รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1531 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ผมมีข่าวที่น่ายินดีของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาอันได้แก่ การคว้าตำแหน่งแชมป์มวยโลก WBC รุ่นซุปเปอร์ฟลายเวต ของ “ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น” ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศ และสร้างความสุขให้กับคนไทยด้วย

ผมขอแสดงความยินดี ขอยกย่องความมุ่งมั่น ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว จนสามารถเอาชนะอดีตแชมป์โลกได้ในที่สุด สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความมุมานะฝึกฝนอย่างหนัก ซึ่งสำคัญที่สุดต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ก่อนด้วย จึงอยากให้เยาวชนไทยดู ศรีสะเกษ เป็นแบบอย่าง แต่สิ่งที่ยากและสำคัญกว่านั้น คือการใช้สติ มีวินัย เพื่อการรักษาแชมป์ อยู่ในตำแหน่งอย่างสมศักดิ์ศรี คนไทยทุกคน ก็ต้องเป็นกำลังใจให้ทุกนักกีฬาของเราที่ไปแข่งขันที่ต่างประเทศ

อีกความสุขของคนไทยก็คือ การรายงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDSN) ภายใต้องค์การสหประชาชาติที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมี  “ความสุข” อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 155 ประเทศทั่วโลก ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปีที่ผ่านมา ก็อยากให้พี่น้องประชาชน ร่วมภาคภูมิใจนะครับ บนบันไดสู่ความสำเร็จนั้น เราค่อย ๆ ก้าวกันที่ละขั้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมั่นคง ก็จะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ดี ในสายตานานาอารยประเทศ อะไรที่ดีก็ช่วยกันรักษา อย่าทำลายกัน อย่าบิดเบือนกัน แล้วพัฒนากันให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่าสร้างการรับรู้ผิด ๆ ให้กับสังคม  สิ่งใดที่ยังบกพร่อง ต้องใช้เวลา ก็ต้องช่วยกันแก้ไขกันต่อไป ทั้งนี้ ก็เพื่อลูกหลานของเราในอนาคตด้วย

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญมาตลอด คือ การแก้ปัญหาขยะที่ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และก็อยู่ในความสนใจของประชาคมโลกเช่นกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ขับเคลื่อนการดำเนินการ โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF และปุ๋ยอินทรีย์ ที่เป็นเทคโนโลยีของคนไทยพัฒนาใช้เอง และดำเนินการจนเห็นผลแล้วหลายพื้นที่ โดยโครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2559 ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรม และรับรองผลได้เป็นครั้งแรกที่ผ่านมาเราไม่ช่วยกัน หรือว่าเคยกำจัดขยะกันด้วยวิธีที่ถูกต้อง หรือเดินระบบไม่ได้จริง แล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สิ่งปฏิกูลครั้งนี้ รัฐบาลได้บูรณาการ 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์ที่เป็นการสนองตอบรัฐบาลได้นะครับ ที่เป็นนโยบาย 4 ข้อด้วยกัน

นโยบายแรก คือการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม หรือผลิตไฟฟ้า  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในปี 2560 นี้ การบริหารจัดการขยะ จะต้องมีความก้าวหน้าให้ได้มากที่สุดนะครับ

นโยบายที่สอง คือการส่งเสริมบัญชีนวัตกรรมไทย ที่เป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐ ในการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัย ที่ สกว. และ กระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนการพัฒนาต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นนวัตกรรมไทย เพื่อนำมาผลิตสู่เชิงพาณิชย์ อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งเทคนิคการกำจัดขยะนี้ ได้นำ เทคโนโลยีระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มาพัฒนาต่อยอด เราจะไม่ปล่อยให้งานวิจัยดี ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้ ขึ้นหิ้งนะครับ เราจะต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม  สร้างระบบ Start Up แล้วก็ให้ กระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ตรวจสอบและรับรองเทคโนโลยี จากนั้นให้กระทรวงการคลังกำหนดราคากลางให้ชัดเจน รับรองเทคนิค รับรองราคา โดยภาครัฐจะต้องตัดวงจรทุจริตในการประมูล ฮั้วประมูลออกไปให้ได้ ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการงานวิชาการกับงานด้านการปฏิบัติเป็นอย่างดี

นโยบายที่สาม คือกลไกประชารัฐ ที่ภาควิชาการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ภาครัฐ สนับสนุนงบประมาณ และชุมชนท้องถิ่น นำไปสร้างระบบเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์   SCG ลงนาม MOU รับซื้อระบบกำจัดขยะนี้ทั้งหมดที่ผลิตได้โดยนวัตกรรมไทย เป็นการสร้างความเข้มแข็ง และมั่นคงที่ยังยืนให้กับชุมชน ไม่ใช่แต่เพียงด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

นโยบายที่สี่ คือ Thailand 4.0  ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ถือเป็นการนำเอานวัตกรรมมาปรับใช้ในการใช้ ในการใช้ชีวิตประจำวัน และดูแลสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนให้นวัตกรรมไทย ขายได้ ปลุกพลังนักวิจัยไทยให้ค้นคว้าเพื่อพัฒนาประเทศ และช่วยสะท้อนว่า Thailand 4.0 นั้น เกี่ยวข้องกับทุกด้านของการดำเนินชีวิต ของพวกเราทุกคน พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ก็คงไม่ใช่เฉพาะเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นอกจากการสร้างระบบกำจัดขยะนี้ จะสอดคล้องกับมาตรการในประเทศของรัฐบาลแล้ว ยังสามารถตอบโจทย์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลกอีก 2 ด้าน คือ

(1) การช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากบ่อขยะ ที่เป็นบ่อเกิดของก๊าซมีเทน สาเหตุของภาวะโลกร้อน

(2) การสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว  ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ เป็นการประหยัดทรัพยากร ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ผมขอชมเชยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานเชิงรุก มีวิสัยทัศน์ ประยุกต์นโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติ อย่างบูรณาการ ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนของประเทศชาติเป็นหลัก ผมขอยืนยันรัฐบาลและ คสช. จะพยายามสะสางปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน เพื่อนำพาประเทศของเราสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ให้จงได้


พี่น้องประชาชนครับ


ปัญหาสำคัญและอุปสรรคของประเทศไทยก็ยังมีอยู่หลายประการ ผมเคยกล่าวมาหลายครั้ง วันนี้ก็ขอหยิบยกขึ้นมาเพื่อจะสร้างความตระหนักรู้ และขอความร่วมมือในการแก้ไข ช่วยกันเดินไปด้วยกัน ดังนี้

เรื่องที่ 1 การจัดทำผังเมือง ซึ่งยังเป็นปัญหาที่เกิดจากการปล่อยปละในอดีต ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน   เนื่องจากการยึดครองพื้นที่ ที่ไม่เป็นไปตามผังเมือง การประกอบการใด ๆ ก็ตาม ส่งผลกระทบทั้งด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง แล้วก็กีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดน้ำท่วม   เมื่อการจัดผังเมืองที่เราทำไปแล้ว ดำเนินการไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็มีผลไปถึงการปฏิรูปที่ดินต่างๆ อีกด้วย ซ้ำเติมด้วยปัญหาการบุกรุก แล้วก็ไม่ยอมออกเมื่อมีการใช้กฎหมาย ประชาชนไม่ยินยอมให้ดำเนินการใดๆ ก็สาเหตุอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจ หรือถูกบิดเบือนจนเข้าใจผิด หรือแม้กระทั่งถูกผลักให้เป็นนอมินีของบรรดานายทุนที่ไม่หวังดี ในส่วนนี้รัฐบาลได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ของเรานะครับ 20 ปี เพื่อจะแก้ปัญหาระยะยาวต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการพัฒนาแต่ละเรื่องนั้น เราจะหลีกเลี่ยงผลกระทบเลยคงไม่ได้ ไม่มีอะไรที่ได้ทั้งหมด 100%  ต้องมีผลกระทบบ้าง เพราะว่าเราละเมิด ละเลยกันมา ปล่อยปละละเลยกันมายาวนาน แต่ผมยืนยันว่า การกระทำใด ๆ ก็ตามนั้น เราเน้นในเรื่องของการที่มีส่วนร่วม ส่วนรวมจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน มีผู้เสียผลประโยชน์ในเบื้องต้น ให้น้อยที่สุด แล้วก็จะได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ได้ผลประโยชน์กลับคืนมาในภายหลังอีกด้วย

อีกเรื่องคือปัญหาทางเทคนิค มีการใช้แผนที่หลายอย่างด้วยกัน หลายหน่วยงานด้วยกัน อาจเป็นแผนที่ที่ไม่ตรงกัน มาตราส่วนอาจจะไม่ตรงกัน วันนี้เราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ ก็จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความทับซ้อน หรือเกิดช่องว่างระหว่างแผนที่ที่ไม่ตรงกัน ไม่ทันสมัย มีการทับซ้อน มีช่องว่าง เหล่านี้เป็นบ่อเกิดของการทุจริต พื้นที่จริงกับในแผนที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป    

ปัจจุบันนี้ รัฐบาลพยายามหาทางแก้อยู่ ได้พยายามเร่งดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ที่มีมาตราส่วนเดียวกัน คือ 1:4,000 ที่เรียกว่า One Map  เอาอันนี้มาใช้ทั้งหมด เพียงแต่ว่าเป็นพื้นฐาน เมื่อเป็นพื้นฐานออกมาแล้ว ก็เอาแผนที่ของแต่ละหน่วยงานออกมาเทียบดู มีช่องว่าง มีจุดที่เหลื่อมล้ำตรงไหนก็ไปแก้ปัญหากันตรงนั้น ให้ตรงจุด ก็จะเป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการที่จะปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์เหมือนกัน ใน 6 ข้อ 6 ยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาในอดีต อย่างยั่งยืน

เรื่องที่ 2 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมร่วมกัน ทำทุกอย่างให้เป็นการถูกกฎหมาย ถูกต้อง แข่งขันเสรี มีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส แล้วไม่ให้เกิดพัวพันไปถึงเรื่องการทุจริต ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ก็เป็นปัญหาของประเทศ มาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ติดขัด ทำอะไรไม่ได้มากนักในการพัฒนาขนาดใหญ่  รัฐบาลนี้ก็ได้กำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ”เช่นกัน เราจะมุ่งมั่นแก้ไขให้ได้ในเร็ว ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมาย และการป้องกันสังคมของเรานั้น ให้ปราศจากคอร์รัปชั่น ผมเห็นว่าเราต้องไม่ปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ องค์กรอิสระเท่านั้น ต้องเป็นหน้าที่ของพลเมือง “ทุกคน” ที่ต้องช่วยกันเป็นหู เป็นตา เพราะว่ามีผลเสียตกที่พวกเราทุกคน คือผู้ได้รับประโยชน์คือคนไทยทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ทั้งผู้ให้ ผู้รับ ทั้งฝ่ายรัฐ ผู้ประกอบการ เราต้องร่วมมือกัน ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วเปลี่ยนผ่านตรงนี้ไปให้ได้ ไม่อยากให้โทษกันไป โทษกันมา องค์กรอิสระ หน่วยงานตรวจสอบก็มีหน้าที่ตรวจสอบ ก็ตรวจสอบไป ให้ได้ข้อยุติออกมาก็เป็นไปตามนั้น

เรื่องการลงทุนเพื่ออนาคตนั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างความมั่งคั่งของชาติ ใน “การสร้างความสามารถในการแข่งขัน” ก็เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งในส่วนของการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตนั้น เป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ และต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องในระยะยาว ที่ผ่านมานั้นเราค่อย ๆ แก้ปัญหามาทีละเปลาะ ๆ หลายอย่างด้วยกันที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ว่าสั่งวันนี้ว่าอย่าทุจริต แล้วจะแก้ได้เลย ย่อมไม่ได้ ต้องดูกฎหมาย ช่องโหว่กฎหมาย มาตรการ ราคากลาง การจัดซื้อจัดจ้าง วิธีการต่าง ๆ มากมายทั้งหมดแกะออกมา แล้วค่อยๆ แก้ วันนี้ก็แก้ไปมากแล้ว อาจยังไม่ได้ผล 100% แต่จะได้ 100% ทุกคนต้องช่วยกันดูแล แล้วแจ้งกันมาตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ลุกลามบานปลายไปถึงตอนท้ายเสียหายมากขึ้น ต้องทำ ให้ได้มากที่สุด ก็ขอความร่วมมือทั้งฝ่ายข้าราชการ รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องทำให้ได้มากที่สุด เริ่มกันวันนี้ วันหน้าก็จะเรียบร้อย แล้วประสบผลสำเร็จ 100% อย่างที่ทุกคนต้องการ และข้อสำคัญอะไรก็ตามที่ทำได้แล้วอย่าปล่อยให้เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด  เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “การปลูกจิตสำนึก” เราต้องการให้พี่น้องประชาชนลูกหลาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ อีกข้อคือในเรื่องของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนของประเทศอีกด้วย

เรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือกับบรรดา NGO ทั้งหลาย ทั้งที่หวังดีหรืออาจจะไม่เข้าใจช่วยกันดูแลในเรื่องการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องให้สมดุลกับการรักษาทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ถ้าอันใดอันหนึ่งไม่สมดุลกันก็ไปไม่ได้ทั้งคู่ แล้วก็รักษาไม่ได้ทั้งสองอย่าง แล้วประชาชนก็ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ

ยุทธศาสตร์ที่ยกตัวอย่างไป 3-4 ยุทธศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของ 6 ยุทธศาสตร์หลัก 20 ปี ไม่เห็นน่ากลัวตรงไหนเลย เป็นหัวข้อยุทธศาสตร์กว้าง ๆ คราวนี้ทุกรัฐบาลก็ต้องไปคิดกิจกรรมมาว่าจะทำอะไร แก้ปัญหาขยะแก้ยังไง จะพัฒนาคน พัฒนาเรื่องอะไรบ้าง ก็ไปเขียนกันมา ไปทำโครงการกันมา แล้ววันหน้าก็บริหารกิจกรรมแบบเชิงยุทธศาสตร์ ก็เดินหน้าไปได้ ไม่ใช่ทำงานด้วยพันธะกิจอย่างเดียว หรือตั้ง Area Base อย่างเดียว ก็ไม่เกิดความเชื่อมโยง จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ แล้วปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

เรื่องที่ 3 เรื่องการศึกษา ผมย้ำมาหลายครั้งแล้วว่า สำคัญที่สุด เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การขาดหลักคิด ไม่ใช่คิดเป็น แต่ไม่มีหลักในการคิดที่มันถูกต้อง ชอบธรรม มีศีลธรรม มีคุณธรรม จริยธรรม ถ้าคิดแบบอะไรก็ได้ ก็อาจจะมีทั้งถูกทั้งผิด เพราะจะเป็น“ต้นตอ” ของทุกปัญหา ถ้าเรามีหลักที่ถูกต้อง แล้วปรับหลักคิดให้สอดคล้องต้องกัน รับฟัง ปรึกษาหารือกัน ก็จะไปได้เร็ว สำหรับการพัฒนาประเทศ

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังทุ่มเทอย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถึงมีผลสำเร็จมาโดยตลอด ของเราต้องเร่งดำเนินการ ให้มีคุณภาพ ด้วยการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเรายังติดอยู่กับหลักคิดที่แย่ ๆ ไม่เท่ากัน ไม่เป็นพื้นฐานอันเดียวกัน หลักคิดพวกนี้ไม่ได้คิดเหมือน เขาเรียกว่าคิดในทางที่ดี ไม่ใช่คิดในทางที่อะไรก็ได้ คิดเป็นอย่างเดียวไม่ได้ อาจจะมีการคิดโดยผู้ประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติก็มี หรือด้วยหวังอำนาจ ผลประโยชน์และเห็นแก่ตัว ที่อาจจะคิดง่าย ๆ ว่า “คนไม่มีการศึกษาและคนมีรายได้น้อย เขาจะปกครองได้ง่าย” ครอบครองได้ง่าย อะไรทำนองนั้น ยังมีการคิดแบบนี้อยู่เหมือนกัน ก็เลยไม่อยากจะพัฒนาให้เขาคิด รู้คิด มีหลักคิด ไม่ต้องการ ไม่สร้างโอกาสให้เขา เพราะจะปกครองยาก


รัฐบาลนี้ต้องการให้ทุกคนคิดเป็นทั้งหมด เพราะฉะนั้นหลายอย่างติดขัด อาจจะเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เชื่อใจกันเอง หลายครั้งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ที่หวังผลประโยชน์ จากความไม่รู้ของเรานั้น ให้เป็นประโยชน์กับเขาด้วย รัฐบาลนี้มุ่งเน้นการน้อมนำ“ศาสตร์พระราชา” ทุกแขนงในการที่จะพัฒนาคน พัฒนาประชากรของประเทศ ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ในเรื่องของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน เป็นพื้นฐาน เป็น “หัวใจ” ของยุทธศาสตร์อื่นๆ อีกด้วยนะครับ สำคัญที่สุดใน 6 ยุทธศาสตร์นั่นแหละ


เรื่องที่ 4 ปัญหาเศรษฐกิจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรามีปัญหา มีหน่วยเศรษฐกิจหลายอย่าง หลายขนาด ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน SMEs ที่ผ่านมามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันน้อยมากนะครับ ต่างคนต่างทำ เพื่อจะสนับสนุนของตัวเองนะครับ แต่ไม่มีความเชื่อมโยงต่อกัน เพราะฉะนั้นมูลค่าก็ไม่เกิดในภาพรวม ไม่เพิ่มเป็นแมส เป็นจำนวนขนาดใหญ่ขึ้นมานะครับ บางที่ภาครัฐก็กำหนดนโยบายออกมา รัฐคิดไปทาง ภาคเอกชนคิดไปอีกทางหนึ่ง ไม่สนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งจริงๆแล้วควรเจอกันตรงกลางนะครับ ให้เป็นแบบ win-win ที่ว่าทั้งสองทาง รัฐก็ได้ ประเทศชาติก็ได้ ผู้ประกอบการก็ได้ ประชาชนก็ได้ ทุกคนได้หมด เราจะต้องคิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจ และเดินหน้าต่อไปให้ได้ ต้องติดตามให้รู้เท่าทัน อีกทั้งกฎหมายซึ่งจะเป็นกฎเกณฑ์  เป็นหลักปฏิบัติที่จะทำให้กับทุกฝ่าย ได้มีการดำเนินทุกกิจกรรมด้วยความโปร่งใส  เท่าเทียม ในตลาดการค้าเสรี  บางอย่างนั้นอาจจะยังไม่ทันสมัย ไม่ทันโลก ไม่ทันเทคโนโลยี ก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการทางธุรกิจ ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ให้เกิดการ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง”


สำหรับเจ้าหน้าที่ไม่มีอุดมการณ์ และนักลงทุน ผู้ประกอบการที่ไม่ดี  แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว หรือการตอบแทนบุญคุณส่วนตัว ด้วยผลประโยชน์ส่วนรวม  หากทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ที่รัดกุม เป็นสากลโปร่งใสทุกขั้นตอน เกื้อกูลทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน อย่างที่รัฐบาลนี้พยายามทำอยู่ ก็ไม่น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ใคร เป็นการเฉพาะ  หากยึดถือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง บางทีก็กล่าวอ้างกันไปกันมา ว่ากฎหมายนี้เพื่อคนนี้ เพื่อคนนั้น ผมไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้นเลย ลองไปดูให้ดี


เศรษฐกิจของประเทศ ประกอบไปด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ อาจจะเรียกว่าข้ามชาติด้วย  การลงทุนทั้งในประเทศ ของคนไทยด้วยกัน หรือจากต่าง ประเทศเข้ามาลงทุน หรือเราไปลงทุนที่ต่างประเทศ การประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือ ร้านค้าขายอิสระทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาไปพร้อมกัน จะต้องเกื้อกูลกัน ไม่เช่นนั้นก็จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีรายได้น้อย เพราะส่วนใหญ่มาไม่ถึง


เพราะฉะนั้น ส่วนน้อยทำมากก็ได้น้อย เพราะฉะนั้นเราต้องทำทั้งหมดให้เชื่อมโยงกันให้ได้ เรากำลังทำอยู่ ไม่ได้แก้กันได้ง่าย ๆ แบบนั้น เพราะฉะนั้นก็อย่าไปบิดเบือนกันอีกเรื่องเศรษฐกิจแบบนี้ อันตราย   รัฐบาลนี้มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ทางด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน กฎกติกาต่าง ๆ  แล้วในเรื่องของการคมนาคมขนส่ง ระบบสารสนเทศก็ทำตัวเหมือนเป็น “สะพาน” เชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่ ในวงจรเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศ และไปยังต่างประเทศ เราต้องสร้างบรรยากาศ ภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์อันดี มีผลต่อความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และความมั่นคง ในการค้าการลงทุน ทุกคนก็ต้องวางแผนหมดในการใช้จ่าย ใช้เงินทุน ถ้าเขาไม่เชื่อมั่นเขาก็ไปกู้เงินไม่ได้ กู้เงินไม่ได้ ลงทุนไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา

เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นในประเทศเราให้ได้ อย่าทำลายกันอีกเลย ว่ากันไป ว่ากันมา ผลกระทบก็ออกไปข้างนอก มีอะไรก็มาบอกกัน มาแก้ไขกัน ถ้าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ เราก็ทำให้หมด เว้นแต่เจตนาไม่บริสุทธิ์ ผมไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ตรงไหนบกพร่อง ก็จะส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่ม เป็นห่วงโซ่ อะไรดีก็ไปดีกันทุกกลุ่ม ถ้าเสียก็เสียทุกกลุ่ม ก็อยากให้ทุกคนได้มองตรงนี้  เข้าใจตรงนี้แล้วร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลไก “ประชารัฐ” ที่เริ่มมาหลายจังหวัด แล้วทุกจังหวัดก็กำลังเดินหน้าไปอยู่ ถึงแม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วทุกคนทราบดี  นักธุรกิจผู้ประกอบการ ก็คงจะต้องหวังผลกำไรให้มากที่สุด เพื่อจะคืนให้ผู้ถือหุ้นด้วย หรือนักลงทุน ในขณะที่ประชาชนต้องการของที่มันถูกที่สุด มีคุณภาพดีที่สุด แต่ถูกที่สุด ซึ่งเป็นความต้องการอะไรที่ตรงกันข้ามอยู่แล้ว


แต่ถ้าหากทุกคนเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจกัน รัฐเข้ามาดูแล ให้ความเป็นธรรม แต่ทุกอย่างบังคับมากไม่ได้ ถ้าเขาทำถูกกฎหมาย เขาว่าอย่างไร ก็ว่าอย่างนั้น แต่สิ่งที่เขาจะช่วยเราได้ ก็คือ ผู้ประกอบการต้องนึกถึงว่า คนของเราจะใช้ได้ มีเงินซื้อของเขาหรือเปล่า หรือจะผลิตไปเพื่อต่างประเทศอย่างเดียว ต้องคิดตรงนี้ว่าผลิตอะไรออกมา ต้องมุ่งหวังให้คนไทยใช้ของคนไทยที่ผลิตออกมาเอง แล้วราคาถูกลง ถ้าเราเห็นอกเห็นใจกันแบบนี้ ช่วยเหลือกัน ร่วมมือกันคิด ร่วมมือกันทำ เราก็จะ “ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  เราพูดกันหลายครั้งแล้ว รัฐบาลพร้อมที่จะหามาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญ ๆ มาสนับสนุน และแก้ปัญหาให้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐ คือตัวข้าราชการ แล้วก็ฝ่ายประชาชน ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ทั้งหมดอย่างยั่งยืน


ตัวอย่างหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีความพยายามในการรักษาความเป็นธรรมและสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน ด้วย 3 มาตรการหลักดังนี้ คือ

(1) การดูแลราคาสินค้า ได้มีการออกตรวจสอบราคาสินค้าในตลาดสด ห้างค้าปลีก และร้านค้าปลีก เป็นประจำเพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค อันนี้เราพอจะควบคุมได้บ้าง ต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและตรวจสอบเครื่องชั่ง ตวง วัดสินค้า ให้ได้มาตรฐานและเที่ยงตรงอยู่เสมอ มีกฎหมายนี้


(2)  การลดภาระค่าครองชีพของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ก็ทำผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ วันนี้ร้านธงฟ้าทันสมัยมาก อยู่ในพื้นที่เอง ก็เหมือนกับห้างร้านทั่ว ๆ ไป มีความทันสมัย มีสินค้าที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เข้าไปดู มีราคาที่ต่ำกว่าท้อง ตลาด ต่ำกว่าห้างนี่ 15 – 20%  และงานธงฟ้า ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษในปีที่แล้ว ก็ประเมินแล้วสามารถลดค่าครองชีพของประชาชนได้ 430 ล้านบาท

 
(3) การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การส่งเสริมร้านอาหารหนูณิชย์ นะครับ ที่เน้นสร้างวัฒนธรรมที่ดีของร้านอาหาร คือจะต้อง “อร่อย คุณภาพดี สะอาด ประหยัด” มีการ ขายอาหารปรุงสำเร็จในราคาประหยัดไม่เกินจาน หรือชามละ 35 บาท ปัจจุบันนั้นมีร้านหนูณิชย์ กว่า 12,000 แห่ง ทั่วประเทศนะครับ ที่ไหนยังไม่มีก็คงจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการต่อไปนะครับ และในอนาคต จะมีการจัดอันดับ“หนูณิชย์อร่อยติดดาว” ที่สามารถดาวน์โหลด Application “หนูณิชย์” เพื่อช่วยค้นหาร้านอาหารหนูณิชย์ทั่วประเทศด้วยครับ 

เรื่องที่ 5 บทบาทของ NGOs ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน หากเรายังไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับการพัฒนาประเทศของเรา แล้วก็ไม่เข้าใจบทบาทของรัฐ คือคิดเดิม ๆ แล้วทำแบบเดิม ๆ วันนี้เราเปลี่ยนแปลงมามากแล้วในเรื่องของการบริหารจัดการแผ่นดิน ข้าราชการ ระเบียบ กฎหมาย เปลี่ยน แปลงมามาก ก็ไม่อยากจะให้มุ่ง แต่ประเด็นในกิจกรรมตนเองเท่านั้น คือจะต้องรักษาให้ได้มากที่สุด จะต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้นโดยไม่คำนึงถึงส่วนประกอบของการรักษาในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การรักษาสิ่งแวดล้อม คือถ้าเราคิดอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ผูกพันกับเรื่องการพัฒนาประเทศ


เพราะฉะนั้นเราอย่าไปคิดอะไรที่แบบตกขอบ มองข้ามประเด็นส่วนรวม  อะไรที่เป็นวาระแห่งชาติ อะไรเพื่อคนไทย เพื่อประเทศไทย เราก็จะต้องมีบทบาทร่วมกัน ในการช่วยส่งเสริม ช่วยตรวจสอบ แก้ผิดให้เป็นถูก หาทางออกร่วมกัน ถ้าโจมตีอย่างเดียว บางอย่างก็เสียหาย ช่วยกันแก้ดีกว่า ไม่เช่นนั้นก็เหมือนอย่างที่บอก ทุกคนก็ฟังเวลาพูดออกไป ต่างประเทศก็ฟัง อะไรก็ฟัง บางครั้งก็ถูกบ้าง ผิดบ้าง แล้วก็ไม่เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ การค้าในที่สุดก็มีปัญหา แล้วท่านก็มาบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี พันไปหมด ไม่ดีตรงไหนก็มาบอก ผมก็แก้ให้หมดนะ

เพราะฉะนั้นเราอย่าทำตัวกันเป็น “จระเข้ขวางคลอง” เลย หรือไม่ก็ ปิดหู ปิดตา คัดค้านตลอดเวลา โดยไม่ชั่งน้ำหนัก อย่างที่ผมว่า คือทุกอย่างมีได้ ก็มีเสีย แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรี ๆ อยากได้อะไรก็ต้องทำเอง รัฐบาลก็จะช่วยให้ เสริมให้ สนับสนุนให้ แต่เราจะทำยังไง ให้ “ได้คุ้มกับที่เสียไป” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง เรืองพลังงาน คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถนนหนทาง มีปัญหาหมด เพราะว่าเราปล่อยปละละเลยจนกระทั่งประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งทำให้ทำอะไรไม่ได้ ก็คัดค้าน ต่อต้านตลอด แล้วก็บอกว่ามีรายได้น้อย แล้วจะให้ทำอย่างไร เศรษฐกิจดีขึ้นไม่ได้ ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันไม่ได้ เรารักษาแต่เพียงว่า ก็ดูแลให้เขาอยู่ที่เดิมไปเรื่อย ๆ


เราต้องช่วยกันทำให้โครงการที่สำคัญ เริ่มโครงการเหล่านี้ไปได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรม บางส่วนเสียประโยชน์ ก็ต้องช่วยดูแลเขา เยียวยาเขา ถ้าไม่ทำอะไรเลย ต่อต้านไปแบบนี้ รัฐบาลทำไม่ได้ มีโครงการทำไม่ได้ ทุกเรื่องจะเดือดร้อนทีหลัง น้ำท่วม ฝนแล้ง พลังงานไม่พอ แหล่งเก็บกักน้ำก็ไม่เพียงพอ ทำระบบระบายน้ำ ก็ไม่ได้  ส่งน้ำก็ไม่ได้ แล้ววันหน้ามาโทษรัฐบาล ว่ารัฐบาลนี้ รัฐบาล คสช. ไม่ได้ รัฐบาลนี้คิดทุกเรื่อง แล้วเขียนแผนทำโครงการมาทุกเรื่อง แต่ติตรงนี้แหละครับ ไปทำตรงไหนก็ติดคน ติดคน บางที่ก็ไม่ติดคน ติดความคิด ติดความไม่เข้าใจ ต่อต้านกันอย่างนี้ตลอดจะเกิดได้อย่างไร คิด 2 ทางให้ผมบ้าง   


ขอให้ระลึกเสมอว่า รัฐบาลนี้มีเป้าหมายที่ประกาศชัดเจน “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เปิดเผยทุกโครงการ จะทำอะไรก็บอกก่อนทุกครั้ง คิดแล้วก็บอก คิดแล้วก็แนะนำ คิดแล้วก็สร้างความเข้าใจ ยังติดขัดเลย ถ้าทำแบบเดิม ๆ จะยิ่งไปไม่ได้ใหญ่  รัฐบาลนี้คิดอย่างลึกซึ้ง คิดอย่างเชื่อมโยง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง บางอย่างคิดต้นทางก่อน แล้วไปดูปลายทางว่าต้องการอะไร แล้วมาหาวิธีการทำตรงกลางทาง บางอย่างไปเอาปัญหาปลายทางขึ้นมา จากประชาชนขึ้นมา แล้วคิดย้อนกลับมาถึงต้นทาง ว่าเราจะแก้กลับไปยังไง ต้องคิดแบบนี้ สองทาง จากบนลงล่าง ต้นทาง ไป ปลายทาง แต่ตรงกลางทางสำคัญ วันนี้เราอยู่กลางทาง อยู่ตรงนี้ไง ในการที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหา จะไม่เกิดขึ้นซ้ำซาก เราอยู่กลางทาง เพราะถ้าเราไม่ทำเส้นทางตรงนี้ ให้เคลียร์ ชัดเจน เดินไปข้างหน้าไปสู่ปลายทาง สิ่งที่เราคาดหวังก็ไม่เกิดขึ้น เราต้องทำให้เกิดความสมดุล และยั่งยืน  ก็ขอความกรุณาช่วยกันด้วย


ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “ปัญหาน้ำท่วม–ภัยแล้ง” ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย แต่ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค มีผลกระทบ ต่อระบบนิเวศน์ การผลักดันน้ำเค็ม มีผลต่อสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อมหากบริเวณปากอ่าว มี “น้ำต้นทุน” ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในบางช่วงเวลาที่เราต้องการน้ำเป็นปริมาณมาก ในการทำการเกษตร  ก็ทำให้น้ำในการผลักดันน้ำเค็มน้อยลง น้ำก็เข้ามาลึกเรื่อยๆ ดินก็เค็ม เพราะฉะนั้นเราต้องมีการบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้ดีที่สุด โดยมีการทำอย่างบูรณาการ เป็นระบบ เราจะหวังน้ำฝนอย่างเดียว บางทีก็ตกบ้างไม่ตกบ้าง ตกมากตกน้อย ตกใต้เขื่อนเหนือเขื่อน บางครั้งเราก็คิดว่าไปทำฝนเทียมก็ได้แต่ เพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง บางพื้นที่ทำไปแล้วก็ไม่ได้ บินไม่รู้กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยว ฝนก็ไม่ตก ปริมาณความชื้นไม่เพียงพอ ป่าเราน้อยลง เหล่านี้มันไม่มั่นคงทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไง  ต้องแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาระยะสั้น ๆ ไปตลอด พอน้ำแล้งก็เอาน้ำไปส่ง พอน้ำท่วมก็ระบายน้ำช่วยเหลือบรรเทาความเสียหาย   เราจะต้องบริหารจัดการตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ทุกคนต้องช่วยกันดูแล อะไรที่เป็นป่าต้นน้ำ อย่าไปบุกรุก เข้าไปอยู่อาศัย เราต้องช่วยกันปลูกป่าแซม เพิ่มเติมปริมาณต้นไม้ให้มากขึ้น ไม้ยืนต้น เราต้องช่วยเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าท่านทำผิดกฎหมาย แล้วเจ้าหน้าที่เค้าปล่อยปละละเลย เค้าก็ผิด เสร็จแล้ววันหน้าพอจะต้องใช้จริง ๆ ขึ้นมา ท่านก็ต่อต้านอีก ผิดมาตั้งแต่ต้นทาง วันนี้เราต้องไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น รักษาที่อยู่นี้ให้ได้ แล้วก็ซ่อมแซมไป ใช้ระยะเวลา   เรามีการสร้างฝายชะลอน้ำ เพิ่มเติมแหล่งเก็บกักน้ำ  แก้มลิง เขื่อน อย่างที่บอกแล้วมันต้องทำให้ได้ทุกพื้นที่ บางครั้งไปไม่ได้เพราะติดที่ประชาชนที่ส่วนตัวเหล่านี้ไม่ยอมเสียสละกัน ก็ไปไม่ได้หมด


เพราะฉะนั้นการกระจายของน้ำก็ไปทำไม่ได้ ทำให้ไม่สอดคล้องกับการใช้น้ำทั้งสามกลุ่ม เราต้องทำให้เพียงพอ เก็บน้ำให้ได้ บางครั้งเราต้องแลกกับพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ แต่ความเสียหายกับสิ่งที่เรารักษาไว้ บุกรุกกันไว้ แลกกันไม่คุ้มค่า  เพราะว่าต้องเสียหายไปเรื่อยๆ ท่านก็ต้องย้ายบ้าน ซ่อมบ้านไปตลอดทุกปี ๆ ไม่คุ้ม ถ้าย้ายทีเดียว ไม่ไปขวางทางน้ำ ให้เขาทำทางน้ำ  หรือทำระบบส่งน้ำให้ได้ขยับจากบ้านซะหน่อย  เสียสละพื้นที่คนละนิดหน่อย ก็ทำต่อเนื่องได้ ไหลลงสู่ทะเล หรือลงไปสู่ปลายน้ำ  ปลายทางที่คนใช้น้ำได้ทั่วถึง เฉลี่ยให้คนอื่นเขาบ้าง  ไม่ใช่อยู่ต้นทางของน้ำก็ใช้ทั้งหมดเลยเวลาน้ำน้อย   เวลาน้ำเยอะก็รีบปล่อยลงมาข้างล่าง ๆ ก็ท่วม  ไม่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  รัฐบาลต้องดำเนินการตรงนี้ แต่ประชาชนก็ต้องร่วมมือ

  
เรื่องประสิทธิภาพคูคลอง ทางน้ำ ทั้งธรรมชาติ ทั้งสร้างขึ้น สร้างความเชื่อมโยงให้ได้ ระบบส่งน้ำ ระบายน้ำ  อันนี้สำคัญที่สุดเลย เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  หลายครั้ง ที่ถนน ทั้งรถไฟ หรือว่าชุมชนที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไปอยู่กีดขวางลำน้ำเดิมตามธรรมชาติ นี่คือผลของการปล่อยปละละเลย  แล้วก็ปล่อยให้ประชาชนมีรายได้น้อย จนขยับขยายไม่ได้ ก็ต้องตรงนี้ด้วย  ถ้าเราไม่วางแผนให้ดี ไม่มีการวางแผนแบบบูรณาการ เช่นในอดีต ก็จะเกิดปัญหามาถึงปัจจุบันแล้วแก้ยากไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่แก้วันนี้

     
วันนี้อยากให้ทุกคนมาสนใจ ดูผังเมืองที่ออกมาแล้ว วันนี้กระทรวงมหาดไทยเขาทำมาครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว เพราะฉะนั้นไปดูซิว่าผังเมืองใหม่เขาออกมายังไง ซึ่งเป็นการทำมาด้วยขั้นตอนปกติ ซึ่งที่ผ่านมาผมจำได้ ก่อนผมเข้ามา ทำมาได้ 10 กว่าจังหวัด 18 จังหวัด นี่เข้ามา 2 ปี กว่าๆ เกือบ  3 ปี  ทำครบ  ดูว่าต้องแก้ไขขนาดนั้น  ทีนี้ลองมาดูว่าผังเมืองที่ออกมา  เสร็จแล้วระหว่างที่ทำผังเมืองต้องใช้เวลาเป็นปีในการทำ ในระหว่างปีนั้นพอทำต้นปี  พอผ่านมาอีกปีบุกรุกเข้ามาอีก ผังเมืองต้องแก้ตลอด  ให้ทันสมัยตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็ต้องขอให้ทุกคนยึดมั่นดี ๆ ผังเมืองปัจจุบันคืออะไร แล้วอย่าไปฝ่าฝืนตรงนั้น ไม่ว่าผู้ประกอบการ นายทุน เจ้าของที่อะไรต่าง ๆ ที่กะเก็งกำไร และคิดโครงการอะไรต่าง ๆ ขึ้นมา  ดูผังเมืองก่อน แล้วผลิตทีหลัง แล้วก็จะมาร้องว่า ทำให้เกิดความเดือดร้อน ก็ไม่ได้ 


วันนี้เราต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน  และข้อสำคัญต้องถือว่า เราต้องได้รับความยินยอมจากชุมชนเมืองจากประชาชนด้วย เราไม่อยากใช้อำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มากจนเกินไป เพราะพี่น้องก็ยากจน รายได้น้อยหลายครัวเรือนด้วยกัน  หลายชุมชนเมือง หลายหมู่บ้าน มีที่ตั้งทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย  บางอย่างอยู่ก่อนมา การประกาศผังเดิมหรือพื้นที่ป่า เขาอะไรก็แล้วแต่ ก็มีปัญหามาทั้งหมด เราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ด้วยรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อย่าปล่อยให้ซ้ำซากเหมือนเดิม การพัฒนาก็ไม่เกิด  ขอร้องเอ็นจีโอวันนี้ ขอร้องมากหน่อยจะได้ไม่ต่อต้านอีกต่อไป  ถ้าคิดจะต่อต้านอย่างเดียวแล้วไม่สร้างสรรค์ ผมว่าไม่น่าจะใช่การทำงานที่ถูกต้อง อย่าลืมว่าท่านก็เป็นคนไทย บางทีไปพูดจาเสียหายในต่างประเทศทั้งที่บางเรื่องจริงบ้าง บางเรื่องไม่จริง ส่วนใหญ่ไม่จริงก็มาก เรื่องจริงก็มี ก็แก้กันไป ไม่บอกเราแล้วจะไปแก้กันได้ยังไง จะให้ใครมาแก้ จะให้เขามาบังคับประเทศไทย  คิดบ้างตรงนี้ ทำเพื่อประเทศชาติกันบ้าง 


ทุกคนมีเหตุมีผล มีหลักคิด ทำหน้าที่ของตน อย่าให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาภายในพื้นที่ ถ้าไม่ทำ เศรษฐกิจก็ดีขึ้นไม่ได้   เงินทอง  รายได้ ก็ไม่หมุนเวียน ไม่กระจาย  บางคนก็บ่นว่ารวยเป็นกระจุก จนเป็นกระจาย  ถ้าไม่ร่วมมือก็เป็นอย่างนี้ ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมโยง เสียสละแบ่งปัน ปัญหาน้อยใหญ่ในอดีต จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นแก้ไม่ได้  การแก้ไขนั้นคือแก้ปลายเหตุ ต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมากมาย ทุกปี ๆ น้ำท่วม ฝนแล้ง ก็ใช้เงินมหาศาล แทนที่เราจะเอาเงินเหล่านั้นมาทำทางระบายน้ำ  ที่เก็บน้ำ แก้มลิง เขื่อน มากมายไปหมด เสียไปเปล่า ๆ พี่น้องก็เสียใจ หลายคนมีแต่ความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาใหม่  สร้างแนวคิดขึ้นมาใหม่ อย่าไปทำแบบนี้ทุกปี ๆ


6. การบิดเบือนข้อเท็จจริง บางทีก็นำเสนอข้อมูลที่เป็นการให้ความหวังที่ผิด ๆ ที่ถูกๆไม่เป็นไร  ทุกคนก็ต้องมีความหวัง แต่ถ้าเป็นความหวังที่บิดเบือนผิด ๆ หวังผลทางการเมืองบ้าง หวังผลอะไรก็แล้วแต่  ในทางไม่สุจริตหรือทำให้การเมืองระหว่างประเทศมีปัญหา ทำให้สังคมสับสน ทำให้ถูกจับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ผู้คนในประเทศไทยมีความขัดแย้ง ประเทศแตกแยกทางความคิด ไม่มีเสถียรภาพ  ทุกอย่างก็เละไปหมด กระจัดกระจายไปหมด หลายพรรค หลายฝ่าย หลายกลุ่ม มีความแตกต่าง มีความเหลื่อมล้ำ  ประชาชนก็เหลื่อมล้ำ ความคิดก็เหลื่อมล้ำ นักการเมืองก็แตกแยกกันไปอีก ก็เลยไปไม่ได้ ยุทธศาสตร์ก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นถึงต้องมียุทธศาสตร์ถึงจะรวมกันได้ในยุทธศาสตร์ทั้ง 6 อย่างอีก 6 ข้อที่ว่า  


รัฐบาลนี้พยายามจะแก้ปัญหาทั้งหมดในเชิงปฏิรูป ในเชิงโครงสร้าง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่อยากให้มีแรงต่อต้าน ทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อน กระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเข้าไปอีก อย่าบิดเบือนกันนักเลย เขาตรวจสอบแล้ว ตัดสินแล้ว ออกมาอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ศาลก็ต้องเป็นอย่างนั้น องค์กรอิสระก็ต้องเป็นอย่างนั้น  อย่าไปคิดว่าทำไมทำแต่ข้างนี้ แล้วข้างนี้ทำผิดข้างเดียวหรือไม่ อีกข้างเขาทำผิดแล้วเขายอมรับกระบวนการยุติธรรมใช่หรือไม่  ก็ไปเลือกเอาดู ไปคิดดู ฝ่ายไหนผมก็ไม่รู้ ก็คือทุกคนต้องรับฟังให้รอบด้าน  ตรวจสอบความถูกต้อง พิจารณาที่ครบทุกมิติ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องรอบคอบ  เมื่อฟังข้อมูลจนอิ่มตัวแล้ว เราต้องยอมรับความรู้ที่ตกผลึก ตกลงใจร่วมกัน ที่จะเดินหน้าประเทศ


ตัวอย่างอีกอันหนึ่งก็คือเรื่องพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เห็นชอบในหลักการ เพราะเป็นหนึ่งในหลายเรื่อง ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันทางสังคม   เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในการถือครองที่ดิน และเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้มอบนโยบายไปแล้วว่า การจัดเก็บภาษีต้องสร้างความเป็นธรรมสร้างความเท่าเทียม ไม่เป็นภาระกับประชาชนส่วนใหญ่ หรือประชาชนผู้มีรายได้น้อยของประเทศ  ในทางกลับกันพี่น้องเหล่านี้จะต้องได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก เช่น ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน หรือมีสวัสดิการที่ดีขึ้น เพราะรัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะลงทุนในอนาคตได้มากขึ้นเหล่านี้ เป็นต้น


ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน อยากจะให้ท่านช่วยกันเสียสละ มองเห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาล วันนี้เสียภาษี อาจจะเสียมากขึ้น วันหน้าราคาที่ดินก็สูงขึ้นเอง แล้วบางอย่างก็ท่านได้เผื่อแผ่แบ่งปัน ให้ประชาชนได้เช่าได้มากขึ้น แต่คนมาเช่าที่ก็ต้องรักษากติกา เมื่อเจ้าของที่เขาจะใช้ที่ก็ต้องคืนให้เขา  เพราะเราเช่าเขามา เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีปัญหามาตลอด ในการสร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสให้กับพี่น้องคนไทย เราต้องการให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองทุกคนด้วย


7. การกระจายอำนาจ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ หลายคนหลายพวก หลายฝ่ายก็พูดอยู่เสมอ กระจายอำนาจ ๆ ทุกคนต้องเข้าใจว่าคืออะไร กระจายอำนาจ ต้องทบทวน  หาข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของความจริงว่า  หากเราพูดถึงการกระจายอำนาจว่าคือการปกครองตนเอง การบริหารจัดการตนเอง ทุกเรื่อง  มีงบประมาณเป็นของตนเอง ส่วนกลางก็ไม่ต้องมายุ่งมากนัก เพราะประชาชนรู้ปัญหาของพื้นที่ดี ผมถามว่าแล้วมันทำได้หรือยังเวลานี้  ยังไม่พร้อมตอนนั้นเพราะเราก็ได้อยู่ในวาระเปลี่ยนผ่านมานานพอสมควรแล้ว ที่มีราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หลายคนบอกว่า บ้านของเรา จังหวัดของเราเก็บภาษีได้มากมาย ทำไมต้องไปแบ่งคนอื่นด้วย คิดแบบนี้ไม่ได้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นรายได้ทั้งหมดก็ต้องมารวม แล้วก็มาที่ส่วนกลาง แล้วแบ่งปันไปจังหวัดอื่นซึ่งบางจังหวัดรายได้เขาน้อย เราก็ต้องไปดู การเก็บภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือนอันนั้นเป็นเรื่องของท้องถิ่น วันนี้ก็เก็บกันไม่ค่อยได้ ฉะนั้นก็ต้องไปดูกันอีกทีว่า กฎหมายตัวนี้ออกมาแล้วจะเก็บกันได้ยังไง  ก่อนอื่นต้องไปทำกฎกติกาอีกมากมายเพื่อจัดเก็บให้ได้  เมื่อเก็บได้ งบของท้องถิ่นก็จะมากขึ้นเอง   เมื่อมากขึ้น  ส่วนกลางที่ต้องเอาเงินไปสนับสนุน ก็จะได้ลดน้อยลง เอาเงินไปทำอย่างอื่น วันนี้สับสนอลหม่านพอสมควร  แก้มามากแล้ว


เพราะฉะนั้นอยากให้ปรับปรุงประสิทธิภาพตัวเองด้วย ท้องถิ่นอย่าเรียกร้องอย่างเดียว  ถ้าท่านแสดงให้เห็นได้ว่าท่านเข้มแข็งทั้งหมด ทั้งประเทศแล้วไปว่ากันใหม่วันหน้า วันนี้เอาที่เดิม ทำให้ได้ก่อน ทั้งการทำงาน ประสิทธิภาพ การทุจริต ไม่โปร่งใส ผมไม่ได้ว่าทุกที่ หลายพื้นที่หลายแห่งมีปัญหาแล้วยังแก้ไขไม่ได้  ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ทำให้ใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า ประชาชนไม่พึงพอใจ  การพัฒนาองค์กรก็ไม่พร้อม ทั้งคน องค์กร ความรู้ กระบวนการทำงาน

หลายคนอ้างว่าประชาธิปไตยต้องเป็นแบบนี้ ๆ ผมถามว่าประชาธิปไตยที่คนไม่พร้อม จะทำอย่างไรต้องเตรียมคนให้พร้อม วิธีการให้พร้อม ประสิทธิภาพให้พร้อม ถึงจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ว่าโดยสมบูรณ์ สากลที่เหมือนนานาประเทศ อารยะประเทศ เขาทำไปแล้ว  เราเตรียมความพร้อม  ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องเหน็ดเหนื่อยนะ รัฐบาลก็พยายามจะช่วย เอาปัจจุบันให้ดีที่สุดก่อน ทำให้เกิดความสมบูรณ์ให้มากที่สุด  รัฐบาลไหนก็ทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ปรับปรุง รายได้ประเทศก็มีไม่พอ พันกันทั้งหมด เราต้องแก้ปัญหาระยะยาว อย่าไปแก้ปัญหาระยะสั้น แล้วทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา ระยะยาวก็เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ต้องแก้ปัญหาแบบมียุทธศาสตร์


รัฐบาลนี้ มีการกำหนดภารกิจที่เหมาะสม และมอบหมายในการทำงานของส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น รวมทั้ง กำหนดแนวทาง “การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ” ไว้แล้วด้วย วันนี้ผมเข้าไปลึกมาก  ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้แนะนำเป็นแนวทาง วันหน้าจะได้บริหารจัดการได้เหมาะสม หรือสอดคล้องกับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ช่วยยกระดับระบบบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย รับผิดชอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม


8. การทำงานที่ยังไม่บูรณาการอย่างแท้จริงเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งรู้และไม่รู้ หรือโดยวัฒนธรรมในองค์กร ทั้งระบบงบประมาณ มีการแทรกแซงจากใครก็แล้วแต่ ฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจอะไรก็แล้วแต่ ที่กล่าวอ้างกัน  หรือการขาดธรรมาภิบาลของหัวหน้าหน่วยงานเหล่านี้ เป็นต้น ข้อจำกัดเหล่านั้นเหมือนติดอยู่ที่ตัวเอง ผมอยากให้ข้าราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอะไรก็แล้วแต่ ภาคธุรกิจเอกชนทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ว่าอะไรที่เป็นนโยบาย อะไรที่ต้องเป็นประชารัฐ อะไรที่ต้องบูรณาการ ก็ต้องทำให้ได้โดยการบูรณาการ ต้องทำให้ได้ ไม่ทำแล้วมันเกิดผลเสีย วันนี้วันหน้าเสียมากกว่านี้ เป็นอุปสรรคมากกว่านี้ เราต้องทำให้ได้โดยเร็ว


ถ้าคิดแบบเดิมมันก็จะติดทุกอันปลดล็อคไม่ได้ ปัญหาอุปสรรคติดที่ตัวเองก่อน ความคิดตัวเองก่อนแล้วก็เอากฎหมายมาว่าต่อ เสร็จแล้วก็ไปไม่ได้เลย คิดก็ไม่ได้ กฎหมายก็ติด ผมเข้ามาวันนี้ผมเข้ามาแก้ปัญหานี้ ให้เกิดการบูรณาการ ประสานสอดคล้อง รัฐบาลก็ตั้ง ป.ย.ป. คณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์  PMDU มาขับเคลื่อน  มีมาตร 44 มาแก้ปัญหาให้ แล้วไม่ทำวันนี้จะทำเมื่อไร  ต้องแก้ปัญหาให้ได้ทั้ง “แนวตั้งและแนวนอน” อะไรเป็นงานตามพันธกิจ ก็ต้องทำให้ได้ตามแผน อันนี้คือตามหน้าที่ของแต่ละกระทรวง จากเดิมทำงานแบบนี้อย่างเดียว พันธกิจ ของบประมาณมาแล้วก็ทำตามหน้าที่ของกระทรวงไม่ใช่ ต้องไปดูความต้องการของพื้นที่ของประชาชนด้วย นั้นคือ Area Based ก็คือ พันธกิจนี้แหละ ให้มันทำให้ครบก่อน จากนั้นก็มาสร้างความเชื่อมโยงด้วยการบูรณาการทำให้มันใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น จากถนนหนึ่งเลน เป็นสองเลน เป็นสามเลน เป็นสี่เลน เชื่อมต่อกันให้มากขึ้น เชื่อมต่อไม่ใช่สัญจรไปมาอย่างเดียว ไปเชื่อมต่อเรื่องเศรษฐกิจการขนส่ง การคมนาคม การท่องเที่ยว คิดให้มันกว้างกว่านี้ ถึงจะเกิดงานในพื้นที่ที่เรามองอยู่เป็น Area Based  เพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิต


เพราะว่าอย่างไรก็ตามทุกประเทศในโลก ยังมีระบบราชการอยู่ ที่ยังเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เชื่อมโยงกลไกประชารัฐ  ซึ่งเหมือนเป็น “ระบบกล้ามเนื้อ” ถ้ากล้ามเนื้ออ่อนแรง ลีบ หรือ ล้า ไม่เข้มแข็ง ประเทศชาติก็เดินหน้าไม่ได้ แข่งขันใครไม่ได้ เหมือนวิ่งไปแล้วสู้เขาไม่ไหว เดี๋ยวซ่อมแซม ๆ เดี๋ยวพัก เดี๋ยวก็หลุดขบวน “โลกศตวรรษที่ 21” แล้วไม่สามารถที่จะเป็น “ที่พึ่งสุดท้าย” ให้กับพี่น้องประชาชนได้เลย


ตัวอย่างหนึ่ง ความพยายามของกระทรวงแรงงานที่ต้องการจะใช้กลไกประชารัฐเพิ่มคุณภาพชีวิตลูกจ้าง ลดอุปสรรคการค้า ในอุตสาหกรรมประมงทะเล อุตสาหกรรมสัตว์ปีก/โดยแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานให้ได้ ด้วยการนำ“ศาสตร์พระราชา” เรื่องการมีส่วนร่วมสร้างกลไกประชารัฐ ประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  องค์การแรงงานระหว่างประเทศ  สมาคมผู้ผลิตสินค้าประมงและปศุสัตว์ต่าง ๆ ในการจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี  และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีจริยธรรมและสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานของประเทศ เช่น การไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย ไม่ค้ามนุษย์  รัฐบาลนี้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เหมือนกัน ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามมาตรฐานแรงงานสากล ควบคู่ไปกับการเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทยในเวทีการค้าโลก และก็ประเทศไม่ต้องสูญเสียรายได้กว่า 130,000 ล้านบาท/ปี ด้วย


จากประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น สรุปได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลและ คสช. คิดและทำเพื่อคนจำนวนมาก ก็คือเพื่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกพื้นที่ ไม่เลือกจังหวัด ไม่เลือกตำบลอำเภอ มีใหญ่ตรงโน้นตรงนี้ กลางตรงนี้ เล็กตรงนั้นก็เสริมกันไปกันมา ก็เกิดทั้งประเทศถ้าทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ ก็ไม่เกิดความยั่งยืน  ถ้าเราทุกคนที่เป็น “เจ้าของประเทศ” ที่ทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีอยู่แล้ว ถ้าทุกคน ทุกฝ่าย ไม่เข้าใจกัน ไม่ร่วมมือกัน ก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ในผลงาน ในผลกระทบที่จะเกิดจากปัญหาเหล่านั้นต่อไป น้ำท่วม น้ำแล้ง ปราศจากการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเก็บสำรองน้ำ การระบายน้ำ ทำไม่ได้

ราคาผลผลิตเกษตรกรตกต่ำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ไม่มีการทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่มีการพัฒนาไปสู่สินค้า GAP หรือสินค้าอินทรีย์ หรือพัฒนานวัตกรรม เหล่านี้ไปไม่ได้ทั้งหมด แถมด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่างคนต่างอยู่ ธุระไม่ใช่ เรียกร้องอย่างเดียวเจ้าหน้าที่ก็ทำงานไป เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย ต้องคิดใหม่ทั้งหมด ความขัดแย้ง ไม่ยอมกัน ไม่รับฟังกันเลย คิดแต่เรื่องตัวเองเป็นหลัก ทำของตัวเองให้ดีแต่ปรากฏว่าไปทำให้คนอื่นเสียหายด้วย มันต้องคิดด้วยกันบูรณาการด้วยกันทั้งหมด เราต้องคิดถึงชาติ คิดถึงประเทศไปด้วย สอนให้คนรู้จักเสียสละแบ่งปั้น อย่างทำงานลูบหน้าปะจมูก เอาดีแต่เพียงคนเดียวฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องบูรณาการเหมือนที่รัฐบาลกำลังทำเวลานี้ ใช้วิสัยทัศน์ ปฏิรูปตัวเองเสมอ  “ทุกอย่าง” ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด ถ้าไม่ทำก็ไม่เปลี่ยนแปลง บ้านเมืองก็หยุดอยู่ที่เดิม

พี่น้องครับ สิ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกอันคือ ไทยแลนด์ 4.0   ผมได้ไปพบพี่น้องทั้งนักวิชาการ ทั้งนักศึกษาแล้วก็นักวิจัยอื่นๆ  มีการกล่าวปาฐกถา ที่มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ มีเรื่องเล่าให้ฟัง


เรื่องที่ 1 คือ มีการจัดนิทรรศการด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรม นำผลงานวิจัยที่นำออกเผยแพร่ใช้ประโยชน์แล้ว และมีผลงานวิจัยที่พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์ จำนวนกว่า 50 ผลงาน  ซึ่งหลายผลงาน เป็นงานวิจัยที่จะช่วยต่อยอด เพิ่มมูลค่าและรายได้ให้แก่เกษตรกรเช่นพันธุ์พืชใหม่ ที่มีคุณภาพ ราคาสูง ให้ผลผลิตสูง เป็นเมล็ดพันธุ์ชนิดใหม่ ใช้น้ำน้อยในการเพาะปลูก เช่น พันธุ์ผักคุณภาพดี  สมุนไพร ที่รับรองการมีสารออกฤทธิ์สูง ไม่มีสารพิษเจือปน เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และพันธุ์สัตว์ ที่มีการเสนอสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง ลูกผสมพันธุ์กำแพงแสน-วากิว ซึ่งเป็นเนื้อคุณภาพดี เป็นทางเลือกให้เกษตรกร พัฒนาผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพดีได้ เป็นต้น


เรื่องที่ 2 การพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ให้เข้าสู่ยุค 4.0  มีการบริหารจัดการการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง  เกษตรแปลงใหญ่   แอพลิเคชั่นสำหรับเกษตรกรในการพัฒนาชุมชน การบริหารจัดการการปลูกข้าว การใช้ปุ๋ยสั่งตัด การเลี้ยงปลาแบบแม่นยำสูง อีกหลายอย่าง ซึ่งมีเกษตรกรนำไปใช้แล้วได้ผลดี รวมทั้งมีการพัฒนาหลักสูตรศาสตร์แห่งแผ่นดิน สำหรับพัฒนาเกษตรกรให้ปรับตัวเข้ากับ “การเกษตร 4.0” เพื่อนำผลผลิตไปสู่การแปรรูปต่างๆในยุค 4.0 ให้มีราคาต้นทางที่สูงขึ้น ซึ่งก็ต้องช่วยกันคิด เพื่อจะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย

เรื่องที่ 3 การพัฒนาระบบสารสนเทศ สำหรับการจัดการการเกษตร ได้แก่ ศูนย์กลางข้อมูลความรู้การเกษตรแห่งชาติ เพื่อรวบรวมในรูปแบบดิจิทัลสำหรับเกษตรกร ใช้ง่าย ๆ ครอบคลุม


เรื่องที่ 4 การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับนำมาใช้เองในประเทศ รวมทั้งส่งออกเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ ที่มีมูลค่า เช่น การพัฒนาชุดทดสอบสารก่อภูมิแพ้ การผลิตวัคซีนสำหรับปลาและสุกร การสร้างเครื่องวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันในผลปาล์มอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง และเครื่องปลูกข้าวสำหรับนาประณีตและนาแปลงใหญ่ เป็นต้น


เรื่องที่ 5 การวิจัยเพื่อต่อยอดทางการเกษตร โดยการแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพต่าง ๆ เช่น แผ่นควบคุมน้ำตาล ต้านอนุมูลอิสระ อาหารผู้สูงอายุ ที่มีภาวะอ้วน  ผลิต ภัณฑ์ข้าวแปรรูปต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และการพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นการนำงานวิจัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง หากขยายผลออกไป ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพ สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในภาคเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น


นอกจากงานวิจัยแล้ว ยังมีการวางรากฐานด้านข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและใช้ต่อยอดงานวิจัยในอนาคตด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ( BEDO “เบโด้”) ในการจัดทำบัญชีรายการทรัพย์สินชีวภาพสำหรับพืชชนิดต่างๆ รวมทั้งร่วมเครือข่ายกับ สวทช. และกรมวิชาการเกษตรในการสร้างธนาคารเชื้อพันธุ์พืช (Gene bank) ระดับชาติ  ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ให้เกิดเป็นผลิตผลการเกษตรชนิดใหม่ เช่น เห็ด รา สมุนไพรนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น


พี่น้องประชาชนครับ 


เป็นที่น่าสังเกตว่า งานวิจัยที่ผมไปสัมผัสมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนั้นหรือที่อื่นก็ตามหลาย ๆ ชิ้น มีคุณภาพดีมาก และก็ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ แต่หลายอย่างก็รออยู่ระหว่างรอการขยายผล ซึ่งหากสามารถเร่งรัดให้มีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะสามารถช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศได้


ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เสนอรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานวิจัย การเผยแพร่งานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ไปสู่ผู้ประกอบการ รวมทั้ง SMEs  การสร้างเวทีที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร  รวมถึงการใช้ข้อมูลเพื่อการเกษตรร่วมกันทุกภาคส่วนซึ่งก็ตรงกับแนวทางของรัฐบาล ที่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมด้วยงานวิจัยในทุก ๆ ด้าน  เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งรัฐบาล กำลังเร่งรัดนะครับ เรื่องขึ้นทะเบียนการรับรองมาตรฐาน มอก.  อย. เพื่อนำสู่การผลิตใช้งานให้ได้โดยเร็ว ปัญหาส่วนนั้นก็มีอยู่แล้วก็มีเหมือนกัน ไม่ทัน ช้า เสียเวลา คนไม่พอ ต้องไปแก้ตรงนั้นด้วย เช่น ในเรื่องของการขึ้นบัญชีวันนี้ก็ขึ้นไปหลายอย่างนะครับ ถ้าขึ้นบัญชีกันแล้ว แล้วไปผ่านมาตรฐาน ก็สามารถไปผลิตจำหน่ายได้ ใช้ได้ จะเป็นกลไกในการเชื่อมโยง บัญชีนวัตกรรมไทยที่ว่านี้ งานวิจัยกับเอกชนผู้ผลิต ที่ ครม. ครั้งที่ผ่านมาผมเร่งรัดทุกหน่วยงานไปรวบรวมงานวิจัย จากทั้งของรัฐ ของสถานศึกษา ของภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนที่มีศักยภาพ เราก็จะนำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ได้มาตรฐานและไปหาแก้ไขอุปสรรคเหตุติดขัดทั้งหมดให้ทำให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งเราก็ต้องมาดูเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้วิจัยด้วยนะครับ หรือองค์กรของผู้วิจัย ว่าทำอย่างไรเขาถึงจะมีรายได้ ที่เป็นกำลังใจ จูงใจให้เขา นำผลงานใหม่ ผลิตผลงานใหม่ ๆ ออกมา ทำงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับประเทศเรา ให้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป



วันนี้พูดมากหน่อย หลายเรื่องด้วยกันก็คงต้องทำความเข้าใจด้วยกันหลายเรื่อง เพราะบางเรื่องสลับสับซ้อนและต้องทำหลายอย่างด้วยกัน ผมอยากจะสร้างความเข้าใจเท่านั้นเอง อย่าเพิ่งเบื่ออย่าเพิ่งรำคาญเลย เพราะถ้าไม่ฟังก็จะไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไร และพอใครไม่หวังดีพูดอะไรมาก็ทำให้งานของรัฐบาลที่กำลังทำอยู่ช้าลง ช้าลงโดยไม่มีเหตุมีผล


ผมขอร้องพี่น้องประชาชนกรุณาช่วยกันตั้งความหวังแบบผม เหมือนผมว่าเราจะต้องมีประเทศไทยที่มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้ได้โดยเร็วที่สุด ขอขอบคุณครับ  ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  ขอให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง ระมัดระวังเรื่องของการเดินทาง การใช้กฎหมายด้วย ทั้งวันนี้และวันหน้า อย่าให้มีผลกระทบซึ่งกันและกันอีกเลย และมีการบาดเจ็บสูญเสียมาก ไม่ว่าจะในสิ่งใด ก็ทำให้ครอบครัวเสียใจทั้งสิ้น ผมก็เสียใจไปกับท่านด้วยเหมือนกัน ฐานะเป็นผู้นำรัฐบาลขอบคุณนะครับสวัสดีครับ
 
ฟังรายการย้อนหลัง

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้