รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  4650 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักเคารพทุกท่าน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เซึ่งเราทุกคนได้ร่วมกันอย่างดีที่สุดในการถวายความจงรักภักดีแด่พ่อหลวงของแผ่นดินเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ผมเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาที่เราคนไทยควรจดจำว่า เป็นช่วงเวลาที่ทุกหมู่เหล่า ทุกภาคส่วน ได้แสดงออกถึงความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ เอื้อเฟื้อเกื้อกูล และรู้จักให้อภัยกัน อีกทั้งจะสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งต่างๆ ในอดีต สิ่งเหล่านี้ถ้าเราสังเกตอาจจะห่างหายไปนานจากสังคมไทย ทั้งๆ ที่พวกเราต่างมีหัวใจดวงเดียวกัน คือหัวใจความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเราต่างเป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่านมากว่า 70 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เราจำเป็นต้องรักษาบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ของคนในประเทศไว้ให้ได้ต่อไป เพราะนั่นจะเป็นพลังของแผ่นดิน สำหรับในการเดินหน้าประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของความเป็นไทย และการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ตลอดไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำพาเราไปสู่ประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้ กุญแจที่จะสู่ความสำเร็จก็คือ ความปรองดองของคนไทย หมายถึงการเปิดใจเข้าหากัน ขัดแย้งได้ในหลักการ แต่ต้องทำงานร่วมกันได้ เอาความคิดเห็นต่างๆ มาหาความร่วมมือกันให้ได้ อันไหนที่มันขัดแย้งมากๆ ตัดทิ้งไปก่อน โดยเราจะต้องคำนึงถึงส่วนรวม สังคม และประเทศชาติมาก่อนเสมอ ถ้าส่วนรวมได้เราก็ได้ ครอบครัวเรา ตัวเราก็จะได้มา แต่ถ้าเราไม่สร้างบรรยากาศของความปรองดอง ทุกอย่างมันก็ไม่สำเร็จทั้งหมด อย่างนั้นไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่าให้ใครเข้าไปสร้างความแตกแยกขึ้นโดยเด็ดขาด ส่วนใหญ่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นมาได้ด้วยการบิดเบือน ด้วยไม่ใช่ข้อเท็จจริง หลายอย่างที่ทำมาขึ้นมาใหม่ๆ ก็มักจะถูกโจมตี ถูกบิดเบือน หลายๆ อย่างไปด้วยกัน

เพราะฉะนั้นขอให้เราร่วมกันคิดดี พูดดี ทำดี ถวายพ่อหลวง ซึ่งพระองค์ทอดพระเนตรพวกเรา ประเทศไทย และราษฎรของพระองค์อยู่เสมอ อีกทั้งขอให้ร่วมกันถวายพระเกียรติ และดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วย ซึ่งจะทรงยึดมั่นแนวทางของสมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อจะสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยตลอดไป

พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรผู้ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีพระราชดำริให้ภาครัฐติดตามสถานการณ์ เพื่อจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด ต้องจัดทำแผนหลักแผนรอง และแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เพื่อจะดูแล ป้องกัน และแก้ปัญหา ตลอดจนจิตอาสาต่างๆ จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาให้กับราษฎรที่ประสบภัยในมิติต่างๆ ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เต็มที่ ทันเหตุการณ์ ซึ่งรัฐบาลได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม และได้ดำเนินการอย่างบูรณาการทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ เพื่อจะส่งความช่วยเหลือไปให้พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด และอาจจะถูกตัดขาดจากการสื่อสาร การคมนาคมอะไรก็ตาม เราพยายามอย่างเต็มที่ อีกทั้งต้องมองที่ภาพรวมของประเทศด้วย ทั้งประเทศนั้นเราจะต้องบูรณาการความพยายามในการแก้ปัญหาทุกด้าน ที่สำคัญแม้ว่าขณะนี้จะเกิดน้ำท่วม แต่ต้องคำนึงถึงน้ำในอนาคตด้วย เราต้องไม่ระบายน้ำจนหมด จะได้ไม่เกิดภาวะภัยแล้ง หรือน้ำแล้ง น้ำไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค หรือภาคการผลิตทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำในการรักษาระบบนิเวศ การผลักดันน้ำทะเล

ทั้งนี้ เพื่อจะรักษาสมดุลให้ได้ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ต้องแก้ไขกลับไปกลับมาทีละปัญหา เหมือนกับงูกินหาง มันเกิดมายาวนานแล้ว สิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันก็คือ การทำงานร่วมกันนั้นจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

1. คือเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เราจะต้องเข้าใจ สามารถจะเข้าใจถึงธรรมชาติของน้ำ เราสามารถจะแยกเป็นที่ใหญ่ๆ ได้ก็คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ที่เชื่อมอยู่ถึงกันโดยแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลรวมกันมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา พูดง่ายๆ คือ ลุ่มแม่น้ำยม ลุ่มแม่น้ำน่านด้านบน ลงมาสู่ภาคกลางก็เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะช่วยแบ่งมวลน้ำบางส่วนจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล ถ้าไม่สามารถบริหารจากข้างบนลงมา แล้วตรงกลางนี้ด้วย บริหารจัดการไม่ได้ดี มันย่อมส่งผลกระทบ

เพราะฉะนั้นสะสมกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เหมือนเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต สำหรับภาคอีสานและภาคใต้ก็เช่นกัน ภาคอีสานจะมีลุ่มแม่น้ำชี ลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งเราต้องศึกษารายละเอียด เพราะมันคนละส่วนกัน แต่ไหลลงที่ต่ำทั้งสิ้น มันเกิดผลกระทบกับผู้อยู่ใกล้แนวลำน้ำ แนวแม่น้ำ แนวลำคลองต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน จากนั้นไปเรื่องของภาคใต้อีก เพราะว่าฝนจะเริ่มจากข้างบนไปข้างล่าง ในช่วงนี้ฝนตกหนักในช่วงภาคใต้

อันนี้เราจะต้องมีระบบบริหารจัดการน้ำแบบต้องแยกเป็นส่วนๆ แล้วจะทำยังไง ลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ แล้วมันไหลรวมกันแล้วจะบริหารยังไง จะรวมน้ำ ชะลอน้ำ ระบายน้ำได้อย่างไรที่จะเกิดความสมดุลกัน ทำให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งรัฐบาล และ คสช.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบไปแล้ว ในภาพรวมทั้งประเทศ อันนี้เป็นความแตกต่างคือว่า มีการปรับปรุงสอดคล้องตลอดเวลากับสถานการณ์ เราทำแผนงานขนาดใหญ่ถึง 2,565 -68 นี่แหละ ที่เราทำทั้ง 2567 เราปรับเอาตรงช่วงที่ 2 ช่วงที่ 3 มาทำช่วงที่ 1 บ้าง เพราะในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องของภัยแล้งใช่ไหมครับ บางอย่างต้องปรับ บางอย่างก็ต้องเพิ่ม

เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าทำแผนครั้งเดียว และวางระยะยาวไป และทำให้มันครบตรงนั้นมันคงไม่ได้ เพราะสภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ฝนตกมากกว่าที่ควรจะตก อันนี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้เตือนเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้าใจตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ในเรื่องของการเรียนรู้จะอยู่กับธรรมชาติ การจะอยู่กับน้ำจะทำอย่างไร ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการบริหารจัดการน้ำมันคืออะไร พวกเราหลายคนมีความลำบากมากขึ้น เพราะหลายอยู่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองในพื้นที่ลุ่มต่ำ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องไปดูในเรื่องของที่อยู่อาศัย ในเรื่องของผังเมือง

ซึ่งมันเดือดร้อนทุกคน ทุกคนไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง อันนี้แต่เราต้องพยายามหาวิธีการ รัฐบาลไม่เคยหยุดคิดตรงนี้ ขอให้เข้าใจด้วย อันนี้ทำก่อน อันนี้ทำหลัง เอาอันหลังมาทำก่อน มันเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาจากข้อมูลที่เรามีอยู่ และสอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหา หาแนวทางใหม่ๆ วันนี้เราศึกษามาแล้ว แต่มันยังไม่สำเร็จเรียบร้อย 100% เพราะมันต้องผ่านขั้นตอนอีกเยอะแยะในเรื่องของการเยียวยา แผนการเยียวยา งบประมาณ เรื่องของการทำแนวทาง ศึกษาแนวทางขุดคลอง เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เช่น เรามีการศึกษาการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อจะระบายน้ำหลากบริเวณบางบาล และบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 22 กิโลเมตร ตามแนวทางพระราชดำริ เช่น คลองลัดโพธิ์ สมุทรปราการ และการขุดคลองส่งน้ำป่าสัก -อ่าวไทย ต่อเนื่องมาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร เพื่อจะเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลช่องทางหนึ่ง

อันนี้ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่มีที่ดิน พื้นที่เกษตรกร พื้นที่อยู่อาศัย มันจะต้องอยู่ในแนวทางการขุดคลอง มันจะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลต้องดูแลอย่างดีที่สุด วางแผนการใช้งบประมาณ ศึกษา และความคุ้มค่า ศึกษาผลกระทบ ศึกษาทางอีไอเอ เอสอีเอ มันมีอีกหลายขั้นตอนด้วยกัน เพราะฉะนั้นเวลามันก็.. เราก็ทำกันอยู่ตลอด อันนี้เพราะว่าเราต้องฟังเสียงพี่น้องประชาชนไงล่ะครับ เพราะฉะนั้นมันมีส่วนเดือดร้อน ส่วนไม่เดือดร้อนก็ต้องหารือกันให้ได้

ทั้งนี้ ผมได้เร่งให้ศึกษาความเป็นไปได้ทุกอย่าง และดูแลประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในโครงการขนาดใหญ่นี้ด้วย อันนี้คงไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำเรื่องเดียว หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มันต้องมีคนที่ต้องขยับขยาย แต่เราต้องดูแลให้ดีที่สุด

เรื่องที่ 2 เรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น เราต้องพิจารณาในเรื่องของพื้นที่ เวลา และฤดูกาลพร้อมกัน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก เช่น ขณะนี้ทุ่งบางระกำ ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างใต้ จ.นครสวรรค์ลงมา ได้มีการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช ขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่ทำตามในห้วงปีนี้ เพื่อให้ทันเวลาในการเพาะปลูก ทันเวลาในการในการเก็บเกี่ยว และพร้อมจะเคลียร์พื้นที่เป็นทุ่งรับน้ำหลาก ซึ่งวันนี้รับน้ำได้มากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือภาคใต้ที่มีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ขณะช่วงเดียวกันในปีที่แล้วได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีฝนลดลง เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วเป็นต้นในปัจจุบัน

การเกษตรดังกล่าวนั้น จะมีความเชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพ การหาเลี้ยงชีพของพี่น้องเกษตร ปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการของตลาด ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องบริหารจัดการในภาพรวม พืชเกษตรทั้ง 6 ชนิด เราต้องดูทั้งการใช้น้ำ ผลผลิต ต้นทุนในการผลิต ผลผลิต ราคา ขณะเดียวกันเรามองทุกมิติ มองอะไรไม่ได้ ถ้าจะมองต้นทางอย่างเดียว ต้องมองตรงกลาง เพราะผลผลิตที่แปรรูปส่งออกอะไรต่างๆ เหล่านี้ และการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นี่ต้องบริหารแบบนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่เลย ขนาดเราลงรายละเอียดแบบนี้แล้ว

เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือจากพี่น้องให้ทำความเข้าใจเหล่านี้ด้วย อยากให้ทุกคนมีรายได้ อยากให้ทุกคนเพาะปลูกพืชอย่างที่ตัวเองต้องการ มีความสุข แต่มันติดปัญหาเรื่องธรรมชาติ เราต้องปรับให้สอดคล้องกับลมฟ้าอากาศด้วย

3.การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ นี่เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาแม้ยังไม่ตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำต่างๆ ที่มันชัดเจน แต่เรามีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำโดย คสช. ซึ่งผมเป็นผู้สั่งการมาโดยตลอด เอาแผนงานโครงการ แผนคน แผนเงิน แผนงบประมาณของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำ บูรณาการและอนุมัติในคณะกรรมการนี้ และนำเข้า ครม.ในการเพื่อจะจัดสรรงบประมาณ ก็ทำอย่างนี้มาตลอด วันนี้ได้มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อจะทำงานให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งมีในส่วนของข้อมูลระบบสารสนเทศอยู่หลายหน่วยงานด้วยกันจะต้องมากรุ๊ปปิ้งกันให้ได้ เพื่อการทำงาน ทั้งเพื่อนำไปสู่การแสวงหาข้อตกลงใจ และสั่งการ อีกทั้งเรามีการจัดสร้างจัดทำระบบที่ประสานสอดคล้องกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีทั้งการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศได้ สามารถแจ้งเตือน สามารถระดมทรัพยากรทั้งเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ สำหรับการช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนในการผลักน้ำ ส่งน้ำเหล่านี้เป็นต้น ขอความร่วมมือทั้งในส่วนของเหล่าทัพ กองงานกองทัพไทย เหล่าทัพต่างๆ และในส่วนของสมาคมต่างๆ มาช่วยกันทั้งหมดในลักษณะเป็นประชารัฐในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย ภัยต่างๆ รวมทั้งภัยน้ำท่วมด้วย

วันนี้ก็อยากกราบเรียนว่า การที่รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำก็คือ เอารูปแบบของการทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเดิมมาทำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นกลไก ฉะนั้นปัญหาคือหน่วยงานมีอยู่แล้ว หลายหน่วยงานด้วยกัน ต้องมีหน่วยงานในลักษณะที่เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนในการดูแลติดตามประเมินผล และเอาแผนงานต่างๆมาศึกษารายละเอียด เพราะจะได้สอดคล้องต้องกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำมันก็ไม่ได้ อันนี้เราก็พยายามทำมา 3 ปีแล้ว ก็เกิดผลเป็นรูปธรรมหลายๆอย่างด้วยกัน ช่วงนี้อาจจะช่วงแรกๆ มีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง พอมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมเราก็แก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ทุกอย่างแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์ความเป็นจริงของลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี เราต้องทำงานให้มีเอกภาพ และมีการบูรณาการข้ามกระทรวง หน่วยงาน ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ในช่วงฤดูฝนปีนี้ ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนตาลัส และเซินกา พายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุดีเปรสชัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2554 คืออย่าไปวัดว่าน้ำระบายเท่าไหร่ ปีนี้ปีนั้นเท่าไหร่ ไปดูปริมาณฝนที่ตกลงมานั่นคือปริมาณที่เราเรียกว่าใกล้เคียงกัน หรือมากน้อย อันนี้ก็ไปดูตัวเลขตรงนี้แล้วกัน อย่าไปมองว่ามีหลายคนเขามาบอกว่า น้ำปีนี้เท่านั้น น้ำปีโน้นเท่านี้ ต่างกันกับหมื่นกับพัน มันไม่ใช่ ผมว่าต้องไปวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เพราะตกลงมาแล้ว คือตกไปในเขื่อน ถ้าเขื่อนเต็มก็ต้องระบายลงมา ขณะที่ระบายลงมาข้างนอกฝนก็ตกอีก ก็กลายเป็นน้ำทุ่ง พอปล่อยน้ำลงมาเขาเรียกว่า เป็นน้ำท่า ไหลลงมาตามคันคลองชลประทาน หรือนอกเขตชลประทานบ้างตามพื้นที่ต่ำ และน้ำทุ่งที่ฝนสะสมมา ก็มาไหลรวมกันอีก ก็ลงตามที่มันต่ำ ปริมาณน้ำก็มากขึ้นทั้ง 2 อย่าง ต้องดูปริมาณน้ำนี่ด้วย ฝนตกลงมาน้ำทุ่ง น้ำท่า ทั้งหมดมาจากน้ำฝนหมด ระหว่างที่มีน้ำเหนือไหลลงมาอีก จากการระบายน้ำ หรือการไหลลงมาจากภาคเหนือสู่ภาคกลาง ลงแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อประชาชนบางส่วน เนื่องจากระบบบริหารจัดการน้ำเรายังไม่สามารถทำทุกระบบได้เวลานี้ หลายๆอย่างก็ทำมาแล้ว แต่ต้องเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวตามความจำเป็น ตามงบประมาณ

ปัจจุบันก็ถือว่าเราควบคุมได้ และไม่ขยายตัวเป็นวงกว้าง อาทิ การดำเนินการก่อนน้ำมา เราก็ได้มีการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำแก้มลิงจำนวนกว่า 5,000 โครงการ ทั่วประเทศ พร้อมรับน้ำไว้ได้ราว 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ทำไปแล้ว การระบายน้ำในช่วงฤดูฝนโดยอาศัยข้อมูลทางสถิติ มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง เพื่อจะรู้ว่ามีน้ำเท่าไหร่ เกินหรือยัง จะระบายได้ครั้งละเท่าไหร่ หรือวันละเท่าไหร่เหล่านี้มีแผนทั้งหมด การปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช ซึ่งก็เป็นการคาดการณ์จากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ เราก็สามารถกำหนดได้ว่า ทุ่งนี้จังหวัดไหนจะปลูกกันยังไง ถ้าปลูกพร้อมกันเวลาเดียวกัน บางทีก็มากเกินไป น้ำก็น้อยเกินไป ถ้าเราปลูกลดหลั่นลงมาตามน้ำที่เราระบายออกมาได้ในระบบชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ก็สามารถชะลอปริมาณการออกสู่ตลาดได้น้อยลง ราคาก็สูงขึ้น ถ้าออกมาพร้อมๆกันราคาก็ตก เป็นเรื่องของการตลาด วันนี้เราก็มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในหลายพื้นที่ด้วยกัน อาทิ ทุ่งบางระกำ สามารถเป็นทุ่งรับน้ำหลากได้ ดังที่กล่าวมาแล้ว

เรื่องของการกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางทางน้ำในทุ่งเจ้าพระยา แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานครก็ตาม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้เสียหายพอถึงเวลาก็ใช้ไม่ได้ มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว ที่เหลือก็ต้องเตรียมเคลื่อนย้ายไปช่วยภาคใต้ต่อ ก็ไม่ได้หยุดกันเจ้าหน้าที่

เรื่องที่ 2. การดำเนินการระหว่างที่น้ำมา ป้องกันเตรียมการ เมื่อน้ำมาแล้วเราต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน แหล่งเก็บกัก อ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อย่าลืมว่าบางเขื่อน บางอ่าง บางทำนบกั้น ก็ทำมาเป็นเวลานานหลายสิบปีมาแล้วย่อมมีความเสื่อมสภาพอยู่บ้าง ของใหม่ก็ต้องระมัดระวังสร้างให้ดีที่สุด แล้วเราก็ต้องให้ความสำคัญและสร้างความสมดุลในเรื่องของการเติมน้ำ การพร่องน้ำ การหน่วงน้ำ การจัดจราจรน้ำ ทุกลุ่มน้ำในภาพรวมทุกระบบ เหนือ กลาง ใต้ ตะวันตก ตะวันออก การตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อทำหน้าที่แก้มลิง ที่ได้เตรียมไว้ อันนี้ต้องขอขอบคุณจริงๆ เป็นการเสียสละของพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ในพื้นที่เหล่านั้น โชคดีทีเก็บเกี่ยวมาได้มาก ก็เสียหายแต่เพียงเล็กน้อย ที่ต้องรับผลกระทบแทนส่วนรวม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเกษตรกรรมและการส่งน้ำกันด้วย

เรื่องของการทำประมง ผมคงไม่บอกให้ทางประมงในระหว่างน้ำท่วม ผมพูดหมายความว่า ถ้าน้ำท่วมปลูกพืช หลังจากนั้นปลูกพืชไม่ได้ น้ำมันท่วมอยู่ ต้องหาวิธีการ เช่น ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ทั้งนี้ เราก็ปล่อยปลาไปด้วย ในช่วงที่น้ำยังขังอยู่ ปลาก็โตขึ้นเรื่อยๆ ก็ใช้บริโภค ขายบ้าง นี่คือเรื่องประมงที่ผมพูด ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำประมงแล้วน้ำท่วมประมงหมดอะไรทำนองนี้ บิดเบือนทุกอัน ผมรับไม่ค่อยได้ พยายามทำความเข้าใจหน่อย ผมก็บอกว่าคิดดูก็แล้วกัน ครั้งนี้ก็มีการปล่อยปลาในทุ่ง 12 ทุ่ง ภาคกลาง ทุ่งเจ้าพระยา หลายจังหวัดเสียสละกันมาผมก็ให้ปล่อยลงไป ก็พยายามจะทำให้มันมีความแข็งแรงของพันธุ์ปลาที่ลงไป แล้วทุกคนก็หาปลามาอย่างน้อยก็บริโภคได้ ถ้ามันเหลือก็ขาย ประมงของผมเป็นแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไปทำบ่อปลาแล้วน้ำท่วม เหมือนที่หลายคนออกมาพูดเวลานี้

เราต้องมีรายละเอียดของพื้นที่เสี่ยงภัย แผนการอพยพเคลื่อนย้าย ที่สำคัญการระดมสรรพกำลังในพื้นที่ไว้ล่วงหน้า ถ้าเรามีแผนตรงนี้ถึงเวลาเกิดวันไหนเราก็สามารถที่จะดำเนินการได้โดยทันที แผนการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค การติดต่อสื่อสารหลัก รอง รวมความไปถึงเรื่องวิทยุ โทรทัศน์ การเตรียมความพร้อมทางร่างกาย ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องชูชีพ อุปกรณ์นิรภัยด้วย อันนี้ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยกู้ภัยต่างๆด้วยอยู่แล้ว และในส่วนภาคเอกชนก็มาช่วยกันเต็มที่

ขั้นตอนที่ 3 คือเรื่องการฟื้นฟูและเยียวยา เราต้องดำเนินการโดยด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ช่วงนี้ต้องมาดูว่า หลังจากน้ำท่วมไปแล้ว ซ่อมบ้านทำอย่างไร เกิดความเสียหายทำอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องการเกษตรจะต้องทำอย่างไร ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปพิจารณา มาตรการการเงิน การคลัง มาตรการทางภาษี เพื่อจะสามารถให้เขากลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และสามารถอยู่ได้ไปก่อนเพื่อจะรอการเพาะปลูกในครั้งต่อไป ถึงต้องหาอาชีพเสริม ถ้าทุกคนมีอาชีพทำเกษตรอย่างเดียว ผมว่าอยู่ลำบากวันนี้และวันหน้า ก็ต้องมีทุกมาตรการ เงินบริจาคที่หลายคนบริจาคมา ก็ได้รับการยกเว้นภาษีตามสัดส่วน เพราะประชาชนที่เดือดร้อน ใครที่เสียภาษีเราก็ดูแลตรงนั้นด้วยอยู่แล้ว

สำหรับในการลงพื้นที่ประสบภัยทั้ง 3 ครั้งในสัปดาห์นี้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เสียสละ ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ประชาชนเดือดร้อนอาจใจร้อนบ้างเราก็ต้องอดทนเข้มแข็ง อธิบายทำความเข้าใจเพื่อรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน จะทำให้ความช่วยเหลือไปถึงมือพี่น้องประชาชนของเราได้ทันการและทั่วถึง ขอให้ลงรายละเอียดได้มากที่สุด ขอขอบคุณทุกภาคส่วนพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็ดูแลเจ้าหน้าที่เห็นเอาข้าวเอาปลามาเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ทั้งทหาร พลเรือน ชลประทาน ผมมีความรู้สึกปลื้มใจตื้นตันใจถึงแม้จะเดือดร้อนก็ยังมาดูแลเป็นห่วง เพราะเขามาทำงานให้ท่าน เป็นสิ่งที่น่ายกย่องอย่างสูง

พี่น้องประชาชนที่รักครับ อีกเรื่องเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ธนาคารโลกได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย (Doing Business) ในปีนี้ ดีขึ้นมากขึ้นถึง 20 อันดับ จากลำดับที่ 46 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่ไทยเคยได้รับ และไทยยังเป็นประเทศที่มีการพัฒนาการที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย ตัวชี้วัดปรับดีขึ้น 8 ตัวชี้วัด จาก 10 ตัวชี้วัด โดยเฉพาะการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวกระโดดในครั้งนี้ ทำงานอย่างหนัก รัฐบาลนี้ทำทุกเรื่อง มีหลายประเด็นหลายกฎหมายซึ่งต้องแก้ไข เพื่อจะทำให้การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจนั้นง่ายขึ้น ทั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือทุกฝ่าย

วันนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลไกประชารัฐมาช่วยกันทำตรงนี้ ปัจจุบันส่วนราชการหลายแห่งก็ยกระดับกระบวนการทำงานและการให้บริการประชาชนไปมาก 3 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูประบบราชการ การทำงาน และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย รัฐบาลทำงานใกล้ชิดมากขึ้น มีการร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น รับฟังปัญหาแก้ไขปัญหาร่วมกันในอดีตที่เป็นกับดักของประเทศมาอย่างยาวนานในเรื่องของการประกอบการธุรกิจ ความยากง่ายมีปัญหาเยอะมาก หลาย 10 กิจกรรมด้วยกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยตรงอีกด้วย

ถ้าเราไม่แก้ไขไม่ส่งเสริม ไม่แก้ไขเท่าที่ควรมันจะสะท้อนถึงระดับความเชื่อมั่นจากมุมมองของภาคเอกชนและนักลงทุนในประเทศและทั่วโลก หลายคนก็บอกว่า เราไปมองต่างประเทศอย่างเดียวหรือเปล่า มีประโยชน์ทั้งคนไทยที่จะลงทุนในประเทศเอง และต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ทั้ง 2 อย่าง ต้องมุ่งเน้นให้คนในประเทศได้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด อย่าไปเชื่อคำบิดเบือนต่างๆ อันนี้ก็เป็นผลมาจากการทำงานของเราตั้งแต่แรกมาในการปฏิรูปประเทศ เพื่อจะไปสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้ เพื่อการปฏิรูปที่ต่อเนื่องและการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น รัฐบาลก็มีแผนจะปรับปรุงการบริการอีกหลายประการ เน้นในเรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการของภาครัฐ มันอาจจะเร็วขึ้น การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับให้ทันสมัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้มองเห็นแต่เพียงตัวเลขอันดับ หรือตัวเลขความน่าเชื่อถือเท่านั้นที่ดีขึ้น ผมมองไปถึงว่า โอกาสทางเศรษฐกิจเราก็จะสดใสขึ้น ไม่เพียงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็ได้ ก็จะได้ผลตรงนี้ด้วย เพราะมันเชื่อมโยงกันทั้งหมด เพราะผมเคยพูดมาเสมอว่าทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน อยากให้ลองคิดตามว่าถ้านักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่น ตัดสินใจลงทุนใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของเรา ที่เราพัฒนา 5 อย่างของเดิม และ 5 ใหม่ของเรา ที่ต้องการพัฒนาไปสู่ 4.0 นั้น ด้วยวิธีการต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่อีอีซี ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง หรือที่ใดก็ตามในประเทศที่อยากจะลงทุน มันก็ย่อมจะนำไปสู่การจ้างงาน การสร้างรายได้ การกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ไปจนถึงการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น การป้อนผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเราเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานของเราให้มีทักษะสูงขึ้น สถาบันการศึกษาก็จะต้องมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพเพิ่มเติมในอนาคต เช่นวันนี้ อาชีวะก็มาอีกประมาณ 1 พันกว่าหลักสูตร ใช้เวลาในการอบรมประมาณ 1 เดือน สามารถไปทำงานได้เลย เช่น ซ่อมล้อเครื่องบิน ระบบเบรกเครื่องบิน นี่ก็มีการต่อยอดมาแล้ว เป็นหลักสูตรระยะสั้น อันนี้ผมก็ให้แนวทางของกระทรวงศึกษาฯ ไปดำเนินการ วันนี้อาชีวะฯ อยากให้คนเข้าไปเรียนให้มากขึ้นนะ เราก็สามารถจะไปขยายผลไปยังเศรษฐกิจระดับฐานราก ถ้าเรามีคนมากๆ เราก็มีคนไปทำงานอยู่ในเอสเอ็มอี และไปทำงานสตาร์ทอัพ กลับภูมิลำเนาของตัวเอง ความอบอุ่นในครอบครัวก็จะเกิดขึ้น หมายถึงห่วงโซ่ทุกระดับได้เชื่อมโยงถึงกันแล้ว วันนี้มันยังกระจายกันอยู่มาก เพราะพยายามจะเชื่อมโยงกันให้ได้ ก็ต้องเชื่อฟังกัน ถ้าทุกคนยังตามใจตัวเองกันอยู่ทั้งหมด มันไปไม่ได้ มันก็เหมือนโซ่มันขาดจากกัน มันก็ขับเคลื่อนอะไรไปไม่ได้ รายได้น้อย มันก็น้อยอยู่เท่าเดิม มันไปไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นต้องคิดใหม่ ทำใหม่ มีวิสัยทัศน์ใหม่ ประชาชนก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ผมไม่เคยดูถูกประชาชนนะ ผมอยากให้ประชาชนเพียงคิดตามผมหน่อย ลองไปดูซิว่ามันผิด มันถูกอย่างไร ก่อนที่ผ่านมามีการแนะนำอย่างไร แล้ววันนี้เราแนะนำอย่างไร อะไรมันจะเปลี่ยนแปลงได้ อะไรที่มันจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ทั้งหมดตัวเองต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับมันก็เปล่าประโยชน์ที่่รัฐบาลจะทำอะไรต่อไปได้

ภาพสุดท้ายที่ผมอยากจะเห็นก็คือ ทุกคนในสังคมมีความสุข และไม่มีปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาสังคมก็จะลดลง ความอบอุ่นในครอบครัวก็จะมากขึ้น อาชญากรรมลดลง ยาเสพติดลดลง ทุกคนก็มีศีลธรรม มีคุณธรรม จริยธรรมมากยิ่งขึ้น สังคมก็สงบสุข ประเทศชาติก็สงบสุข

พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ คงจะเห็นแล้วว่าการพัฒนาเราต้องทำพร้อมๆ กัน การปฏิรูปต้องทำต่อเนื่อง ประชาชนที่ยังไม่เข้มแข็ง รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ในส่วนที่พอจะช่วยตัวเองได้ ส่งเสริมให้สามารถพัฒนาตนเองได้ต่อไป ในส่วนที่ยืนบนขาตัวเองได้แล้ว ก็ต้องย้อนกลับมา แล้วก็ยื่นมือมาเกื้อกูลกันต่อไปด้วย

ตัวอย่างเช่น ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ที่ผมริเริ่มไว้ 3 ปีมาแล้ว ก็จะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายย่อย ถึงผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งมีการจับคู่ทางธุรกิจ การบริการแหล่งเงินทุน การเสริมความรู้ทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด ก็คือตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางนั่นเอง เราดำเนินการมาต่อเนื่อง 3 ปีที่กล่าวไปแล้ว มียอดการจำหน่ายสินค้าในตลาดทั้งหมดกว่า 1,100 ล้านบาท มียอดการสั่งซื้อสินค้าอีกกว่า 720 ล้าน มีผู้ประกอบการ ร้านค้า ที่เคยเข้าร่วมในโครงการนี้มากกว่า 7,000 ราย

สำหรับในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นตลาดเกษตร เกรดพรีเมี่ยม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 6 - 26 พฤศจิกายน 2560 เราจะเน้นสินค้าเกษตรคุณภาพและได้มาตรฐาน ช่วยกันมาอุดหนุนนะครับ

ทั้งนี้ ตลาดคลองผดุงฯ ถือว่าเป็นตลาดต้นแบบ เราเริ่มต้นไปแล้ว เรากำลังจะนำไปสู่การขยายผล ไปสู่ตลาดนัดชุมชน 4.0 ทั่วประเทศ และตลาดประชารัฐที่กำลังจะเปิดให้บริการตามนโยบายของรัฐบาลนี้ ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จะดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ เพื่อจะส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ รวมทั้งขยายพื้นที่ตลาดเดิม รองรับการจำหน่ายสินค้าให้กระจายตัวอย่างทั่วถึง จะสามารถสนับสนุนให้พี่น้องประชาชน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้มีโอกาสค้าขายมากขึ้น ลดต้นทุนทางการตลาด เปิดโอกาสให้กับผู้ค้ารายใหม่ได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จะแบ่งเป็น 9 ประเภท ได้แก่

1. ตลาดประชารัฐ ที่เรียกว่า Green Market ขององค์การตลาดฯ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่ตลาดเดิม สามารถรองรับผู้ค้ารายใหม่ได้กว่า 800 ราย

2. ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 2,000 กว่าแห่ง จะเป็นการขยายตลาเพื่อเพิ่มกลุ่มผู้ค้าในชุมชน และเกษตรกร ให้มีโอกาสนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น รองรับผู้ประกอบการประมาณ 2 หมื่นกว่าราย 

3. ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 3,800 แห่ง จะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ตลาดเดิม เปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ได้เข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่ รองรับผู้ประกอบการประมาณ 40,000 กว่าราย

4. ตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข 14 แห่ง เป็นการหาพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการที่เดือดร้อน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ค้าขาย รองรับกลุ่มพ่อค้ารายใหม่กว่า 10,000 ราย

5. ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ดำเนินการโดยจังหวัด และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ เช่น สินค้าตามฤดูกาล และสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

6. ตลาดประชารัฐ Modern Trade ของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ประเทศไทย จำกัด โดยการเพิ่มพื้นที่ตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภายในจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรได้นำสินค้าไปขาย ในราคาค่าเช่าที่ถูก หรืออาจจะไม่เสียค่าใช้จ่าย

7. ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยเพิ่มพื้นที่ให้กับผู้ค้ารายใหม่ในตลาดนัดของ ธ.ก.ส. ที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วประเทศ 

8. ตลาดประชารัฐต้องชม ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นการส่งเสริมด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ เพื่อจะกระตุ้นการค้าขาย เช่น ตลาดน้ำ ตลาดแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

9. ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมการตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรม เช่น การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิต และการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นต้น

ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการตลาดประชารัฐ เราจะใช้กลไกของศูนย์ดำรงธรรม ที่มีอยู่ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เป็นสถานที่รับลงทะเบียน ให้กับผู้ที่ประสงค์จะมีพื้นที่ค้าขายได้ร่วมลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 - 30 พฤศจิกายน ศกนี้ โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมตามช่องทางในการประชาสัมพันธ์บนหน้าจอ (ศูนย์ดำรงธรรมในระดับจังหวัดและอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 10 - 30 พฤศจิกายน 2560) รายละเอียดเพิ่มเติม : www.market.moi.go.th

ทั้งนี้ ตลาดประชารัฐที่กล่าวมา ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่างจังหวัด รวม 6,523 แห่งทั่วประเทศ ผมขอเชิญชวนผู้ประสงค์พื้นที่ค้าขายลงทะเบียน เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ ต่อไปถ้าเราไม่สมัคร มันก็ไม่ได้เข้ามา แล้วก็ไปร้องเรียนข้างนอกอีก มันก็ไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะร่วมกันสร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ให้กับกลุ่มผู้ค้ารายใหม่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รัฐบาลคาดว่าจะเปิดพร้อมกันได้ในวันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้

สุดท้ายนี้ ผม รัฐบาล และ คสช. จะพยายามใช้เวลาที่มีอยู่ ทำงาน พร้อมจะสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ยังมีคนไทยที่มีความทุกข์ยากอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ เราต้องพัฒนาทั้งสองด้าน ต้องปรับเปลี่ยน ต้องหารายได้เพิ่ม ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เช่น การเริ่มต้นลดหนี้ ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ต้องสร้างฐานะให้มั่นคง ต้องพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนความรู้ ปรับเปลี่ยนตามโลก เพื่อไปสู่สิ่งที่ดี ที่ยั่งยืนกว่า ไม่ใช่ความสุขที่ฉาบฉวย ลวงตา เห็นกงจักรเป็นดอกบัว รัฐบาลกำลังหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือทุกคนอย่างต่อเนื่อง ให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้

สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เราจะมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ที่ทำมาโดยตลอด

1. เพื่ออยู่รอด เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้ทุกคนสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง จากนั้นเราก็พัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง มีโครงการอะไรต่างๆ ขึ้นมา นำไปสู่ความพอเพียงให้มากขึ้น นอกจากอยู่รอดแล้ว ต้องเข้มแข็งไปด้วย จากนั้นก็พัฒนาต่อไป หรือช่วยเหลือต่อไป ให้เข้มแข็ง เพื่อจะดูแลประเทศชาติบ้านเมืองและผู้อื่นได้ ก็กลับมาช่วยกันในเรื่องของภาษี เรื่องของอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็อยากให้ทุกคนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราต้องพึ่งกันกันและกันทั้งหมด ความร่วมมือ ช่วยกัน ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง รายได้สูง หากมาช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ไม่ขัดแย้ง เราก็จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องพูด ทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนก็คือว่า การกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม วันนี้ หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เราก็ต้องเอาสิ่งดีๆ เหล่านั้นมาขับเคลื่อนต่อ เราต้องคำนึงถึงผู้อื่น เช่น การทิ้งขยะของทุกคน มันควรจะทิ้งยังไง จัดระเบียบที่ไหน คัดแยกขยะอย่างไร อันนี้ทุกคนช่วยกันได้ทันที ทำเถอะครับ อย่าให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ต้องมาเก็บทุกวันๆ เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด ยังทิ้งไม่ตรงที่ตรงทางเหมือนเดิม มันต้องแก้ไขคนทิ้ง ไม่ใช่แก้ไขคนเก็บ คนเก็บก็ต้องพัฒนาให้ได้ ถ้ามันเก็บเป็นที่เป็นทาง ก็ต้องขนไปทิ้งให้ถูกที่ ไปทำประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เรามีสถานที่ที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของเราเป็นจำนวนมาก โบราณสถาน การไปเยี่ยมชม หรือการไปดูงาน อะไรต่างๆ เราต้องไม่ทำลายศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้น สิ่งของอันทรงคุณค่าที่เราต้องรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ดู ไม่ใช่ดูแล้วก็หัก ก็เก็บ เอาไปเป็นของส่วนตัว อันนี้ไม่ได้นะครับ มันแสดงถึงคนไทยต้องมีวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเรา ก็คือ เราต้องรักษาไว้ให้คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นปฏิมากรรม โบราณวัตถุต่างๆ ขอให้ดูแต่ตา บางอย่างสัมผัสไปมันก็สึกหรอ บางอย่างก็ไม่สวยงาม สีก็หมองไป อะไรก็หมองไป หรือเก็บไปเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นอิฐ หิน ก้อนหิน ชิ้นส่วนอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ เวลาไปดูแล้วชอบไปเด็ด ไปเก็บ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ อะไรทำนองนี้

ผมว่าไม่สมควรนะ ขอไว้เถอะ ผมขอเอง กระทรวงศึกษาฯ ก็ช่วยไปเน้นสอนเด็กสอนนักเรียน ให้ไปดูแลเตือนพ่อแม่ด้วย อย่าเอาของไปเลย ของดูคนเดียว ดูวันเดียว เก็บเอาไปทำลายเสียหมด คนข้างหลังเขาก็ไม่ได้ดู แล้วเก็บไปก็ไม่ได้ใช้ แต่มันเสียหายไปทั้งหมดส่วนรวม เราต้องแสดงออกถึงวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย

ก็อย่าลืมนะครับ ผมขอร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการชมนิทรรศการที่ ที่จัดให้ดูในเรื่องของงานพระราชพิธีพระเมรุมาศ เหล่านี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กรุณาอย่าไปหยิบของ หยิบอะไรต่างๆ กลับไปเป็นของส่วนตัวเลย ไม่ดีหรอกครับ ต้นไม้ต่างๆ ก้อนหินทุกก้อน อะไรต่างๆ คงสภาพไว้เถอะครับ เพราะว่าเราต้องเก็บไว้ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ในโอกาสต่อไป ถ้าพังเสียหายทั้งหมด มันก็ไม่มีให้ดู ไม่มีให้ไปทำ ขอบคุณนะครับ สวัสดีครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้