รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1367 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2560 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ปีที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 20 มกราคมนี้ รวมเป็นระยะเวลาครบ 100 วัน แห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของ ประเทศไทย และปวงชนชาวไทยทุกคน จากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งรวมไปถึงชาวต่างชาติ ต่างเดินทางมาแสดงความจงรักภักดี ที่ไม่มีวันเสื่อมคลายและพร้อมใจกันถวายสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน
แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระเกียรติยศ และ “ศาสตร์พระราชา” ของพระองค์ ที่ได้พระราชทานไว้แก่คนไทย ตลอดระยะเวลา 70 ปี จะยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทย ตลอดไป ในการนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ได้ร่วมกันทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และสานต่อพระบรมราชปณิธาน ในการที่ร่วมกัน “รู้ รัก สามัคคี” เดินหน้าประเทศ ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ตามวิสัยทัศน์ของเรา ก็คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ปัจจุบันสถานการณ์ “น้ำท่วม” ในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระราชหัตถเลขา เพื่อให้กำลังใจประชาชนผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ความว่า “ด้วยความรักและห่วงใย ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อความสุข ขวัญที่ดี จิตใจและร่างกายที่เข้มแข็ง นำมาซึ่งความสุข และความมั่นคงของชาติ” ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แสดงถึงความรัก ความห่วงใย ของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สำคัญ เป็นการสะท้อนถึงความผูกพัน ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนคนไทย มากว่า 700 ปี
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางเพิ่มเติมให้กับรัฐบาล ในการทบทวน “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างยั่งยืน มาพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม และบังเกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อความสุขของประชาชน และความมั่นคงของชาติ ซึ่งผมได้สั่งการไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ตลอดห้วงเวลาที่เกิดอุทกภัยในครั้งนี้ รัฐบาลก็ได้สร้างกลไกในการทำงาน ตั้งแต่ระดับชาติ ลงไปถึงระดับปฏิบัติ ในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การบริหารจัดการ และการผลักดันความช่วยเหลือ ไปสู่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างอย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงทีและไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งการจัดกิจกรรม “ประชารัฐร่วมใจ ช่วยอุทกภัยภาคใต้” เพื่อเป็นการระดมความช่วยเหลือจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ในการช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และบริหารโดย “กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี” เพื่อให้การดำเนินการ คล่องตัวและโปร่งใส ปัจจุบันมียอดเงินบริจาค รวมทั้งสิ้นเกือบ 500 ล้านบาท
จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งรายงานจากหน่วยงาน ทั้งข่าวสารจากสื่อมวลชน “ทุกแขนง” ผมได้เห็นภาพแห่งความประทับใจของความร่วมมือในรูปแบบ “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และจิตอาสาในการช่วยเหลือเกื้อกูล การแจกจ่ายแบ่งปัน และการไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ในการที่จะนำพา “สิ่งของบริจาค” และ “ความช่วยเหลือ” ในทุกรูปแบบ ไปให้ถึงผู้ประสบภัยให้จงได้ ในโอกาสแรก ๆ ที่เป็นไปได้ เพื่อสร้าง “รอยยิ้ม บนคราบน้ำตา” สะท้อนความรัก ความเอื้ออาทร อันเป็นเอกลักษณ์ของ “คนไทย” มาช้านาน หลายสถานประกอบการ หรือหน่วยงานราชการต่าง “เปิดประตู” ต้อนรับพี่น้องผู้ประสบภัย ที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” ซึ่งผมก็ขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

ปัจจุบัน มีอีกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ในทุกมิติ ที่ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชน ผู้ประสบภัยได้รับทราบ เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาส พลาดสิทธิประโยชน์ ที่พึงจะได้รับไป อย่างน่าเสียดาย เช่น

(1) มาตรการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายจริง เป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้าน อาคาร หรือห้องชุดไม่เกินหนึ่งแสนบาท และเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ ไม่เกินสามหมื่นบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560

(2) มาตรการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน และมาตรการให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

(3) มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 1 ปี และงดคิดดอกเบี้ยปรับ

(4) มาตรการ “สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน” ของธนาคารออมสิน วงเงินครอบครัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท และสำหรับลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้นได้ไม่เกิน 2-3 ปี

(5) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตน ของสำนักงานประกันสังคมในการลดการจ่ายเงินสมทบ เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค. - มี.ค. 60) โดยขยาย เลื่อนเวลา ส่งเงินสมทบ โดยไม่ลดสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด

(6) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้าง แบบเคลื่อนที่ จำนวน 200 ศูนย์ให้การบริการประกอบด้วย ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมเหล่านี้ เป็นต้น

ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทุกฝ่าย ที่ได้แสดงความมีน้ำใจ ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้นำในพื้นที่และก็หน่วยงานของทุกกระทรวงในพื้นที่ที่ได้ดำเนินการต่างนโยบายของรัฐบาลมาอย่างดียิ่ง ขอบคุณทุกคนได้มีส่วนร่วมแสดงน้ำใจ มีความขยันอดทนเพื่อจะร่วมมือกันในการแสดง “พลังประชารัฐ” ที่แฝงอยู่ในเลือดเนื้อคนไทย พร้อมที่จะร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เดือดร้อน

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

เราทุกคนต่างรู้ดี และก็ต่างก็ปรารถนาว่า สักวันหนึ่ง ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง จะไม่มีอะไรติดค้างกันในใจ ไม่มีอดีตที่เจ็บปวด มีแต่อนาคตอันสดใส วันนี้ เราก็ต่างเรียกร้อง “การปรองดอง” ซึ่งจำเป็นต้องรับฟังทุกฝ่าย ทั้งความเห็นตรง ทั้งความเห็นต่างทั้งจากนักกฎหมาย พรรคการเมือง นักการเมือง ประชาสังคม ประชาชน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะหาคำตอบของประเทศให้ได้ว่า เราจะเดินหน้าประเทศไทยไปข้างหน้า และช่วยกันได้อย่างไร

เจตนารมณ์ของ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็คือ อยากเห็นทุกฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง “หันหน้าเข้าหากัน” ร่วมมือกับประชาชนทุกคน ผลักดันประชาธิปไตยที่แท้จริงสู่สังคมไทย และนำพาบ้านเมืองสู่ความสงบสุขและสันติ เราเสียเวลากันมามากแล้ว เราต้อง “จับเข่าคุยกัน” แสดงความจริงใจ ความเสียสละ และแสดงความรักชาติ ที่ผมเชื่อว่ามีอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคน ได้ช่วยกันหาแนวทางเดินหน้าประเทศ ด้วยความปรองดอง ในทุกมติ ทั้งความคิด จิตใจ การบังคับใช้กฎหมาย และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตที่เป็นไปได้จริง แสดงให้ลูกหลานเห็นว่า “ทุกปัญหามีทางออก” ไม่ใช่ว่า “ทุกทางออก...มีแต่ปัญหา” ต้องหาให้เจอ แล้วดำเนินการให้ได้ อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน เรารู้ว่าไม่ง่ายเหมือน “พลิกฝ่ามือ” แต่ก็ต้องเริ่มนับ “1” วันข้างหน้าก็จะครบ “100” หรือสมบูรณ์ ในที่สุด
หลังจาก 2 ปีกว่าที่ รัฐบาลและ คสช. ได้ดำเนินการร่วม กับ “แม่น้ำ” ทั้ง 5 สาย ในมิติที่แตกต่างกันซึ่งแต่ละฝ่ายรับผิดชอบ “คู่ขนาน” กันไป พร้อม ๆ กัน โดยไม่รีรอ แต่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างการรับรู้เป็นระยะ ๆ อีกทั้ง เราจำเป็นต้องสร้าง “ความเชื่อมโยง” นำสิ่งที่แต่ละฝ่าย แม่น้ำแต่ละสาย ได้ทำไว้ ซึ่งแยกย่อยเป็นกิจกรรมย่อย ๆ หลายกิจกรรม เราจะนำกิจกรรมเหล่านั้น “ทั้งหมด” มาจัดกลุ่ม จัดระเบียบ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ภายใต้กรอบใหญ่ กรอบใหม่ที่ร่วมกันกำหนดขึ้น เพื่อให้เกิด “ความประสานสอดคล้อง” ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริม หรือเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการปฏิรูปของ สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) การร่างยุทธศาสตร์ชาติ และงานในความรับผิดชอบของ กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) เราจะเอาทุกอย่างที่กล่าวมานั้นมาต่อเป็น “จิ๊กซอว์” เดียวกัน ที่สมบูรณ์ เติมเต็มกัน เป็น “ภาพอนาคตประเทศไทย” ที่เราอยากเห็น เป็นความหวังของเรา เป็นสิ่งที่เราให้เป็น เป็นสิ่งที่เราเป็นในวันนี้ ช่วยกันสร้างไว้ ให้กับลูกหลานในอนาคต
โดยปัจจุบันนั้น มีสิ่งที่ทำแล้ว สำเร็จแล้ว เริ่มต้นแล้ว และอาจต้องทำต่อ หรือยังไม่ได้ทำ แต่ริเริ่มไว้ เตรียมการไว้ เพื่อส่งต่อ ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ต้องนำมาดำเนินการ ให้มีผลในทางปฏิบัติให้ได้เร็ว ๆ โดยอาจะบรรจุไว้ในแผนงานโครงการ มีงบประมาณรองรับในชั้นต้น โดยจัดลำดับความเร่งด่วน ให้ความสำคัญ ให้มีความชัดเจน และทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน มีเป้าหมายร่วมกัน แล้วมีการทำงานอย่างเป็นขั้น เป็นตอน ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ที่จะสร้างความยั่งยืน ในรัฐบาลต่อ ๆ ไป พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการร่างรูปแบบของการทำงานของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จะจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญ “ใหม่” ฉบับถาวร ทั้งนี้ เพื่อให้การ “เปลี่ยนผ่าน” ประเทศ และ “ส่งต่อ” แผนงาน โครงการที่รัฐบาลนี้ และ คสช. ได้เริ่มไว้แล้ว ไปยังรัฐบาลต่อไป อย่าง “ไร้รอยต่อ” จึงมี “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” ที่เรียกว่า (ป.ย.ป.) จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันสำหรับดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะเป็นการวางรากฐาน การเตรียมการสู่อนาคต เพื่อให้มีการเดินหน้าประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีความต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า “จุดเริ่มต้น” ของความปรองดองนั้น ก็คือ ความเข้าใจ อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือเพื่ออยู่อย่างสันติสุขในอนาคต สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากให้ทุกคนได้คิด อาจจะเป็นอุทาหรณ์ เพื่อความเข้าใจซึ่งกันแล้วกัน ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ที่ผ่านมานั้น ในยามที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ก็มักจะมีการรวมกลุ่ม ตั้งเวที ปิดถนน เรียกร้อง ต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา เอาประชาชนเป็น “ตัวประกัน” เอาความเดือดร้อนจากการจราจรเป็น “เงื่อนไข” เร่งรัดให้ต้องมีการดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะมี “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ไม่หวังดีหรือหวังดีต่อสังคมก็ตาม และอาจจะเป็นผู้ที่หวังผลทางการเมือง แบบนี้ เป็นแนวทางที่ไม่ปรองดอง และนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน แนวทางที่ถูกต้อง ปรองดอง และยั่งยืน ซึ่งอยากจะบอกให้ทุกคนทราบก็ คือ (1) ประชาชนทั่วไปต้องเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรเสียก่อน เมื่อเข้าใจกัน ก็พอจะให้อภัยกัน ไม่โกรธกัน (2) การปิดถนนเป็นการกระทำผิดที่กฎหมาย เพราะละเมิดสิทธิผู้อื่น

ดังนั้น ผู้กระทำผิด โดยเฉพาะที่อยู่เบื้องหลัง ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ยกเว้นไม่ได้ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิดอีก เนื่องจากจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และหากปล่อยให้เกิดขึ้น ก็จะเป็น “ตัวอย่างผิด ๆ” เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ในสังคมไทย และ (3) เราต้องให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร ถึงช่องทางสื่อสาร “ที่ถูกต้อง” กับผู้ที่รับผิดชอบ เช่น รัฐบาลปัจจุบันมี OSS ศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567) เป็นต้น จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือของใคร ที่ไม่หวังดี และไม่ทำผิดกฎหมายอีก ทั้งเจตนาและไม่เจตนา

ทั้งนี้ หากทำได้ ตาม 3 ข้อนี้ก่อน ผมเชื่อว่า ปัญหาก็จะไม่บานปลาย ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย,เจ้าหน้าที่ก็เอาเวลาไปแก้ปัญหาดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” แล้วความเข้าใจก็จะเกิด “ความปรองดอง” ก็จะอยู่คู่สังคมไทยอยู่เสมอ พูดง่าย ๆ การปรองดอง ก็คือการร่วมกันคิดว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรต่อไปเมื่อเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทหารไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ ที่ผ่านมาเมื่อทุกอย่างติดล็อก จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ อาจจะมีการกล่าวอ้างกัน ทุกคนทราบดีแก่ใจ ก็อยากให้พิจารณาให้ลึกซึ้ง
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ

ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศ มีบทบาทกับชีวิต และอารมณ์ของคนในสังคม ส่งผลให้ “คนไทย” เรามักนิยมความหวือหวา ชอบความสะใจ ชอบตามกระแส อยากเด่นอยากดัง อยากได้เร็ว ๆ หรือมีความอดทนน้อย อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดา และเข้าใจได้ หากสิ่งที่ทำหรือแสดงออกไป เป็นเพราะต้องการมีชีวิตที่ “ดีขึ้น” รัฐบาลเองไม่ได้ปิดกั้น แต่ก็พร้อมที่จะส่งเสริม ตราบเท่าที่การกระทำเหล่านั้น ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่หากเป็นต้นเหตุของปัญหา กระทบต่อผู้คนในสังคมและส่วนรวมแล้ว รัฐบาลก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ด้วยความเป็นธรรม และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ บางปัญหาที่ง่าย ก็ อาจจะแก้ไขได้โดยเร็ว บางปัญหาที่สลับซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย ก็ต้องมีการบูรณาการ การบูรณาการในเรื่องข้อกฎหมาย หลายฉบับนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้เวลา ใช้ทั้งนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่รัฐบาลนี้ ยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศเสมอมา เช่น ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาร้องทุกข์ ให้กับพี่น้องประชาชน ของ “ศูนย์ดำรงธรรม” ที่สามารถขจัดปัญหาได้ ในระยะเวลาอันสั้น มากกว่าร้อยละ 90 “ที่เหลือ” ก็ต้องค่อย ๆ หาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา ต้องช่วยกันอดทน

การแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศ ในปัจจุบัน ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็น อย่างเปิดกว้าง และเป็นธรรม รัฐบาลและ คสช. เต็มใจที่จะเป็น “สะพาน” เชื่อมโยงความเห็นจากทุกฝ่าย - ประสานความหวังให้เป็นหนึ่งเดียว และเป็น “ตัวกลาง” ในการผนึก “พลังประชารัฐ” เพื่อทำความต้องการของเรา ให้เป็นความจริง เพราะหากมีความต้องการ แต่ก็อ้างว่าทำกันไม่ได้ แล้วไม่เริ่มลงมือทำ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ แล้วผมก็เชื่อว่า “ไม่มีอะไร ที่เป็นไปไม่ได้” หากแต่เราทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไข “ปัญหาร่วม” ของพวกเรา ในทุกขั้นตอน อาทิเช่น (1) ประชาชนเสนอความต้องการ (2) รัฐบาลสนองตอบประชาชน ด้วยการกำหนดกติกา มาตรการ นโยบายสาธารณะ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมาย ในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งทั้ง 2 ประการ ต้องการ “จิตสำนึก” และ “ความร่วมมือ” เป็นพื้นฐาน ทั้งสิ้น

สำหรับปัญหาสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ผมพอสรุปได้ดังนี้

  1. การสร้างความขัดแย้ง การกระทำความผิด ละเมิด ไม่เคารพกฎหมาย การบิดเบือนข้อเท็จจริง การกล่าวอ้างหลักการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน โดยดึงเอามาประเด็นเดียวกัน โดยมีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝง ไม่จริงใจ ไม่ตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวม ยังมีอยู่
  2. การแก้ปัญหาประเทศในทุกมิติ เป็นการแก้ปัญหา ที่เน้นการใช้จ่ายงบประมาณในมาตรการระยะสั้น และชั่วคราว ซึ่งเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้มากนัก มีการอ้างสิทธิมนุษยชนโดย NGO บางกลุ่มที่ทำงานหวังผลด้านเดียว ไม่มองในแง่ประเทศชาติ ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร (มีการค้านทุกเรื่อง) รัฐบาล ข้าราชการ ก็จำเป็นต้องทำอย่างโปร่งใส และให้ประชาชนพึงพอใจด้วยความรู้ความเข้าใจ
    เช่น ปัญหาเรื่องพลังงาน การใช้ที่ดิน การพัฒนา – การแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย เพื่อจะรองรับอนาคต โดยไม่ให้ความสำคัญกับ “การป้องกัน” แต่กลับไปเน้น “การลงโทษ” เราต้องแก้ไขใน เรื่องการพัฒนาด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำให้พอใช้ โดยใช้ Agri-map สำหรับบริหารจัดการเกษตรไทย โดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตรและด้านการพาณิชย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จำเป็นต้องคำนึงถึงสมดุลของทรัพยากรการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ผลผลิต อุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งปัจจัยการผลิต ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถคาดการณ์ในอนาคตได้อย่างครบวงจร
    การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รถไฟ รถไฟฟ้า หรืออื่น ๆ โดยอาจจะอ้างว่าห้ามทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นอย่างเดียว ไม่ฟังเหตุผล เราก็จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ได้ เช่น กรณีปัญหาน้ำท่วมที่ขาดการระบายน้ำ มีการก่อสร้างขวางเส้นทางน้ำอะไรเหล่านี้ ติดขัดบ้านเรือนประชาชน เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพ เราจึงมีการพิจารณาแก้ปัญหา และการพิทักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล โดยใช้ประโยชน์อย่างประหยัดละคุ้มค่า
  3. การแก้ปัญหาความยากจน เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ หลายฝ่าย รวมทั้งประชาชน อาจจะยังไม่เข้าใจในระบบเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุคใหม่ ที่ดีเพียงพอ ยังคงเอาหลักการใหญ่ พัฒนาองค์รวม มาตีกับเศรษฐกิจฐานราก “ผู้มีรายได้น้อย” กับคนรวย กับทุนนิยม เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นงานด้านเศรษฐกิจของโลกเสรี ที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นอย่างนี้ทุกประเทศ สำคัญที่เราจะเชื่อมโยง เกื้อกูลอย่างไร หลายฝ่ายอาจจะมาโจมตีเป็นส่วน ๆ ก็ไปไม่ได้ ที่จะกลับมาที่เดิม ย้ำเท้าอยู่กับที่ พัฒนาอะไรไม่ได้เลย
    ใช้งบประมาณช่วย “ผู้มีรายได้น้อย” เกษตรกร อาชีพอิสระ ฯลฯ ไปทีละปัญหา ทีละปี ๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใช้งบประมาณในการสร้างมูลค่า ความเข้มแข็งเพิ่มเติม ใช้เป็นมาตรการเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประชาชนก็ไม่เข้มแข็ง ประเทศก็ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน
    ทุกปัญหาเหล่านี้ เราต้องร่วมมือกันว่า อะไรคือสาเหตุ รัฐ ประชาชน เอกชน เป็นอย่างไร เข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ เอา 3 อย่างมาขัดแย้งกัน โดยสื่อ นักวิชาการ “บางคน บางกลุ่ม” ที่มีจิตเจตนาแอบแฝง เลือกข้าง หรืออาจะมองแต่เพียงประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน โดยไม่สนใจว่าประเทศจะเป็นอย่างไร มีการพูดโดยไม่รับผิดชอบ ผู้ที่รับผิดชอบ เดือดร้อน ก็คือ รัฐบาล ประชาชน ประเทศชาติ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเหล่านี้บ้าง ซึ่งอาจจะกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่เปิดโอกาส รัฐบาลผมเองนั้นเปิดโอกาสตลอดเวลา ให้คำแนะนำหรือการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งอย่างนั้น ผมก็ยอมรับไม่ได้ เพราะสถานการณ์ต้องการความสงบเรียบร้อย ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเราก็ยังคงต้องดูแลอยู่บ้าง เพราะเรามีประสบการณ์กันมาแล้ว
    เมื่อพูดกันอยู่นอกกรอบกันเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็เกิดความขัดแย้ง เช่นในอดีตขึ้นมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีต่าง ๆ เรื่องทางกฎหมายต่าง ๆ ก็อาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งในสังคมของเรา ให้ประชาชน ให้สาธารณชนเกิดความไม่สงบเรียบร้อยนะครับ แล้วก็หลายคน บางคนก็อาจจะมุ่งหวังให้มีการลุกลามบานปลาย โดยการสร้างการรับรู้อย่างผิด ๆ ให้กับองค์กรโลก ประชาคมโลก ว่ารัฐบาลนี้จำกัดตามกฎหมาย สิทธิ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้ง ๆ ที่เรามีกฎหมายอยู่ทุกฉบับ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษแต่อย่างใด ก็สามารถที่จะทำได้ แต่ทุกคนไม่ร่วมมือ ทุกคนก็พยายามหาทางออกหาจุดอ่อนของกฎหมาย เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความผิดที่นานาอารยประเทศ ต่างก็เห็นตรงกัน ว่าเป็น “ความผิด” การสร้างความเดือดร้อน การสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ไม่คิดจะเคารพกฎหมาย พอเจ้าหน้าที่เข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะใช้กฎหมายปกติ หรือกฎหมายพิเศษ ก็มักจะตีโพยตีพาย หาว่าจำกัดสิทธิ ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง ไปดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ อ่านกฎหมายบ้างหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราคงไม่ต้องการให้บ้านเมือง “ไร้ขื่อแป” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่อยากให้ใครใช้เพื่อการหวังผลการเมือง มุ่งประโยชน์ส่วนตน แล้วก็อ้างคำว่าประชาธิปไตย “สร้างภาพ จอมปลอม ไม่จริงใจ แอบแฝง” รวมทั้ง สิทธิมนุษยชนที่อาจจะทำผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ละเมิดสิทธิสาธารณะ ขณะที่ประชาชน “เกิน 90%” เขาปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ก็ต้องพลอยได้รับผลกระทบ เดือดร้อน โดยมีแกนนำ กลุ่มบุคคล บุคคลไม่กี่คน ที่ยังจะคงทำลายประเทศของตัวเองต่อไป อาจจะด้วยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง
    ผมก็ได้แต่เพียงขอร้องให้สังคมประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ช่วยกันคิดว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราจะยอมให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทำอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ แล้วกล่าวว่าทหารเข้ามาทำให้ประชาธิปไตยเสียหาย ประชาธิปไตยเสียหายตั้งแต่ก่อนผมเข้ามาแล้ว การที่ผมเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้นั้น ได้แก้ปัญหาที่พวกท่านได้สร้างปัญหาไว้มากมาย ก็ขอให้ยอมรับตัวเองกันบ้าง คนดีก็มาก คนไม่ดีก็เยอะ
    สุดท้ายนี้ ผมขอความร่วมมือประชาชน “ผู้ที่รักประเทศชาติ” ได้ร่วมกับรัฐบาล ในการเดินหน้าประเทศ ตามยุทธศาสตร์ ปฏิรูปประเทศ และสร้างการความปรองดอง ในสิ่งที่ควรจะทำได้ โดยไม่ต้องบังคับ ไม่ออกนอกกรอบกฎหมาย อ้างประชาธิปไตย ก็คือปรองดอง ไม่มีความผิด เป็นไปไม่ได้ผมว่า “ไม่ใช่” ไปหาตนเองให้เจอ ทั้งรัฐบาล ข้าราชการ ผู้กระทำผิดกฎหมาย นักการเมือง (บางคน) สื่อ (บางสำนัก) ฯลฯ โดยเฉพาะประชาชน “ผู้บริสุทธิ์” ที่ต้องการ “ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ทั่วประเทศ ถามเขาหรือยังว่า ที่เรียกร้องกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นกระบวนการปรองดอง ว่าเขาต้องการอย่างไร มีความเห็นอย่างไร ผมจะรับฟังทุกภาคส่วน อย่าเอาความต้องการตัวเองมาชี้นำให้สังคมวุ่นวาย รัฐบาลและ คสช. จะอำนวยความสะดวกในเรื่องเหล่านี้ ในเวทีที่เปิดการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นนี้ ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สวัสดีครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้