกษาดูบ้าง ผมพยายามจะเรียนรู้ ทุกคนก็ต้องช่วยกันเรียนรู้ไว้บ้าง ต้องช่วยคิดช่วยทำ อย่าติติง อย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมือง การแข่งขัน การด้อยค่า การสร้างราคา ผมว่าไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทยเวลานี้เลย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาง่าย ๆ ที่ทุกคนพอใจมันง่าย ผมก็ทำได้ ให้ทุกคนพอใจไม่ต้องมาว่าผม ไม่ว่ารัฐบาล ไม่ว่า คสช. แต่เหมือนเป็นการให้ยาพิษกับประเทศไปเรื่อย ๆ สั่งสมนานไปเรื่อย ๆ ปัญหายิ่งทับถมมากไปกว่าเดิม มีคนมากขึ้น ประชากรมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การกระจายรายได้ทำไม่ได้ และทุกคนก็ไม่มีความคิดที่จะพัฒนาตนเอง มีแต่ความต้องการ ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพตัวเองให้ดีขึ้นมาเท่าที่ควร มันจะยิ่งสร้างความขัดแย้ง สร้างผลกระทบกับศักยภาพของประเทศและมีผลเสียหายร้ายแรงต่อการพัฒนาประเทศในระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวด้วย
ด้วยเหตุแห่งปัญหาเหล่านี้ ผมจึงต้องการให้เรารับทราบร่วมกันว่าทำไมรัฐบาลและ คสช. ถึงพยายามจะทำให้ทุกคนมากกว่าความพอใจเพียงชั่วคราวและจะไม่ทุ่มงบประมาณลงไป แก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่ทำมาแต่เพียงอย่างเดียวนั้น เราทำไม่ได้แล้ว แต่ให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน หรือวางโครงสร้าง ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืน ให้กับรายได้ของพี่น้องประชาชนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรและชุมชน โดยส่งเสริมให้มีความรู้ ในเรื่องที่ทำอยู่ และมีข้อมูลในการตัดสินใจ ยกระดับเป็น smart farmer ที่พึ่งพาตัวเองได้ และผลิตสินค้ามีคุณภาพ การทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง โดยมีภาครัฐสนับสนุน กลุ่มเกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจน การจัดการด้านการตลาด การส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง รวมถึง การใช้กลไกการดำเนินงานของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
2. การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เช่น การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ การส่งเสริม SMEs ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพและ การถ่ายทอดทักษะการบริหารจัดการจากบริษัทขนาดใหญ่ ในโครงการพี่ช่วยน้อง การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และการขนส่ง
3. สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผ่านโครงการตลาดชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางในการเชื่อมโยงกับธุรกิจ เช่น ตลาดประชารัฐ ตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น รวมถึง การส่งเสริม SMEs และ Startups เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น การพัฒนาศักยภาพของสินค้า OTOP และการพัฒนา e-Commerce ในการเป็นช่องทางขยายตลาดของเกษตรกรและ SMEs
ตัวอย่างของมาตรการเหล่านี้ มุ่งแก้ปัญหาด้านโครงสร้างที่สั่งสมมานาน และ ลดการพอกพูนปัญหาเดิม ๆ เพราะเราต้องไม่ลืมว่า เมื่อประชากรมากขึ้น ทรัพยากรมีน้อยลง โอกาสทุกคนก็ลดลงไปด้วย เพราะประชาชนยากจน ไม่มีสินทรัพย์ ไม่มีทุน ก็ไม่มีช่องว่างให้เข้าถึงโอกาส หรือสร้างความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันระบบทุนเสรี การค้าเสรี เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เช่นการพัฒนาแบบตะวันตก เจริญเติบโตเร็ว แต่อาจจะไม่ยั่งยืน ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรง จากสถิติหลายปีที่ผ่านมาโดยหน่วยราชการทำมาหมดแล้ว มีหน่วยงานที่สำรวจมาทุกปีจะเห็นได้ว่าจำนวนคนยากจนของประเทศไทยลดลงน้อยมากในแต่ละปี ไม่มีวันหมดสิ้น คนเก่าหมดไป คนใหม่ก็เข้ามาแทน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน และทำอย่างไรจึงจะยั่งยืน ช่วยกันแก้ปัญหาจากต้นตอ และ สร้างการเรียนรู้ รับรู้ถึงแนวทางที่ถูกที่ควร ไม่ว่าจะรัฐบาล คสช. นรม. พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ต้องช่วยกัน
ระบอบประชาธิปไตย ระบบการค้าเสรี เกี่ยวข้องกันทั้งหมด อาจจะเป็นระบอบที่ทุกคนคิดว่าดีที่สุด แน่นอนในปัจจุบันทุกคนในโลกนี้ได้ยึดถือมาใช้ คือเรื่องระบอบประชาธิปไตย ทุนเสรี ค้าเสรี ทุกอย่างเมื่อมีดี ก็ต้องมีไม่ดี เราจะมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร ในเรื่องของการลดผลกระทบหรือมีผลข้างเคียงด้วย แต่เมื่อเราตัดสินใจแล้ว ว่าจะเป็นประชาธิปไตย เราควรจะร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตย"แบบมีส่วนร่วม" กันให้มากขึ้น ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ หยุดโทษกันไปมา จะผิดจะถูกกฎหมายว่าไงก็จบกันตรงโน้น ตรงนี้ก็ต้องเดินหน้าประเทศ
วันนี้ผมอยากฟังปีหน้าขออย่างเดียวของขวัญปีใหม่ให้ผม ขออย่างเดียวพูดในเชิงสร้างสรรค์แค่นั้น ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าใครจะเป็นรัฐบาลก็ยังไม่รู้ ถ้าท่านได้เป็นก็ต้องเจอปัญหานี้อยู่ดี แล้วท่านจะทำแบบเดิมเหรอ ผมคิดว่าประชาชนไม่ยอมกับการที่จะใช้งบประมาณแบบเดิมมันทำไม่ได้แล้ว หลายอย่างกฎหมายก็แก้ไขปรับปรุงไปแล้ว ไม่ได้ปิดกั้นท่าน เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้องเท่านั้นเอง เราจึงไม่ควรกลับมาทำ ในสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว อย่าให้การเกษตรของเรากลับไปเป็นปัญหาการเมืองอีกต่อไป เพราะประชาชนเป็นผู้เดือดร้อน การเมือง พรรคการเมืองก็เดือดร้อน เดือดร้อนกันทั้งคู่ ฉะนั้นอย่ามาอ้างประชาชนยากจน รายได้ไม่เพียงพอแต่ไม่ช่วยกันแก้ไข โดยแก้ไขแบบเดิม ๆ ผมว่าน่าสงสาร น่าสงสารประเทศไทย สงสารประชาชนกันบ้าง
วันนี้ ผมฝากให้ช่วยกันใช้ความคิดว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะมาช่วยแก้ปัญหาที่เป็น "ดินพอกหางหมู" เหล่านี้ ได้รวดเร็วขึ้น มีหลายประเด็นที่ต้องคิดถึงการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน โลกทุกวันนี้เป็นโลกาภิวัฒน์ เป็นพลวัตรนะครับ ทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ จะทำอย่างไรให้เหมาะสม เรื่องกองทุนการออมอะไรเหล่านี้ ต้องมาดูทั้งหมด ต้องสร้างระบบขึ้นมาเพื่อจะทดแทนระบบเดิม ๆ อาจจะไม่สมบูรณ์เราต้องช่วยกัน ใช้วิชาการมาช่วยด้วย หรือตำรับตำราแล้วมาคิดว่า ตำราเค้ามีไว้ให้สร้างแนวความคิด สร้างหลักคิดขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าเรามีความคิดแล้วมาหาวิธีการก็เป็นอีกเรื่อง ที่ผมใช้คำว่า How to do หลักการดีอยู่แล้ว แต่ไม่มี how to do ต้องช่วยกันคิดตรงนี้ ฝากทุกท่านที่จะเข้าสู่การเมืองช่วยกันคิดด้วยกับรัฐบาลในเวลานี้ เราจะบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างไร การปรับระบบภาษีจะทำอย่างไร ไม่ได้จะทำวันนี้ ก็ไปหาวิธีการว่าวันนี้ วันหน้า หรือวันไหน ผมไม่รู้ จะทำกันอย่างไร ปล่อยอยู่แบบนี้ก็ไปไม่ได้ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน การค้า การปรับกฎหมาย และกฎระเบียบ การสนับสนุนลงทุน ฯลฯ ทุกอย่างต้องมีคนได้คนเสีย แต่ถ้าเราไม่ปรับมันก็จะเสียทั้งหมดในอนาคต ถ้าปรับวันนี้มันมีส่วนเสียน้อย คนได้มาก ก็ต้องจำเป็น แต่วันหน้าถ้าไม่เปลี่ยนเลย ไม่แก้ไขเลย มันก็จะเสียไปทั้งหมด แล้วเราก็จะล้มเหลวไปทั้งประเทศ เราต้องช่วยกันประคับประคอง ช่วยกันสร้างประชาธิปไตยของเราให้มั่นคงยั่งยืน อย่างมีส่วนร่วมที่ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันแกะ อย่าได้ช่วยกันเกาอย่างเดียว ก็ไม่หาย แผลก็เป็นสะเก็ดไปเรื่อย อย่าได้ผูกเงื่อนรัดคอกัน อีกต่อไปเลย
ขอบคุณครับ ขอให้ "ทุกคน" มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วางแผนการพักผ่อน ท่องเที่ยวในช่วงวันปีใหม่ให้มีความสุข ปลอดภัยทุกคน นึกถึงตัวเอง นึกถึงครอบครัว นึกถึงคนอื่น คงต้องเตือนกันทุกวันกว่าจะถึงปีใหม่ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard