รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2278 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่านในช่วงเวลานี้ พี่น้องประชาชนชาวใต้ หลายจังหวัดประสบปัญหาอุทกภัย เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ และทรงพระราชทานถุงยังชีพ ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วยนะครับ ซึ่งได้สร้างความปลื้มปิติเป็นล้นพ้น
 

รัฐบาล ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด แม้ภัยธรรมชาติ นั้นจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อรู้ว่าจะเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องป้องกัน เพื่อลดความเสียหาย โดยได้มีการแจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว การป้องกันเหตุจมน้ำ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาต่อไปนะครับ ให้ทุเลาเบาบางลง โดยมีการเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เช่น การจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และเครื่องมืออุปกรณ์ด้านสาธารณภัย พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด ทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายบรรเทาสาธารณภัย ผู้นำท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ต้องช่วยกันระดมสรรพกำลัง ลงไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชน ผู้ประสบภัย ปลอดภัย อุ่นใจ และกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด สำหรับการฟื้นฟู การสำรวจความเสียหาย ต้องพร้อมปฏิบัติทันที ภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลาย
 

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดนะครับ สำหรับผู้ประสบภัย สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสาขาในพื้นที่ หรือโทรฯ สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชม. นะครับ
 

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างยั่งยืนนั้น ผมขอให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า รัฐบาลพยายามดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักให้มากที่สุดนะครับ ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลและประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ให้ไปศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนให้ได้โดยเร็ว ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นะครับและจะนำบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระยะยาวของรัฐบาลด้วย
 

พี่น้องประชาชนชาวไทย ทุกท่านครับ
 

ถ้าเราลองทบทวนดูให้ดีให้รอบด้าน เราจะพบว่าปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศของเรานั้น ล้วนเกิดจากคนเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าหากคนไทยไม่ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐาน สุดท้ายก็จะสร้างปัญหาสังคม อีกทั้ง หากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้เป็นระดับสากล ก็จะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะประชากรของประเทศนั้นจะทำมากินไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่ยั่งยืน ปัญหาทั้ง 2 มิตินั้น จะผสมผสานกันทำให้เกิดแรงต้านในเชิงลบ กลายเป็นปัญหาการเมืองจนในที่สุดกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 

ศาสตร์พระราชาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยการศึกษา เป็นอย่างมาก โดยทรงพัฒนาด้านการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนมาโดยตลอด เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แม้แต่ผู้ที่ด้อยโอกาส และสถานที่ที่ห่างไกล ทั้งที่เป็นชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลจากการคมนาคม โดยการพระราชทานพระราชทรัพย์ ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่พี่น้องประชาชนเหล่านั้น โดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” ทรงสร้าง “โรงเรียนร่มเกล้า” ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และในพื้นที่ปฏิบัติการของผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทรงตั้ง “โรงเรียนราชประชาสมาสัย” สำหรับบุตรธิดาของผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ได้มีโอกาสได้เรียน ไม่ถูกรังเกียจ และอีกหลาย ๆ โรงเรียนนะครับ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
 

ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยทรงน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษา ในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งขึ้น ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ “โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา” ในจังหวัดนครพนมกำแพงเพชร และสุราษฎร์ธานี และ “โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี” ในจังหวัดอุดรธานี สงขลา ฉะเชิงเทรา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยัง พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดังกล่าวนั้น ดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนและทรงติดตามผลการศึกษา รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ได้ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เสมอ
 

ในส่วนของรัฐบาลนี้ นอกจากจะน้อมนำศาสตร์พระราชาอันนับว่าเป็นแนวทางพระราชทานมาสู่การปฏิบัติแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา ไปสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดวิเคราะห์ ความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ มีการสนใจข้อมูลข่าวสารรอบตัว ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ และการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และการประกอบกิจการใด ๆ ก็ตาม ความสนใจใฝ่รู้ และศึกษาแนวโน้ม การคาดการณ์อนาคต บนพื้นฐานของฐานข้อมูลและสถิติ และการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพให้ทุกคนมีงานทำ เหล่านี้เป็นต้นนะครับ ซึ่งมีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้ทางวิชาการ ความรู้ทางปฏิบัติการ และความรู้ คิด อ่าน ตามเหตุผลความเป็นจริงด้วยการบริหารจัดการเวลาเรียนของสถานศึกษาใหม่ สามารถลดเวลานั่งเรียนในห้อง แล้วเพิ่มเวลาการปฏิบัตินอกห้องเรียน ได้ราว 1,000 - 1,200 ชั่วโมงต่อปี ให้เพิ่มสาระในการเรียนรู้ดังกล่าว ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้มากที่สุด และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง สำหรับการบริหารจัดการเวลาเรียนภาษาอังกฤษนั้น เราสามารถขยายเวลาเรียนภาษาอังกฤษ ในชั้นประถมศึกษา จากเดิม 40 ชั่วโมงต่อปี เป็น 200 ชั่วโมงต่อปี / รวมทั้ง การจัดทำแอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ “Echo English” เพื่อสร้างมาตรฐานความสามารถด้านภาษาอังกฤษของผู้เรียนโดยอิงมาตรฐานสากล (CEFR) มาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย
 

นอกจากนี้ การส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษา (UniNet) สำหรับสถานศึกษาใช้บริการ มากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ และโครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ ผ่านทีวีสาธารณะโดยการติวเข้มเติมความรู้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อการศึกษา ETV ของกระทรวงศึกษาธิการ และ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น มีกลุ่มเป้าหมาย และผู้ใช้บริการ ปัจจุบันมากกว่า 2.4 ล้าน และการพัฒนา กศน. ตำบลให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรี และเด็ก ภายใต้การเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตในชุมชน ในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการศึกษามาประยุกต์ใช้ โดยเน้นการแทรกซึมไปสู่หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมก็คือ ครอบครัวและหมู่บ้านและ หน่วยงาน บุคลากรทางการศึกษา และรัฐบาล จะต้องสร้างความมั่นใจว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบไป
 

โดยภาพรวมแล้ว แนวทางการบริหารประเทศ ด้วยศาสตร์พระราชาของรัฐบาลปัจจุบันนี้ มีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อันประกอบด้วย 1) ตั้งเป้าหมายการพัฒนา ที่ยึดถือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือ ทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุข มีความพึงพอใจ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG 2030 ของ UN 2) สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรักษาสมดุล ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 3) ส่งเสริมการแก้ปัญหา ตามแนวทางสันติวิธี และยึดแนวทางการพัฒนา "สีเขียว” 4) ส่งเสริมการปฏิรูป ที่กว้างขวางและลึกซึ้ง ในทุกมิติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 5) จัดทำแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยกำหนดเป็นกิจกรรมหลัก รอง เสริม ในทุกประเด็นของการปฏิรูป ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ล่วงหน้าและตามห้วงระยะเวลา 6) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับบริบทของไทย มีอัตลักษณ์ไทย 7) วางรากฐานของประเทศ ที่ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ความเป็นไทยอันงดงาม 8) สร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง โดยรักษาความเป็นธรรม ความถูกต้อง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค 9) สร้างความหวังและศรัทธา บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ แล้วทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน ในสิ่งที่ดีกว่า 10) สร้างประเทศที่มีความเท่าเทียมทางสังคม และไม่เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาและปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานรากให้เข้มแข็ง มั่นคง และปลอดภัย 11) สร้างประเทศไทยให้เป็นนิติรัฐ เสริมด้วยการปฏิบัติงาน ที่คำนึงถึง ทั้งรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ 12) ยกระดับคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยยกระดับประเทศไทยในเวทีโลกอย่างมียุทธศาสตร์13) เอาจริงเอาจังกับการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยสร้างกลไกการทำงาน กลไกการตรวจสอบที่บูรณาการ และสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างยั่งยืน 14) เสริมสร้างศักยภาพระบบราชการไทย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทันสมัย สร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งของประชาชน ได้ตลอดเวลา 15) รักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาคในประชาคมโลก ด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อให้เกิดความสมดุลและเสถียรภาพของโลก 16) ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และอาเซียน ในการพัฒนาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ตามศักยภาพที่ทุกประเทศมีอยู่ 17) กระชับความสัมพันธ์ ในลักษณะเป็นห่วงโซ่เดียวกัน ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และ 18) ขยายความร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนา และเชื่อมโยงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม
 

พี่น้องประชาชนครับ ผมมีเรื่องที่อยากทำความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้ ในการจัดทำโครงการใด ๆ ก็ตาม เช่น โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รถไฟ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ เหล่านี้ เป็นต้น นะครับ ทุกภาคส่วนย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ข้าราชการ ประชาชน ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน ในการดำเนินการบางเรื่อง บางโครงการ อาจจะตัดผ่านหรืออ้อมผ่าน ในพื้นที่ของรัฐบ้าง ของประชาชนบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ตามหลักวิชาการ และทำให้การใช้จ่ายงบประมาณนั้น คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ สำหรับประชาชนที่ต้องสูญเสียพื้นที่ จากการเวนคืน หากเราจะคิดจะมุ่งรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วม หรือสาธารณชนที่จะได้รับจากโครงการต่าง ๆ เช่น เพื่อการแก้ปัญหาจราจรของชาติ แต่หากเราพึงพอใจกับความเป็นอยู่แบบเดิม ๆ ของตน หรือเคยชินกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ถ้าเราปล่อยไว้ ไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ปัญหาต่าง ๆ ก็คงจะไม่ได้รับการแก้ไข นะครับ ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจถึงการสูญเสียเหล่านั้นนะครับ และผมก็ไม่อยากให้มีผลกระทบกับใครทั้งสิ้น ก็อยากขอให้คำนึงถึงส่วนรวมไว้ด้วย ว่าจะได้ประโยชน์อะไร และประเทศชาติและประชาชนจำนวนมากจะได้ประโยชน์อะไร จากการสูญเสียและการเสียสละของท่านในครั้งนี้
 

เช่นในปัจจุบันในการแก้ปัญหาจราจร ที่ทุกคนก็บ่นกันว่าการจราจรติดขัดมากในกรุงเทพมหานครและในเมืองใหญ่ ๆ นะครับ และบางครั้งบางโครงการต้องมีการรื้อสะพาน ปรับปรุงถนน เพื่อสร้างรางรถไฟฟ้า (รฟม.) ก็เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่ ได้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวลง ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าก็จะสะดวกสบายขึ้น สะดวกสบายขึ้นและค่าใช้จ่ายถูกลง และการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพราะการเดินทางสะดวกสบายขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง ช่วยลดการใช้รถส่วนบุคคล ทำให้ถนนว่างขึ้นในอนาคต หากไม่ทำแบบนี้ ก็จะไม่มีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ ที่น่าเสียดายวันนี้ก็คือ หลายคนก็ไม่เข้าใจ บางคนที่ไม่เคยเข้าใจ และก็พยายามที่จะไม่เข้าใจ ก็ไม่คิดจะเข้าใจ หรือพยายามที่จะไม่เข้าใจ แต่กลับปลุกปั่น ยุยง ใช้สื่อโซเชียลทำให้เกิดความแตกแยก นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์สังคมโดยรวมแล้ว ยังทำลายบรรยากาศในการสร้างชาติร่วมกันอีกด้วย
 

ทั้งนี้ หากมีความคิดต่าง ก็ควรหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด แต่ก็ดีกับทุกคน แต่ควรเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ไปแล้ว คนส่วนที่เหลือก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน อีกประเด็นก็คือ เราทุกคนต้องยอมรับความจริงว่า ในการแก้ปัญหาใด ๆนั้น ที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งอาจต้องอดทนลำบากในระยะแรก ๆ เพื่อปลายทางที่สดใสกว่า ดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไปชั่วลูกชั่วหลานเช่นในอดีตที่ผ่านมา นะครับ คนไทยต้องรักสามัคคีกัน ประเด็นดังกล่าว เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ ซึ่งมีกิจกรรมการจัดหาแหล่งน้ำ การสร้างระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ระบายน้ำ ขุดร่องน้ำ และการทำแก้มลิง ฯลฯ ทั้งนี้บางพื้นที่ไม่ยอมให้สร้างในพื้นที่ของตน แต่ก็ต้องการน้ำ หรือบางคนไม่ยอมให้สร้างเสาไฟ เดินสายไฟ ผ่านพื้นที่ของตน แต่ก็ต้องการใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน มันก็มีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น ทุกอย่างถูกผูกติดไว้กับผลประโยชน์ของตน เป็นหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ประชาชนเหล่านี้ ได้เข้าใจถึงการพัฒนาประเทศ และให้เขาได้รับเงินทดแทนในการเวนคืนที่เพียงพอ สามารถที่จะรับกันได้ทั้งสองฝ่าย คำถามคือ จำนวนเงินเท่าใด จึงจะเหมาะสม เพราะ ถ้าหากว่าต้องชดเชยมากเกินไป รัฐก็ไม่มีงบประมาณพอจ่าย ได้นะครับ หรือเรียกน้อยไป ก็เดือดร้อน ต้องหาความพอดี ร่วมกันให้ได้ ว่าจะอยู่ตรงไหนกัน
 

สำหรับ การลงทะเบียน ผู้มีรายได้น้อยคือ ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี หลายคน ก็พยายามไม่เข้าใจ ตัวเองก็พยายามไม่เข้าใจ พยายามวิพากษ์วิจารณ์กันไป มีทั้งคนรวย คนจน คนปานกลางในพื้นที่เหล่านี้พยายามไม่เข้าใจ กลับพยายามสร้างความแตกแยกภายในประเทศ แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย รัฐบาลเป็นรัฐบาลของทุกคนในประเทศไทย นะครับ มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ ไม่เว้นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย ฐานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นการบริหารบ้านเมืองเพื่อรักษา คะแนนนิยม ดังนั้น นโยบายนี้ มุ่งดูแลพี่น้องประชาชนตามโครงการผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่มตามโครงการ ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 8.3 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร 2.9 ล้านราย และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านราย ร้อยละ 50 เป็นผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท และร้อยละ 65 เป็นผู้ที่อายุ มากกว่า45 ปี จากข้อมูลสถิติเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการให้ความช่วยเหลือระยะยาว ยั่งยืน ต่อไปในอนาคต ทำให้พวกเขาเข้มแข็งให้ได้ นะครับ ซึ่ง ในช่วงนี้ ก็ลำบากอยู่ เราก็จำเป็นต้องช่วยดูแลเขา
 

ทั้งนี้ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลก็มีมาตรการต่าง ๆ หลายอย่างในการดูแล แก้ปัญหา ให้กับพี่น้องเกษตรกร อย่าเอามาพันกันระหว่างเกษตรกรกับผู้มีรายได้น้อยนะครับ ผมได้แยกแยะตั้งแต่ขั้นต้นแล้ว ทั้งมาตรการระยะสั้น เฉพาะหน้า และมาตรการระยะยาว สร้างความยั่งยืน อาทิ เช่น การบรรเทาความเดือดร้อน การปรับปรุงพฤติกรรมการปลูกพืช การส่งเสริม Smart Farmer การชะลอการขายข้าวเหล่านี้ เป็นต้น
 

บัดนี้ ถึงเวลาที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนกลุ่มอื่น ๆ บ้าง ก็ยากลำบากเช่นกัน เพราะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ภายในและภายนอกประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่บางคน ก็อาจจะคิดแคบ ๆ นะครับ บางคนอาจจะมองว่าใจร้าย จงใจสร้างภาพที่ผิด ๆ ทำลายความสามัคคีในหมู่คนไทยด้วยกันเอง โดยช่วยผู้อื่น ๆ ที่มีอาชีพอื่น ๆ ไปด้วย ทำให้กลายเป็นว่าไม่ไปช่วยเกษตรกร มีผู้ประกอบการอิสระอีกมากมายที่มีรายได้น้อย ดังนั้นเราถือว่าทั้งหมดมีความสำคัญต่อประเทศ ที่ต่างก็มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากปล่อยให้ปากกัดตีนถีบ หรือชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือไม่สร้างความเข้มแข็ง ถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสมและเร่งด่วน ประเทศชาติก็จะมีฐานรากที่สั่นคลอน แล้วเราจะเข้มแข็งได้อย่างไร
 

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียนโดยไม่ได้เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจริง ผมขอร้องว่าอย่าเพิ่มภาระให้กับประเทศชาติ ให้เจ้าหน้าที่ หรือสร้างความขัดแย้งให้กับเจ้าหน้าที่และรัฐบาล โดยไม่จำเป็นขอให้ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต้องมาแจ้งด้วยตนเอง นะครับ ขอให้ซื่อสัตย์กันไว้ด้วย ต้องซื่อสัตย์ ให้ผู้นำหมู่บ้าน ชุมชนรับรองไว้ด้วย
 

การแก้ไขระบบบริหารราชการ การทำความเข้าใจกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง 3 เรื่อง มีความสัมพันธ์กัน อย่างแยกออกไม่ได้ หากทุกคนเชื่อมั่นในกฎหมาย ไว้เนื้อเชื่อใจกันให้เวลาในการทำงาน เพื่อให้มีการพัฒนาประเทศ เราก็จะหลุดพ้นจากหลุมหรือกับดักต่าง ๆ ออกไปได้
 

ทั้งนี้ ในระหว่างที่การแก้ปัญหาต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จ ยังไม่เกิดขึ้น หรือเริ่มต้น หรือยังไม่ส่งผลทั้งระบบ แม้ปัญหาจะยังคงมีอยู่ แต่ก็จะค่อย ๆ ดีวัน ดีคืน ต้องขอความร่วมมือ และขอให้อดทน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า สำหรับใน กรณีที่สถานประกอบการ โรงแรม เกสเฮาส์ มีการ ต่อเติม สร้างผิดแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมจะ เร่งรัด ให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดมาตรฐานโดยเร็ว แล้วอย่าทำผิดกันอีก ต่อไป
 

สำหรับปัญหาการเมือง นักการเมืองที่ดีนั้น ผมขอชื่นชม มีมากกว่าที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ที่ไม่ดีก็มีทั้งที่เจตนา และไม่เจตนา สำหรับผู้ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ในอนาคตก็ต้องปรับปรุงตัวนะครับ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความโปร่งใส ปราศจากข้อสงสัยในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน เรา จะต้องมีนักการเมืองมือสะอาด ใจบริสุทธิ์ และมีความต้องการเข้ามารับผิดชอบในการแก้ปัญหาบ้านเมืองมากกว่าความปรารถนาเข้ามาบริหารงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ อย่างเหลื่อมล้ำ นะครับ ไม่เป็นธรรม ไม่ครบทุกเป้าหมาย แต่กลับโยนภาระ ต่างๆเหล่านั้น หน้าที่ ความรับผิดชอบทั้งหมด ให้กับข้าราชการประจำ โดยอ้างว่าเป็นงานฟังค์ชั่นอยู่แล้ว งานที่ทุกคนมีอยู่แล้ว มีกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งแม้จะมีความสำคัญมาก
 

อย่างไรก็ตามแต่ ก็ไม่น้อยไปกว่างานด้านนโยบายที่รัฐบาล ฝ่ายบริหาร ต้องติดตามกำกับดูแล การทำงานของหน่วยงานและข้าราชการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัตินะครับ เราต้องควบคุมอย่างทั่วถึง รวมถึงการลงโทษ ข้าราชการที่ทุจริต และ การให้ความดี ความชอบ ข้าราชการน้ำดี ไม่ใช่การบริหาร อยู่ห่าง ๆ ปล่อยให้เป็นเสรีการปฏิบัติของหน่วยงานเกินไป หรือผลักให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการทำตามแผนงาน หากเราไม่ กำกับดูแล และไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคในระดับนโยบาย หรือหวังเพียงจะเข้ามาชี้นำ ในกระบวนการต่าง ๆ ก็ต่อเมื่อมีประเด็นใดที่รัฐบาล นักการเมือง พรรคการเมืองได้รับผลประโยชน์คงไม่สมควร เพราะฉะนั้น ทุกรัฐบาล จำเป็นต้องรับผิดชอบ ทั้งในงานฟังค์ชั่น และงานนโยบายรัฐบาล เพราะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ จากทั้ง 2 งาน รัฐบาลนี้ทำงานอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำอย่างนั้น ซึ่งหากปล่อยปละละเลย ให้ข้าราชการทำงานไปเหมือนระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติแยกขาดจากกัน โอกาสผิดพลาดก็จะเกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามนโยบาย อาจเกิดขึ้นได้เสมอ สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องให้ข้าราชการรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารในการกำกับดูแลที่บกพร่องก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน มากน้อยว่ากันไป
 

ทุกวันนี้ และ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาล และ คสช. ก็พยายามจะทำให้ทุกอย่าง เข้าที่ เข้าทางในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม โดยรัฐบาล ข้าราชการ ควรจะอยู่ในจุดใด นะครับ บทบาทหน้าที่เป็นอย่างใด จะดูแลประชาชน พัฒนาประเทศ อย่างไรนั้น รักษาสมดุลระบบนิเวศน์อย่างไรนั้น ทั้งหมดคือ วงจรในการใช้อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุขเดินหน้าไปได้ มีการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในทุกกิจกรรม และมีการรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละละเลยจุดใดจุดหนึ่ง เพราะรัฐบาลนั้นเป็นผู้ใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญ ทำงานต่างพระเนตร พระกรรณ ด้วยการบริหารงานราชการ บริหารงบประมาณแผ่นดิน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากอดีต จนถึงปัจจุบัน และในอนาคต ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องรักษาพระราชอำนาจให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ และทำเพื่อประชาชน เช่นที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทำเสมอมา
 

สำหรับในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลอยากให้ทุกคนช่วยกันทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเรามีหลากหลายอาชีพ หลายระดับรายได้ ทั้งบุคคลและนิติบุคคล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานประกอบการและเงินทุน หากเป็นประชาชน ก็เป็นการประกอบอาชีพ อันสุจริต ด้วยความสมัครใจ บางอย่างอาจจะไม่ต้องใช้ฝีมือมากนัก อาจจะใช้เพียงประสบการณ์ ความชำนาญ ความคุ้นเคย แต่วันนี้การทำงานลักษณะนั้น รายได้อาจไม่เพียงพอ หากไม่มีการปรับตัว ไม่มี การพัฒนาตนเองไปสู่การมีฝีมือ มีความรู้ เป็นคนรุ่นใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ ในส่วนของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ก็ต้องมีการพัฒนาตนเองในด้านความรู้ เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจขนาดกลางก็จำเป็นต้องพัฒนาใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือ ให้ทันสมัยขึ้น โดยหาแหล่งเงินทุนทั้งจากรัฐบาลสนับสนุน และจากแหล่งอื่น ๆ ในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ ข้ามชาติ ก็ต้องช่วยรัฐบาล ช่วยประชาชน ผ่านกลไกประชารัฐหรือกลไกที่เป็นความริเริ่มของตนเอง ในการสร้างความเชื่อมโยง จากภาคประชาชน ธุรกิจในประเทศ ไปในห่วงโซ่ ของตนเองด้วย เพื่อจะยกระดับรายได้ เพิ่มมูลค่า ให้กับประชาชน สำหรับ สถานประกอบการ SMEs จะต้องมีรายได้มากขึ้น มีกำไรมากขึ้นโดยมีการเสียภาษีที่ถูกต้องให้กับประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่งบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในส่วนของรัฐ สวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุข และอื่น ๆ อีกทั้ง ประเทศไทย ยังต้องการงบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก ในการสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ อันได้แก่ การคมนาคมทั้งทางบก เรือ อากาศ นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นต้องสร้างเขตเศรษฐกิจ ระดับมหภาค เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ทั่วประเทศโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่น ๆ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกมหาศาล
 

ทั้งหมดนี้ ต้องการความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน สิ่งเหล่านี้ ก็จะเกิดเป็นผลสำเร็จในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชนและสถานประกอบการ ระดับต่าง ๆ เศรษฐกิจเข้มแข็งเติบโต ทั้งภายในและภายนอก และจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกไม่มากนัก นะครับ เพราะเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี พึ่งพาตนเองได้ และเข้มแข็ง ดังนั้น เราต้องกลับมามองที่ตัวเราเองว่า เราเข้าใจในประเด็นเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงพออย่างไร ทั้งประชาชนทั่วไป เกษตรกร อาชีพอิสระ ข้าราชการ พ่อค้า และอื่น ๆ นะครับ ว่าทุกคน คือ ห่วงโซ่ เศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ยึดโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
 

เราคงต้องมองการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และแก้ปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง เพิ่มการลงทุน ยกระดับตนเอง ในการพัฒนาความรู้ มีการรองรับความเสี่ยง มีพัฒนาฝีมือ รวมกลุ่มกันให้ได้นะครับ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีและดิจิทัล มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราจะปล่อยให้เทคโนโลยีดิจิทัล นำหน้าเราไปมากๆ เกินไป ไม่ได้ หากเราใช้ความรู้สึกเดิม ๆ ภูมิปัญญาแบบเดิม ๆ ในการดำเนินชีวิตต่อไป เราจะอยู่ ไม่ได้อีกต่อไป จะรู้ไม่เท่าทันโลก เราต้องรู้เท่าทัน เราต้องพัฒนาตัวเอง เราต้องพิจารณาว่า จะก้าวให้ทัน ก้าวไปพร้อม ๆ กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง ที่แวดล้อมเราอยู่ มีการพัฒนาและเจริญเติบโต ไปได้อย่างไร หากรายได้เราไม่พอ ยังมีหนี้สิน แต่ยังคงคิดแบบเดิม ๆ ไม่เรียนรู้ เราจะอยู่อย่างลำบาก รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณที่ควรจะได้จากความเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ของประเทศมาช่วยเหลือ มาจุนเจือ ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อีกต่อไป
 

ผมขอฝากข้อคิดเหล่านี้ด้วยนะครับ ซึ่งอยู่ในศาสตร์พระราชาแล้วทั้งสิ้น ขอให้ทุกคนช่วยตัวเอง และช่วยประเทศชาติไปด้วย รัฐบาลพร้อมที่จะแสวงหาวิธีการ สนับสนุนให้ทุกอย่าง เดินหน้าไปให้ได้ โดยการใช้สติปัญญา แก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เกิดประโยชน์ไม่คุ้มค่า ไม่ยั่งยืน เหมือนเช่นเคยที่ผ่านมา
 

พี่น้องประชาชนครับ
 

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกคน และเยาวชน ได้น้อมนำ ศาสตร์พระราชาโดยเฉพาะในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมมาปฏิบัติ ขอขอบคุณ กอ.รมน. ที่ได้ร่วมกับเสถียรธรรมสถาน ในการปลูกฝังลูกหลานไทย โดยนำเด็ก ๆ ทุกชาติ ทุกศาสนา ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย มาร่วมกันร้องเพลง "พระราชาในนิทาน” ซึ่งแสดง ให้เห็นถึงพระจริยวัตรอันงดงาม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และปวงชนชาวไทยทุกคน ซึ่งแตกต่างจากการดำรงตนของพระราชา ในเทพนิยาย ที่เด็ก ๆ คุ้นเคย พระองค์ทรงนั่งอยู่บนพื้นดิน ร่วมทุกข์กับประชาชน ทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จไปทุกหนแห่ง เพื่อดูแลพสกนิกรของพระองค์ เราทุกคนควรช่วยกัน ปลูกต้นไม้ในใจคน บ่มเพาะสิ่งดี ๆ เหล่านี้ลงในจิตใจเด็กเยาวชนไทยทุกคน เพราะจะเป็นพลังสืบสานพระปณิธานของพระองค์ท่านให้ดำรงอยู่ต่อไปคู่แผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน
 

อีกตัวอย่างของการทำดีเพื่อพ่อ ได้แก่ โครงการก้าวคนละก้าว ซึ่งนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ในการวิ่ง เพื่อระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธา ทั่วประเทศ มาช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นะครับ ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ในการจัดซื้อ ที่ยังขาดแคลน โดยออกวิ่ง จากกรุงเทพฯ ไป อ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวม 400 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 ธันวาคมนะครับ ก็อาจจะมีการติดขัดทางการจราจรอยู่บ้าง นอกจากจะเป็นการอุทิศแรงกาย แรงใจ ทำงานเพื่อสังคมแล้ว ก็ยังเป็นการออกกำลังเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนและประชาชน เป็นความคิดที่สร้างสรรค์นะครับ ของผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม ที่สำคัญเป็นการทำการกุศลที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด ใช้แรงกาย แรงใจ แต่ได้รับผลตอบรับมากที่สุด นะครับ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทุกคนด้วย นะครับ
 

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้