รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2559

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1555 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2559 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
 
“ศาสตร์พระราชา” ที่คงอยู่คู่แผ่นดินไทยนั้นครอบคลุมทั้ง “พระราชดำริ” คือ แนวคิดและปรัชญา “พระราชดำรัส” คือ คำสั่งสอน ตักเตือน ให้สติ “พระราชกรณียกิจ” คือ หลักการทรงงาน และ “พระราชจริยวัตร” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปวงพสกนิกรชาวไทย ได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติตน รวมทั้งรัฐบาลและข้าราชการทุกคนได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อสร้างชาติ และพัฒนาประเทศ อย่างสมดุลและยั่งยืน
 

สำหรับเพลง “พรปีใหม่” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรของพระองค์ ด้วยบทเพลงในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 ซึ่งผมถือว่าเป็น “ศาสตร์พระราชา” อันเป็น “สายใยแห่งความรักและความห่วงใย” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรไทยทั้งมวล
 

ในปีเดียวกันนี้ นับว่าเป็นปีมหามงคลยิ่ง ของปวงชนชาวไทย เพราะนอกจากจะได้รับพระราชทาน “พรจากฟ้า” แล้ว ยังเป็นปีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรรัชกาลที่ 10 ในศกนี้
 

เนื่องในโอกาสที่ “วันขึ้นปีใหม่” ใกล้ที่จะเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง รัฐบาลขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมวันปีใหม่ โดยเน้นกิจกรรมสำคัญ 3 ประการ คือ 1. กิจกรรมทางศาสนา ที่ทุกศาสนาสามารถปฏิบัติร่วมกันได้เพื่อยกระดับจิตใจ แสดงถึงความกลมเกลียวของประชาชน และรักษาความสงบร่มเย็นของประเทศชาติโดยรวม เช่น การสวดมนต์ การรักษาศีล การร่วมกันทำความดี เป็นต้น 2. กิจกรรมสาธารณประโยชน์ – สาธารณกุศลเพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่น กระตุ้น “จิตสำนึก” และส่งเสริม “จิตสาธารณะ” ในการทำประโยชน์ ให้กับส่วนรวม และประเทศชาติ โดยหากมีการจัดกิจกรรมบันเทิงขึ้นก็ขอให้เป็นกิจกรรมที่อนุรักษ์ความเป็นไทย และรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันดีงาม ของประเทศ เป็นต้น และ 3. กิจกรรมที่แสดงถึง “ความจงรักภักดี” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ “การถวายพระพร” แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นสำคัญด้วย
 

กิจกรรมดี ๆ ในช่วงนี้ที่ผมอยากจะแนะนำ ได้แก่ (1) โครงการเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ชมยามค่ำคืนเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ“Night at the museum” ตั้งแต่วันที่ 16 - 18 ธันวาคมนี้ เวลา 08.00 - 22.00 นาฬิกา ประกอบด้วย 28 นิทรรศการ และ 24 กิจกรรมโดยความร่วมมือของกลุ่มพิพิธภัณฑ์ภายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และกลุ่มที่จัดงานบริเวณภายนอกพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ รวมทั้งสิ้น 19 หน่วยงาน และ (2) งาน “9 ตามพ่อสานต่อพระราชปณิธาน”ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา เรื่อยไปจนถึง 31 มกราคม ปีหน้า ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประกอบด้วย นิทรรศการแสดงพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 การขับร้องและบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงการเสวนาพูดคุยในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ เป็นต้น โดยความร่วมมือ ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ที่มีบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะสื่อของรัฐ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับ “ทุกคนในครอบครัว” รวมทั้งพี่น้องประชาชน ที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ เพื่อถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทภายใน พระบรมมหาราชวัง โดยจะได้ร่วมกันเทิดพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกด้วยนะครับ
 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ
 

นอกจากการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ให้มีราคาแพง ซึ่งเป็นกลไกของหน่วยงานราชการดำเนินการกวดขัน ตรวจตรา อย่างต่อเนื่อง และเคร่งครัด รวมทั้ง การแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาหนี้สิน ปัญหายาเสพติด และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว มาแล้วนั้น รัฐบาลยังได้เตรียม “ของขวัญปีใหม่” สำหรับประชาชนทุกคน ต้อนรับเทศกาลวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี หรือที่เรียกว่า ช้อปช่วยชาติ ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้กับบุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการ “ในประเทศ” ระหว่างวันที่ 14 – 31 ธันวาคมนี้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท (ต่อคน) โดยสามารถนำการซื้อ “หลายครั้ง” มารวมกันได้ ทั้งนี้ อย่าลืมขอ “ใบกำกับภาษีแบบเต็ม” ที่มีข้อความระบุชื่อ –ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ สำหรับใช้ประกอบการขอยกเว้นภาษีในภายหลัง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ ไม่รวมถึงสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้มาตรการนี้ ไปส่งเสริมการ “ดื่มเครื่องดองของเมา” เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ รวมทั้ง ไม่ยกเว้นภาษีสินค้ายาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมันและก๊าซเติมรถยนต์ อีกทั้ง ไม่รวมถึงค่าที่พักและค่าบริการด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว ที่มีมาตรการยกเว้นภาษี มาก่อนหน้านี้แล้ว
 

มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ในครั้งนี้ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับเมื่อปลายปีที่แล้วและเพิ่มจำนวนวันให้ “มากขึ้น” โดยปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมมาตรการ กว่า 1 ล้านคน เกิดการใช้จ่ายเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท สามารถลดการจัดเก็บภาษีได้คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,200 ล้านบาท สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมในมาตรการกว่า 2 ล้านคน และสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และสามารถลดการจัดเก็บภาษีได้กว่า 3,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ในทุกระดับรายได้ โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้มีการใช้จ่าย “ที่สิ้นเปลือง” ขอให้มีการใช้จ่ายอย่างพอเพียง ตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ แต่ต้องการลดภาระจากการเสียภาษี ในการซื้อหาของขวัญปีใหม่ เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือการรับประทานอาหารนอกบ้านใช้เวลาร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว ในโอกาสดี ๆ ที่ได้กลับบ้าน ภูมิลำเนาเดิม ของลูก ๆ หลาน ๆ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ “เห็นชอบ” แนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โดย “อนุมัติ” หลักการ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ทางหลวงดังกล่าว ตั้งแต่เที่ยงคืนหนึ่งนาที ของวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ไปจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 4 มกราคม 2560 อีกด้วย
 

สำหรับการอำนวยความสะดวก และการรักษาความปลอดภัยในระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนา และเดินทางเพื่อท่องเที่ยวของประชาชนนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้ โดยนำผลการประเมิน และมาตรการต่าง ๆ ที่ยังบกพร่องอยู่ จากบทเรียนในปีที่ผ่าน ๆ มา มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้พี่น้องประชาชนของเรา ได้เดินทางไปและกลับโดยสวัสดิภาพ ตลอดการเดินทางด้วย ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการคมนาคมขนส่ง คนขับเรือ รถโดยสาร ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด ให้เห็นแก่ชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคนและของตนเองด้วย อย่าดื่มสุราและขับรถเป็นอันตราย การแซงการใช้ความเร็วให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
 

ผมขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ จากทางราชการ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่อยากให้ “ตกข่าว” หรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้เสียประโยชน์ได้ เหมือนเช่น กรณี “การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งเป็นก้าวแรก ๆ ในการปฏิรูป รูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ และการช่วยเหลือประชาชนผ่าน “บัตรผู้มีรายได้น้อย” เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือแบบ Prompt-Pay ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายเศรษฐกิจแบบ Digital Economy รวมทั้ง การรับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในอนาคต เช่น ลดค่าน้ำ – ค่าไฟ หรือรถเมล์ รถไฟ “ฟรี” ในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้นั้น รัฐบาลจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในครั้งต่อไป โดยขอให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังข่าวสารจากภาครัฐเพื่อครั้งต่อไปจะได้ไม่เสียสิทธิ์จากโครงการช่วยเหลืออื่น ๆ ของรัฐบาล ปัจจุบัน ทั้ง 3 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ เริ่มทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่มาลงทะเบียนฯ ไว้ ประมาณ 4.8 ล้านราย เป็นเงินรวม 11,000 ล้านบาท เหลือผู้ที่ไม่มีบัญชี ไม่พร้อมรับเงินดังกล่าวอีก ประมาณ 2 ล้านราย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป เราต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน
 

สำหรับการมอบ “ของขวัญ” ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเพียงความสุขระยะสั้น ที่มีความจำเป็น เพราะนอกจากเป็นการ “คืนความสุข – เติมกำลังใจ” ให้พี่น้องประชาชน ได้มีแรงกาย แรงใจ สามารถประกอบอาชีพ ต่อสู้อุปสรรคต่อไปได้แล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญอย่างมากกับมาตรการระยะยาว ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในการพัฒนาที่ยั่งยืน มาสู่การปฏิบัติ ในแผนงาน โครงการต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่าน เช่น การดูแลพี่น้องประชาชน “ทุกกลุ่มเป้าหมาย” เนื่องจากเห็นว่า “ปัญหาสังคม...รอไม่ได้” เพราะเป็นเรื่องปากท้อง เหมือน “คนป่วยไข้หวัดธรรมดา” หากปล่อยปละละเลยแล้ว อาจจะลุกลามบานปลาย เป็นปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ ได้แก่ แก้ไขปัญหาสังคมที่ค้างคา พร้อมกับการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
 

1. การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ครอบคลุม 2.7ล้านครัวเรือน ได้แก่ ฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงใน 8ปี กว่า 20,000 หน่วย การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง กว่า 11,000 ครัวเรือน การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 309 ครัวเรือน โครงการปทุมธานีโมเดล 16 ชุมชน โครงการ “บ้านมั่นคง” 561 ชุมชน ใน 46 จังหวัด และโครงการ “บ้านยั่งยืน” กว่า 13,000 หน่วย เป็นต้น
 

2. การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก โดยจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพิ่มจากเดือนละ 400 บาท เป็น 600 บาท มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 150,000 คน รับเงินแล้วกว่า 90,000 คนเป็นเงิน 230 ล้านบาท การส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีมาตรฐาน กว่า 1,600 แห่ง และการพัฒนาเด็กในสถานรองรับเพชรน้ำหนึ่งทั้ง 10 แห่ง เป็นต้น
 

3. การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการเอกชน และในชุมชน การเพิ่มเบี้ยความพิการจาก 500 บาท เป็น 800 บาทต่อเดือน การส่งเสริมชุมชนต้นแบบ “อารยสถาปัตย์” และขยายไปยัง 33 จังหวัดทั่วประเทศ และการพัฒนาศักยภาพนักร้อง นักดนตรี “ตาบอด”
 

ผ่านโครงการ“จากถนนสู่ดวงดาว (From Street to Stars)”
 

4. การดำเนินการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 878 แห่งทั่วประเทศ การดำเนินการโรงเรียนผู้สูงอายุ 314 แห่ง การยกระดับศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่งเพื่อเป็น “ต้นแบบ” ในการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน และการสนับสนุนอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุกว่า 81,000 คน
 

5. การจัดระเบียบและพัฒนาศักยภาพคนขอทานและคนไร้ที่พึ่ง ทั้งชาวไทยและต่างด้าว เกือบ 5,000 คน การจัดตั้ง “ธัญบุรีโมเดล” เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพส่งเสริมการมีงานทำคนขอทานและคนไร้ที่พึ่ง ก่อนกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน ซึ่งได้ขยายผลไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง การบังคับใช้กฎหมายและรณรงค์ “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
 

6. การส่งเสริมความเข้มแข็งสถาบันครอบครัว โดยยุติความรุนแรงในครอบครัวในทุกพื้นที่และทุกรูปแบบ ผ่านโครงการ “ตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรง” 3,000 แห่งทั่วประเทศ การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยขับเคลื่อนกฎหมายและมาตรการที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเพศ รวมถึงส่งเสริมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรีในชุมชน และการพัฒนาศักยภาพสตรีในทุกมิติ ตลอดจนสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงไทยในยุโรปกว่า 10 ประเทศ
 

7. การพัฒนาศูนย์ช่วยเหลือสังคม (สายด่วน 1300) ให้เป็นช่องทางให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคมอย่างทันท่วงที โดยให้บริการประชาชนแล้ว กว่า 98,000 ราย
 

และ 8. นโยบายการขับเคลื่อนระดับพื้นที่–จังหวัด โดยเน้นการบูรณาการภายใต้หลักบ้านเดียวกัน โดยการสร้างและประสานภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาสังคม การพัฒนาระบบข้อมูลทางสังคม การยกระดับกลไก “ประชารัฐ” ในระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนครบวงจรอย่างเป็นระบบ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสานต่อการพัฒนาสังคมไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและวิสัยทัศน์ประเทศไทยในอนาคต อีกด้วย
 

อีกทั้ง “ศาสตร์พระราชา” มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับประเทศไทย ที่เป็นประเทศเกษตรกรรม คือ “แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2558 – 2569 ซึ่งประชาคมโลกให้ความสนใจแนวทาง และติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 12 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ประปาหมู่บ้าน โรงเรียน ชุมชน การสร้างแหล่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน การพัฒนาแหล่งน้ำและการขุดสระในไร่นา การขุดน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรและช่วยภัยแล้ง การขุดลอกลำคลอง แม่น้ำสาขา การฟื้นฟู และการป้องกันการพังทลายหน้าดิน ซึ่งผลการดำเนินงาน ในการพัฒนาระบบกระจายน้ำ ปี 2558-2559 (2 ปีกว่า ที่ผ่านมา) มีความคืบหน้า “มากกว่า” 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลนี้ จะเข้ามาบริหารราชการเป็นอย่างมาก สรุปได้ดังนี้ 1. การดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบกระจายน้ำ เกือบ 2,000 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 756 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานได้ 1.35 ล้านไร่ 2. การดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบน้ำบาดาล ประมาณ 5,400 แห่ง มีศักยภาพในการใช้น้ำ 167 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มพื้นที่เกษตรบาดาลได้ กว่า 3 แสนไร่
 

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ปีงบประมาณ 2560 เพื่อสนับสนุนน้ำในโครงการต่อยอดโครงการพระราชดำริ การสนับสนุนน้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่และพื้นที่ที่พร้อมจะเป็นแปลงใหญ่ในอนาคต รวมทั้งการสนับสนุนน้ำในพื้นที่ การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมี “เป้าหมาย” การดำเนินการ ในระยะ “เร่งด่วน” ใช้เวลา 1 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 211 โครงการ ดังนี้ 1. พื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ เกือบ 480,000 ไร่ 2. ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ เกือบ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 3. ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ เกือบ 100,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการบริหาร และการใช้ทรัพยากรน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า โดยดำเนินการอย่างบูรณาการ ให้สามารถตอบสนองความต้องการน้ำ ในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการผลิต ทั้งภาคการเกษตร ภาคการอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค และเพื่อการรักษาสมดุลในระบบนิเวศ อย่าลืมเรื่องสำคัญ คือ ช่วยกันกำจัดผักตบชวาทุกต้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยนะครับ
 

พี่น้องประชาชนครับ
 

ผมอยากจะฝากไว้ว่าการเดินหน้าประเทศ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าตนเองเป็น “คนไทย”1.0 2.0 3.0 หรือ 4.0 บนโลกที่มี “พลวัต” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แห่งศตวรรษที่ 21 ผมอยากยกตัวอย่าง การสำรวจตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองอยู่ ณ จุดใด แล้วควรพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง ไม่ได้เป็นการแบ่งชั้นวรรณะ ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยอาจเปรียบเทียบได้กับว่า ถ้าท่านมีโทรศัพท์ แต่ยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ท่านยังคงเป็น“คนไทย 1.0” ถ้าหากท่านใช้มือถือ ในการส่ง e-mail ส่งไฟล์เอกสาร หรือใช้ประโยชน์ในการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน ท่านน่าจะยกระดับตนเองเป็น “คนไทย 2.0” ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากท่านสามารถใช้ “สมาร์ทโฟน” ได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ “อินเตอร์เน็ต” ในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ท่านอาจได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 3.0” ยิ่งกว่านั้น หากท่านสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วท่านรู้สึกว่า “ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น” เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 4.0” เป็นตัวอย่างเท่านั้น
 

โดยสรุปแล้วการขับเคลื่อนประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น ไม่ได้สำคัญที่ว่า “ท่านมีอะไร?” แต่สิ่งสำคัญคือ “ท่านใช้สิ่งที่ท่านมี อย่างไร? ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” โดยเฉพาะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอยู่บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านจะเป็น“คนไทย” 1.0 2.0 3.0 หรือ 4.0 ก็ตาม ขออย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง สิ่งที่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ทำ คือ นอกจากการพัฒนา ยกระดับตนเองแล้ว ยังต้องหันหลังมามอง แล้วยื่นมือช่วยเหลือผู้ที่เดินตามมาข้างหลัง เพราะทุกคนอยู่ใน “ห่วงโซ่” เดียวกันการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาของประเทศ ผมขอฝากแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2560 เพื่อมุ่งสู่การคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนในอนาคต ให้พี่น้องประชาชนรับทราบรายละเอียดตามหน้าจอ และติดตามได้ทางเว็บไซต์กระทรวงคมนาคม
 

สุดท้ายนี้ ผมขอชื่นชม นายวิทิต ด้วงจุมพล “แท็กซี่พลเมืองดี จิตใจงาม” ซึ่งนำทรัพย์สินเป็นเงินสดและทองรูปพรรณ มูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท ที่ถูกลืมไว้ในแท็กซี่ ส่งคืนเจ้าของอย่างไม่ลังเล และไม่คิดเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว โดยโทรแจ้ง จส.100 และ สวพ.91 เพื่อติดตามหาเจ้าของจนพบ ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ดีกับทุก ๆ คนแล้ว ผมยังปรารถนาที่จะเชิญชวนให้ “คนไทย” ได้นำเรื่องราว สิ่งดีงาม มาเล่าสู่กันฟัง มาสั่งสอนลูกหลาน เพราะ “ความดีเหมือนเป็นดอกไม้” ที่ส่งกลิ่นหอม สร้างความสดชื่น และยกระดับจิตใจ ให้กับทุกคนในสังคม ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้