Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2187 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 เวลา 20.15 น.
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่แก่ปวงชนชาวไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 บนเส้นทางประชาธิปไตย 85 ปี ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่สำคัญเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียง “ประชามติ” ของปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์อื่น ๆ ที่จะตามมา จนกระทั่งการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้รัฐบาลใหม่ อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลา “ระยะสาม” ตาม Roadmap ที่รัฐบาลและ คสช. วางเอาไว้แต่แรกนะครับ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ผมอยากใช้โอกาสนี้ ขอให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้มีการกระชับความเข้าใจ และประสานความร่วมมือซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะไปสู่การพัฒนาประเทศ โดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” อันได้แก่ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการคิด และปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รวมทั้งให้มีการขับเคลื่อนประเทศด้วยกลไก “ประชารัฐ” เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ผมขอให้ร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง สร้างบรรยากาศที่สงบ และสันติสุข เอื้ออำนวยต่อ “วาระแห่งชาติ” ที่กำลังจะมาถึง ได้แก่ “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ อย่างสมพระเกียรติ รวมทั้งการเตรียมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์และยุติธรรม ซึ่งแต่ละเหตุการณ์สำคัญเหล่านั้น ก็จะดำรงไปตามครรลองที่เหมาะสม ไม่สมควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ เสียความรู้สึก เสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ
ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศเรานี้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมี “พี่น้องข้าราชการ” เป็นแกนกลางของการทำงาน ผมขออัญเชิญพระราโชวาทของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ที่พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ปีนี้ ความว่า “งานราชการนั้น คือ งานของแผ่นดิน มีผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทุกคน ดังนั้น ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องทำความเข้าใจถึงความสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถ่องแท้ แล้วร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหา ด้วยความอุตสาหะ เสียสละ และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยถือประโยชน์ที่จะเกิดจากงานเป็นหลัก งานของแผ่นดินทุกส่วน จักได้ดำเนินก้าวหน้าไปพร้อมกัน และสำเร็จประโยชน์ที่พึงประสงค์ คือ ยังความเจริญมั่นคง ให้เกิดแก่ประเทศชาติ และประชาชนได้แท้จริง และยั่งยืนตลอดไป”
ทั้งนี้ หลากหลายความสำเร็จ อันจะเกิดจากการทำงานหนักของข้าราชการ ตามนโยบายรัฐบาลและ คสช. ร่วมกับ “กลไกประชารัฐ” ที่เราได้จัดทำไว้แล้ว ผมขอชื่นชม ขอขอบคุณ ขอให้ทุกคนรักษามาตรฐานการทำงานที่ดี มีธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์สุจริต ไว้ตลอดไปนะครับ อาทิ (1) หนี้ครัวเรือนของไทยนั้น “ลดลง” เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี
(2) พี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รองรับ และสร้างความมั่นคงในชีวิต อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะได้ถูกละเลยไว้ยาวนาน ไม่อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสล.) หรือกองทุนประกันสังคม เช่นที่ผ่านมา
(3) ประชาชนทุกคน จะได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยได้รับการช่วยเหลือจาก “กองทุนยุติธรรม” ในการวางเงินประกัน การปล่อยตัวชั่วคราว การจ้างทนายความ เหล่านี้เป็นต้น
(4) สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศ ภาพลักษณ์ความโปร่งใส ในสายตานานาชาติ “ดีที่สุด” รอบ 10 ปีและการเรียกรับสินบน “ลดลง” มากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้ลดลงเหลือ 0 ให้จงได้โดยเร็วนะครับ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างธรรมาภิบาลในระบบราชการให้ได้ สร้างความซื่อสัตย์สุจริตให้ได้ สำหรับกรณีที่มีผู้กระทำความผิดอยู่ในเรื่องของการทุจิตคอรัปชันก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทั้งผู้ให้และผู้รับ ด้วย
(5) ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งผลการดำเนินการมาแล้ว 30 ครั้ง มียอดจำหน่าย และยอดสั่งซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ กว่า 1,500 ล้านบาท ผมยกให้เป็น “ต้นแบบ” ของ “ตลาดชุมชน 4.0” ที่มีการค้าทั้ง on-line และ e-Commerce หรือเป็น “ตลาดประชารัฐ” ที่เป็นสถานที่สำหรับการประสานความร่วมมือ หรือการจับคู่ การเจรจาทางธุรกิจ ตั้งแต่ผู้ผลิต “ต้นทาง” ไปจนถึงตลาด “ปลายทาง” ตลอดห่วงโซ่คุณภาพ ให้เป็นแหล่งรวมกิจกรรมในชุมชน ที่คงไม่ใช่เป็นเพียงตลาดสด ตลาดค้าปลีกธรรมดาทั่วไปนะครับ เหล่านี้เราต้องพัฒนา สำหรับเดือนเมษายนนี้ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ขยายผลความสำเร็จจาก “ตลาดวิถีไทยชายแดนใต้ กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน” นะครับ ในเดือนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก มียอดการซื้อขายกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นเม็ดเงินจากตลาดนี้ที่ส่งตรงไปถึงเกษตรกร และชาวประมงผู้ด้อยโอกาส และผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ “ตลาดมิติใหม่ชายแดนใต้ ก้าวไกลสู่ความเป็นสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้บริการพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ปริมณฑลและนักท่องเที่ยวแล้ว ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และตลอดเดือนเมษายนนี้ ผมขอเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่าน มาช่วยกันอุดหนุนนะครับ สินค้าของพี่น้องชาวใต้ และร่วมกิจกรรม งานบุญ ช่วงสงกรานต์ด้วย
และ (6) การออกแบบหลักสูตรและการพัฒนาบุคคลากรของ กศน. ให้เป็น “วิทยากรประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน” กว่า 7,000 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้ครบทุกตำบล ซึ่งเป็นตัวอย่างของการทำงาน อย่างบูรณาการกันของภาครัฐ พร้อมกับความร่วมมือของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนงานด้านนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง คือ โครงการนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการประกอบธุรกิจของชุมชนในท้องถิ่น กว่า 41,000 ร้านค้า สามารถนำสินค้าไปขายในระบบออนไลน์ เป็นการเพิ่มช่องทางการขาย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ช่วยนำรายได้และความมั่งคั่งไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ซึ่งในระยะต่อไปนั้น ก็จะมีเป็นการมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากโดยส่งเสริมเศรษฐกิจผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในท้องถิ่น อันได้แก่ สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร, วิสาหกิจชุมชน , SMEs และ Startups ให้ได้รับการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถนำสินค้าเข้าขายผ่านสื่อออนไลน์ได้ แล้วยกระดับไปเชื่อมกับตลาดกลาง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงต่าง ๆ และสามารถรวมตัวเป็นตลาดออนไลน์ในระดับประเทศได้
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
มีเรื่องหนึ่ง ที่เราไม่เคยทำสำเร็จมาก่อน อาจเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ตระหนัก หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะกระทบต่อมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ การบริหารจัดการที่ดินของประเทศ และการจัดทำผังเมือง ซึ่งพื้นที่ประเทศไทย 300 กว่าล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินเอกชน 40% และที่ดินของรัฐอีก 60% ภายใต้การกำกับดูแลของหลากหลายหน่วยงาน ที่มีการจัดทำแผนที่ด้วยมาตรฐาน และสัดส่วนที่ต่างกัน ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้อง ไม่ชัดเจน ทับซ้อน พิพาทอ้างสิทธิ์ ไปจนถึงการบุกรุก จนเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความล้มเหลว” ในการปฏิรูประบบผังเมืองในอดีตที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล เช่น น้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ปี 2554 เกิดความเสียหายในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ หลาย “แสนล้านบาท” เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ หลายประการ ได้แก่
(1) การใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น การขายที่นา ซึ่งเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ในราคาถูก เพื่อการไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม
(2) การขยายเมือง ขยายกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงพื้นที่ลุ่มน้ำเดิม และขวางทางน้ำธรรมชาติ ขวางการไหลน้ำเหนือ ไม่ให้ลงสู่ทะเล เป็นการฝืนธรรมชาติ
และ (3) ถือว่าสำคัญที่สุด คือ ความผิดพลาดในการบริหาร 9 กลุ่มลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำใหญ่ 254 ลุ่มน้ำย่อย ประกอบกับ การที่เราไม่มียุทธศาสตร์ในการตั้งถิ่นฐาน , การสร้างเมือง และกระกระจายตัวประชากรในภาพรวมของประเทศทำให้ไม่มี “แผนแม่บท” สำหรับส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ในการที่จะวางแผนของตนเอง ทำให้เกิดการขัดแย้งกัน และไร้ทิศทาง ต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการกันนะครับ ทั้งนี้ก็ด้วยการไม่เข้าใจนะครับ ประชาชนก็หลายส่วน หลายฝ่ายก็ต่อต้าน ทุกคนก็เกรงความเดือดร้อน ในกลุ่มของตนเองด้วยนะครับ อันนี้รัฐบาลก็เห็นใจอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาล และ คสช. ในปัจจุบันนั้น ก็ได้กำหนดแนวทางแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนก็คือ
(1) เราจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายการตั้งถิ่นฐานและการผังเมืองโดยมีหน่วยงานระดับชาติ กำกับดูแล และทำงานควบคู่ไปกับสภาพัฒน์ฯ
(2) มีกฎหมายเฉพาะ เหมือนเป็น “ธรรมนูญการผังเมือง” ในการกำกับกฎหมายอื่น ๆ ไม่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ละเมิด หรือปล่อยให้มีการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ไม่เป็นไปตามหลักการนี้ เช่น การสร้างขยายเมืองในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ หรือการใช้พื้นที่รับน้ำ ทางธรรมชาติผ่านในกิจการอื่น นอกจากการเกษตรกรรม เหล่านี้เป็นต้น
และ (3) การสร้างกลไกและกระบวนการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ ที่จะต้องเชื่อมโยงกันทุกระดับ เช่น มีการออกแบบมาตรฐาน และเกณฑ์การวางแผนเชิงพื้นที่ของประเทศ ภาค จังหวัด ท้องถิ่น ในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย
ข้อมูลที่ผมกล่าวมาเบื้องต้นนี้ เป็นผลการศึกษาของ (1) ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และ (2) คณะกรรมาธิการ การบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ นอกจากการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งแล้ว นโยบายของรัฐบาลนี้ ยังนำหลักการดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การปฏิรูปที่ดินของประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม ทุกระบบ รวมทั้ง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งทั่วประเทศ และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ด้วยนะครับ ทั้งนี้ เพื่อให้การสร้างเมืองใหม่ การพัฒนาประเทศ และการกระจายความเจริญต่าง ๆ มีความสมดุล และเป็นมิตรกับธรรมชาติ แล้วกระจายไปสู่เมืองเล็ก ๆ นะครับ ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะอยู่ในเมืองใหญ่ แออัด ปัญหาจราจร ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย การระบายน้ำมีปัญหาทั้งหมดนะครับ เราต้องกระจายความเจริญเหล่านั้นลงไปให้ทั่วประเทศให้ได้
สำหรับการแก้ไขปัญหาเดิมนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เช่น รื้อถอน ย้ายที่ ออกจากพื้นที่บุกรุก หรือจัดระเบียบพื้นที่ใหม่ทั้งหมด หากไม่ยินยอม มันก็ทำไม่ได้นะครับ ทุกคนเรียกร้อง แต่ไม่ยินยอมก็ทำไม่ได้ทั้งหมด การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนก็ไม่เกิด เพราะเราปล่อยให้ “สิทธิ์ส่วนบุคคล” อยู่เหนือ “สิทธิส่วนรวม” ใช่หรือไม่ หากพี่น้องประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไข ก็ต้อแสดงความจำนง ร่วมมือช่วยกันแก้ไข แก้ปัญหา รัฐบาลจึงจะหาวิธีแก้ไข เฉพาะผู้ที่เดือดร้อนได้ วันนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราทุกคนจะต้องร่วมมือกัน นำสิ่งที่ถูกที่ควร เข้าร่องเข้ารอย ทั้งรัฐบาล คสช. ข้าราชการ ภาคธุรกิจ ประชาชน และทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ร่วมกันมองอนาคตร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลูกหลานในภายหน้า
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ในวันพุธที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปประชุมคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภามา ซึ่งถือเป็นการประชุม “ระดับนโยบาย” ครั้งแรก ภายหลังจากที่คณะทำงานต่าง ๆ ได้เตรียมการ เตรียมข้อมูล สำหรับการตกลงใจในระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนให้ EEC สามารถดำเนินการไปได้อย่างต้องการตามกำหนดนะครับ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ผมเคยพูดถึงการพัฒนา EEC มาหลายครั้ง เนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และมองว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานการลงทุน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สำคัญ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ และจะเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพการผลิต ซึ่งก็จะถือเป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศและลูกหลานของเรานั่นเอง
นอกจากการพัฒนา EEC แล้ว เราจะต้องช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยตรงทำให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่และชุมชนเป็นการเตรียมการอนาคต ให้กับคนทั้งประเทศ อาจจะ ยังประโยชน์ให้กับภูมิภาคอื่น ๆ
ประการแรก พื้นที่นี้ ถือเป็นระเบียงเศรษฐกิจทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่จะช่วยลดความแออัดในเมืองกรุง และเมื่อกรุงเทพฯ ผนึกรวมกับ EEC แล้ว พื้นที่นี้จะกลายเป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างเต็มภาคภูมิ
ประการที่สอง EEC จะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงภาคอีสานตอนบนและตอนล่างมาสู่อ่าวไทย ด้วยการขนส่ง ทั้งทางรถไฟและทางถนนมายังท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งถือเป็นการรวมศูนย์การผลิตของประเทศเชื่อมไว้ด้วยกัน อีกทั้งการที่มีสนามบินอู่ตะเภา และเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง ก็จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก และอื่น ๆ ของไทยอีกด้วย
ประการสุดท้ายการพัฒนาพื้นที่นี้ ถือเป็นการเชื่อมโยง 3 จังหวัด EEC เข้ากับการพัฒนาจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด) และอื่นๆ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ตราด และสระแก้ว รวมทั้ง การขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้ ผ่านสนามบินอู่ตะเภา ที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งลง และ ช่วยให้ผลผลิตมีความสดใหม่ สามารถกระจายความเจริญ นำความได้เปรียบของพื้นที่ต่าง ๆ มาใช้อย่างเหมาะสม ด้วย
การประชุมครั้งนี้นั้น ให้ความสำคัญกับการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเดิม ให้เป็น “เมืองการบิน ภาคตะวันออก” ที่จะมี 2 ทางวิ่ง และคาดว่าจะรองรับผู้โดยสาร “เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทุก ๆ 5 ปี” จาก 15 ล้านคน เป็น 30 และก็ 60 ล้านคน ในอีก 15 ปีข้างหน้า เพื่อจะผ่อนบรรเทาความคับคั่งของสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิลง ขยายความสามารถในการให้บริการทางการบินของประเทศ รวมทั้งเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญ ให้กับเศรษฐกิจไทย และจะกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาใหม่ของประเทศ ที่จะเชื่อมโยงกับ CLMV อาเซียน และเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินอีก ได้แก่ ศูนย์ซ่อมเครื่องบินล้ำยุค, อี-คอมเมอร์ส , คลังสินค้า , อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน , ศูนย์ธุรกิจการค้า และศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากร ด้านการบินและแรงงานฝีมือ สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย เพิ่มความสำคัญในภูมิภาคในฐานะศูนย์กลางทางการบิน อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเมื่อสายการบินต่าง ๆ สามารถให้ประเทศไทย เป็นทั้งจุดแวะพัก เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศในภูมิภาคแล้ว ยังสามารถเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงได้อีกด้วย ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ และยกระดับบทบาท รวมถึงความสำคัญของไทยในภูมิภาคได้ยิ่งขึ้นด้วย
เพื่อเติมเต็มนโยบายคลัสเตอร์การบินของรัฐบาลดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบ ให้มีรถไฟความเร็วสูง สายตะวันออก เชื่อมทั้ง 3 สนามบินหลักของไทย แบบไร้รอยต่อ โดยผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนสถานี ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ และใช้เวลาในการเดินทาง จากกรุงเทพฯ ถึงสนามบินอู่ตะเภา ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งจะถือเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ได้ ในหลายมิติ เพื่อจะรองรับการขนส่ง ทั้งคนและสิ่งของ ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ สนามบินอู่ตะเภา จึงถือเป็นโครงการเปรียบเสมือน “หัวหอก” สำคัญ ภายใต้การดำเนินนโยบายเชิงรุกไปสู่อนาคตของประเทศ ที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา ได้มีความก้าวหน้าในการเร่งรัด และ ผลักดัน EEC ไปแล้วมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า
(1) การร่วมทุนกับเอกชนสำหรับโครงการสำคัญ ใน EEC นั้นรวดเร็วขึ้น สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ภายใน 8-10 เดือน (จากเดิม 14 เดือน)
(2) การมีเขตปลอดอากร และปลอดเอกสาร “ระดับนานาชาติ” ตาม พ.ร.บ. ศุลกากรใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรมเทียบกับเขตปลอดอากรชั้นนำทั่วโลก
(3) การชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการไบโออีโคโนมี , รถยนต์ไฟฟ้า , หุ่นยนต์ , ศูนย์การแพทย์ ที่มีผู้สนใจ ทั้งไทยและต่างประเทศ และ อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งบริษัทลาซาดา ของอาลีบาบา กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อเสนอ เพื่อจัดตั้ง “สวนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างความยั่งยืน ให้กับการพัฒนานี้รัฐบาลมองว่า เราต้องมีการพัฒนา “เขตนวัตกรรม (EECi)” และ “เขตนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)” ภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนี้ ด้วย ประกอบไปด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลกเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคเฉพาะด้าน รวมทั้ง ศูนย์ฝึกอบรม และสิ่งอำนวยความสะดวก ระดับสากล เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังที่จะสร้าง “สถานที่บ่มเพาะ”การเรียนรู้ และ การสะสมเทคโนโลยีชั้นนำของนักวิชาการไทย และเยาวชนไทย ที่จะช่วยตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และเทคโนโลยี เราจะต้อง “ยืนบนลำแข็งตัวเอง” ให้ได้ ด้วยนวัตกรรมของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ทั้งนี้ EEC และการพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ “ทั่วประเทศ” ต้องพิจารณา ถึงเรื่องการใช้พื้นที่ และการวางผังเมือง เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผมได้ย้ำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องผลกระทบ - ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น และพร้อมรับฟังความเห็น - ปัญหาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางป้องกัน - เยียวยา อย่างรอบคอบ ขอให้ “ทุกคน” ได้เข้าใจ และให้ความร่วมมือ มองประโยชน์ส่วนรวม มองผลได้ในระยะยาวให้กับลูกหลานของท่านในอนาคต
อีกเรื่อง ที่บางท่านเคยให้ความคิดเห็นว่าทำไมภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนา EEC หรือการพัฒนาประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคทำไมไม่นำงบประมาณเหล่านี้ทุ่มไปลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น สร้างโรงพยาบาล หรือ ช่วยเหลือเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น ผมขอเรียนว่า อยากจะทำความเข้าใจว่า ในการทำงบประมาณของประเทศนั้น รัฐบาลต้องคำนึงถึง การให้น้ำหนักการใช้งบประมาณ อย่างระมัดระวัง ต้องดูแลให้การใช้งบประมาณนั้นเกิดความสมดุลในการพัฒนาประเทศ ในทุกภาคส่วน ต้องนำไปสร้างประโยชน์ให้ประเทศ และ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ใช่แค่เพียงระยะสั้น แต่ต้องรวมถึงการที่จะให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว มีรายได้มั่นคง และยั่งยืนการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์เรื่องการจ้างงาน และการรับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต ในระยะยาว การเป็นศูนย์กลางทางการบิน ก็จะส่งเสริมการท่องเที่ยว มีเที่ยวบินมาไทยมากขึ้น สะดวกขึ้น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ในการเข้ามาใช้สนามบิน ซึ่งรายได้ของประเทศต้องมาจากหลาย ๆ ทาง
ในเรื่องภาคเกษตร หรือด้านสาธารณสุข ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำผมขอรับรองว่า ไม่เคยให้ความสำคัญเหล่านี้น้อยลงไป แต่รัฐบาลกำลังสร้างสมดุล เพราะการดูแลคนทั้งประเทศ นับวันรายจ่ายยิ่งมากขึ้น หากไม่มีการลงทุนเพื่ออนาคตไว้เลย วันข้างหน้า จะเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายใช้สอย สร้างสวัสดิการให้พี่น้องประชาชน ได้อีกต่อไป วันนี้ระบบสาธารณสุข การรักษา พยาบาล การปรับปรุงสถานพยาบาล และการจัดหาเครื่องมืออันทันสมัยต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก ทุกครัวเรือนเอง ก็ต้องช่วยกันทำ “บัญชีครัวเรือน” ด้วยนะครับ เพื่อสำรวจรายรับ - รายจ่ายในปัจจุบัน และวางแผนในอนาคต ลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย ลดหนี้นอกระบบหรือหนี้อื่น ๆ ก็ตาม มองหารายได้เสริม เพื่อจะรองรับภาระในวันข้างหน้านี้อีก ด้วยครับ
พี่น้องประชาชนครับ
เมื่อท่านอยู่ในบ้าน พ่อแม่พี่น้องก็จะดูแลซึ่งกันและกัน เมื่อท่านออกนอกบ้านรัฐบาลจะต้องดูแลสวัสดิภาพ และความปลอดภัย ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ผลักดันนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง หรือ จนพ้นภาวะวิกฤต เพื่อคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไข ในการเรียกเก็บค่ารักษา และสถานพยาบาลคู่สัญญา พี่น้องประชาชนสามารถสอบถามข้อมูล หรือแจ้งเรื่องฉุกเฉินปรึกษา เพื่อขอใช้สิทธิ์ได้ที่สายด่วน 1669 นะครับ
สำหรับมาตรการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนที่ผม ในฐานะ หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่ง ตามมาตรา 44 และเป็นประเด็นในสังคมอยู่ในเวลานี้นั้น ก็เป็นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีอยู่เดิมโดยมุ่งหวังที่จะลดอุบัติเหตุ ลดความเศร้าโศกจากการสูญเสีย และลดเรื่องราวสะเทือนใจ ในห้วงเวลาแห่งความสุข จากการเสนอข่าว ที่คอยแต่จะนับตัวเลขอุบัติเหตุ คนเจ็บ คนตาย แต่ไม่เตือนให้ทุกคนเคารพกฎหมาย สร้างความตระหนักรู้ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การป้องกันตนเอง การรับผิดชอบต่อผู้อื่น ผู้ร่วมทางและการมีจิตสำนึก จิตสาธารณะ ฯลฯ หากไม่ทำแบบนี้ เราจะมีความสุขได้อย่างไรกันครับ ต้องช่วยกัน
ทุกคนทราบดีว่า ที่ผ่านมาทุกเทศกาลวันหยุดยาว เราจะได้พบเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งในเวลาปกติก็ตาม สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุบัติเหตุใหญ่ ๆ ที่ต้องมีคนเจ็บคนตายจำนวนมาก ไม่ว่าจะรถบัส - รถตู้ - รถกระบะที่มีคนนั่งท้าย พวกเมาแล้วขับ สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นพวกเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย พวกขับรถเร็วเกินไป คึกคะนอง และอีกมากมาย ทำไมเราต้องปล่อยให้เหตุการณ์แบบนั้น เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
ผมเข้าใจดี พี่น้องประชาชนจะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ รวมถึงการฉลองเทศกาลสงกรานต์จำนวนมากที่เดินทางโดยรถไฟ รถบัสโดยสาร รถตู้ และจำนวนมากที่เดินทางด้วยรถส่วนตัว รถปิคอัพ นั่งท้ายบ้าง ไม่นั่งท้ายบ้างซึ่งเราคงจะให้ไปนั่งรถทัวร์ หรือรถโดยสารทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ เพราะว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแล้วก็วันนี้ประชาชนยังใช้รถปิกอัพในการสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก และบางครั้งไปรถโดยสารตั๋วก็เต็ม รอนานหาไม่ได้ ก็ไม่ได้กลับบ้าน เวลาก็มีน้อย จริง ๆ แล้ว ถ้าทุกคนเคารพกฎหมาย กฎจราจร ซึ่งมีบังคับใช้ตามปกติอยู่แล้ว การบาดเจ็บสูญเสียก็จะไม่เกิดขึ้น ไม่ต้องทำกฎหมายอะไรเพิ่มขึ้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะรถอะไร หากทุกคนระมัดระวัง คิดถึงผู้อื่นจะรู้ได้เองว่า ควรจะป้องกันได้อย่างไร อย่าหวังพึ่งกฎหมายอย่างเดียว เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานหนักอยู่ เสียสละอยู่แล้ว ไม่เคยได้หยุดในวันนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ เลย ต้องค่อยดูแลประชาชนอยู่ตลอดเวลา แล้วท้ายสุดก็ถูกตำหนิว่าทำไมมีการสูญเสียบาดเจ็บมากขึ้นทุกปี ๆ ทั้งนี้ ต้องช่วยกันนะครับ รัฐบาล เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด ถ้าทุกคนได้ช่วยกันเคารพกฎหมายบ้าง ตามที่สามารถทำได้ให้มากที่สุดเราก็จะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจประชาชน ผมเข้าใจว่าถ้าเราบังคับใช้กฎหมายกันอย่างเต็มที่อย่างที่ไม่เคยใช้มาก่อนก็อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนมากเกินไปเจ้าหน้าที่ก็จะอะลุ่มอล่วยให้ในบางส่วน ดังที่ทางตำรวจได้ชี้แจงไปแล้ว เช่นเพื่อ “สร้างวินัยการจราจร” ที่ถูกต้อง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งเบาะหน้า จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตามกฎหมาย แต่จะรวมผู้ที่นั่งเบาะหลังที่ยังไม่มีเข็มขัดนิรภัย จะเตือนไว้ก่อน ส่วนรถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ รถตู้-รถบัส ต้องคาดเข็มขัด ทุกที่นั่ง และรถกระบะอนุโลมให้นั่งท้ายได้แต่ห้ามนั่งบนขอบกระบะ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ มีอยู่แล้วทุกตัวในอดีต แต่บังคับใช้ไม่ได้ถูกละเลยมาเป็นเวลานาน ก็ค่อย ๆ แก้ไขกัน ค่อย ๆ ปฏิบัติกันนะครับ รัฐบาลเห็นใจทุกคนจริง ๆ นะครับ ไม่ได้ต้องการจะมุ่งหวังบังคับ ละเมิดสิทธิทำให้คนจนลำบาก คนรวยไม่มีปัญหา เหล่านี้เป็นวาทะกรรมที่สร้างความไม่ร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเชียลมีเดียหรือประชาชนที่ยังไม่เข้าใจลดระดับลงไปบ้าง ไม่มีอะไรที่จะได้มาเปล่า ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิต ทรัพย์สิน โดยเฉพาะเมื่อที่เสียไปแล้วยากที่จะกลับคืนมา ก็ลองนำไปคิดเอา
สิ่งที่ผมขอเน้นย้ำ ก็คือ “ผู้ขับขี่” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ "ทั้งปวง" ต้องไม่ดื่มสุรา ไม่ประมาท ไม่โทร ไม่แชท พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด และรักษาวินัยจราจร “ผู้โดยสาร” ควรป้องกันตัวเองด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัย “ทุกคน” “รถทุกคันบนถนน” ทั้งรถจักรยานยนต์ , รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ต้องตรวจสภาพให้พร้อมก่อนออกเดินทาง ทั้งนี้ “ทุกคน” บนถนน มีส่วนรับผิดชอบในความปลอดภัยซึ่งกันและกันนะครับ มอเตอร์ไซค์ผมก็เป็นห่วงนะครับ การสูญเสียตามสถิติทุกปีหรือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น การสูญเสียจะเกิดจากรถมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนมากนะครับ กับรถตู้ รถโดยสารทำนองนี้นะครับ หลังสงกรานต์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการหารือกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณาความเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ว่าจะปรับมาตรการอย่างไร ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จะมีห้วงเวลาอย่างไรให้ประชาชนได้มีโอกาสปรับตัว ปรับวิถีการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจ อย่างต่อเนื่องต่อไป
ผมขอให้ทุกคนเดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ ใช้ความระมัดระวัง มีสติ คิดถึงคนที่อยู่ที่บ้าน และมีความสุขในเทศกาลสงกรานต์ทุกคน รวมทั้งขอขอบคุณเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และอาสา สมัครที่เสียสละความสุขส่วนตน และอุทิศเวลาทำงานเพื่อส่วนรวม รวมทั้งครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วย อย่าน้อยใจ อย่าเสียใจ เราจะต้องสร้างความเข้าใจไปเรื่อย ๆ เพราะเราก็คือคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น แต่กฎหมายก็พยายามทำให้ทุกคนอยู่ในกรอบกฎหมายมากที่สุด เรื่องแท็กซี่ รถขนส่งสาธารณะ ก็ควรจะต้องเร่งปรับปรุงตัวเองด้วยนะครับ มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายกับผู้รับบริการ ขอให้ทำด้วยใจ ด้วยหน้าที่ ด้วยอาชีพอันสุจริตของท่านอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความรับผิดชอบ และมีน้ำใจต่อกัน สุดท้ายนี้ เนื่องจากวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น “วันสงกรานต์” และ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ส่วนวันที่ 14 เมษายน เป็น “วันครอบครัว” ผมอยากให้โอกาสที่พี่น้องประชาชนจะได้รวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพรผู้เฒ่า - ผู้แก่เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น - ความสุขร่วมกันของครอบครัว ตามประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของไทย
สำหรับการละเล่นสงกรานต์นั้น ก็ขอให้พิจารณาความเหมาะสม ไม่คะนอง ไม่อนาจาร และช่วยกันประหยัดน้ำด้วยนะครับ วันที่ 7 เมษายน เป็นวันที่องค์การอนามัยโลก รณรงค์ให้ชาวโลกเห็นความสำคัญของ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งเป็น “ภัยเงียบ” ที่คุกคามสุขภาพประชาชนทั่วโลก มากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
สำหรับประเทศไทยร้อยละ 3 ของประชากร เป็นโรคนี้โดยอาจไม่รู้ตัว และคนรอบข้างขาดความตระหนักรู้ หรือไม่เข้าใจ แต่โรคนี้ ป้องกันได้ รักษาให้หายได้ เพียงเราทุกคน “ดูแลซึ่งกันและกัน” เราจะได้ไม่สูญเสียคนที่เรารัก และในช่วงที่อากาศร้อน เดือนเมษายนนี้ ผมอยากให้ทุกคน “ใจเย็น ใช้สติ และรู้จักการให้อภัยกัน” การพบปะพูดคุยกันในครอบครัวในสังคมจะช่วยลดภาวะเหล่านี้ได้ ด้วยการพุดคุยกันด้วยมิตรไมตรี มีน้ำใจที่หยิบยื่นให้แก่กันจะทำให้พบทางออกที่ถูกต้องที่ควรได้เสมอ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และเทศกาลสงกรานต์ ขอให้ทุกคนขับขี่รถ โดยไม่ประมาท มีน้ำใจรักษาวินัยจราจร รัฐบาลต้องขอโทษที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจของพี่น้องประชาชนในการใช้รถใช้ถนน แต่ทั้งนี้ก็ด้วยความห่วงใยจากใจพวกเราทุกคนนะครับ ขอให้ทุกคนมีสวัสดิภาพปลอดภัยจากการเดินทางไม่ว่าจะไปทำอะไรก็ตามนั้นขอให้มีความสุขทั้งครอบครัวและคนอื่นด้วย
สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลัง