Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2928 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานศาลปกครอง ขอแจ้งกำหนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม 2560 ดังนี้
วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๑.๐๐ น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๖๐/๒๕๕๙ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๒๕/๒๕๕๙ ระหว่าง บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ๑ กับพวกรวม ๒ คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ฟ้องว่า สำนักงานป้องกันและปราบปราม
การฟอกเงิน ที่ ๑ กับพวกรวม ๒ คน มีคำสั่งไปยังธนาคารและสถาบันการเงินให้ตรวจสอบในทางลับและรายงาน
การทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่กระทำผ่านธนาคารและสถาบันการเงินต่อผู้ถูกฟ้องคดี
ทั้งสองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและกิจการขาดสภาพคล่อง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)
สรุปคำพิพากษา/คำสั่ง : ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และไม่พิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีของผู้ฟ้องคดี
ทั้งหก เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งไปยังสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำไปโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมติของคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน และความผิดมูลฐานดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือขอข้อมูลการทำงานธุรกรรมของผู้ฟ้องคดีทั้งหกจากสถาบันการเงินตามคำฟ้อง จึงเป็นการดำเนินการอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบกับในการตรวจสอบรายงาน และข้อมูลการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.เดียวกันนั้น หากต้องดำเนินการทางศาล มาตรา ๔๖ และมาตรา ๕๙ แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่ง อันเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้โดยเฉพาะ คือ ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรม ดังนั้น ข้อพิพาทตามคำฟ้องคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี
ทั้งหกไว้พิจารณาได้ และเมื่อศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แล้วในส่วนคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาจึงไม่จำต้องพิจารณาอีกต่อไป
ณ ห้องพิจารณาคดี ๑๔ ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร