Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2596 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้นะครับ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำวีดิทัศน์ชุด “สืบสาน รักษา ต่อยอดสร้างสุขปวงประชา” ขึ้นนะครับ เพื่อรวบรวมแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ในการถวายพระเกียรติและเผยแพร่สร้างความเข้าใจในแนวพระราชดำริ ให้น้อมนำสู่การปฏิบัติ อีกทั้งเพื่อให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ประโยชน์ในการสานต่อและต่อยอดพระราชปณิธานของทั้งสองพระองค์อีกด้วยนะครับ
วีดิทัศน์ชุดดังกล่าวมี 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 น้ำคือชีวิตแผ่นดิน ตอนที่ 2 พิทักษ์ป่า พัฒนาสินสายน้ำ ตอนที่ 3 พืชพรรณ ปลูกชีวิตมั่นคง และตอนที่ 4 เศรษฐกิจพอเพียงนำทางชีวิต ซึ่งผมได้เปิดให้คณะรัฐมนตรีได้รับชมเพื่อรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมแล้วนะครับ และมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์นำไปเผยแพร่และส่งต่อไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ แล้ว
พี่น้องประชาชนสามารถติดตามรับชม และร่วมกันน้อมรำลึกถึงสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ ได้ทรงวางรากฐานไว้ เพื่อให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ยาวนานและยั่งยืน ขอให้พวกเราทุกคนรวมทั้งประชาชนด้วยนะครับ รับพระราชดำริใส่เกล้าใส่กระหม่อมและช่วยกันสานต่อสืบไป
สำหรับในวันที่ 18 สิงหาคม ปี 2561 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นวาระครบรอบ 150 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งก็เป็นจริงนะครับ ตามที่ได้ทรงคำนวณไว้ด้วยพระองค์เอง ล่วงหน้า 2 ปี ณ บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยพระองค์ได้ทรงเชิญคณะสำรวจ ทั้งจากฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงคโปร์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย และด้วยพระปรีชาญาณที่ได้ทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาอย่างแม่นยำ ประชาคมดาราศาสตร์ในระดับสากล ได้ยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการกล่าวถึงสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนั้นว่าเป็น “King of Siam's Eclipse”ด้วยนะครับ
สำหรับพวกนั้น พสกนิกรชาวไทย เพื่อเป็นการประกาศพระเกียรติคุณ และพระปรีชาชาญาณของพระองค์ท่านให้โลกรับรู้ จึงได้มีการพัฒนา “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ให้เป็นสถานที่สำคัญในการท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ระดับชาติ อย่างสมพระเกียรติ
ซึ่งจะเป็นแหล่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ของภูมิภาค และของโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ได้จัดให้มี “เส้นทางการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้จากกรุงเทพมหานคร ถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์”
โดยได้รวบรวมพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้สำคัญ จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด อันได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะกระตุ้นนะครับ และส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ สามาถนำความรู้ไปพัฒนาตนเอง และพัฒนาอาชีพ อย่างยั่งยืนต่อไป
ผมขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้มาใช้ประโยชน์จากเส้นทางแห่งความรู้นี้ รวมถึงเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ ณ หว้ากอฯ และร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่4 ที่ทรงเป็น “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์” ของไทย ที่ได้ทรงพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ไว้อีกหลายแขนงนะครับ ให้กับพวกเราชาวไทยอีกด้วย
ด้วยรากฐานและแนวทางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่มั่นคงนี้เอง งานด้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของไทย ก็ได้เดินหน้ามาต่อเนื่อง ในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการก้าวเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” ของประเทศ และให้พี่น้องประชาชนได้ทยอยปรับตัวนะครับ กับการเปลี่ยนแปลงนี้
เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้ สะดวกสบายยิ่งขึ้นนะครับ ผมอยากเรียนให้พี่น้องประชาชนได้ทราบถึงงานสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงนี้
งานแรก ได้แก่ “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2560”เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย”
โดยเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี และของประเทศ โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมจากความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศกว่า 30 แห่ง
เพื่อแสดงถึงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่นำสมัย สามารถสร้างความตื่นเต้น สร้างแรงบันดาลใจ และความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย โดยเป็นโอกาสที่ประชาชนและเยาวชนทั่วไป จะได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ ได้รับประสบการณ์ และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบที่สนุกสนานและทันสมัย เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยเน้นหัวข้อที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ New S-Curveนะครับ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตโลก เช่น ภาวะโลกร้อน ความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวก กระตุ้นการคิดและการตั้งคำถาม และนำไปสู่การเป็น “ผู้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
งานนี้จัดขึ้นจนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี พี่น้องประชาชน สามารถมาเยี่ยมชม และพาลูกหลานมาปลูกฝังการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนวัตกรรมและประโยชน์ในการนำมาใช้นะครับ เพื่อให้เยาวชนได้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปนะครับ
อีกงานหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คืองาน Thailand Research Expo 2017 หรือ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 ครั้งที่ 12 ของกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหารกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์นะครับ
ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย โดยภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เช่น เครื่องมือเฝ้าตรวจพื้นที่ระยะไกลในการตรวจจับการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาตามแนวชายแดน การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าใยกล้วยด้วยการพิมพ์แบบกราฟฟิกและตกแต่ง
นวัตกรรมนาโนที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้ และการใช้เทคนิคคลื่นอัลตราซาวด์ สำหรับการรักษาก้อนมะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถจะกำจัดก้อนมะเร็งโดยที่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงของร่างกายอีกด้วยนะครับ
สำหรับงานมหกรรมงานวิจัยนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ได้แวะเวียนไปชมผลงานที่น่าชื่นชมเหล่านี้นะครับ เพื่อร่วมกับผมในการเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทุกท่าน และสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมดี ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ, อย่างที่ผมได้เคยเรียนมาแล้วว่า นับเป็นโชคดีอย่างที่สุดของประเทศไทยและประชาชนชาวไทยที่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ในหลายแขนงมาทุกยุคทุกสมัย เห็นได้ชัดเจนนะครับ จากการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ไม่ได้มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงด้านเดียว
ในช่วงเดียวกันนี้ เราได้เห็นงานที่จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในภาคเกษตร ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย นั่นก็คืองาน “เกษตรไทยก้าวหน้า ภายใต้ร่มพระบารมี” หรือ Thai Farmer Expo 2017 นะครับ งานนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมภาคการเกษตรของไทยได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง
และมีความพร้อมในการสนับสนุนการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยในงานจะมีการแสดงศักยภาพของSmart Farmer เกษตรกรต้นแบบ Young Smart Farmer เกษตรกรรุ่นใหม่ และ Smart Group กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งหมดกว่า 4,000 คน ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน
ทั้งยังได้เชิญคณะทูตานุทูตประจำประเทศไทยกว่า 30 ประเทศ เข้าร่วมชมงาน เพื่อให้แสดงให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของการเกษตรไทยในฐานะเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก โดยได้รับความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ และการลงทุนนะครับ
นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงผลผลิตทางการเกษตร ที่มีคุณภาพ ที่หลากหลาย ในราคายุติธรรม มีนิทรรศการ สานต่อพระราชปณิธานทางด้านการเกษตร การให้บริการคลินิกทางการเกษตร พร้อมให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การให้บริการความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในสังคมเมือง
แล้วก็มีการฝึกอบรมด้วยนะครับ มากกว่า 20 หลักสูตร มีการสาธิตการแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร สู่การประกอบอาชีพในอนาคต อีกทั้งได้จัดให้มีโซน Business Matching นะครับ เพื่อเจรจาธุรกิจระหว่างเกษตรกร กับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างเครือข่ายสินค้าการเกษตรให้กว้างขวางด้วย
ผมได้เดินทางไปเปิดงานเมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา และงานจะมีไปจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม นี้ นะครับ ที่สวนลุมพินี มีสินค้าที่น่าสนใจมากมาย ลองไปเยี่ยมชมนะครับ ความก้าวหน้าของภาคเกษตรไทย และสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรกันให้มาก ๆ นะครับ ขอขอบคุณภาคเอกชนนะครับ ที่มาร่วมมือสนับสนุนให้เกิดงานนี้ขึ้นด้วยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพลังประชารัฐต่างๆ นะครับ
พี่น้องประชาชน ครับ, การเกษตรกรรมนั้น เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศและประชาชนคนไทย โดยเฉพาะการปลูกข้าว เนื่องจากเป็นทั้งอาหารหลักในการบริโภคของพี่น้องประชนในทุกภาคทุกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นสินค้าออกที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมาช้านาน อย่างไรก็ตาม พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าว ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม
ราคาข้าวที่ผันผวนจากราคาในตลาดโลก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น และต่อเนื่อง จากประเทศผู้ส่งออกข้าวต่าง ๆ ในโลกอีกด้วยนะครับ มีหลายประเทศที่ผลิตข้าว แล้วส่งออกเช่นกัน แนวทางการแก้ปัญหาหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าว ก็คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตนั่นเอง
ตัวอย่างล่าสุดนะครับ ของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว ที่ผมได้ไปพบปะพูดคุยและอยากจะมาเล่าให้พวกเราฟัง ก็คือเรื่องน้ำมันรำข้าว เริ่มต้นจากข้าวเปลือกที่มีมูลค่าประมาณ 8,000 บาทต่อตัน เมื่อเราไปแปรรูปเป็นข้าวสาร จะมีผลิตผลพลอยได้เป็นรำข้าว มูลค่า 10,000 บาทต่อตัน และเมื่อนำรำข้าว มาแปรรูปเป็นน้ำมันสำหรับบริโภค จะมีมูลค่าถึง 60,000 บาทต่อตัน
แต่ถ้าแปรรูปเป็นอาหารเสริมชนิดน้ำมันรำข้าวบรรจุแคปซูล จะมีมูลค่าสูงถึง 20 ล้านบาทต่อตัน ในปัจจุบันนั้น อุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวของไทย ใช้รำข้าวประมาณ 800,000 ตันต่อปี จะได้น้ำมันรำข้าวดิบ 140,000 ตันต่อปี และทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2,000 ล้านบาท
ซึ่งน้ำมันรำข้าว นอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้ว เรายังสามารถใช้ประโยชน์ด้านโภชนเภสัช แล้วก็เป็นอาหารเสริมได้ แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากรำข้าวในปัจจุบัน อาจจะยังทำได้น้อย ซึ่งในระยะต่อไป รัฐบาลจะมุ่งสนับสนุนในเรื่องการทำวิจัยและพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงประชาสัมพันธ์ ให้ทราบถึงคุณประโยชน์และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องนะครับ ถ้าเราช่วยกันอุดหนุน ราคาก็ค่อยลดลงนะครับ ยิ่งผลิตมาก ราคาก็จะถูกลง ถ้าผลิตน้อย คนไม่เข้าใจ ไม่นิยมใช้ คาก็ต้องสูงนะครับ ถึงแม้จะมีคุณภาพดีก็ตาม ผมขอความร่วมมือนะครับ ให้ช่วยกันมาใช้แล้วกัน ไม่มีอันตรายอะไรเพราะมีการรับรองคุณภาพนะครับ ผ่านเรียบร้อยแล้วนะครับ
ในวันที่ 24 – 25 สิงหาคมที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรและผู้ประกอบการน้ำมันรำข้าว จะร่วมกันจัดประชุมวิชาการน้ำมันรำข้าวนานาชาติ ครั้งที่ 4 ในการประยุกต์ใช้น้ำมันรำข้าวทางเวชสำอาง โภชนเภสัช และอาหาร ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส โดยจะมีนักวิชาการและผู้ประกอบการกว่า 200 คนจากทั่วโลกมาเข้าร่วม
เพื่อหาแนวทางผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านน้ำมันรำข้าวอย่างยั่งยืน และส่งผ่านประโยชน์ไปยังเกษตรกรได้มากขึ้นผมอยากให้พี่น้องประชาชนหันมาบริโภคน้ำมันรำข้าวในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกทางหนึ่งด้วย ครับ
เมื่อวันก่อนนี้ผมก็ได้เห็นการนำข้าวมาทำในลักษณะที่เป็นเหมือนนมเม็ดอ้ะนะครับ ก็ดูแล้วผมก็ชิมก็อร่อยดีและเป็นประโยชน์ด้วย ก็ลองอุดหนุนกันนะครับที่เป็นผลผลิตจากข้าว
และอีกอันที่อยากให้ทำเพิ่มเติมก็คือการทำนมข้าวนะครับ น้ำนมข้าว เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสได้รับประทานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ เมื่อถึงวัยที่สามารถรับประทานได้แล้วนะครับ สำหรับเด็กแรกเกิดก็รับประทานแม่ไปก่อนนะครับ ไม่งั้นเราก็ต้องนำนมผงเข้ามาอีกเยอะแยะ ลองดูนะครับว่าทำยังไงให้มันมีคุณภาพดีกว่าที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี้นะครับในเรื่องการดูแลเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม
สำหรับการพัฒนาประเทศในภาพรวม วันนี้รายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม “เดิม” เพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ให้เป็นสากล ให้พร้อมรองรับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ต้อนรับนักธุรกิจ – นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เรามีโอกาสอีกมากนะครับ ตัวอย่าง สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ อาทิ...ตัวอย่างแรก “อย. 4.0” คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ ในกระบวนการพิจารณาอนุญาต ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพบริการสาธารณสุขของประเทศแล้ว ยังเป็นการปูทางไปสู่ “ศูนย์กลางการแพทย์” (Medical Hub)
โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ดำเนินการขจัดอุปสรรคในอดีตอย่างครบวงจร อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญและผู้ตรวจสอบเอกสารจากภายนอกเพิ่มขึ้น เพื่อจะช่วยประเมินเอกสารทางวิชาการ,การลดขั้นตอนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วย, การจ้างหน่วยงานภายนอกมาช่วยตรวจสถานประกอบการ รวมทั้งการหาแหล่งเงินนอกเหนือจากเงินงบประมาณมาสนับสนุนกิจกรรม
ทั้งนี้ เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้ง ช่วยให้กลไกการคุ้มครอง “ผู้บริโภค” ก็คือ พี่น้องประชาชนทุกคน มีความคล่องตัว และเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น การปรับระบบใหม่นี้ เกิดผลดีต่อ ผู้ประกอบการ”หลายประการ ได้แก่
(1) ช่วยลดระยะเวลา ตั้งแต่การให้คำปรึกษา - เตรียมเอกสาร - ตรวจสอบ - ติดตามเรื่อง - จนได้รับการพิจารณา “อนุญาต” รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ 20
เช่น การขออนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เดิมใช้เวลา 35 วันทำการ เหลือ 28 วันทำการ การขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ - ชีววัตถุใหม่ เดิม 280 วันทำการ เหลือ 220 วันทำการ คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย กรณีสารใหม่ เดิม 120 วันทำการ เหลือ 100 วันทำการ เป็นต้น
(2) ส่งเสริมการวางแผนธุรกิจได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น โดยการพัฒนาระบบ e-Submission ซึ่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ นั่นหมายถึง การเพิ่มความสะดวกในการสรรค์สร้างธุรกิจและนวัตกรรม ได้อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ เปิดใช้งานระบบ e-Submission แล้ว 29 ระบบ และจะพัฒนาเพิ่มเติม จนครบสมบูรณ์ ทั้ง 70 ระบบ ภายในปี 2562 ช่วยกันดูด้วยนะครับ
(3) อำนวยความสะดวกในวิธีการชำระค่าใช้จ่าย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ตามนโยบายDigital Economy ของรัฐบาล โดยเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคมนี้
และ (4) สร้างความมั่นใจ และยกระดับการให้บริการ ให้มีความทันสมัย ตอบสนองต่อ “ผู้ประกอบการในยุค 4.0” มากยิ่งขึ้น ที่เน้นความถูกต้อง รวดเร็ว และโปร่งใส โดยการจัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรม” และ “ศูนย์ให้คำปรึกษา” สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ “ผู้บริโภคปลอดภัย, ผู้ประกอบการก้าวไกล และมีระบบคุ้มครองสุขภาพไทย ที่ยั่งยืน”
ในเรื่องนี้ผมก็ฝากไปถึงสมอ.ด้วยนะครับสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานอุตสาหกรรมนะครับ ตัวอย่างที่ 2 คือ การพัฒนาไปสู่ “มหานครไร้สาย” โดยนำสายไฟฟ้า – สายสื่อสารลงใต้ดิน นำร่องโครงการถนนพหลโยธิน จากแยกลาดพร้าว ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใช้เวลาดำเนินการ ช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายนนี้
ซึ่งต้องบูรณาการทำงานกันหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.),กรุงเทพมหานคร(กทม.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมในประเทศ ซึ่งในอนาคตสายสื่อสารจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับทำให้เกิดปัญหาการพาดสายสื่อสารที่รกรุงรัง อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ จัดระเบียบยาก บางทีวางพาดกับสะพานลอย ทางข้ามอะไรต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชนได้ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ตลอดจนบดบังทัศนียภาพ ความงดงาม เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ผมอยากให้พี่น้องประชาชนเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลง ในอีก 2 เดือน แล้วจะเห็นว่า สิ่งนี้เราควรที่จะดำเนินการมานานแล้ว สำหรับเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนแล้ว ประมาณ 800 เสา กฟน.ก็จะได้มอบให้ กทม. เพื่อนำไปใช้ใน “โครงการปลูกป่าในใจคน” ตามศาสตร์พระราชา ในการช่วยฟื้นฟูและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน ตามแผนงาน เป็นระยะทาง 4.7 กิโลเมตร ต่อไป
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สำคัญ คือ คนไทยมีรายได้ต่อหัว เฉลี่ย450,000 บาท/คน/ปี, เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยมีอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ต่ำกว่าอันดับ 10 ของโลก ภายในปี 2579 และเราต้องเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ ให้ได้ร้อยละ 40 ซึ่งเป็นหนี่งในตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ “3 ปีที่ผ่านมา” รัฐบาลปัจจุบันนี้ ได้แก้ปัญหาเดิมๆ ของพี่น้องประชาชน และของประเทศ รวมทั้งวางรากฐานการพัฒนาไว้ ในหลายเรื่อง โดยยึดหลัก “ศาสตร์พระราชา” ที่ว่า “...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชน ในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด
เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้า ระดับที่สูงขึ้นต่อไป ได้แน่นอน...” แต่ก็ต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้วยนะครับ อย่างที่ผมกล่าวไว้แล้วทั้งหมด ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้หลักการเศรษฐกิจความรู้กับหลักคุณธรรมนะครับ
ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องแรกๆ จน “ตัวชี้วัด” ในภาพรวมของประเทศดีขึ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกันระหว่างปี 2557 กับไตรมาสแรกของปี 2560 นี้
เช่น ผลผลิตภาคเกษตรที่ “ติดลบ” 5.3% กลับมาเป็น “บวก” 20.1%, การลงทุนที่ “ติดลบ” 2.2% กลับมาเป็น “บวก” 1.7% และการส่งออกที่ย่ำแย่ แทบไม่เติบโต กลับฟื้นตัวเป็นบวกที่ 2.7% ทำให้โดยรวมแล้วGDP ของประเทศในไตรมาส 1 ของปีนี้ เป็น “บวก” 3.3% ครับ ซึ่งทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะชี้แจงรายละเอียดต่อไปนะครับ
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นภาพรวมของ “ทั้งประเทศ” เท่านั้น ที่เราต้องประคับ ประคองสถานการณ์ไว้ให้ได้ก่อนแล้ววันนี้ ถึงเวลาที่ผม และคณะรัฐมนตรี จะลงพื้นที่เพื่อ “X-ray” ปัญหาของพี่น้องประชาชน ที่ย่อมแตกต่างกันออกไป ตามภาค ตามจังหวัด ตามแต่ละท้องถิ่น
จะได้สร้างการเชื่อมโยงให้ได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเมื่อโครงสร้างหลักของบ้าน - ของประเทศ มีความมั่นคงดีแล้ว ส่วนประกอบที่เหลือ ทั้งขื่อ - คาน - ผนังบ้าน ก็จะยึดเข้าด้วยกันได้อย่างแข็งแรง ตามไปด้วยครับ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยของเรานะครับ ต้องสร้างโครงสร้างให้เข้มแข็ง แข็งแรง แล้วเราจะเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงแข็งแรงนะครับ
โดยกิจกรรมหลัก 3 ประการ สำหรับการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ได้แก่
(1) การลงพื้นที่ของรัฐมนตรี “ทุกกระทรวง” ทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อรับทราบปัญหา “ใหม่” ที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ และติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา “เดิม” ตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
(2) การพบปะพี่น้องประชาชน ในลักษณะเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้ “ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ” ในภูมิภาค จะได้เข้าใจตรงกัน เห็นทิศทาง และอนาคตร่วมกัน ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือ อันจะนำมาสู่การพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืนให้ได้ ในอนาคตนะครับ
และ (3) การประชุมคณะรัฐมนตรี ที่จะนำประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ได้จาก การลงพื้นที่และเวทีสาธารณะดังกล่าว มาหารือกันในที่ประชุม เพื่ออนุมัติ – สั่งการ ด้วยแผนการ โครงการและงบประมาณ จะได้มีความรวดเร็วในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่ใช่การมองปัญหาจากกรุงเทพฯ
วันนี้ผมก็รับฟังจากทุกที่อยู่แล้ว แต่ลงไปให้เห็นด้วยตาอีกนะครับ เพื่อจะได้สังเกตให้ดีขึ้น พบปะกับประชาชน พูดคุยกับบรรดาพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายนะครับ อย่างไรก็ตามที่เราทำมาแล้ว 3 ปีน่าจะได้รับทราบด้วย และแผนงานอีก 2 ปี 60 – 62 นะครับ ที่เราจะเร่งเติมลงไปให้อีกนะครับ
เพราะว่าโครงสร้างแรกๆก็ได้ทำไปบ้างแล้วใน 3 ปีแรกนะครับ อีก 2 ปีนี่ก็จะใช้งบประมาณที่เราจัดทำมาแล้วให้มันต่อเนื่องเชื่อมโยง ลดความเหลื่อมล้ำทางกายภาพให้ได้นะครับ แล้วก็ทำยังไงจะมีรายได้สูงขึ้น ก็ต้องไปดูคนที่ยังไม่ได้เข้าในระบบ ก็ยังมีคนจนจำนวนมาก คิดว่ามากกว่า 14.9 ล้านคน ตัวเลขที่ทำมานะครับ มากกว่านั้น เพราะเป็นเพียงผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ผมคิดว่าอยู่ไม่ได้หรอกครับ 1 แสนบาท ยังไงก็ต้อง 3 แสนขึ้นนะครับ ผมคิดอย่างนั้นนะครับ
แต่จะทำยังไง มันก็ต้องมาเข้าในระบบ ในโครงการ แต่ถ้ายังไม่เข้าจะทำยังไง รัฐบาลก็ต้องไปหาวิธีการ แต่ข้อสำคัญทุกคนก็ต้องยอมรับหลักการด้วยนะครับ ไม่งั้นมันไปไม่ได้ รัฐบาลคิด รัฐบาลทำโครงการ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วยมันก็ไปไม่ได้ทั้งหมด มันก็เกิดอะไรขึ้นมาใหม่ไม่ได้ การสร้างงาน สร้างอาชีพ มันก็เกิดขึ้นไม่ได้นะครับ ก็ขอร้องก็แล้วกัน ก็พยายามเข้าใจกันหน่อย
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการทรงงาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยนะครับ“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เข้าใจถึงปัญหา เข้าใจถึงพื้นที่ เข้าใจถึงประชาชน และเข้าใจถึงวิธีการแก้ปัญหาต่างๆทั้งหมด
สำหรับแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ของภาคและเมืองนั้น ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งของฐานการผลิต และบริการของประชาชนในภูมิภาค โดยกระจายความเจริญและโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง มากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ อย่างมีทิศทาง และมีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้เราต้องศึกษาข้อมูลสภาพทั่วไปของภาค, ประมวลสถานการณ์การพัฒนาภาคในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเมินบริบทการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อการพัฒนาภาค อีกด้วย
รวมทั้งการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น เส้นทางคมนาคมทางถนน - ทางราง,การค้าชายแดน, การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ในลักษณะ “ไทยแลนด์ +1 +2 +3...”เป็นต้น
ซึ่งในช่วงวันเสาร์ที่ 19 ถึงวันอังคารที่ 22 สิงหาคมนี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคน โดยเฉพาะ “ชาวอีสาน” ติดตามข่าวสารการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ตามที่ผมได้กล่าวไป โดยรายละเอียด “ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และบทสรุปต่างๆ ผมจะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง ในวันศุกร์หน้าครับ
ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ก็อยากให้ตื่นตัว เตรียมการและรอพบปะ “จับเข่าคุยกัน” กับคณะรัฐมนตรี ในโอกาสต่อๆ ไปด้วย นะครับ ก็ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ไม่ต้องวิตกกังวลนะครับ ไม่ต้องเตรียมการ ใหญ่โต หรูหรา ผมต้องการเพียงแค่พบปะกับประชาชน ข้าราชการรับทราบปัญหา ไม่ต้องต้อนรับใหญ่โต เสียเงินเสียทองมากมายแล้วทำให้คนเดือดร้อนนะครับ เราต้องปรับรูปแบบใหม่นะครับ
สุดท้ายนี้ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย ร่วมกันส่งแรงกาย - แรงใจ เชียร์ “กองทัพนักกีฬาไทย” ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ปี 2017 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 20 - 30 สิงหาคม ศกนี้
แม้ว่า “ชัยชนะ” จะเป็นเป้าหมายในการแข่งขัน ของนักกีฬาและกองเชียร์ และเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ แต่ความจริงแล้ว “หัวใจ” ในการเล่นกีฬา คือ น้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ - รู้ชนะ - รู้อภัย และความเป็นเพื่อน ที่มีค่ายิ่งกว่า
นอกจากนี้ สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญเช่นกัน คือ การเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี จึงอยากให้กีฬาซีเกมส์ และการชมการแข่งขันใดๆ ก็ตาม จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทย - เยาวชนไทย รักสุขภาพ รักการเล่นกีฬานะครับ เพื่อสุขภาพของตัวเองด้วย
ขอขอบคุณโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ช่อง 3, 5, 7, โมเดิร์นไนน์ทีวี, และช่อง 11 ที่หมุนเวียนกันถ่ายทอดสด ตลอดการแข่งขัน ให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม ให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดตามหน้าจอนะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับพี่น้องชาวโคราช พบกันวันจันทร์นะครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard