รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1971 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

        รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” สัปดาห์นี้ ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร องค์หนึ่ง มีใจความว่า “...การพัฒนาประเทศจะบรรลุผลตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย ประกอบการหลายอย่าง อย่างแรก ต้องมี “คนดี” คือมีปัญญา มีความรับผิดชอบมีความวิริยะอุตสาหะเป็นผู้ปฏิบัติ  อย่างที่สอง ต้องมี “วิทยาการที่ดี” เป็นเครื่องใช้ประกอบการ อย่างที่สาม ต้องมี “การวางแผนที่ดี” ให้พอเหมาะพอควรกับฐานะเศรษฐกิจ และทรัพยากรที่มีอยู่โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึงประสงค์ของประเทศและประชาชน เป็นหลักปฏิบัติ...” ดังนั้น ทุกคนจึงควรจะได้ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องใช้ปัญญา ความรู้ ความสามารถของตน รับใช้สังคมและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะทำได้

        ทั้งนี้ เพื่อให้ปวงชนชาวไทยทุกคนได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ เป็น “เข็มทิศนำทาง” สำหรับเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงของประเทศไทย ในการเปลี่ยนผ่านทุกวันนี้ ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ในหลาย ๆ ด้าน แต่การจะปฏิรูปอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ สมดังความมุ่งหวังและตั้งใจของเราร่วมกันนั้น ต้องดำเนิน การอย่างมียุทธศาสตร์ เป็นกรอบใหญ่ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างมีทิศ ทาง และต่อเนื่อง ที่มุ่งไปสู่จุดหมาย ไม่คดเคี้ยวลดเลี้ยวให้สิ้นเปลืองทรัพยากร งบประมาณ และเวลา หรือไม่ถกเถียง ขัดแย้ง เนื่องด้วยต่างคน ต่างฝ่ายต่างก็มีความความคิด ความต้องการ ที่แตกต่างกันออกไป หากเราไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายร่วมกันแล้ว ก็ยากที่จะทำงานร่วมกันให้สัมฤทธิ์ผลได้โดยง่าย ดังนั้นนอกจากเราต้องสนับสนุนให้คนดีมีปัญญา ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเราต้องใช้ วิทยาการ ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาพัฒนาตนเอง รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมแล้ว เรายังต้องสามารถทำ “แผนการปฏิบัติ - ปฏิรูป” ให้มีรายละเอียด มีความชัดเจน ประเมินผลได้ ให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันได้ อย่างบูรณาการและประสานสอดคล้อง อีกทั้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในรูปแบบกลไก “ประชารัฐ” เหมือนอย่างที่รัฐบาลนี้และ คสช. กำลังดำเนินการอยู่ด้วย

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

        ผมขอเน้นย้ำอีกครั้ง ว่า “ความร่วมมือ – ความสามัคคีปรองดอง” ของคนในชาติเท่านั้น ที่จะทำให้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม หากปราศจาก “การรับรู้และความเข้าใจ” ที่ดี ที่ถูกต้อง อย่างถ่องแท้แล้ว ความร่วมมือก็ไม่มีวันจะเกิด ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากให้ทุกคน หันมาสนใจกับเรื่อง “การสื่อสารสร้างชาติ” กันบ้าง โดยขอแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจได้ดังนี้

        ระดับเล็กคือ “การพูดจา” ในครอบครัว ก็สร้างชาติได้ เช่น ครอบครัวที่มีการพูดจากัน สื่อสารกัน ในสิ่งที่มีสาระ ช่วยให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น เด็กในครอบครัวลักษณะนี้ จะเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต เราก็จะมี “ทรัพยากรมนุษย์” ที่ดี มีศักยภาพ สำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เคยพูดชื่นชมเพื่อให้กำลังใจลูก  เอาแต่ว่ากล่าวด้วยอาการดุดัน หรือวาจาหยาบคาย เด็ก ๆ กลุ่มนี้ ก็จะโตขึ้นเป็นคนที่ก้าวร้าว ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง สุดท้ายก็หันหลังให้ครอบครัว หันหน้าเข้าหาเพื่อนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเหมือนกัน

        เมื่อการสื่อสารขยายวงกว้างมาสู่ระดับกลางก็คือ ชุมชน สังคมก็ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล มากกว่าการใช้อารมณ์ ความรู้สึก จนกลายเป็น hate speech  แล้วนำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ ด้วยความคึกคะนอง เกินขอบเขตขนบธรรมเนียมอันดีงามมาแต่โบราณ กลับเห็นดีเห็นงามตามคนผิดๆ แปลกพิเรนทร์ หรือการถ่ายทอดวาทะกรรม ฐานคิดที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้สังคมไทยมีตรรกะที่ผิดเพี้ยน เช่น เคยมีพนักงานท่าอากาศยานขโมยกระเป๋าผู้โดยสาร แล้วถูกจับได้ แทนที่จะรู้สึกผิดกับการกระทำของตนเอง กลับบอกสังคมว่า มีความจำเป็นต้องทำ ต้องขโมย เพราะเงินเดือนน้อย แถมฝากไปยังผู้บริหารว่าให้เพิ่มเงินเดือน ซึ่งไม่เกี่ยวกัน ความผิดคือความผิด เหล่านี้ใช่หรือไม่ ทั้งนี้ ในเรื่องการใช้สื่อโซเชียล ผมเห็นว่าเราควรจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง สำหรับการใช้ชีวิตในโลกของยุคโลกาภิวัฒน์ ด้วยการสร้างหลักคิด ที่มีข้อมูลมีความคิดพื้นฐาน มีการใช้สติปัญญา มีวิจารณญาณที่ดี ว่าทำอย่างไร จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการปลุกระดมความขัดแย้ง ถูกใช้ประโยชน์โดยคนบางกลุ่มที่อาจจะมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นเหยื่อของการหลอกลวง การลงทุนแชร์ลูกโซ่ หรือการซื้อขายของที่ไม่มีคุณภาพ มีการโฆษณาเกินความเป็นจริง การสร้าง “จุดขาย” ยกให้เป็น “ไอดอล” ของคนบางประเภท ทั้งที่ไม่เหมาะสม และสร้างค่านิยมผิด ๆ ทำให้สังคมไทยมีปัญหา หรือนำไปสู่ “สังคมที่เสื่อมทราม”

        สำหรับการสื่อสารระดับชาติ ที่มีสื่อมวลชนเป็นตัวกลาง เราต้องยอมรับความจริงและต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องความเป็นกลาง และ ความน่าเชื่อถือ ของสื่อฯ โดยเราต้องวิเคราะห์ก่อนเสมอ ไม่อาจยึดมั่น หรือทึกทักว่าเป็นจริงดังว่าได้ในทันที ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ “วิจารณญาณ” และ “จรรยาบรรณ” ในการทำหน้าที่ของสื่อฯ ซึ่งผมขอฝากให้พิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน และเลือกนำเสนอในประเด็นที่เสริมความรู้ ก่อเกิดปัญญา ให้กับประชาชนของประเทศ ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวสารที่สังคมไทย ควรให้ความสนใจ และควรถูกนำเสนอในเชิงสร้างสรรค์ เช่น

        (1) “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟหญิงขวัญใจชาวไทย ผมขอเป็นตัวแทนคนไทยทุกคนชื่นชมความสำเร็จของ “โปรเม” ในปัจจุบัน และให้กำลังใจเพื่อประสบความสำเร็จสูงสุดในอนาคต เป็นแรงบันดาลใจให้รุ่นน้อง ๆ และเยาวชน ด้วยการเสนอข่าวควรเจาะลึกถึงเส้นทางสู่ความสำเร็จ การใช้ความเพียรพยายาม อดทนฝึกซ้อม ร่วมกับความทุ่มเท เสียสละของผู้ปกครอง หรือในแง่มุมความสำคัญของการเล่นกีฬา เราอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬา แต่ทุกคนก็ควรเล่นกีฬาเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยเลือกกีฬาที่แต่ละคนชื่นชอบก็ได้

        (2) การเสนอข่าวการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่นิยมระดับโลก โดยวัดพระแก้ว พระบรมหาราชวัง และวัดโพธิ์ของไทย ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ซึ่งมีประเด็นให้นำเสนอข่าว เพื่อเป็นการต่อยอด สร้างสรรค์สังคมต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอประวัติความเป็นมา สร้างความภาคภูมิใจความเป็นชาติ ทำให้เกิดความหวงแหน ให้ความสำคัญ โดยช่วยกันอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งก็จะเป็นจุดแข็ง สร้างงาน สร้างรายได้ เข้าสู่ชุมชนของตน หรือเป็นการนำเสนอเพื่อขยายตลาดการท่องเที่ยวสำหรับ “ไทยเที่ยวไทย” เงินทองไม่รั่วไหล หรือเชิญชวนชาวต่างชาติมาเที่ยวไทย ก็ใช้เป็นโอกาสที่จะกระตุ้นให้คนในชาติได้รับรู้ ถึงแนวทางการพัฒนา การท่องเที่ยวของไทย ที่จะขยายฐานออกไปอีก ทั้งการท่องเที่ยวทางกีฬาเชิงสุขภาพ เรือสำราญ ด้านอาหาร เป็นต้น

        จากตัวอย่างที่หยิบยกมานั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “การสื่อสารสร้างชาติ” ให้มากขึ้น ในทุกระดับ โดยเริ่มจากสถาบันพื้นฐานทางสังคม บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ “บวร” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ความรู้คู่คุณธรรม” ไม่ให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่สื่อสารกันอย่างไร้สาระ ผิดเพี้ยน หรือปล่อยปละให้เกิดความมักง่ายในการใช้ภาษาและการสื่อสาร ทั้งที่การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งในชีวิตประจำ วัน และในการทำงานร่วมกัน โดย “คำพูด” เพียงไม่กี่คำ สามารถจะสร้างคน เปลี่ยนคน หรือทำลายคนได้ในเวลาอันสั้น

        อีกทั้ง ในการเสพสื่อนั้น ไม่ว่าจะฟัง ดู อ่าน เขียน ผมอยากให้คนไทยได้คิดและตัดสินใจ ด้วยปัญญา เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ต้องหาข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย ให้รอบคอบ รอบด้าน ใช้การคิดวิเคราะห์ พิจารณาให้ครบถ้วนกระบวนการ ไม่ใช่เอาผลประเมินเล็ก น้อย มาทำให้กระบวนการใหญ่ๆ มีปัญหา เสียรูปขบวน วันนี้เราต้องคิดแบบมีวิสัยทัศน์ ต้องกว้าง ต้องลึก และลงรายละเอียดในทุกประเด็นของปัญหา โดยงานเล็ก ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งนี้ ทุกงาน ทุกอย่าง มีความสำคัญ สัมพันธ์  เชื่อมโยงกันเป็น “ห่วงโซ่” ดังนั้น เราต้องบูรณาการกัน

        ทั้งนี้ สื่อแขนงต่าง ๆ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่สามารถช่วยให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ ประสบความสำเร็จได้ พี่น้องสื่อฯ จะต้องตระหนัก และกำหนดบทบาท สร้างคุณค่าให้กับองค์กรของตนว่าจะทำร้ายประเทศ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจะสร้างสรรค์สังคม โดยหลายรายการที่น่ายกย่อง เป็นสื่อที่ช่วยให้        เกิดการคลี่คลายประเด็นปัญหา ระงับความเข้าใจผิด และหาทางออกให้สังคม                 เช่นรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ช่อง 9 MCOT HD, รายการ “เคลียร์ คัด ชัดเจน” ของ NBT กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น นะครับ มีอีกมากมาย นอกจากนี้ ผมขอแนะนำให้พี่น้องประชาชน ได้ติดตามรับชมผลการดำเนินงานของรัฐบาลผ่านทางรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุ “ทุกช่อง”  ทุกวัน เว้นวันศุกร์ เวลา 1800 นาฬิกา โดยช่วงนี้ในทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 4 มิถุนายน ถึง 27 สิงหาคมได้จัดทำเป็นตอนพิเศษ นำเสนอความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ของประเทศตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จำนวน 12 ตอน โดยในวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายนนี้ จะเสนอผลงานในเรื่อง “การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ” ขอเชิญรับชม รับฟังได้ ไม่ใช่เพื่อประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจ ให้รู้ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง จะได้ไม่เสียโอกาส ขอขอบคุณสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุทุกช่อง ที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ทุกท่านครับ

        มีประเด็นปลีกย่อยมากมาย ที่ผมมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ฝากเป็นคำถามให้ช่วยกันขบคิด หรือเตือนสติพี่น้องประชาชน ทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น

        1. เรื่องกฎหมาย โดยเจตนารมณ์ของทุกกฎหมาย ย่อมมุ่งหวังให้เกิดความสงบ และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้น การเข้าถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับทุกคน หากไม่ขวนขวาย ไม่เรียนรู้ ไม่เข้าใจ ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของคนที่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะประเภท “ศรีธนญชัย  ฉลาดแกมโกง” เป็นบ่อเกิดของการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์หรืออื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราไม่รู้จริง ก็จะถูกรังแก เป็นผู้ถูกกระทำได้โดยง่าย

        2. เรื่องการช่วยเหลือของรัฐบาล ทุกมาตรการ ไม่ได้จำกัดแต่เพียงพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลให้ความสำคัญกับ “ผู้มีรายได้น้อย”  ผู้หาเช้ากินค่ำ ที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีอยู่หลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ รับจ้าง ค้าขาย รวมทั้ง SMEs, Micro-SMEs, Start-up และอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอเราต้องบริหารจัดการ กำหนดนโยบายสาธารณะ หรือออกมาตรการที่เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ มีหลายคนเรียกร้องให้ยกหนี้ให้เกษตรกรและชาวนาทั้งหมด แล้วจะทำได้อย่างไร เอาเงินมาจากไหน อาชีพอื่น ๆ ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ก็ยังคงมีปัญหาหนี้เช่นกัน เราจะเอางบประมาณจากที่ไหน ถึงจะพอ แล้วทำยังไง จะไม่เกิดหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก มาตรการต่าง ๆ นั้นเราต้องทำ ทั้งช่วย เหลือและสร้างโอกาส สร้างทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้ โดยรัฐบาลก็จะช่วยสร้างความยั่งยืน ในระยะยาวไปพร้อม ๆ กันด้วย อย่าลืมว่ารัฐบาลมีภาระดูแลคน เกือบ 70 ล้านคน เป็นผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 100,000 บาท ถึง 15 ล้านคน  แล้วที่มีรายได้ 100,000 - 300,000 กับ 300,000 ขึ้นไปอีก จะทำอย่างไร

        การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในประเทศเพื่ออนาคต การสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “ทุกอย่าง” เราจำเป็นต้องดำเนินการ “ควบคู่” กันไปด้วย ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ หากใช้จ่ายเกินตัว ไม่ประเมินความคุ้มค่าความคุ้มทุน และความเหมาะสม ไม่มีวินัยการเงินการคลัง ไม่ปฏิรูประบบภาษี ไม่หารายได้ให้งอกเงย ประเทศเราคงจะล่มจมแน่ เราจะให้ล้างหนี้ งดการลงทุน ไปดูแลสาธารณสุขถ้วนหน้า ดูแลรัฐสวัสดิการฟรี ทั้งหมด ศึกษาฟรีทั้งหมด ทั้งค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า ค่าบำรุง ค่ากิจกรรมกิจกรรมอื่นให้มากขึ้นอีก เราต้องใช้งบประมาณอีกเท่าไหร่ จึงจะพอ ก็ต้องทำ เมื่อมีขีดความสามารถเพียงพอ ก็ทำให้มากขึ้น ระยะสั้นถ้าเราทำแบบเดิมคงพอไหว ระยะยาวเราต้องทบทวน ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบริบทและยุคสมัยไม่ให้เป็น “ภาระทางงบประมาณ” ต่อไปจนประเทศเราไปไม่รอด เราต้องมีงบประมาณสำหรับการดำรงสภาพและพัฒนาระบบราชการ อย่างต่อเนื่องและเพียงพอด้วย ทุกวันนี้ รายได้ใหม่ เศรษฐกิจใหม่ ที่ลงทุนไว้ ทยอย เริ่มผลิดอก ออกผล แต่ก็ยังไม่เต็มเม็ด เต็มหน่วย เราจะทำอย่างไร ต้องช่วยคิดดูอีกด้วย

        3. เรื่องปัญหาความมั่นคงนั้น เราต้องเข้าใจว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้ากับ “ภัยคุกคาม” 2 ประเภทในเวลาเดียวกันได้แก่ “ภัยคุกคามรูปแบบเดิม” หมายถึง สงครามในรูปแบบต่าง ๆ น้อยใหญ่ สงครามจำกัด สงครามเพื่อพิทักษ์ปกป้องกันผลประโยชน์ของชาติ ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกใบนี้ ยังเป็นภัยคุกคามที่ยังคงมีอยู่ หรือพร้อมที่ปะทุได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเตรียมพร้อม การมีศักยภาพเราก็ต้องพิจารณาว่าเราควรมีแค่ไหน อย่างไร ตามที่เรามีงบประมาณอยู่ การรักษาความสัมพันธ์และดุลอำนาจกับชาติมหาอำนาจ ชาติพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อจะสร้างความร่วมมือ สร้างความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างไร เราจะวางบทบาทของเราไว้อยู่ตรงไหน ทั้งหลายทั้งปวง เราต้องไม่ประมาท สำหรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ วันนี้เกิดขึ้นอยู่ในโลกปัจจุบัน กำลังคุกคามโลกอยู่ รวมทั้งยาเสพติด ภัยธรรมชาติ เหล่านี้เป็นต้น ทุกประเทศ ล้วนได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงต้องร่วมมือกันป้องกัน และแก้ไขปัญหา ในกรอบใหญ่ของโลกด้วย

        ทั้งนี้ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ซึ่งเป็นปัญหาภายในประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยตรง เป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานเราต้องดำเนินการแก้ไขอย่างมียุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลนี้และ คสช. นอกจากการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็น “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คำนึงถึงทุกมิติ อย่างสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง มาเป็นยุทธศาสตร์หลักแล้ว ยังมุ่งเน้นการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” และไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ

        ที่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศได้มีความเข้าใจ อุ่นใจ ในการดำเนินการของรัฐบาล เพื่อแสวงหาความร่วมมือกัน ในโอกาสต่าง ๆปัจจุบันรัฐบาลได้ตั้ง “ผู้แทนพิเศษรัฐบาล” ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า สำหรับเป็นกลไกสำคัญ ในการเชื่อมโยงรัฐบาลและกระทรวงต่าง ๆ ในส่วนกลาง ที่มีงบประมาณกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น บูรณา ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง การแก้ปัญหาในเรื่องกระบวนการยุติธรรม การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย การสร้างความเข้าใจ ทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ รวมทั้ง การยกระดับคุณภาพชีวิต

        ตัวอย่าง นโยบายสำคัญในรัฐบาลนี้ ก็คือ โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อยกระดับจังหวัดชาย แดนภาคใต้   ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่ง หย่อนไปกว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งทั่วประเทศ และ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นโครงการพัฒนา ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เรื่องการ “ระเบิดจากข้างใน”ไม่ยัดเยียด สิ่งที่ไม่อยู่ในความต้องการ หรือ ไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคม มาเป็นหลักสำคัญในการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ และ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่น

        (1) โครงการพัฒนา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และขยายบทบาทการเป็น “ประตูสู่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้”

        (2) โครงการพัฒนา อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ และ

        (3) โครงการพัฒนา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ยังมีความเชื่อมโยงกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค อีกด้วย ได้แก่

        (1) แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายไทย - มาเลเซีย - อินโดนีเซีย (IMT-GT)นะครับ เพื่อเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ ระหว่าง 14 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ของไทย, 8 รัฐของมาเลเซีย และ 10 จังหวัดในเกาะ สุมาตรา ของอินโดนีเซีย กับห่วงโซ่มูลค่าในระดับอาเซียน และ

        (2) โครงการรถไฟจีน - ไทย ตามยุทธศาสตร์ One Belt , One Road  ซึ่งจะเชื่อมโยงไทยกับ 64 ประเทศทั้งในเอเชีย - แอฟริกา - ยุโรป รวมทั้งจีน ผ่านการขนส่งทางราง คือ เส้นทางรถไฟ ไทย - จีน - ลาว รถไฟสายด่วนจีน - ยุโรป และ เครือข่ายระบบรางของเอเชีย ในอนาคตอีกด้วย

        สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างยั่งยืนไม่ให้เกิดซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน  รัฐบาลได้มอบหมายให้ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลนี้ ลงไปเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้มีผลสัมฤทธิ์ และเป็นรูปธรรมโดยตั้งเป้าหมายจะต้องลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 พื้นที่รอบนอกจะต้องมีการท่วมขังของน้ำ ไม่เกิน 7 วัน และไม่สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร พื้นที่ชุมชนรอบในและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะมีน้ำท่วมได้ ไม่เกิน 1-2 วันเท่านั้น พื้นที่ท่วมซ้ำซาก ต้องดูแล ควบคุม บริหารจัดการ ให้เกิดผลเสียต่อประชาชน ให้น้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ เพื่อเร่งระบายน้ำในห้วงน้ำหลากและ เก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้งให้ได้ อีกด้วย ก็ขอความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วย รัฐบาล หน่วยราชการทำแต่เพียงอย่างเดียว แล้วไม่ร่วมมือเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้นที่กล่าวมาทั้งหมด

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

        เป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา IMD ได้ปรับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประจำปี 2017 ดีขึ้น จากอันดับรวมที่ 28 ในปีก่อน มาอยู่ที่ 27 ในปีนี้ ปรับดีขึ้นในด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ที่เคยอยู่อันดับที่ 13 มาอยู่ที่ 10 เป็นผลมาจากการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนอีกด้านหนึ่งที่ปรับดีขึ้น ก็คือประสิทธิภาพในการดำเนินงานของภาครัฐ ที่ปีก่อนอยู่ที่อันดับ 23 ปีนี้ดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 20  ในปีนี้ IMD ได้เริ่มจัดอันดับความสามารถของประเทศ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาครัฐ และการดำเนินธุรกิจ  โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ซึ่งก็ถือเป็นการเริ่มต้น เป็นแรงผลักดันให้เราทำให้ดีขึ้นอีก ทั้งนี้จากการที่ความสามารถในการแข่งขันของเราปรับดีขึ้นในภาพรวมนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย ผมก็ถือว่าเป็นกำลังใจที่ดีกับทุกฝ่าย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน อย่างเต็มที่ ผมเคยพูดอยู่เสมอว่า การจัดลำดับเหล่านี้ เป็น “มุมมองจากภายนอก” ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ซึ่งมีสำคัญอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ “มุมมองจากภายใน” ของเราเอง ที่จะผลักดันให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันร่วมไม้ร่วมมือกัน เป็นกำลังใจให้กันและกัน ในการทำงาน เพื่อให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า

        สำหรับในวันพฤหัสที่ผ่านมานั้น ผมได้เข้าชี้แจงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะขอเล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบในภาพรวม ว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ถือว่าแตก ต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยรัฐบาลพยายามมุ่งเน้นให้การตั้งงบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และดูแลจัดสรรให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด ซึ่งการปรับเปลี่ยนการจัดทำงบประมาณเกิดขึ้นในหลายมิติ ดังนี้

        มิติแรก คือ การจัดสรรงบประมาณมีความชัดเจนและดูแลให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ โดยส่วนแรก คือ งบประมาณที่สนับสนุนงานฟังก์ชั่น หรืองานประจำ ที่ครั้งนี้ มีการปรับลดลง กว่า 240,000 ล้านบาท เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการลด ชะลอ หรือยกเลิก โครงการที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน ล้าสมัย และยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยจะนำงบประมาณส่วนที่ลดลงนี้ ไปเพิ่มในส่วนที่สอง คือ งานบูรณาการประมาณ 130,000 ล้านบาท และ งานยุทธศาสตร์ อีกประมาณ 110,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบาย และการปฏิรูปประเทศ ให้เกิดผลอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ตรงความต้องการ และให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนดไว้ ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 12 ซึ่งจะทำให้สามารถขับเคลื่อน และ เดินหน้าโครงการต่าง ๆ ได้คล่องตัวขึ้น รวมทั้งสามารถประเมินการใช้งบประมาณได้ดียิ่งขึ้น

        มิติที่สอง คือ การจัดสรรงบประมาณให้สามารถสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณร่วมกันให้ได้ สะดวกยิ่งขึ้น เพิ่มการประสานงาน และลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน ทั้งแผนคน แผนเงิน แผนงบประมาณ จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน แล้วก็แบ่งความรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ทำให้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นสามารถจะใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน และพัฒนาประเทศ ให้มีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกเพื่อให้การบูรณาการงบ-ประมาณ ในการจัดสรรแผนการพัฒนาคน แผนการดำเนินงาน และแผนการใช้งบประมาณ ที่มีความสอดคล้อง เพื่อตอบโจทย์การทำงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติได้เต็มที่ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็ง ในการเพิ่มขีดความ สามารถของประเทศให้จงได้

        มิติที่สาม  คือ การสร้างความคุ้มค่าให้กับการใช้งบประมาณ โดยมีกลไกในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริต ผ่าน พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง จัดให้มีคณะกรรมการคุณธรรม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กระบวน การคัดกรองตรวจสอบอื่น ๆ ที่รัดกุมยิ่งขึ้น และ

        มิติที่สี่  คือ การปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณนี้เป็นก้าวสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้น และดำเนินไปได้ต่อเนื่องซึ่งรัฐบาลมีการวางแผนดำเนินการผลักดันการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะกลไกมาตรฐาน กฎหมายต่าง ๆ ทั้งมีการทำให้เกิดขึ้นใหม่ ปรับปรุงเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกบางส่วน ให้สอดคล้องกันทั้งระบบ นอกจากนี้เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ ตอบโจทย์ความต้องการ ในการปฏิรูปประเทศ ระบบราชการ  การบริหารราชการ และ ข้าราชการเอง ถือเป็นปัจจัยสำคัญมากในขณะนี้ การกระจายอำนาจ และการกระจายงบประมาณออกไป เราต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ และ ความสามารถ ความพร้อมของทุกอย่างในระบบด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการวาง Roadmap ในการจัดทำระบบ สร้างข้าราชการที่ดี, ข้าราชการรุ่นใหม่ ไปพร้อมกัน อีกทั้ง ยังต้องพัฒนา และเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ ทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีหลักคิดไปพร้อม ๆ กันด้วย

        ที่สำคัญที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ คือการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ คือ กฎหมายต้องสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยทั้งกฎหมายการค้าที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจ กฎหมายที่ทำให้สังคมเป็นระเบียบ ทั้งด้านอาชญากรรม ยาเสพติด โดยต้องมองประชาชน เป็นจุดศูนย์กลาง และต้องมองประเทศชาติว่า จะเดินหน้าไปได้อย่างไรเป็นสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการด้านกฎหมายหลาย ๆ คณะ ก็กำลังเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับการปฏิรูปประเทศ ในช่วงต่อไป

 

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  สวัสดีครับ

 

ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้