รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1666 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ขอขอบคุณนะครับ ในทุกวันศุกร์ นั้น ผมได้มีโอกาสมาพูดคุยกับพี่น้องประชาชน “ทั้งประเทศ” สัปดาห์ ละ 1 วัน ผมถือว่ามีความสำคัญในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปประเทศของเรานะครับ หลายเรื่องต้องทำความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน
 
เรื่องแรก ผมขอเริ่มในสิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่คณะรัฐมนตรี และผมถือว่ากับประเทศชาติด้วย ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายพระพร สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงขอน้อมนำพระดำรัส และมงคลชีวิตต่าง ๆ มาฝากพี่น้องประชาชนในวันนี้ด้วย โดยสมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงสอนให้พวกเรา “มีสติ ให้รู้คิด รู้ตัว และรู้ปฏิบัติ” แล้วก็เป็นกำลังใจให้รัฐบาลและ คสช. ในการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท พร้อมทั้งรับสั่งว่า “ในเมื่อทุกคนมีลาภก็มีเสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศได้ อย่าไปผูกติดตรงนั้น” ซึ่งผมและคณะรัฐมนตรี และ คสช. ตระหนักในส่วนนี้ เป็นอย่างดีอยู่เสมอมา เพราะรู้ดีอยู่ว่าไม่มีอะไรคงทน เว้นแต่ “ความดี – ความชั่ว” เท่านั้น ก็ตั้งใจในการทำความดีเพื่อประเทศชาติ เพื่อให้คนไทยได้มีความสุขที่ยั่งยืน เป็นการสนองพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วย ในเรื่องของการปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข ของปวงชนชาวไทยทุกคน ที่ได้ทรงปฏิบัติมาอันเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงสานต่อพระราชปณิธานนั้นสืบต่อมา
 

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่า เป็นธรรมะที่สำคัญ แต่หลายคนอาจจะถูกลืมกันไป ก็คือคำว่า “หิริ-โอตัปปะ” หรือ คำที่มีความหมายว่ามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ที่อยากให้พวกเราทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน เพราะว่าถ้าหากว่าเราขาดคำว่า “หิริ-โอตัปปะ” แล้ว ความชั่ว สิ่งไม่ดี ก็อาจจะเข้ามาครอบงำจิตใจได้
 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ ผมขออนุญาตกล่าวถึงสื่อเล็กน้อย ในกรณีที่มีสื่อบางฉบับ บางคอลัมน์ บางสำนักพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์บางช่อง อาจจะมักเสนอข่าว หรือเขียนข่าวในเชิงที่ดูถูก ดูแคลน การทำงานของ “แม่น้ำ 5 สาย” ของรัฐบาล อาจจะเขียนด้วยความสะใจ หรือไร้ข้อเท็จจริง เป็นไปไม่ได้ที่ รัฐบาลและ คสช. รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่มีผลงาน ไม่มีการแก้ไข หรือไม่มีการปฏิบัติใด ๆ ที่เป็นเรื่องของการปฏิรูป
 

ผมอยากให้ประชาชนและสังคม ได้พิจารณาอย่างเป็นกลาง บรรดาสื่อฯ ที่ขาดจรรยาบรรณเหล่านี้ มีส่วนน้อยที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์ ในเชิงไม่ใช่ “ติเพื่อก่อ” เป็นลักษณะเป็นการ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ”มากกว่า หลายสิ่งที่กำลังทำ เราก็กำลังระดมความคิดเห็น กำลังศึกษา หลายเรื่องก็เสร็จไปมากแล้ว ไม่ใช่คิดกันเอง ก็รับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอดทุกเรื่อง ปรึกษา ไม่ใช่ทหารคิดเองทำเองหมด ไม่ใช่ ผมเป็นหนึ่งในผู้นำเฉย ๆ ในส่วนของภาคเอกชน ข้าราชการต่าง ๆ เขาก็ร่วมมือกันทำงาน บ้านเมืองวันนี้สงบขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้น การค้าการลงทุนจากต่างประเทศก็มีแนวโน้มดีขึ้น ถึงแม้ว่าโลกภายนอกจะมีภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจอยู่บ้างก็ตาม ผมยกตัวอย่าง เช่นเรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องที่ดิน เราต้องอาศัยการผลักดันกฎหมาย กว่า 200 ฉบับ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป แล้วก็เพื่อใช้ในการบริหารราชการในอนาคต ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ปัญหาความไม่บูรณาการของกฎหมายในอดีตด้วย ที่ต่างกระทรวง ต่างหน่วยงาน ต่างต้องยึดถือ ซึ่งบางอย่าง บางกฎหมาย หรือบางกฎกระทรวงนั้นก็มีความขัดแย้งกันเอง ทำให้กิจกรรมที่เป็นภาพรวมนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่ากฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ กฎหมายก็ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ รัฐบาลนี้ก็ได้พยายามปรับปรุงใหม่ ให้ทันสมัย เป็นสากล แล้วประยุกต์ให้สอดคล้องกับสังคมไทย หลายอย่าเอามาหมดไม่ได้ ต้องเอามาเป็นตัวอย่าง แล้วประยุกต์ใช้ให้ได้
 

ในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น อันนี้เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่า กฎหมายไทยนั้นเขียนไว้แล้วว่า ต้องมีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าเราคิดให้ดี ผู้ให้มี 2 ประเภท คือ 1) ถูกเรียกรับ แล้วก็จำเป็นต้องให้ 2) อันที่สองก็เสนอให้เขาก่อน เพื่ออำนวยความสะดวก อะไรทำนองนี้
 

เราจะทำยังไง ว่า “ผู้ให้” นั้น ก็มักจะไปพูดภายนอกเสมอว่า เสียเงินเสียทองแต่ไม่กล้าร้องทุกข์กล่าวโทษ สมยอมบ้าง อะไรบ้าง เพราะกลัวความผิด กลัวติดคุก แต่ได้ประโยชน์ อันนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่เราต้องมาคิดกัน หากว่าในกระบวนการยุติธรรม ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ เขาใช้คำว่า ต้องมีหลักฐาน มีวัตถุพยาน มีพยานบุคคล ถ้าไม่มีตรงนี้ ไม่มีผู้ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ก็จะไปดำเนินคดีไม่ได้ กับ “ผู้รับ” ได้ยาก ไม่มีโจทก์ ก็ต้องใช้การสอบ สวน ตามกระบวนการ พอไม่มีหลักฐานขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก ก็กลับมาที่เดิม สังคมก็ไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐเข้าไปอีก หรือหน่วยตรวจสอบต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นสื่อและสังคมก็ควรพิจารณาร่วมกับเราด้วย อย่าเอาแต่โจมตีเรื่องนี้นักเลย เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำว่าเราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะว่าพันไปกับคนส่วนมากทั้งหมด
 

เรื่องการอนุรักษ์ป่านั้น มีหลายประเภทด้วยกันที่เรามีทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน เราควรจะมาคิกว่าเราจะบริหารจัดการกันอย่างไร มีกฎหมายอยู่หลายฉบับ ที่มีความแตกต่างกันของหลายหน่วยงาน แผนที่ก็ต้องมีการปรับแก้ให้ตรงกัน ปัญหาสำคัญวันนี้คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรืออุทยานมาก่อน เราจะทำอย่างไรกับเขา เพราะบางส่วนเขาเข้ามาอยู่ก่อน มาทำมาหากินตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนจะมีกฎหมาย หรือก่อนจะมีการกำหนดเป็นเขตป่าเหล่านั้น ปัจจุบันกลายเป็นผิดกฎหมายทั้งหมด โดยไม่มีอะไรรองรับ เราต้องพิสูจน์เป็นกรณีไป โดยใช้ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
 

เราต้องเข้าไปดูรายละเอียด รับฟังความคิดเห็น เราจะดูแลคุ้มครองเขาได้อย่างไร เพราะกฎหมายปัจจุบันนั้นถือว่าเป็นความผิดทั้งหมด ต้องย้ายออกทั้งหมด เราทำได้หรือไม่ มีปัญหากับพ่อแม่พี่น้องทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะปล่อยให้มีการบุกรุกป่าอีกต่อไป ที่อยู่ อยู่แล้ว แล้วไม่สามารถดำเนินการอย่างอื่นได้ ก็ต้องหาวิธีการแก้ปัญหา ต้องช่วยคิด เราก็เห็นใจพี่น้องประชาชนเหล่านั้น ซึ่งเห็นมาเรียกร้อง มาประท้วงอยู่หลายที่ด้วยกัน ฟ้องศาลด้วย อะไรด้วย เราจะทำอย่างไรให้คนสามารถอยู่กับป่าได้ ช่วยรักษาป่าไม้ไปด้วยอย่างยั่งยืน เราต้องมีมาตรการควบคุม ติดตามให้รัดกุม เจ้าหน้าที่ก็ต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ปล่อยปละละเลย มีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ทั้งกับผู้ที่บุกรุก หรือผู้ที่ไม่รักษากติกา รวมความไปถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ปล่อยปละละเลย ควบคู่กันไปด้วย
 

หลายอย่างที่เสนอข่าวกันมานั้น บางอย่างเกินเลย ถ้าอยู่ในกรอบบ้างผมก็จะไม่กล่าวถึง มีการวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง อาจจะเพียงเพื่อสร้างกระแส แล้วมาอ้างว่ารัฐบาลนี้ปิดกั้น ลองคิดดูว่าถ้าหากสื่อขายดี แต่ประเทศชาติ สังคมเกิดการแตกแยกทางความคิด มีความขัดแย้งขยายวงกว้าง จนเกิดความรุนแรง ไปสู่การจลาจล ทำนองนี้ใครจะรับผิดชอบ ทุกคนก็เผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นมาโดยตลอดที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นจะรับผิดชอบกันไหวหรือไม่ เพราะว่าถ้าเกิดความเข้าใจผิด จากการบิดเบือน ปลุกระดม ความรุนแรงก็เกิดขึ้น แก้ไขได้ยาก เหมือนเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา สื่อทุกสื่อ ประชาชนหลายคน หลายส่วนก็เห็นเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แปลกดีเหมือนกัน หาพยานยาก วันนี้เห็นว่าเอาเรื่องที่เคยเป็นมาในอดีต เอามาเขียนให้ทะเลาะกันอีกต่อไป ก็ไปไม่ได้ทั้งหมด ผมบอกแล้วว่า วันนี้กำลังพูดไปข้างหน้า การแก้ปัญหาต้องแก้วันนี้ให้ได้ แล้วเดินหน้าต่อไปข้างหน้า
 

ที่ผ่านมาแล้วก็ใช้กฎหมายแก้ไป ไม่ใช่ว่ามีหรือไม่มี ใช่หรือไม่ใช่ มีการทำร้ายประชาชน ทำลายประชาธิปไตย ใช้ความรุนแรง แล้วไปดูอีกฝ่ายเขาใช้อะไรกัน เริ่มต้อนจาก 2 กลุ่ม ทั้งสิ้นที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นอย่าลืมสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว เป็นบทเรียนราคาแพง เพราะว่ามีคนบาดเจ็บสูญเสียจำนวนมาก บ้านเรา สังคมเรา ก็ควรจะจดจำเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีงามนัก ก็น่าจะดีกว่าถ้าเราป้องกันได้ตั้งแต่วันนี้
 

ฝากสื่อด้วยว่า ในการใช้ จรรยาบรรณสื่อที่ดี ขอให้พิจารณาการแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสม อุจาดตา เป็นผลเสียต่อสังคม โดยเฉพาะเยาวชน การเสนอภาพที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สิทธิผู้ตาย สิทธิผู้เสียหายอะไรเหล่านี้ มีทั่วไปทั้งในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย โซเชียลด้วย บางทีเขาก็แก้ไขอะไรตัวเองไม่ได้ เขาได้รับความเสียหาย ญาติพี่น้องเสียหายอับอาย แล้วก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนบุคคลของเขา ขอให้ระมัดระวัง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย หรือสื่ออื่น ๆ อะไรก็ตาม ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวด้วย ช่วยกันจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ขึ้น น่าจะดีกว่า
 

สำหรับเรื่องการปฏิรูปประเทศ ผมพูดมาหลายครั้ง วันนี้เรามีแม่น้ำทั้ง 5 สาย ร่วมกันทำงานอยู่แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา 2 ปีกว่า อยากให้ทุกคนช่วยกันติดตาม แล้วใช้เสรีภาพทางความคิด อิสระในการเขียน ที่น่าจะต้องหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้รอบด้าน ครบทุกมิติ อย่าไปคิดเอาเอง คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม เขียนแบบเดิม ก็ได้แบบเดิม ผมไม่อยากให้เอาสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งอาจจะมีนักการเมืองไม่ดีหลายคน ออกมาพูดกล่าวอ้างผลิตซ้ำ ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเราไม่ทำอะไร หรือทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์เหล่านี้ ทำให้เสียเวลาเปล่า เพราะฉะนั้น รัฐบาล และ คสช. ทำเต็มที่ ไม่อยากให้เสียเวลาเปล่าอย่างที่ว่า ให้ความเป็นธรรม ให้กำลังใจกับ รัฐบาล ข้าราชการ คสช. ด้วย ก็อยากให้ติดตามดูว่าข้าราชการ หน่วยงานต่าง ๆ เขาทำอะไรกันบ้าง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องมีทั้งกฎหมาย มีวิธีการใหม่ ๆ ในการที่จะปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เสร็จไปเป็น 100 เรื่องแล้ว เพราะฉะนั้นอยากให้ติดตามดูด้วย หลายเรื่องมีการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อจะขับเคลื่อนต่อไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำแผนร่วมกัน ให้ประสานสอดคล้องกันทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จะต้องบริหารจัดการอย่างไร
 

เดิมที่ผ่านมานั้นมีอยู่แค่ไหน เริ่มทำ วันนี้เราทำไปถึงไหนแล้ว ขอให้ติดตามด้วย และเมื่อไหร่จะครบถ้วน 5 ปี โน่น แผนงานโครงการก็ทยอยออกมาตามลำดับ เราก็ต้องมารับรู้ทั่วกันว่าเมื่อไหร่เราจะแก้ปัญหาได้ครบวงจร ไม่ใช่ว่าเรียกร้องตรงโน้นตรงนี้ไม่เห็นได้ จะได้ยังไง เพราะอยู่ในแผนงานที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เพราะต้องเร่งดำเนินการตามลำดับความเดือดร้อนมากน้อยก่อน แล้วดูอะไรที่เป็นเชิงโครงสร้าง เชิงที่จะเชื่อมโยง การกระจายน้ำ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องใช้เวลา ก็ไม่อยากให้เอาทีละเรื่อง ทีละจุด มาติ มาต่อว่า แล้วก็มาขยายความขัดแย้ง แล้วประชาชน สังคมก็ไม่เข้าใจอีก ก็ไม่ร่วมมือ ทุกคนก็ถูกกดดัน ให้ออกมากดดันรัฐบาล มาเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งเรายิ่งต้องพยายามสร้างการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็ง เราต้องทำให้พี่น้องเหล่านั้นช่วยตัวเองได้ ยื่นอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ สื่อจะช่วยผมได้มาก ก็ต้องขอร้องกัน เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศด้วย
 

เรื่องการดูแลผู้มีรายได้น้อยนั้น นับตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่แต่เพียงการให้ เงินอย่างเดียวเท่านั้น เราต้องให้ความรู้ เราต้องเพิ่มขีดความสามารถ เราต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างกระบวนการเรียนรู้ ยกระดับให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เราไม่อยากให้เป็นเหมือนในอดีต วันนี้ที่เราทำมาทั้งหมด พอเดือดร้อนก็รอความช่วยเหลือจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แล้วตัวเองก็ไม่เข้มแข็ง เพราะเป็นเช่นนี้มานานหลาย 10 ปีแล้ว เขาก็ยังยากจน มีหนี้สินเหมือนเดิม จะทำยังไง แล้วแก้ได้เร็ว ๆ หรือไม่ ก็ยังไม่ได้ หลายอย่างเราก็พยายามทำแล้ว การลดหนี้ การชะลอหนี้ การแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ทำนองนี้ ก็แก้ไปหมดแล้ว ติดตามดูแล้วกัน อย่ามาหาว่าไม่ดูแลผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลนี้ทำไมให้เขาน้อย แล้วให้มาก ผิดกฎหมายหรือไม่ กฎหมายเขาเขียนไว้เท่าไร ก็เท่านั้น แล้วมีมาตรการอื่นก็เสริมเข้ามา เราต้องควบคุมการทำงานของเรา แล้วให้ประชาชนเรียนรู้ด้วยว่าเขาต้องเข้มแข็งด้วยตัวเองด้วย รัฐบาลถึงจะทำงานให้ได้ ส่งเสริมให้ได้ตามขีดความสามารถของรัฐบาลด้วย
 

เพราะฉะนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาวินัยการเงิน การคลัง เงินงบประมาณแผ่นดินนั้นต้องใช้อย่างเป็นประโยชน์ไม่ซ้ำซ้อนเพื่อจะดูแลคนไทยทั้งประเทศ ทุกกลุ่มให้ได้ ไม่ใช่บางกลุ่มได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ได้ แล้วเราก็ต้องพยายามสร้างกลไกอื่น ๆ มาช่วยเสริมด้วย เช่น การร่วมมือรูปแบบ “ประชารัฐ” เหล่านี้ เป็นต้น ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม
 

นอกจากนั้น การดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนกับผู้ที่เดือดร้อน นอกจากเราจะต้องเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งแล้ว เราต้องไปดู “ตรงกลาง” กับ “ระดับบน” เพราะเศรษฐกิจมีระดับบน ระดับล่าง เราต้องไปดูตรงกลางกับข้างบนด้วยว่าจะสอดคล้องเชื่อมโยง เผื่อแผ่ให้ถึงข้างล่างได้อย่างไร ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ แล้วพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกันไม่ได้ รัฐบาลนี้พยายามทำอย่างเต็มที่ บริหารงานทุกอย่าง ตามกฎหมาย เราอย่ามามองว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุนและรังแกผู้มีรายได้น้อย ขอให้ทบทวนให้ดี หลักการ หลักเกณฑ์ หลักคิดมีอยู่แล้ว ถ้าคิดแบบนั้นก็ไม่ได้ ก็มีปัญหามาโดยตลอด
 

การปฏิรูประบบราชการหรือส่วนราชการนั้น เราต้องคำนึงถึงกรอบยุทธศาสตร์ชาติด้วย ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ประเทศของเรามีเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปในหลายประเด็นด้วยกัน บางประเด็นก็ทำไม่ได้ในระยะสั้น ๆ เนื่องจากสถานการณ์โลก ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการทำงานในวันนี้ ไม่ว่าจะของรัฐ หรือการปฏิบัติตัวของประชาชนต้องมีการปรับตัว ต้องมีการพัฒนาตนเองไปด้วยกัน ข้าราชการต้องมีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถสูงขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และบริหารราชการ จากบนลงล่าง ในกรอบของประเทศ และเพื่อประชาชนทั้งประเทศ กำกับดูแลการทุจริตต่าง ๆ ที่ได้จัดทำงบประมาณลงไปแล้ว หน่วยงานทั้งในหน่วยงานราชการ และในหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้ไปหวงห้ามใคร
 

เมื่อแผนการโครงการต่าง ๆ เหล่านั้นลงไปในระดับพื้นที่แล้ว กระทรวงมหาดไทย ก็มีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากที่สุด ในการขับเคลื่อนทุกอย่างในพื้นที่ ใช้องคาพยพ แล้วมีตัวแทนจากส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่อีกมากมาย จากทุกกระทรวง ในฐานะ “พ่อเมือง” ควรเป็นคนที่มีลักษณะพึงประสงค์ คือต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ มีการปฏิบัติงานเชิงรุก และมองประเด็นปัญหาการปฏิบัติในพื้นที่ได้ครบทุกมิติ และนำนโยบายจากรัฐบาลที่ถ่ายทอดลงมานั้นไปสู่การปฏิบัติ แก้ปัญหาระดับพื้นที่ มองมิติในพื้นที่ของตนเองด้วยว่าประชาชนต้องการอะไร ปัญหาหลัก/รอง คืออะไร อะไรที่จะแก้ให้เร่งด่วน อะไรที่ยังแก้ไม่ได้ ก็สร้างความเข้าใจกับเขา เขาจะได้มีกำลังใจ ไม่ออกมาต่อต้าน ไม่ออกมาขัดขวาง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะไม่รู้ ไม่ทราบ ต้องชี้แจง ทำความเข้าใจให้มากขึ้น อะไรที่จะใช้ทรัพยากรในพื้นที่ได้ อะไรใช้คนในพื้นที่ได้ก็ทำไป อยู่ในกรอบให้โปร่งใส อะไรที่สามารถจะทำด้วยตัวเองก็ริเริ่ม ตามวิสัยทัศน์ ตามอะไรต่าง ๆ กรอบนโยบายที่รัฐบาลให้ไปแล้ว และอะไรที่ขาดเหลือก็ขอขึ้นมา ผ่านกระทรวงมหาดไทย วันนี้ก็ทำงานแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ทุกส่วนราชการได้ใช้ศักยภาพในพื้นที่ของตนให้เต็มที่ก่อน แล้วไม่อยากให้มุ่งเน้นงานฟังชั่นอย่างเดียว ต้องไปดูงานบูรณาการด้วย ให้สอดคล้องกับแผนงาน โครงการ ที่เราจัดทำลงไป
 

เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ถือว่า เราจะทำงานให้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง จากล่างขึ้นบน และ จากบนลงล่าง ในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นในพื้นที่ก็ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงมีการบูรณาการในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ผู้ว่าราชการก็ต้องเป็นผู้ที่ทำงานเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่างเดียวแล้ว
 

วันนี้ต้องทำงานฟังก์ชัน งานบูรณาการ มองงานในภาพกว้าง ทั้งในจังหวัด ในกลุ่มจังหวัด ในเวลาเดียวกัน แล้วก็ดูกลุ่มจังหวัดอื่น ๆ ด้วยว่าจะ เชื่อมโยงกันได้อย่างไร เพราะต้องอยู่ในภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และชุมชน ประเทศไทยประกอบด้วยอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้รอรัฐบาลสั่งการ อย่างเดียว บางอย่างง่าย ๆ ทำเองก็ได้ ทำไมต้องรอสั่ง กฎหมายก็มี อะไรก็มี คนก็มี เหล่านี้ ผมอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการเร่งรัดพัฒนาตนเองให้เป็นอย่างที่ผมพูด วันนี้ท่านก็ทำมากแล้ว ผมว่านะ แต่ก็ยังไม่ทันใจร้อนของผม ของประชาชนที่เขาใจร้อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน ทำตัวให้พร้อม รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และให้การสนับสนุนผู้ที่ร้องขอได้อย่างเหมาะสม
 

หลายอย่างที่ผู้นำ หรือผู้บังคับบัญชา จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีสั่งการ วิธีประเมิน วิธีการติดตามกำกับดูแลการขับเคลื่อน ตรวจสอบการทุจริต ให้เกิดความรวดเร็วช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคให้กับข้าราชการด้วย เพราะฉะนั้น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องดูแลซึ่งกันและกัน บางอย่างต้องอาศัยซึ่งกันและกันตั้งแต่จังหวัด อำเภอ แล้วก็ท้องถิ่นนะครับ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกัน สอดประะสานกันให้ได้ ถ้ากรณีกฎหมายไม่ทันสมัย รัฐบาลก็พยายามแก้ไขอยู่ อะไรที่มีปัญหา รัฐบาลก็แก้ปัญหาระหว่างที่ทำกฎหมายใหม่ บางอย่างก็ใช้มาตรา 44 ทดแทนไปก่อน สาระใจความก็คือให้เหมือนกับกฎหมายที่เราต้องปรับปรุงใหม่เท่านั้นเอง
 

พี่น้องประชาชนที่รัก วันนี้การทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่เราเรียกว่า ป.ย.ป. นั้น ปัจจุบันก็อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมผลงานที่รับบาลนี้และ คสช. ได้ปฏิบัติไปแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมากมายหลายกิจกรรม ไม่ใช่อย่างที่บางคนกล่าวอ้างว่าไม่เห็นทำอะไรเลย
 

วันนี้เราถึงต้องมี ป.ย.ป. ยังไง ป.ย.ป. เอางานที่ทำมาแล้วกับงานที่ยังไม่ได้ทำมารวบรวมกันให้ชัดเจนขึ้น หลายอย่างก็ต้องทำแผนงานโครงการ ทำ Road Map ของแต่ละกิจกรรมไปด้วย ผมอยากให้ประชาชนและสังคม ได้เปรียบเทียบกันก่อนที่ผมมา กับวันนี้ หลายอย่าง อะไรดีขึ้น อะไรแย่ลง อย่าไปมองเฉพาะบางกิจกรรม ทุกอย่างไม่ว่าจะทำความผิดอะไรก็ตาม ก็ต้องในกระบวนการ แต่ก่อนไม่เข้ายังไง วันนี้ผมเอาเข้า แต่เข้ายังไม่หมด ก็ต้องใช้เวลาในการนำเข้าด้วยหลักฐาน ด้วยพยาน อะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างก็ต้องนำเข้าให้หมดในช่วงที่ผมยังอยู่ เท่าที่ทำได้มากที่สุด ไม่ใช่รังแกใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ไปสู้กันในศาล ในกระบวนการยุติธรรมแล้วกัน เพราะฉะนั้นขอให้ตรวจสอบด้วย เปรียบเทียบด้วย ก่อน 22 พฤษภา 2557 กับวันนี้เป็นอย่างไร อะไรดีขึ้น ก็ฝากไปดูรายละเอียดด้วยแล้วกัน อย่าไปเชื่อคำบิดเบือนกันมากนัก อ่านเอาว่าอะไรอย่างนี้ หรือเขียนเอาสนุกอย่างนี้ไม่ได้ บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น เพราะฉะนั้นองค์ประกอบของ ป.ย.ป. ในส่วนของรัฐบาลและ คสช.นั้น มีหน้าที่เพียงสั่งการ มอบนโยบาย กำกับดูแล ก็เหมือนกับ ครม. เพียงแต่เอางานอื่นมาเติมเข้าไปด้วย งานจาก สปท. สนช. สปช. เก่าด้วย เอามาเสริมกันเข้าไปว่าทำครบหรือยัง เอาใส่กล่องเขย่ากันได้ยังไง แล้วทั้งหมดจะมารวมกันอยู่ที่ครม. ก็เป็นการทำงานตามงานปกติ ซึ่งที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะเป็นงานฟังชั่น ก็มีคณะกรรมการขับเคลื่อน กขป. ขึ้นมาอยู่แล้ว
 

วันนี้มี PMDU เข้ามาอีกด้วย ก็แค่นั้นเอง จะได้ไม่เป็นการแก้ปัญหารายปี รายกิจกรรม เรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วก็มาใหม่วันหน้า อะไรทำนองนี้ หรืออะไรที่ผิดกฎหมายก็ปล่อยปละละเลย จนเกิดความเคยชิน พอเคยชินแล้ววันนี้จะมาบังคับก็ไม่ได้อีกแล้ว ก็อ้างว่าเจ้าหน้าที่เดิมเป็นคนปล่อยปละ วันนี้เจ้าหน้าที่เดิมก็มาจับกุม นี่คือปัญหาของประเทศ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องหยุดเรื่องเก่าแล้วทำเรื่องใหม่ให้ได้ ประชาชนก็ต้องเห็นใจ
 

เพราะที่ผ่านมานั้น อาจจะขาดการดูแลที่ดีเพียงพอ อาจจะไม่เข้มงวดในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่แก้ไขต่าง ๆ ให้ยั่งยืน วันนี้เราเข้ามาแก้ไข แน่นอนต้องเจอปัญหามากมาย อาจจะทำให้เกิดความถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจของคนหลายคน เพราะด้วยกฎหมาย ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ด้วย
 

วันนี้ เราคงต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้งวันนี้ วันหน้า และก็วันต่อ ๆ ไปด้วยนะ เพราะฉะนั้นเราควรจะต้องมีแผนแม่บท มีข้อมูลมีกฎหมายลูก ที่สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบันที่ออกมาแล้ว หลายอย่างก็ยังไม่ออก เพราะฉะนั้นเราจะต้องปฏิบัติให้ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยไม่ใช่รัฐธรรมนูญเป็นบทที่จะมาใช้ปฏิบัติสำหรับในการบังคับใช้กับประชาชนไม่ใช่ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ ของรัฐ แต่จำเป็นต้องมีกฎหมายลูกออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตราทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นประชาชนก็ต้องมาปฏิบัติตามกฎหมายลูกตัวนี้ กฎหมายที่ออกมาเป็น พรบ. ต่าง ๆ หรือกฎกระทรวงอะไรเหล่านี้ เรียกว่ากฎหมายลูก เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน เวลาก็น้อย 2 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะมองว่านาน ผมคิดว่าถ้าทำงานมาก ๆ ไม่นาน จะไม่มีเวลาที่ว่างให้คิดว่าในเวลาเหลือ ๆ ไม่เหลือแน่ เพราะปัญหาของเรามีมากเกินไป ปล่อยปละละเลยกันมากมาย จนแก้ไม่ทัน ต้องรอบคอบ แล้วต้องทำงานมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ให้ดีที่สุด ในทั้ง 4 คณะนั้นหน้าที่จริง ๆ คือผมต้องการเตรียมการส่งต่อรัฐบาลในอนาคต
 

วันนี้อย่ามาพูดเลยว่า ผู้มีรายได้น้อยถูกรังแกเพราะการบังคับใช้กฎหมายจนเกิดปัญหา ปัญหาเดิมก็คือไม่ใช้กฎหมาย คนก็เลยไม่ปฏิบัติตาม ทำให้เคยชิน ปล่อยปละละเลยกันจนเคยชิน วันนี้อย่าให้เป็นเช่นอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างปัญหามาโดยตลอด ก็ไม่อยากให้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ถ้าเราอยากให้บ้านเมืองสงบก็ช่วยกันหยุดกระทำความผิด แล้วคิดใหม่ ทำให้ถูก มีหลักการในการคิด ตั้งแต่วันนี้ในทุกภาคส่วน
 

ผมขอพูดกับสังคม ประชาชน อย่าปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ในอนาคต รัฐบาลก็กำลังจะทำให้คน“ทั้งประเทศ” เกือบ 70 ล้านคน นั้น เขามีความสุข มีความพึงพอใจ ก็ต้องกระจายความสุขเหล่านี้ให้ถึงเขาให้ได้ และมีชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศก็มีรายได้มากขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนา แล้วก็เรื่องสังคมสูงวัยเรื่องของการพัฒนาประเทศ เรื่องของการใช้จ่ายในเรื่องของการสาธารณสุข การศึกษา มากมายไปหมด ที่ทุกคนเรียกร้อง อยากได้เงินเพิ่ม อยากได้ฟรี ๆ แล้วถามว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้ จะไปแบบนั้นได้หรือไม่ จะหาเงินได้หรือไม่ อย่าคิดแต่รายจ่ายโดยไม่คำนึงถึงรายรับ
 

วันนี้รัฐบาลทำทุกอย่างหารายรับเพิ่ม ก็ต้องมีกฎ ทำตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือว่ารอผลสรุปเขาออกมาว่าอย่างไรซึ่งนั่นคืออนาคตของประเทศ เพราะฉะนั้นอยากขอความร่วมมือจากคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ทั้งหมด ทำความเข้าใจกันให้ได้ว่าเราจะอยู่กันยังไงต่อไป อย่าไปมองประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเดียว มีหลายอย่างที่มีปัญหา อาทิเช่น ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เป็นยังไง บิดเบือนไปหรือไม่
 

อันที่สองคือในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนไม่เข้มแข็ง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิผลมากเท่าที่ควร ผมรู้ทุกคนก็เหน็ดเหนื่อย ครูก็ลำบากเหนื่อยมามากแล้ว แต่ทำไมน่าจะต้องทำให้ดีกว่านี้ ผมทราบว่ากำลังทำอยู่แล้ว ขอบคุณครับ ขอบคุณไว้ล่วงหน้าแล้วกัน กระทรวงศึกษาธิการ “ผลผลิต” ทั้งหมดนั้น จะสรุปรวบรวมไว้ทั้ง 4 คณะ แล้วก็ไปทำงานในประเด็นต่าง ๆ แล้วก็ทำโรดแมป บรรจุยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็ดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย
 

วันหน้าเราก็จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำกับดูแลติดตามงานเหล่านี้ที่เขียนไว้ให้แล้วว่า รัฐบาลหน้าจะทำกันอย่างไรต่อไป ก็เพียงแต่ประคับประคองไปให้ได้ การปรองดอง ผมเห็นพูดกันทั้งวันก็สนใจอยู่เรื่องเดียว การปรองดอง ก็ปรองดองอยู่ที่คน แล้วบังคับได้หรือไม่ ถ้าทุกคนไม่อยากปรองดอง ผมก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ฉะนั้นทุกคนก็ต้องช่วยตัวเองกันบ้าง เพื่อประเทศชาติโดยรวม หลายอย่างเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง
 

เรื่องของ PMDU บอกแล้วว่าเป็นตัวขับเคลื่อนในวันนี้เท่านั้น ก็ไปร่วมมือกับ กขป. อันเดิมที่มีอยู่แล้วเดิม ที่รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลอยู่ ก็จะได้ขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น “การจัดลำดับความเร่งด่วน” ในการทำงานของ ป.ย.ป. กขป. PMDU เราก็จะมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ของประเทศ คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อาทิเช่น
 

(1) การบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์วันนี้ก็ “ดีขึ้น” ตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างทันเหตุการณ์ ผ่านพ้นมา 2 ปีกว่าแล้ว
 

(2) เรื่องการหยุดการบุกรุกป่า การยึดพื้นที่ครอบครองโดยผิดกฎหมายคืน นำมาเป็นที่ดินที่ใช้ในการจัดสรรให้กับประชาชน เป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ในแนวทางใหม่ของคณะกรรมการนโยบายจัดที่ดิน ไม่ออกโฉนดให้ แต่เป็นพื้นที่ทำกิน
 

(3) การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ในทุกผลิตภัณฑ์ ทุกผลิตผลด้านการเกษตร ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่นาส่วนผสม ทั้งประมง ทั้งเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ก็รวมอยู่ในนี้ด้วย เป็นแปลงใหญ่ เราจะได้ส่งเสริมหลายอย่างให้ได้เป็นกลุ่ม ๆไป โดยใช้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วย ในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ
 

(4) มาตรการช่วยเหลือประชาชน เกษตรกรผู้ที่มีรายได้น้อยทุกกลุ่ม จากมาตรการช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน และมีมาตรการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในระยะยาวอย่างยั่งยืน หลายโครงการใช้งบประมาณจำนวนมากพอสมควร
 

(5) การขึ้นบัญชีช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อที่จะกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไปที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเหวี่ยงแหออกไป เหมารวมไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด แล้วจะเพียงพอหรือไม่ คนตั้ง 70 ล้าน วันหน้าก็มากขึ้นไปเรื่อย ๆ และไม่ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย สิ้นเปลืองงบประมาณ รั่วไหลได้
 

(6) การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย วันนี้เรามาดูว่า คนขาดแคลนที่อยู่อาศัยเท่าไหร่ หลายล้านครัวเรือน ผู้มีรายได้น้อยกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน เราก็ไปดูเรื่อง บ้านพัก อพาร์ทเม้นท์ แฟลตดินแดง ชุมชนริมคลอง ก็ทำให้ทั้งนั้น เป็นระยะเริ่มแรก ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด บ้านพักข้าราชการด้วย เพื่อการสวัสดิการต่าง ๆ ต้องค่อยๆ เริ่มไป ถ้าเราเอาทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ ในสลัม หรือในที่ที่ไม่น่าจะอยู่ ขึ้นไปอยู่บนแฟลต บนตึกได้ก็ดีเหมือนต่างประเทศเขาทำกัน ก็น่าจะดีกว่าอยู่แบบเดิม คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น
 

(7) การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาครูหลักสูตรนักเรียน ระบบการศึกษา ยกระดับอาชีวะศึกษา วันนี้มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และดูแลเรื่องการศึกษาด้วย 1 บริษัท : 1 อาชีวะ อะไรทำนองนี้ ก็ทำทั้งหมด มีการทำสัญญาร่วมกัน มีการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ จัดตั้งศูนย์การศึกษาต่าง ๆ การวิจัยพัฒนา ที่มาจากภาคอุตสาหกรรมด้วย ทางด้านการศึกษาก็มี ของรัฐก็มีด้วย วันนี้ต้องระดมทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถจัดหาเงินทั้งหมดไปให้การวิจัย และพัฒนาได้มากอย่างที่ทุกคนต้องการก็ต้องผสมผสานกันแบบนี้ จะได้ไม่ซ้ำซ้อน
 

(8) การตั้งศูนย์ดำรงธรรม ขึ้นมา 2 ปีครึ่ง ก็แก้ปัญหาต่าง ๆ ไปมาก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นล้าน ๆ เรื่อง ก็แบบเบ็ดเสร็จ แก้จุดเดียว ทั้ง คสช. ทั้งข้าราชการก็ลงไปแก้ทันที ถนนหนทางในท้องถิ่น ที่ไหนมีปัญหา ผมก็ดูจากข่าวทางทีวี หนังสือพิมพ์ ผมก็สั่งการลงไป เขาก็ลงไปทำให้ บางครั้งก็ติดเรื่องงบประมาณ ติดโครงการที่ยังไม่ผ่านการทำ EIA เหล่านี้ มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก อันนี้คือถนนหนทาง แต่ขนาดใหญ่ หลายอย่างติด EIA ทำไม่ได้ ประชาชนไม่ยินยอม ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ก็มีผลกระทบจากสิ่งที่ไม่ได้ทำ ก็ต้องไปหาทางทำให้ได้ในหลาย ๆ เรื่อง
 

(9) การลดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย เราก็ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม มีกองทุนยุติธรรม การติดตามและดูแลการคืนสู่สังคม (ของผู้พ้นโทษ) การดูแลผู้ต้องโทษเด็ก สตรี “โครงการกำลังใจ” ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชทาน มาทำด้วยในขณะนี้
 

(10) การส่งเสริมกลไกในการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานราก ชุมชน ได้แก่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด วิสาหกิจชุมชน “1 ธุรกิจ – 1 ตำบล” และการปรับปรุงระบบสหกรณ์ ซึ่งบางอย่างค่อนข้างจะไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องปรับตัวกันด้วย
 

(11) การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การสร้างห่วงโซ่คุณค่า – การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ
 

(12) การประมูลรถไฟฟ้า/รถไฟ หลายสิบปีทำไม่ได้ วันนี้ทำได้มากแล้ววันนี้ก็เลยทำให้ทุกอย่างประดังประเดมาอยู่ตอนนี้ รถก็ติดเวลาก่อสร้าง แล้วผมถามว่าที่ผ่านมาทำไมไม่สร้าง ทยอยสร้างมาก็ไม่ติดแบบวันนี้ ต้องเข้าใจ ถ้าต้องการวันนี้ท่านก็ต้องลำบากวันนี้ก่อน วันหน้าท่านก็สบาย ถ้าเอาวันนี้สบาย วันหน้าก็ต้องลำบาก คิดเอาเอง
 

เรื่องรถไฟฟ้าไทย-จีน มีการเดินหน้าพูดคุยเจรจา ก็ทำอย่างระมัดระวัง เราเป็นมิตรกันอยู่แล้ว อย่าคิดว่าเราไปเอื้อประโยชน์ให้เขา ทุกอย่างต้องเป็นธรรม
 

เรื่องการปรับปรุงรถไฟเดิม ก็จำเป็นต้องทำ ต้องซ่อม ซื้อใหม่ก็ซื้อ ซ่อมก็คือซ่อม อย่ามาตีกันทั้งหมดว่า รัฐบาลนี้ไม่เห็นทำอะไร เอารถไฟเก่ามาซ่อมอย่างเดียว ผลงานท่านไม่เคยดูอะไรเลยเวลาเขียนออกมา ก็ทำให้ผมหงุดหงิดอยู่เหมือนกัน
 

เรื่อง การปรับปรุง ขสมก. เรื่องทุจริตก็ทุจริตไป รับไม่ได้ก็รับไม่ได้ รับได้คือรับได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเหมือนกัน กฎหมายว่าอย่างไรก็ไปว่ากัน มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว
 

(13) เดินหน้าโครงการถนน มอเตอร์เวย์ วันนี้เราต้องเชื่อมต่อให้ได้มีการขยายโครงการเดิม ตัดเส้นทางใหม่ แก้ไขปัญหาจราจร ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้องสร้างสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ขึ้นมา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในประเทศสะดวกสบายขึ้น ขนส่งได้ดีขึ้น สัญจรไปมาได้ง่ายขึ้น รถไม่ติด ต่างประเทศก็อยากจะมาลงทุน เพราะเครือข่ายโลจิสติกส์เราดี
 

(14) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ICT และ Digital วันนี้หลายอย่างเป็นช่องทางในการแจ้งข่าวสารของทางรัฐบาล ถึงพี่น้องประชาชน ผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งแผนบริหารจัดน้ำ น้ำก็มีอยู่ ในเรื่องของระดับน้ำแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สภาพอากาศ เปิดดูด้วย แล้วข้อมูลที่ทางราชการ ทางรัฐอยากจะให้ทราบก็อยู่ในเว็ปไซต์ครับ หรือไม่ก็อยู่ในโทรศัพท์ เปิดหาเอา ถ้าไม่สนใจ แล้วจะมาบอกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นทำอะไร ก็ไม่ถูกนะ ฝากสื่อทุกสื่อช่วยไปเปิดดูด้วย ถ้าเปิดดูก็จะรู้ เอาอันนั้นมาติผมดีกว่าไปคิดเอาเองแล้วมาติ เรื่องการส่งเสริมการแข่งขันการทำธุรกิจในประเทศ การประกอบธุรกิจ การท่องเที่ยว เหล่านี้ ต้องพัฒนาหมด เราทำไปตั้งมากแล้ว แก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เห็นว่ารายได้เข้าประเทศมีจำนวนมากขึ้น แล้วไทยเป็นประเทศที่ทุกคนอยากจะมาเที่ยวในช่วงนี้ อย่าทะเลาะกันก็แล้วกัน
 

(15) การจัดการประมูล 4G วันนี้ก็เรียบร้อยไประดับหนึ่งแล้ว มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็ลองเปรียบเทียบดูแล้วกัน สมัยก่อนทำได้ประมาณ 4 หมื่น วันนี้เราทำได้เป็นแสนล้าน จากการประมูลเหมือนช่วงที่ผ่านมา วันนี้เราทำได้เป็นแสนล้าน นี่ทำให้โปร่งใส มีการแข่งขันที่เป็นธรรม สู้กันด้วยราคา ด้วยสิ่งตอบแทนกับประชาชน ก็ไปดูว่า มีความแตกต่าง
 

(16) กฎหมายการค้า กฎหมายอำนวยความสะดวก กฎหมายเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ซึ่งจะเป็นช่องทางการเรียนรู้ และให้ทุกคนได้รับทราบ เพื่อจะลดปัญหาการทุจริต โครงการทุกโครงการจะแพร่ไปอยู่ในเว๊ปไซต์ ลองไปดูทุกจังหวัด แล้วไปตามดูแล้วกันว่าตรงไหนที่ทุจริต แล้วมีหลักฐานมาก็ฟ้องร้องขึ้นมา ก็จะดำเนินการให้ ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการเขาก็ไปตรวจกันอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าวันนี้รัฐบาลนี้ไม่ได้รับการตรวจสอบ ตรวจสอบทุกวัน เห็นหรือไม่มีฟ้องศาล วันนี้เขาก็ฟ้องนายกรัฐมนตรีอยู่ ฟ้องรองนายกรัฐมนตรี ฟ้องใครอีก 6-7 คน อย่าไปเขียนแบบนั้น เขียนว่ารัฐบาลนี้ไม่มีการตรวจสอบ ต่างชาติเขาดูแล้วเขาจะรู้สึกยังไง เขาก็ไม่ไว้ใจ
 

เพราะฉะนั้น ก็ต้องส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ให้ง่ายต่อการลงทุน ถ้าบอกว่าไม่ให้อะไรเขาเลย แล้วเขาจะมาหรือไม่ เขาไม่มาแล้วรายได้จะเพิ่มหรือไม่ คิดแบบนี้หลักคิด แต่ก็ไม่ได้ว่าให้เขาไปเลย จนกระทั่งประเทศไทยสูญเสียทรัพยากรไปหมด ไม่ใช่ เป็นการเช่า ห้วงเวลามีอยู่ ในช่วงนั้นผลตอบแทนก็ต้องกลับมาสู่คนไทย
 

(17) การปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้เกิดความเท่าเทียม มีมาก บริโภคมาก ใช้มาก ก็มีขีดความสามารถในการเสียภาษีสูง ในส่วนที่มีรายได้น้อย บริโภคน้อย ก็อาจจะไม่เสียภาษี หรือว่าเสียภาษีต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ถ้าเขาใช้แบบฟุ่มเฟือย เขาก็ต้องไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเอง ถ้ามองอย่างนี้จะไม่ขัดแย้ง ทั้งคนรายได้มาก รายได้ปานกลาง รายได้น้อย มีหลักการอยู่แล้ว อย่ามาตีกัน
 

(18) ระบบงบประมาณใหม่ วันนี้ก็ทำ ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปีแล้ว วันนี้ทำใหม่ทั้งหมด มีการบูรณาการแยกงบประมาณออกมา อันไหนฟังก์ชั่น อันไหนงบประมาณ ที่จะต้องบูรณาการไม่ซ้ำซ้อน หลายหน่วยงานก็มาคิดร่วมกัน ให้มีประสิทธิผลมากขึ้น
 

(19) การบริหารราชการ มีการแบ่ง “งบประมาณพัฒนา” ออกไปในกรอบของ 6 ภูมิภาค ไปคุมดูว่า 6 ภูมิภาคจะโตยังไง จากนั้นก็ลงไปสู่ 18 กลุ่มจังหวัด ไปสู่ 76 จังหวัด กระจายออกไป แล้วเราก็มีการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มขึ้นตามจังหวัดชายแดน 10 จังหวัดเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายทางด้านเศรษฐกิจ และรวมความไปถึงโครงการขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกนะ ( EEC ) ที่เปิดตัวไปเมื่อวันก่อนนี้
 

(20) ระบบการเงินการคลัง เราก็จัดระเบียบใหม่ จัดทำกฎหมายใหม่ เช่น มีการทำพ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อจะช่วยป้องปรามการทุจริต แน่นอนอยู่ที่คน กฎหมายนั้นบังคับใช้ให้ดีแล้วกัน ให้เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เราก็จะได้มีการใช้จ่ายงบประมาณที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดความขัดแย้ง
 

(21) กฎหมายเพื่อสังคม (ยาเสพติด ทุจริต) กฎหมายตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ (IUU ICAO) เป็นร้อยฉบับนะทำออกมา กว่าจะสำเร็จ
 

(22) พระราชบัญญัติป้องกันภัยแห่งชาติ ที่ครอบคลุมภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศ ในวงรอบปี ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ของประชาชนทุกกลุ่ม เหล่านี้ก็ทำใหม่ทั้งหมด ผลิตออกมาเมื่อปี 2558 เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาภาคใต้จึงเร็วขึ้นไงเพราะมี พรบ. ตัวนี้ออกมา รู้งาน รู้หน้าที่ รัฐบาลก็ไปกำกับดูแลส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ก็เร็วขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน
 

(23) การบูรณาการศูนย์ข้อมูลน้ำและการพยากรณ์อากาศ วันนี้เรามีกว่า 30 หน่วยงาน งานที่ 23 ของเรา เช่น มีทั้ง สสวท. และ ศูนย์เมขลา และหน่วยงานที่อยู่ภายในกระทรวง ภายในหน่วยงานอื่น ๆ อีก ในพื้นที่ ในท้องถิ่น มากมายไปหมด วันนี้เราบูรณาการได้หมดแล้ว แล้วมีเปิดให้ดูในโทรศัพท์ได้ด้วย ลองไปหาดู
 

(24) การจราจรและการป้องกันอุบัติภัยทางถนน ก็คิดแนวทางวิธีการ ในการที่จะลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ก็ต้องไปดูทั้งคนขับ ดูทั้งรถ ดูทั้งบริษัท ข้อสำคัญประชาชนทุกคนก็ต้องร่วมมือกันด้วย รักษาตัวเองให้ได้ อย่าไปขับรถเร็ว ทำนองนี้ ก็เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รัฐบาลก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำได้อย่างเดียวคือบังคับใช้กฎหมาย ฉะนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเองด้วย
 

(25) e-Ticket ( “ใบสั่งแบบอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อลดปัญหาจราจร และอุบัติเหตุ) ที่เขาแก้ปัญหาจราจรได้ในระดับหนึ่ง
 

(26) การจัดระเบียบบ้านเมือง จัดระเบียบสังคม ชายหาด สถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว ก็จัดไปแล้ว ยังไม่ครบหมด หลายอย่างก็หลายคนก็ต่อต้านอยู่เหมือนกัน แต่ดีขึ้น ที่ทำไปแล้วเขาก็พอใจ
 

(27) การกวาดล้างยาเสพติด วันนี้หลายคดี คดีใหญ่ ๆ ทั้งนั้นที่จับกุมได้ ถ้าไม่นึกถึงว่า ที่จับไม่ได้อีกเท่าไหร่ ก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวัง แจ้งข่าว อะไรเหล่านี้ ไม่ต้องไปกลัวคนเหล่านี้ เราก็จะจับกุมได้เอง
 

(28) การดำเนินคดีที่สำคัญ ๆ ในอดีต ที่ปล่อยปละละเลย ละเว้น ก็ให้มีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายปกติ ผมไม่ได้ไปสั่งอะไรให้เอาเข้าไป ก็ต้องทำเท่านั้นเอง ที่ผ่านมาบางอย่างไม่ได้ทำ เพราะไม่ได้ให้เขาทำ วันนี้ผมให้ทำหมด
 

(29) การจำนำข้าว การเบิกจ่ายเงินค้างชำระ การระบายข้าว ทั้งหมดเหล่านี้ กำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมด นั่นคือปัญหาของประเทศเราที่ผ่านมาด้วย จะผิดจะถูกเป็นเรื่องของศาลไปว่ามา
 

(30) คดีทุจริตต่าง ๆ หลายคดีที่ไม่เป็นคดี ผมก็แปลกใจเหมือนกัน หลายอย่างมีความบกพร่อง จะต้องไปหาวิธีการมาในการที่จะต้องนำเข้ากระบวนการยุติธรรมให้ได้ เพราะจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือในวงการระบบการเงินการคลังของประเทศ อะไรก็แล้วแต่ต้องไปหาดู
 

(31) เราจะต้องมีการปฏิรูปเรื่องของศาสนาด้วย ปฏิรูปง่าย ๆ ก็คือทุกคนกลับมาใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางในการครองตนครองเรือนก็แค่นั้นเอง พระก็จัดระเบียบของตนเองให้เรียบร้อย ให้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนโดยทั่วไป ขจัดคนที่อยู่ในวงการพระที่ไม่ดีเอาออกไป เพราะฉะนั้นต้องมีหลักฐาน มีการทำงานทั้งหมด ในเชิงที่ต้องบูรณาการกันทั้งฝ่ายฆราวาสกับพระด้วย
 

(32) พ.ร.บ.สงฆ์ มีการแก้ไข แล้วทูลเกล้าฯ ขึ้นไปเสนอรายชื่อ จนเราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ในปัจจุบัน
 

(33) การแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นทางสังคม ทางเศรษฐกิจ สร้างสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ วันนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าอยู่ทั้งหมด
 

(34) การปรับปรุงเรือนจำ และการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
 

(35) การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจ การปฏิรูปตำรวจ การปฏิบัติตามขั้นตอน และกระบวนการคดีต่าง ๆ การสอบสวนต่าง ๆ ก็กำลังปรับปรุงอยู่ทั้งหมด แล้วผลการจับกุม การดำเนินคดี ก็มากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ ให้กำลังใจคนดีเขาบ้าง
 

เรื่องสุดท้ายเรื่องปรองดอง ทุกคนก็รู้อยู่แล้ว ปรองดองอย่างไร ทำไมต้องไปปรองดองให้กับคนบางคน คนบางกลุ่ม ปรองดองให้กับตัวเราเองไม่ดีกว่าหรือ ให้ประเทศชาติ ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ก็ไปได้หมด อย่าไปคิดแทนคนอื่น ปรองดองให้เขา เขาจะอย่างไร ก็เขาทำอะไรขึ้นมา เขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทำผิดกฎหมายก็ต้องรับกฎหมาย วันหน้าก็ให้อภัยกันอยู่แล้ว อย่าให้เราต้องมาบังคับกันเลย เรื่องการปรองดอง หันหน้าเข้าหากัน จับเข่าคุยกันรัฐ ประชาชน เจ้าหน้าที่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาคุยกัน แล้วทำยังไงเราจะปรับปรุงตัวเองให้ได้ ถ้าทุกคนปรับปรุงตัวเองได้หมด ก็ดีหมด รัฐบาลก็ปรับปรุง คสช. ก็ปรับปรุง ท่านก็ต้องยอมปรับปรุงตัวเองด้วย
 

เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มี “ข้อยกเว้น”ใดใดเลยในการทำงานวันนี้ ผมก็เสี่ยงนะ กับกองกฎหมาย กับการตรวจสอบต่าง ๆ วันหน้า ผมก็คิดว่าเราทำเพื่อแผ่นดิน ไม่เป็นไร ก็ต่อสู้ทางคดีกันไป หลายโครงการที่เราอนุมัติไปแล้วก็ถูก ถามมาจาก สตง. จาก ปปช. จากผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ก็ตอบกลับไป ชี้แจงกลับไป ถ้าชี้แจงได้ก็จบ ถ้าชี้แจงยังไม่ได้ ก็ไปแก้ไข แล้วรายงานให้ทำงานต่อไปได้ ใครทุจริต ก็ลงโทษ ฟ้องศาล ดำเนินคดี ก็มีอยู่แค่นั้น
 

อยากฝากข้อคิดสุดท้ายก็คือ เรื่องการสร้างความเข้าใจในกระบวนการประชาธิปไตย ต้องมีกรอบของรัฐ ของประชาชน ของปวงชน เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายถูกละเมิด แล้วรัฐควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ประชาชนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกกฎหมายที่มีอยู่แสดงว่าประชาธิปไตยเราเวลานั้นมีปัญหา กำลังไปสู่อนาธิปไตย และเราจะทำอย่างไร ที่จะไม่ไปถึงจุดนั้น รัฐ ประชาชน ปวงชน ต้องหาจุดพอดีให้ได้ กฎหมายมีเส้นแบ่งอยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าเราจะทำเกินเลยไป ต้องหยุด รัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ แก้ปัญหาให้ได้ โดยจะต้องไม่ให้ใครเดือดร้อน ต้องอยู่ในกรอบของสิทธิ เสรีภาพ ในกรอบของประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น การประท้วง การสร้างความวุ่นวาย ก็เกิดทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ผมก็อยู่ด้วยตลอด ก็ประท้วงกันไปมา อย่ามาโทษว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลย ผมอยู่ตรงกลาง ผมเห็นทั้งคู่ แต่ฝ่ายใดที่ทำความเสียหายให้กับรัฐ ให้กับสถานที่ราชการ ให้กับศาล ก็จำเป็นที่ต้อง มีการใช้เจ้าหน้าที่คอยดูแล แต่ถ้าประชาชนต่อประชาชน ก็ต้องไปแก้ไขตรงนั้น รัฐบาลก็ต้องแก้ ก็ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน ต้องไม่ใช้อาวุธ ถ้าหยุดได้ตรงนั้นพอดี ก็สามารถใช้กระบวนการประชาธิปไตยปกติ ในการแก้ไขปัญหาได้ และทุกฝ่ายยอมรับ มีกลไกของสภาผู้แทนราษฎร มีไปสู่การเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาลใหม่ เหล่านี้เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนี้ ขัดแย้งกันไปกันมา ประท้วง บานปลายไปสู่การใช้อาวุธ และท้ายสุดก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ จะให้ทหารไปปราบฝั่งโน้น ฝั่งนี้ ไม่ได้ ที่ทหารเขาออกมาครั้งก่อนนั้นเพราะว่า ใครที่ยิงเข้าวัด ยิงเข้าสถานที่ราชการ ยิ่งเข้าคลังน้ำมัน ไปหาเอาเอง ฉะนั้นวันนี้ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายเหมือนวันนั้นอีก ที่ผมพูดมาไม่ต้องการที่จะไปเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง ผมพูดให้คนคิด ให้เข้าใจ แล้วก็แก้ไขกัน อย่าให้เกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นรัฐบาล ปวงชน ประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดทหารเราเข้ามานั้นเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ที่ลุกลามไปแล้วไปสู่การจลาจล ไปสู่การใช้อาวุธ มีการบาดเจ็บ สูญเสีย เราถึงต้องเข้ามา ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย
 

ขอบคุณครับ ขอให้ ทุกคนมีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วันนี้ก็พยายามฟังบ้าง เพราะผมพูดเร็ว หลาย ๆ เรื่องจำเป็น ขอขอบคุณและขอโทษ ถ้าหากว่า ไม่เข้าหูใคร ขอโทษ สวัสดีครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้