Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2161 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ช่วงที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเยือนประเทศ เพื่อดำเนินนโยบายเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยของเรา ผมได้ใช้เวทีเหล่านี้ ในการนำเสนอศาสตร์พระราชาและหลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กับผู้นำประเทศต่างๆ รับทราบด้วยซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เกือบทุกประเทศรู้จักและเข้าใจหลักการของปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ชุมชน ประเทศ และประชาคมโลกได้ในที่สุด ในระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน ผมและคณะได้เดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ครั้งที่ 10 เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ มีประเทศมีฟิลิปปินส์เป็นประธาน โดยจัดขึ้นในปีที่อาเซียนก่อตั้งครบรอบ 50 ปี ซึ่งก็ถือเป็นความร่วมมือที่ยาวนานและแน่นแฟ้นยิ่งกว่าความร่วมมือในภูมิภาคใดๆ ในโลกใบนี้ ในปีนี้ ผมและผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันย้ำถึงความสำคัญในการที่จะทบทวนและพิจารณาเพิ่มศักยภาพการดำเนินการของประชาคม ซึ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถึงแม้ความร่วมมือในอาเซียนจะประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่งแล้ว แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ยังต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในภูมิภาค และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ทำให้อาเซียนต้องรักษาความเป็นแกนกลางในด้านความมั่นคงของภูมิภาค และบริหารความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศมหาอำนาจให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ มั่นคง และยั่งยืน ขณะเดียวกัน อาเซียนต้องสร้างความแข็งแกร่งภายใน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน การจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียน และ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation เพื่อดูแลการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึง รวมถึงจะต้องยืนหยัดในการส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างกัน และเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้ได้โดยเร็ว และยังต้องมุ่งที่จะเพิ่มการค้าภายในระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่นๆ ลงด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ก็คือเรื่องของความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นพ้องในการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด และเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ให้เกิดความรุนแรงและสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม
สำหรับการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือที่เรียกว่า IMT-GT นั้น ก็ได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของอนุภูมิภาคนี้ ในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างให้สมบูรณ์ ในการสนับสนุนวิสัยทัศน์ 20 ปี ของอาเซียน และยังได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการ 5 ปี ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกประเด็นความร่วมมือของกลุ่มสมาชิกอาเซียน ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อลดอุปสรรคในการเดินทางท่องเที่ยว และยกระดับให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันที่เรียกว่า Single Tourist Destination ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ชื่อ Visit ASEAN at 50 เพื่อฉลองการก่อตั้งอาเซียนครบรอบ 50 ปี รวมทั้งเพื่อแสดงความแตกต่างอันเป็นหนึ่งเดียวอย่างลงตัวของกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา ในสายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 121 ล้านคน และทำรายได้ให้กับประเทศสมาชิกถึง 29 ล้านล้านบาท ประมาณ 828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเตรียมความพร้อม ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มุ่งเน้นการเติมเต็มเครือข่ายความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ระหว่างกันให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาเครือข่ายเส้นทาง การพัฒนาโครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง สิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 การพัฒนาทางหลวงอาเซียน โดยเน้นการเชื่อมต่อของไทยกับเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งก็จะส่งผลให้ไทยสามารถยกฐานะขึ้นเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้อย่างเต็มตัว และจะเอื้อประโยชน์ในการเชื่อมต่อให้กับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพื่อให้เราเติบโตไปด้วยกัน และสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน ผมได้มีโอกาสไปเปิดการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก ประจำปี 2560 หรือ World Travel and Tourism Council Global Summit 2017 ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจนะครับที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนี้ เพราะถือเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก จึงเป็นการเน้นย้ำ ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ในการจัดการประชุมระดับโลก และการมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของเอเชียและของโลกต่อไป ในงานนี้ ผมได้นำเสนอนโยบาย ไทยแลนด์บวกหนึ่ง หรือ Thailand Plus One ซึ่งได้นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2557 เป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างประเทศ ที่สามารถใช้ประเทศไทยเป็น ฐานสำคัญของภูมิภาคเข้าสู่ตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีผู้บริโภคกว่า 620 ล้านคนได้ ทั้งนี้ ตลาดโลก นักลงทุน นักธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวก็จะพบว่า ประเทศไทยมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทางเรือ และทางอากาศที่ทันสมัย ประกอบกับมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ดี จึงทำให้การเดินทางเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นไป อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งก็ถือเป็นการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์นโยบาย Single Tourist Destination ของอาเซียนที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ให้มีการกระจายไปสู่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกด้วย รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ.2560 ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีจำนวนมากขึ้น มีคุณภาพนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และการใช้จ่ายต่อรายสูงขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยมีการวางแผนส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการเดินทางมาพักผ่อนที่มีคุณภาพ หรือ Quality Leisure Destination โดยจะต้องทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องกระจายช่วงเวลาการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวไทย และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ตลอดปี เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และเป็นการกระจายแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนในจังหวัดรองให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมสร้างการจ้างงานในท้องถิ่นและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น
ผมขอยกตัวอย่างกิจกรรมขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดให้จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่พิเศษในการท่องเที่ยว และมีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนบ่อสวก และชุมชนในเวียง เป็นต้นแบบ โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดแนวทาง สร้างการมีส่วนร่วม สร้างอาชีพ สร้างการกระจายรายได้ภายในชุมชน โดยให้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม รักษาอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวซึ่งถือได้ว่าเป็นการน้อมนำเอาหลักการของศาสตร์พระราชาที่การพัฒนาต้อง ระเบิดจากข้างใน เพื่อให้ชุมชนเข้าใจ เห็นประโยชน์ และอยากเข้าร่วม มาใช้สร้างความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงให้ชุมชน ก่อนที่จะเปิดรับการพัฒนาจากภายนอกเพื่อต่อยอดต่อไป นี่ก็เป็นเพียงหนึ่ง ในตัวอย่างที่สร้างความเข้มแข็งโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อน ผมขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ขยายงานออกไปให้ครอบคลุม และอยากให้พื้นที่ต่างๆ นะครับ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชานี้ไปใช้ในชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วย
พี่น้องชาวไทยที่รักครับ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้ ผมได้กำชับให้ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณในแผนงานโครงการต่างๆ ของหน่วยทั้ง ระยะสั้นและระยะยาว ให้ลงไปสู่พื้นที่ เข้าถึงพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยแผนงานโครงการระยะยาวเรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้ในปีนี้ ก็ให้เริ่มดำเนินการทันทีเพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป และเห็นผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดสำหรับโครงการระยะสั้นและเร่งด่วน หลายโครงการ ก็ได้เห็นผลสัมฤทธิ์แล้ว ซึ่งผมได้ชี้แจงให้พี่น้องประชาชน รับทราบเป็นระยะๆ ทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น การปฎิรูประบบสาธารณสุขทุกมิติ การบังคับใช้กฏหมาย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย
สำหรับสัปดาห์นี้ผมขอชี้แจงผลงานของรัฐบาลในด้านอื่นๆ ดังนี้
1. การบริหารที่ดินและผืนป่าตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสามารถดำเนินโครงการคืนผืนป่าได้แล้วจำนวนกว่า 349,000 ไร่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้จำนวนกว่า 212,498 ไร่ นอกจากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือในการวิเคราะห์และติดตามผลการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับศูนย์ปฏิบัติการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครองอื่นๆ อีกด้วย ในขณะเดียวกันรัฐบาลเร่งให้มีการบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อบริหารจัดการที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยรัฐบาลได้จัดหาที่ดิน และอนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่ม หรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แต่ไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐออกเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดินให้ได้ในภายหลัง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการใน 5 ประเภทที่ดิน ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่ราชพัสดุ ในปี 2558-2560 ที่ผ่านมา การดำเนินการมีความก้าวหน้าไปพอสมควร มันต้องใช้เวลา มันต้องเดินสำรวจ ตรวจสอบแผนที่อะไรอีกเยอะแยะ และคัดแยก คัดกรองประชาชน
เพราะฉะนั้นอาจดูเหมือนช้าเกินไป แต่มันจำเป็นจริงๆ ได้มีการจัดหาที่ดินในพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้นกว่า 680,000 ไร่ ใน 203 พื้นที่ รวม 64 จังหวัด มีการจัดพี่น้องประชาชนลงในพื้นที่แล้วทั้งสิ้น 70 พื้นที่ ใน 43 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการจัดหาที่ดินทั้งหมดมากกว่า 27,000 แปลง รวม 170,000 ไร่ ให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น 21,681 รายทั่วประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอต้องทำต่อไปตามเวลาที่มีอยู่ และทำต่อไปเรื่อยๆ นอกจากเรื่องที่ดินทำกินแล้ว รัฐบาลยังดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลยังจะเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการจัดหาที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรมทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อจะสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ และรายได้ของพี่น้องประชาชนอีกด้วย วันนี้สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องแก้ปัญหาการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด หรืออื่นๆ จะต้องไม่ปลูกในพื้นที่บุกรุกอีกต่อไป ตลาดจะต้องไม่รับซื้อผลผลิตที่ผิดกฎหมาย ผมขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ เอกชนด้วย
เรื่องที่ 2 การบริหารจัดการน้ำ ประเทศไทยเริ่มย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ในปีนี้ผมได้รับรายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 มกราคม-เมษายน เรามีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 13 แต่เราไม่อาจวางใจได้ เพราะเราคาดว่าทั้งปีนั้นปริมาณฝนรวมของทั้งฤดูฝนจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำแผนจัดสรรน้ำ สำหรับฤดูฝนปีนี้เอาไว้แล้ว
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยคำนึงถึงสถานการณ์น้ำในแต่ละห้วงเวลา รวมถึงความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่เพียงพอตลอดทั้งปี เรื่องน้ำนั้นรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เช่น 1.การพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2557-2560 ทำไปแล้วรวม 6,309 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 84 ของเป้าหมาย รวมทั้งการหาแหล่งน้ำในพื้นที่ ด้วยการดำเนินการขุดบ่อ ขุดสระ และสร้างฝายทดแทนอีก 100 หมู่บ้าน
2. การพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ได้ 235 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ทำแล้ว สามารถเพิ่มความจุได้ 2,069.30 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 25 ของเป้าหมายระยะยาวด้วย
4. โครงการบูรณาการขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 1,267 รายการ ในปี 2559 ใช้งบประมาณกว่า 1,513 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับรายงานว่า ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 88.57 ของเป้าหมาย
นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงน้ำ การควบคุมการใช้น้ำ การบบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน การพัฒนา การคุ้มครอง ฟื้นฟู และอนุรักษ์แหล่งน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำขาดแคลน การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ รวมทั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งเราต้องใช้งบประมาณ และเวลาอีกระยะหนึ่ง ต้องซ่อมแซมของเดิมที่ชำรุด ทั้งสร้างใหม่ด้วย และมีการจัดทำระบบส่งน้ำเพิ่มเติม บางที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อเกิดการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ยั่งยืน
3.การปรับโครงสร้างเกษตร คนไทยเป็นเกษตรกรกว่า 11 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด การสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก รัฐบาลจึงได้ดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เช่น
1) การวางแผนการผลิต และตลาดข้าวครบวงจร ตั้งแต่การขยายการรวมกลุ่ม เพื่อทำนาแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนแปลงข้าวอินทรีย์ และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากข้าว
2) การส่งเสริมการใช้ยาง และผลิตภัณฑ์ยางพาราในภาครัฐ และการควบคุมพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งผมได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทยนำส่งชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมได้ประสานขึ้นรายชื่อผลิตภัณฑ์กับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เพื่อที่ทางราชการจะได้จัดซื้อสิ่งของเหล่านี้มาใช้งานได้ เช่น ยางล้อ เป็นต้น ขอความร่วมมือจากส่วนราชการด้วย
3) การปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน มีการพัฒนาเปอร์เซ็นต์น้ำมัน เพื่อลดการ เก็บผลดิบ เพิ่มมาตรฐานการสกัด ลานเทต้องได้มาตรฐาน ปรับปรุงฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการพยากรณ์ผลผลิตและราคา รวมทั้งลดการใช้พื้นที่ปลูกที่บุกรุก ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
4) ระบบประกันสังคม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีการสร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคม โดยกระทรวงแรงงานได้มีการปฏิรูปการให้บริการทางการแพทย์ให้เหมาะสม ทั่วถึง และมีคุณภาพ ได้มีการเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจสุขภาพทั่วไป
ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16 มีนาคม 2560 สรุปได้ดังนี้
(1) โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ประกันตนทั้งหมด 176 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล 105 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 71 แห่ง
(2) ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจสุขภาพจำนวน 73,943 ครั้ง โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาล เป็นจำนวนเงินกว่า 41 ล้านบาท ผ่านระบบการเบิกจ่าย e-Claim
(3) ดำเนินการสถาบันต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคทั่วประเทศจำนวน 40 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพ รวมถึงให้โรงพยาบาลได้มีการติดตาม ดูแลรักษาผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง หากพบความผิดปกติ โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น มีระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ One Stop Service มีระบบนัดหมายก่อนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ มีจุดคัดกรองโดยซักประวัติผู้ประกันตน และมีป้ายแสดงขั้นตอนการเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ และป้องกันโรคที่ชัดเจน เป็นต้น
5. การรองรับสังคมสูงวัยและคนพิการ ที่ผ่านมามีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดวิชาชีพ และในปี 2560 นี้ คาดว่าจะมีการดำเนินการโครงการนำร่องโรงเรียนผู้สูงอายุ ได้ถึง 63 แห่ง และการดูแลผู้สูงอายุผ่านเบี้ยยังชีพ 8 ล้านราย รวมวงเงิน 65,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว ด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุ ที่ครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน หรหือติดเตียงกว่า 1 แสนราย ครอบคลุมให้ทุกตำบล ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยกลไกประชารัฐ
สำหรับระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการกับกระทรวงและหนห่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมและเตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างครอบคลุมด้วยยุทธศาสตร์ 3S คือ
- Strong คือการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง มีการพัฒนาระบบบริการที่เข้าถึงง่ายไร้รอยต่อ จากสถานบริการชุมชน โรงพยาบาลมีการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการและจัดให้มีคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลตั้งแต่ 120 เตียงขึ้นไป
- Security สนับสนุนเรื่องความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ ผ่านการออมและการมีงานทำ การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 1 จังหวัด 1 เมือง และการคุ้มครองทางสังคม ไม่ให้มีกรณีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและโดนทำร้าย
- Social Participation การมีส่วนร่วมในสังคม ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบการบูรณาการ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และส่งเสริมพัฒนาชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ มีการสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับผู้พิการรัฐบาลมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อออกสู่สังคมและดำรงชีวิตได้อย่างอิสระมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มอัตราเบี้ยความพิการจากเดิม 500 บาท เป็น 800 บาทต่อคนต่อเดือน และในปี 2560 นี้ คาดว่าจะดูแลผู้พิการได้เกือบ 1.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงิน 14,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการปรับเงินเพิ่มกู้ยืมกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจาก 40,000 บาท เป็น 60,000 บาท เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพด้านอาชีพและการศึกษาของผู้พิการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนให้คนพิการมีรายได้อย่างยั่งยืน ได้ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้พิการในสถานประกอบการกว่า 40,000 ราย
6. การจัดระเบียบขอทานคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา พบคนไร้ที่พึ่ง 302 ราย และคนขอทานจำนวนทั้งสิ้น 161 ราย แบ่งเป็นชาวไทย 66 ราย และต่างด้าว 95 ราย สาเหตุหลักมาจากปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอ เจ็บป่วยทางร่างกาย หรือจิตใจ และไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งก็ได้มีการช่วยเหลือโดยเข้ารับความคุ้มครองเพื่อฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพชีวิต 234 ราย ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล สถานคุ้มครองตามกฎหมายเฉพาะ 58 ราย ประสานส่งคืนครอบครัว 76 ราย และสำหรับขอทานต่างด้าวได้ประสานส่งกลับประเทศไปแล้ว 54 ราย อีก 41 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ การดำเนินการทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู เพื่อพัฒนาศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันด้วย
7. การส่งเสริม SMEs ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีทั้งสิ้นเกือบ 3 ล้านกิจการ และหากรวมวิสาหกิจรายย่อยด้วย ที่เรียกว่าไมโคร SMEs นั้น ก็จะมีถึง 5 ล้านกิจการ โดยเพียงแค่ SMEs กลุ่มเดียว ก็จะก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศถึง 10 ล้านคน และมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของรายได้ประเทศ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเลย ในเรื่องนี้บทบาทสำคัญของภาครัฐก็คือ การสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ SMEs เหล่านี้ดำเนินงานและปรับตัวภายใต้สภาวะแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างราบรื่น ในปีนี้ กองทุนเพื่อ SMEs ในแนวทางประชารัฐได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีวงเงิน 35,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 9,000 ราย และรักษาการจ้างงานไว้ได้กว่า 72,000 คน นอกจากการให้สินเชื่อสนับสนุนแล้ว ยังใช้หลักพี่ช่วยน้องให้ธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการปรับปรุงสินค้าและบริการ มีการใช้อีคอมเมิร์ซ มาช่วยในการทำผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรจากพื้นที่ห่างไกลไปสู่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในเมือง ทั้งนี้ เราหวังจะให้มีผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงรายย่อย รายใหม่ๆ ได้กระจายไปยังพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัดอย่างทั่วถึง ช่วยให้คนรุ่นใหม่กลับไปทำธุรกิจในภูมิลำเนา หรือการแออัดในเมืองใหญ่และสร้างความเจริญในท้องถิ่น และช่วยเหลือ SMEs ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการ ที่นับวันจะเติบโตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
8. การบริหารจัดการข้าราชการรุ่นใหม่และการจัดหาบุคลากรสำหรับการปฏิรูประบบการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพนั้น เราต้องสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถและสมรรถนะสูง เข้ามาสู่ระบบข้าราชการ โดย ครม.มีมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้สำนักงาน ก.พ.และสำนักงาน ก.พ.ร.ไปปรับปรุงแนวทางการสร้างแรงจูงใจการให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เหมาะสมกับลักษณะของงานและความเชี่ยวชาญ และพัฒนาบุคลากรภาครัฐในทุกระดับให้ได้รับความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล รวมถึงการปรับรูปแบบการดำเนินการของภาครัฐในลักษณะของประชารัฐ เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ข้าราชการทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ต้องตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งผมขอให้เร่งรัดการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นโดยมุ่งเน้นกิจกรรมการระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญต่างๆ ประกอบด้วยหลักสูตรการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และหลักสูตรการสร้างผู้นำแห่งการบริหารการเปลี่ยนแปลงสำหรับข้าราชการระดับสูง เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจต่อภาวะแวดล้อมใหม่ในการบริหารราชการตามกรอบของ ป.ย.ป. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำ ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล เพื่อที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
9. ด้านนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้า แนวทางของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจไทยให้เพิ่มมูลค่าแก่สินค้า ก็คือการสนับสนุนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ สามารถจัดซื้อสินค้าและบริการด้วยวิธีกรณีพิเศษ จากผู้ขาย หรือผู้ให้บริการ ที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณ ที่ผ่านมาตรฐาน โดยผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบัญชีนี้ ล้วนเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาของสถาบันวิจัยของไทย สถาบันการศึกษาของไทย หรือจากภาคเอกชนไทยทั้งสิ้น และเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เป็นนิติบุคคลไทยที่มีผู้ถือหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ภาครัฐซื้อสินค้าและบริการจากนวัตกรรมของผู้ผลิตไทยที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของงบประมาณที่จะซื้อทั้งหมด เพื่อเราจะได้ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างโอกาส ทั้งต่อยอดทางธุรกิจ บนพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรมตามแนวนโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 หน่วยงานสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ (www.bb.go.th) ด้วย
สำหรับการพัฒนาศักยภาพการวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และสนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาล โดยคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้สนับสนุนทุนการวิจัยไปแล้ว 3,260 ทุน เป็นเงินงบประมาณรวม 1,323 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มการลงทุนวิจัยและการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้เพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
10. ด้านการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศต่างๆ ล้วนพัฒนาขึ้นตามลำดับ ตามที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้น ทุกประเทศเข้าใจสถานการณ์ในประเทศของเรา และพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ กับเราในทุกมิติ
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้โทรศัพท์พูดคุย ซึ่งผมก็ได้กล่าวยินดีกับท่านที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 พร้อมกับขอบคุณที่ท่านแสดงความเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นไปด้วยดีตลอดระยะเวลา 184 ปี ผมได้ยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะส่งเสริม สนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคง และพร้อมสนับสนุนบทบาทอันสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเราก็จะต้องร่วมมือกับบรรดามิตรประเทศของไทยอื่นๆ ด้วย
สำหรับในเรื่องการศึกษา เมื่อวันที่ 23 - 27 เมษายน 2560 รัฐบาลจีน โดยสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เรียนเชิญภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปดูงานด้านการศึกษา ในการนี้ ภริยาประธานาธิบดีจีนได้ให้เกียรติเป็นเจ้าภาพในการเลี้ยงอาหารค่ำเป็นการส่วนตัว ณ เรือนรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ
สำหรับผลของการหารือกับฝ่ายการศึกษาของจีน และคณะจากกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการสะท้อนถึงความต้องการของผู้เรียน การพัฒนาระบบการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เห็นผล เกิดเป็นรูปธรรม จากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมจะนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ ต่อไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน อยากให้ได้รับทราบ ทำความเข้าใจ และเดินหน้าไปด้วยกัน ผมไม่อยากเห็นใครต้องเสียโอกาส เพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับแต่ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง
พี่น้องประชาชนที่รักครับ ที่ผ่านมา ทางหนึ่งที่รัฐบาลได้สนับสนุนกิจกรรมของพี่น้องเกษตรกร และปลุกพลังประชารัฐมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือการจัดให้มีงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของพี่น้องประชาชนกลุ่มจังหวัด และกลุ่มพลังประชารัฐต่างๆ ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาลนี่เอง ก็ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ทั้งนี้ ก็เพื่อจะนำสินค้าของพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ มาจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ เพื่อต่อยอดการตลาดและสร้างรายได้ให้เป็นวงกว้างขึ้น ผมขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ในวันที่ 4 พฤษภาคม ถึงวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมจะมีกิจกรรมภายใต้ชื่องาน "THAILAND'S BEST LOCAL PRODUCT" โดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อจำหน่ายสินค้าดีเด่น ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารจากทั่วประเทศ ที่คัดสรรมาจากกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม อีกทั้งยังมีสินค้าชุมชนที่บริษัท ประชารัฐสามัคคี จำกัด และบริษัทเอกชน ผู้สนับสนุนโครงการประชารัฐ ได้ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม กว่า 900 ราย เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย
ตลอดทั้ง 3 เดือนนี้ จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนสินค้ากันไป โดยในเดือนพฤษภาคม จะเป็นสินค้าจักสาน อาหารไทย ผ้า และสินค้าที่เน้นนวัตกรรม เดือนมิถุนายน จะเป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย มีข้าวไทย ผัก ผลไม้ต่างๆ และเดือนกรกฎาคม จะเน้นการท่องเที่ยวชุมชน
นอกจากนี้ ในงานจะมีการให้บริการทำบัตรประชาชน การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด สินค้าลดราคา จากบริษัท เพื่อเป็นสวัสดิการประชาชน รวมถึงโอทอปชวนชิมด้วย และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดต่างๆ ในโอกาสนี้ ผมจึงอยากขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันมาอุดหนุนสินค้าของพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการจาดทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างรากฐานของประเทศให้เข้มแข็ง พื้นที่ของตลาดกว้างขวาง กันแดด กันฝนได้ ไม่ว่าอากาศจะร้อน หรือฝนจะตก ก็ช่วยกันมาเดิน มาช่วยกันอุดหนุนด้วย
สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวพุทธที่รักทุกท่าน ในวันวิสาขบูชา คือวันพุธที่ 10 พฤษภาคมนี้ เป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมีการบูชาด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ร่วมกันทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญจิตภาวนา และเวียนเทียน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ และขอเชิญชวนประชาชนร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลา 17.30 น. ด้วย
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วน ภายใต้กลไกประชารัฐ ได้มีการร่วมกันจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤษภาคมนี้ โดยมีกระทรวงและจังหวัดต่างๆ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เป็นต้นแบบที่ดีงามให้กับพี่น้องประชาชน สำหรับในส่วนกลางจะจัดขึ้นที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ที่สมเด็จพระเทรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันที่ 6 พฤษภาคม ด้วย
ปีนี้นับเป็นปีแรกที่มีการรณรงค์ให้ชุมชนคุณธรรมทั่วประเทศแต่งกายด้วยชุดขาว รักษาศีล ตลอดเทศกาลวิสาขบูชา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บท ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ที่มุ่งหวังจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรม ที่ร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุลทั้งทางวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป โดยให้คุณธรรมนำการพัฒนา สร้างสังคมคุณธรรม เพื่อให้สังคมเกิดความมั่นคง สงบสุข ร่มเย็น ด้วยมิติทางศาสนา ตลอดจนนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง อย่างมีพลัง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard