Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1656 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2560 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ อัญเชิญถุงยังชีพพระราชทานสิ่งของพระราชทานและชุดธารน้ำใจสภากาชาด สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งทรงห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่ความช่วยเหลือของทางราชการ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เข้าไปยังไม่ถึงหรือเข้าถึงช้า ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นมีความยากง่ายในการให้การช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ส่วนการจะส่งเงินไปมอบให้กับประชาชนก็ยังไม่สามารถนำไปซื้อข้าวของได้ จะส่งข้าวสารไป ก็ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ ในการหุงต้ม จึงทำให้ลำบาก แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือ ก็ได้มีการบริจาคข้าวชนิดที่พร้อมรับประทานไปแจกจ่ายในพื้นที่บ้างแล้ว ทั้งนี้ ตามที่คณะองคมนตรีได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งฯ ในเรื่องอุทกภัยภาคใต้เดินทางมาหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็รับแนวทางพระราชทานใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปดำเนินการต่อไป
ปัจจุบันรัฐบาลยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหา เพื่อลดระดับความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สถานการณ์พื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้ง 12 จังหวัดภาคใต้ “ดีขึ้น” โดยลำดับ อย่างไรก็ตามจากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยายังคงต้องเฝ้าระวัง และเตรียมการป้องกันและแก้ไขต่อไปด้วยนะครับ อย่าประมาทจากต้นเดือนมกราคมเป็นต้นมา มีฝนตกต่อเนื่องซ้ำเติม สถานการณ์อุทกภัยที่มีระดับความรุนแรง “เพิ่มขึ้น” รัฐบาลจึงได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยจาก “ระดับ 2 ขนาดกลาง” เป็น “ระดับ 3 ขนาดใหญ่” โดยได้มีคำสั่งตั้งกลไกการทำงาน “ระดับชาติ” และ “ระดับพื้นที่” สำหรับบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ไม่ซ้ำซ้อน ที่สำคัญคือสามารถตอบสนอง “ทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน” ได้อย่างทันท่วงที ดังนี้
1. กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนกลาง) ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่ควบคุมบัญชาการสถานการณ์ และระดมสรรพกำลัง จากทุกหน่วย ทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศเข้าไปเสริมกำลังช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องผู้ประสบภัย กว่า 1 ล้านคน ราว 3 แสน 7 หมื่นครัวเรือน ใน 12 จังหวัด ปัจจุบันมีกำลังพลจากทุกหน่วยกว่า 4,000 นาย เรือไฟเบอร์และเรือท้องแบน 671 ลำ รถยนต์บรรทุก 142 คัน เครื่องผลักดันน้ำ 107 เครื่อง เครื่องน้ำ 200 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 16 เครื่อง รถสูบส่งน้ำระยะไกลแรงดันสูง 18 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 12 คัน รถไฟส่องสว่าง 11 คัน สะพานแบลีย์ขนาดใหญ่ 3 สะพาน เฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ เหล่านี้เป็นต้น
2. กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เพื่อดูแลพื้นที่ภาคใต้ “ตอนบน” และเขต 12 สงขลา เพื่อดูแลพื้นที่ภาคใต้ “ตอนล่าง” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ในการเชื่อมโยงการปฏิบัติจากส่วนกลางกับหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ ซึ่งมีการจัดตั้ง “ศูนย์ย่อย” ในแต่ละจังหวัด เพื่อเกาะติดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ของตน โดยได้แบ่งพื้นที่การปฏิบัติตามลักษณะ -ระดับความรุนแรงของปัญหา เป็น 3 ลักษณะ คือ (1) พื้นที่วิกฤติ (2) พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษและ (3) พื้นที่คลี่คลาย เพื่อให้สอดคล้อง กับการจัดสรรทรัพยากร เข้าไปดำเนินงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ ซึ่งดูแล แก้ไข และจัดการกับปัญหา ความเสียหายใน “ทุกมิติ” นอกเหนือจากตัวผู้ประสบภัย ที่มีความต้องการ น้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน การรักษาพยาบาล และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแล้ว ยังคงต้องดูแลในเรื่องพื้นที่เกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐาน “ทุกระบบ” รวมทั้งโทรคมนาคม สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ โบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ เป็นต้น
สำหรับหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนนั้น ได้มีมติเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่เคยปฏิบัติเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานครและบางจังหวัดในภาคกลาง ในปี 2554 เช่น การช่วยเหลือผู้เสียชีวิตรายละ 50,000 บาท บ้านเสียหายทั้งหลัง จะสร้างบ้านหลังใหม่ทดแทน ส่วนบ้านที่เสียหายบางส่วนจะมีการซ่อมแซมให้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้กลับสู่วิถีชีวิตปกติในเร็ววัน ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง รวมทั้งการเยียวยาความเสียหายพืชผลทางการเกษตร และการซ่อมแซม บูรณะสถานที่ต่าง ๆ ด้วย
3. ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็น “ศูนย์กลาง” ในการรวบรวมเงินบริจาคของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ สำหรับจัดส่งให้จังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้จ่าย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยประชาชนในทุกภาคส่วน หากประสงค์จะช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในครั้งนี้ สามารถบริจาคเงินเข้า “กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบธารณภัย” สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือภาคีเครือข่าย อีก 3 แห่ง ได้แก่ กองทัพเรือ การยางแห่งประเทศไทย และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยดังกล่าว สามารถนำใบเสร็จรับเงินการบริจาคฯ ณ ศูนย์แห่งนี้ของรัฐบาลหรือช่องทางอื่น ๆ เป็นเอกสาร สำหรับการขอลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ของยอดเงินบริจาคอีกด้วย กรณีที่มีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่โทรสายด่วน 1111 ได้
นอกจากนี้ เพื่อให้การดูแลทุกข์สุขพี่น้องผู้ประสบภัยในครั้งนี้ มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ได้ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มอีก 50 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 150 ล้านบาท และในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัยอีก 50 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 100 ล้านบาท ต่อจังหวัด เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบ อย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างขึ้น สำหรับใช้จ่ายซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือยานพาหนะพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ รวมถึงความจำเป็นในการจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงอย่างรุนแรง มีน้ำป่าไหลเชี่ยวกราก ดินโคลนถล่ม เป็นต้น ผมขอขอบคุณคนไทย “ทุกคน” รวมทั้งเอกชนและทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันแสดงน้ำใจ เห็นอกเห็นใจพี่น้องชาวใต้ อีกทั้ง ร่วมกันบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ที่จำเป็นและปัจจัยในการดำรงชีวิตต่าง ๆ สำหรับผู้ประสบภัยอยู่ในอยู่ขณะนี้ และผมขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ป้องกันภัย และอาสาสมัครทุกคนที่ทุ่มเทเสียสละในการทำงานด้วยความสำนึกที่ว่า “ประชาชนรอการช่วยเหลืออยู่ข้างหน้า แม้นาทีเดียว ก็ไม่อาจรอได้” ผมก็ขอให้ใช้ความระมัดระวัง และความไม่ประมาทในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และขอให้ทุกคนปลอดภัยมีสวัสดิภาพ
สำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเอง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำและให้ความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุก ๆ คน ซึ่งจะช่วยให้ทางราชการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การดูแลคนใกล้ชิด สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา รัฐบาลเองก็จะเฝ้าติดตามสถานการณ์และทำหน้าที่ของรัฐบาลให้ดีที่สุด ส่วนการแก้ปัญหา “น้ำท่วม” อย่างยั่งยืนนั้น ผมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ได้เก็บข้อมูลเป็นแผนบทเรียน กรณีศึกษาในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนใหม่ การซ่อมถนนเดิม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ มีร่องระบายน้ำ มีสะพานต่าง ๆ ที่สามารถทำให้น้ำไหลลงจากภูเขาสู่ทะเลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับถนนใหม่นั้นอาจจะต้องมีการสร้างถนนที่อยู่ด้านบน มีสะพาน หรือช่องทางน้ำไหลหรือมีการสร้างอุโมงค์ทางลอดน้ำอยู่ด้านล่าง ทั้งนี้ เพื่อให้น้ำระบายผ่านลงสู่ทะเลได้ สะดวก รวดเร็ว ยิ่งขึ้นกว่าเดิมในปัจจุบัน เราจึงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันนี้ สภาพจังหวัดต่าง ๆ อาจจะทุกจังหวัดได้มีการขยายตัวเมืองมากขึ้น ประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้มีการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามผังเมือง หรือตามกฎหมายควบคุมอาคารที่มีอยู่หรือไปสร้างในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไปขวางทางน้ำไหลลงสู่ทะเล สู่ร่องหรือทางระบายน้ำตามธรรมชาติ จึงมีความยากลำบากที่ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำเอ่อล้นดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน พี่น้องประชาชนครับ ไม่ว่าเราจะประสบปัญหาอย่างไร แต่ประเทศชาติ ก็คงต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้ และเราก็ต้องเป็นกำลังใจให้กันและกัน ต่างคนต่างต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่สร้างภาระให้ซึ่งกันและกัน สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามมติที่ประชุมร่วมของคณะรัฐมนตรีและ คสช. นั้น ทางรัฐบาลได้หารือกับ สนช. แล้ว สามารถดำเนินการได้ โดยไม่กระทบต่อกระบวนการ ตาม Road map จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้เชื่อมั่นและไว้ใจ ว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแน่นอน
สำหรับวันพรุ่งนี้ เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็น “วันเด็กแห่งชาติ” และวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็น “วันครู” ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญ สำหรับอนาคตของประเทศชาติทั้งสิ้น ในโอกาสอันดีทั้ง 2 ประการนี้ ผมขอมอบคำขวัญวันครู ว่า “ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้ง ในพระคุณครู” เพื่อให้ผู้ที่เป็นครูโดยอาชีพ และเป็นครูโดยจิตวิญญาณ ได้ระลึกอยู่เสมอว่า ท่านมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะสร้างคน สร้างชาติ สร้างอนาคตให้กับประเทศ ดังนั้น ภาระอันยิ่งใหญ่นี้ไม่เพียงแต่ท่านจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยคำสั่งสอน ด้วยการประพฤติตนแล้ว ท่านต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ก้าวให้ทันวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในฐานะที่ท่านเป็น “แม่พิมพ์” ของชาติ จึงเป็นความคาดหวังของทุก ๆ คน ทั้งผู้ปกครอง และลูกศิษย์ ที่จะได้ซาบซึ้งในพระคุณที่ประสิทธิ์ประศาสน์วิชาความรู้ สอนคนให้เป็น “พลเมืองดี” ของชาติต่อไป แล้วความเป็นครู ซึ่งก็จะไม่เคยจางหาย เพราะความเป็นครูนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ในวันที่ท่านสอนหนังสือ ผมเห็นว่าครูในวันนี้ไม่ใช่ “เรือจ้าง” ที่ส่งลูกศิษย์ถึงฝั่งแล้วก็หมดสิ้นภาระจากรุ่นสู่รุ่น แต่ครูในวันนี้จะต้องขยายบทบาทของตนเองเป็นเหมือน “สะพาน” เช่นเดียวกับรัฐบาลและ คสช. ที่ต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงวิชาการมาสู่ชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งด้วย “ปัญญา” ด้วย “ศาสตร์พระราชา” และด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้ง เชื่อมโยงสหวิชาชีพ และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่นหลอมรวมกับผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ลูกศิษย์ ซึ่งต่างล้วนเป็น “สมาชิก” ในแต่ละชุมชนของตน ได้ร่วมกันสร้าง พัฒนาชุมชนบนกลไก “ประชารัฐ” เพื่อจะสร้างความเจริญก้าวหน้า ยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคนในสังคมของตนให้เป็น “คนไทย 4.0” เป็นคนไทยที่อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่รู้จักการประยุกต์ใช้วิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในชีวิตประจำวัน และในการประกอบสัมมาอาชีพด้วย
สำหรับคำขวัญวันเด็กปีนี้ คือ “เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” เพราะผมอยากเห็นเด็กไทยของเรานั้น เห็นความสำคัญของการศึกษา ดูตัวอย่างจากผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน ล้วนเป็นผลจากการศึกษา ไม่ว่ามีที่มาหรือกำเนิดในครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจในระดับใดก็ตาม การศึกษาจะนำพาไปสู่ความสำเร็จ หมายถึง การยกระดับฐานะทางสังคม และยกระดับจิตใจ เมื่อคนไทยได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมทุกคน ปัญหาสังคมก็จะลดลง คนไทยก็จะไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ เพราะการศึกษา สอนให้เราใช้หลักเหตุและผล ปัญหาเศรษฐกิจก็จะไม่มี เพราะทุกคนมีวิชาความรู้ และพึ่งตนเองได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะไม่เกิด เพราะทุกคนตระหนักถึงผลกระทบในระยะยาว ต่างร่วมกันอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เหมือนดังเช่น ในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนให้เรารู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ดิน - ป่า - น้ำ ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ทำลายกัน และเมื่อเราไม่มีปัญหามิติต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ประเทศชาติก็จะมี “ความมั่นคง” ต่างชาติก็มีความมั่นใจ เพราะประเทศไทยมีเสถียรภาพ การท่องเที่ยวก็จะเฟื่องฟู เพราะนักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในการเดินทางทั่วประเทศไทย การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 เขต และระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก และใน 18 คลัสเตอร์ - กลุ่มจังหวัด ก็จะ “ผลิดอกออกผล”เศรษฐกิจในทุกระดับของ “ห่วงโซ่” ก็จะเจริญเติบโต แข็งแรง ไปพร้อม ๆ กัน มีการกระจายรายได้ กระจายความเจริญ ความรวยไม่กระจุกในเขตเมือง แต่กระจายไปสู่ท้องถิ่น คนเมืองกับคนชนบท ก็ไม่มีความเหลื่อมล้ำ
ที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นผลสืบเนื่องกันของ “การศึกษากับความมั่นคง” ตามคำขวัญวันเด็ก ในปีนี้ ถ้าเด็กไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ละความเพียร ที่จะให้คำอธิบาย เพราะนี่คือ “จุดเริ่มต้น” ของวิสัยทัศน์ของเรา “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” ในการที่เราจะเอาชนะความจน โดยเริ่มจากการพัฒนาคนด้วย “การศึกษา” ผมมี “ศาสตร์พระราชา” อีกหนึ่งตัวอย่าง อันเป็นที่มาของหนังสือชื่อว่า “จิตตนคร นครหลวงของโลก” บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้นิพนธ์ และบรรยายในช่วงปี 2513 และเป็นการ์ตูนแอนิเมชันชุด “เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร”
สำหรับวันเด็ก ในปี 2560 นี้ ทั้งนี้ เกิดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้หนึ่งที่ทรงสนพระทัยอย่างมากในธรรมะ และหลายครั้งที่พระองค์ ทรงพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรม กับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยมีพระราชประสงค์ ให้หนังสือคำสอนพระพุทธศาสนา ที่ไม่ยากเกินไปแก่สมองเด็ก แต่ควรสอนบทธรรมง่าย ๆ ที่เป็นประโยชน์ ในการอบรมเด็กด้วย ดังนั้น บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชฯ นี้ จึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ภาษาที่เรียบง่ายและงดงาม ทุกคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการอธิบายเปรียบเทียบคำสอนยาก ๆ ให้ง่ายขึ้น และใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย อย่างเช่น การอธิบายเรื่อง “จิต” ที่เป็นเรื่องซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก โดยการเขียนเปรียบเทียบจิตเหมือนกับเมืองที่เราอยู่อาศัย เป็นที่มาของชื่อหนังสือ “จิตตนคร” ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องการ เพราะเด็กไทย คนไทย จะได้มี “จิตสำนึก” ในเรื่องความดี - ความชั่ว จึงส่งเสริมให้มีการผลิต ในรูปแบบ “การ์ตูนแอนิเมชัน” จากความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และขอให้กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ รวมถึงขอความร่วมมือจากสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่ต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้นำการ์ตูนแอนิเมชันชุด “เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร” มาเปิดตัวในงานวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล สำหรับสื่อมวลชน ทั้งภาครัฐ และเอกชน สามารถติดต่อ เพื่อร่วมกันนำการ์ตูนแอนิเมชันชุดนี้ ไปเผยแพร่ ในผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ ผมขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนทุกท่านที่มีความสนใจ พาลูกหลานของเรา มาร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2560 ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 15.00 น. ภายใต้แนวคิด “ดินแดนแห่งความสุขตามศาสตร์พระราชา” โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความรู้ และความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่เด็ก ๆ เช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา นอกจากเด็ก ๆ จะได้มีโอกาสนั่งเก้าอี้ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาล อยากให้ลูกหลานทุกคนได้มีการละเล่นอย่างสนุก และเรียนรู้จากกิจกรรม ที่จัดไว้ให้ โดยเฉพาะ“ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีทั้งการฉายภาพยนตร์แอนนิเมชั่น “พระมหาชนก” และภาพยนตร์สั้น “เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร” ตามที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น ยังมีสถานที่อื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพอีกหลายแห่ง นอกจานั้นยังมีการจำลองป่าชายเลน กังหันน้ำชัยพัฒนา หลักการทรงงาน การแสดงโขนเด็ก ศิลปะมวยไทย และบูธของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เยี่ยมชมตึกไทยคู่ฟ้า ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี รถนำขบวนเกียรติยศ การแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมซุ้มอ่านข่าว หุ่นยนต์ปฏิบัติการ ฟุตบอลสนามเล็ก สนามเด็กเล่นรีไซเคิล นิทานในสวน วาดภาพระบายสี ประกวดคัดลายมือ บริการตรวจสุขภาพฟันและตัดผม ตลอดจนการแจกของขวัญ ของรางวัล อาหาร ขนม และเครื่องดื่ม จากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ขอเชิญชวนผู้ปกครองอีกครั้ง นำบุตรหลานไปร่วมงานวันเด็กทุกที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำเนียบรัฐบาล และผมก็จะรอพบท่าน และลูก ๆ หลานๆ ของท่านที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้
ฝากอีกเรื่อง คือ ระมัดระวังการพลัดหลงกับบุตรหลาน เนื่องจากจะมีผู้คนร่วมงานเป็นจำนวนมากทั้งที่ทำเนียบฯ และทั่วประเทศ ขอให้เขียนป้ายชื่อเด็ก ชื่อผู้ปกครอง พร้อมเบอร์โทรศัพท์ สถานที่อยู่ ใส่ไว้ในกระเป๋าเด็กด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะจัดรายการ "ประชารัฐร่วมใจ ช่วยพิบัติภัยภาคใต้" เพื่อเป็นกำลังใจ และช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่กำลังประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคใต้ ผมขอเรียนเชิญประชาชนทุกคนร่วมกันติดตาม และแสดงพลังความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียว ในการเป็นกำลังใจเสียสละ ให้การสนับสนุน ในรูปแบบ "ประชารัฐ" เพื่อช่วยเหลือ พี่น้องร่วมชาติ เมื่อยามต้องเผชิญความลำบากทุกข์เข็ญ เริ่มถ่ายทอดพร้อมกันทุกช่อง เวลา 18.00 – 18.20 น. และต่อจากนั้น ติดตามชมได้ ทาง NBT จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ใช้เวลาในห้วง “วันเด็ก” ให้เกิดประโยชน์ต่อลูกหลานและครอบครัว และประเทศชาติด้วย ส่งแรงใจความห่วงใยไปยังพี่น้องชาวไทยที่รักทุกคนที่ประสบอุทกภัยที่ภาคใต้ไปพร้อมกันด้วย สวัสดีครับ