Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1864 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เวลา 20.15 น.
---------------------------------------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้ ผมอยากขอคุยในเรื่องเบาๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือการดูแลประชาชน ผู้มีรายได้น้อยอย่างไร ที่จะต้องควบคู่ไปกับการลงทุน เดินหน้าประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ การเดินหน้าสู่ 4.0 นั้น ไม่ใช่ไม่สนใจผู้มีรายได้น้อย แต่ก็จำเป็น ทั้งนี้เพื่อการขยายช่องทาง เปิดกว้าง เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยใช้ระบบดิจิทัล การใช้โทรศัพท์ สมาร์ทโฟน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ใช้ประโยชน์ ค้าขายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางมากนัก หรือใช้การผ่านพ่อค้าคนกลางแต่เพียงอย่างเดียว เราต้องมีผลประโยชน์เกื้อกูลกันทั่วหน้า สำหรับพี่น้องประชาชนตั้งแต่ระดับบน กลาง และฐานราก
ระยะแรก ประชาชน เกษตรกร ควรต้องมีการรวมกลุ่มอาชีพในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดช่องทางใหม่ มีผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นมวลรวม มีความสมบูรณ์ ควบคุมคุณภาพด้วยตนเอง เพื่อจะเพิ่มอำนาจในการต่อรอง ซึ่งเราคงไม่สามารถจะกดดัน หรือบังคับใครได้ ในระบบการค้าเสรีปัจจุบัน แต่เราจะปล่อยให้ทุกคนมองเพียงไร่นาของตัวเองเพียงอย่างเดียว คงทำอย่างนั้นไม่ได้อีกต่อไป เราจะต้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เกิดเป็นเกษตรแปลงใหญ่มีการกำหนดความต้องการของการใช้น้ำ ให้เป็นไปตามสภาพทรัพยากรน้ำที่เรามีอยู่ มีการคำนวณ ประมาณการ เพื่อให้สามารถจัดการปลูกพืชที่เหมาะสม เหลื่อมเวลา สอดคล้องกับตลาดรับซื้อ ทั้งบริโภคเองในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ผลผลิตทางการเกษตรของเรานั้น ไม่มีความชื้นมาก จนถูกตัดราคาโดยเฉพาะข้าว จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีเครื่องมือเป็นของตนเอง ในชุมชน ในกลุ่ม ในสหกรณ์ หรือในวิสาหกิจชุมชน รัฐบาลจำเป็นต้องหากลุ่มพลังของเกษตรกร เหล่านี้ให้เจอ ประชาชน เกษตรกร ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน น่าจะช่วยรัฐบาลตรงนี้ รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ก่อน มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีการขึ้นบัญชี จัดทำฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนการบริหาร และการกำหนดนโยบายของรัฐบาลด้วย ในปัจจุบันนั้น สหกรณ์มีอยู่กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรกว่า 4,000 แห่ง จำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยหากมีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ มีการลงทะเบียนที่ชัดเจน รัฐก็สามารถจะจัดสรรงบประมาณลงไปตรงจุด แก้ปัญหาอย่างมีระบบ ตรงตามเป้าหมาย และความต้องการ ซึ่งรวมทั้งการลดต้นทุน การจัดหาเครื่องจักร เครื่องสี เครื่องอบ เราไม่อาจแจกจ่ายทุกครัวเรือนได้ หรือจะแก้ปัญหาทุกอย่างรายครอบครัวได้ ประชาชน เกษตรกร จะต้องสร้างความเข้มแข็งของตนเองด้วย ตามคำแนะนำของรัฐบาล หน่วยงานราชการ เราคงต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกมาก
สำหรับหน่วยงานราชการของแต่ละกระทรวงที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศนั้น ทั้งศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้าง Smart Farmer เกษตรกรยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ เราต้องเฉลี่ยแบ่งปันกัน ถ้าเราแข่งขันกันเอง ลดราคา – ตัดราคา ไม่ช่วยกันทำยุ้งฉางเหมือนในอดีตบ้าง ไม่เก็บผลผลิตไว้ได้ ไว้กิน ไว้ขาย ไว้ทำพันธุ์ อะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ เราก็ไม่มีพลังในการต่อรองกับใครได้เลย ลองดูคนอื่นที่เขาทำไปแล้วประสบความสำเร็จบ้าง หลายกลุ่ม หลายหมู่บ้านเขาทำได้แล้ว กระทรวงเกษตรจะชี้แจงต่อไป
รัฐบาลนั้นเข้าใจ ถ้าหากว่าเราสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ระดับฐานรากได้นั้น ตรงกลาง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าคนกลาง ผู้รับซื้ออื่น ๆ ก็อาจจะสามารถผูกขาด ราคาได้ทั้งหมด เพราะเขาก็จำเป็นต้องหาพืชผลภาคเกษตรกรรมไปป้อนภาคอุตสาหกรรมตลอดเวลาในราคาที่ถูกที่สุด เพื่อมีผลกำไรมากที่สุดโดยไม่ผิดกฎหมาย หากว่าเราเข้มแข็ง พ่อค้าก็ต้องปรับตัว โรงสีก็ต้องปรับตัวไปด้วย ด้วยการมองประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ อาจจะต้องลดกำไรลงในช่วงนี้ เพราะพวกเราก็ต่างเป็นคนไทยด้วยกัน ก็จะแก้ปัญหาได้ครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การสร้างนวัตกรรม การตลาด ราคาทั้งห่วงโซ่ก็จะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ และกลไกการตลาดก็ต้องปรับตัวไปพร้อมด้วย ยกตัวอย่างการรวมกลุ่มน้อมนำศาสตร์ของพระราชา ในเรื่องของการระเบิดจากข้างใน ของมูลนิธิขวัญข้าว, สมาคมโรงสีข้าวสุพรรณบุรี และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ในการร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง คือ ข้าวตาเคลือบ เป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัด และผลิตในลักษณะข้าวปลอดปุ๋ยเคมี ปลอดสารเคมีฆ่าแมลง นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพชาวนาและผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่สำคัญก็คือเกษตรกรชาวนาสามารถร่วมมาเป็นหุ้นส่วน เพิ่มบทบาทตัวเองในห่วงโซ่จากผู้ผลิตเป็นผู้จำหน่ายได้อีกด้วย ในการปรับตัวเข้าหากันของทุกคน ในวงจรข้าว เพื่อจะช่วยพัฒนาตลาดข้าวไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับภาพรวมพื้นที่เป้าหมายสำหรับส่งเสริมในการปลูกข้าวในปี 2559 - 2560 คาดการณ์ว่าพื้นที่ ปลูกข้าวทั้งประเทศ 57.86 ล้านไร่ ในการปลูกข้าวนาปีนั้น รัฐบาลส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวด้วยพืช และปศุสัตว์ทดแทนทั้งสิ้น จำนวน 570,000 ไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น 420,000 ไร่ ส่งเสริมปศุสัตว์ 150,000 ไร่ ผลการดำเนินงานที่มีผลสำเร็จแล้ว สามารถปรับเปลี่ยนไปได้แล้วกว่า 350,000 ไร่ โดยได้ปรับเป็นเกษตรกรรมพืชอื่น 200,000 กว่าไร่ ปศุสัตว์กว่า 100,000 ไร่ สำหรับข้าวนาปรังฤดูกาลเพาะปลูกรอบที่สอง คาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 9.26 ล้านไร่ รัฐบาลก็มีแผนส่งเสริมปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน 2.52 ล้านไร่ และคงพื้นที่ปลูกข้าวไว้ 6.74 ล้านไร่ และในฤดูกาลเพาะปลูกรอบที่สาม คาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูก 500,000 ไร่ เราจะรณรงค์ให้ชาวนาพักแปลง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของเรานั้น ก็จะมีมาตรการส่งเสริมในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ลดและควบคุมราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ค่าเช่าที่นา เพิ่มคุณภาพ ส่งเสริมการรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำนาแบบปราณีต สนับสนุนการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี และบริหารจัดการน้ำชลประทาน รวมทั้งเครื่องจักรเครื่องกล การเกษตร
สำหรับความก้าวหน้าความสำเร็จตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลนั้น สามารถดำเนินการได้แล้วกว่า 600 แปลง ด้วยความร่วมมือของประชาชน เกษตรกร และกลไกประชารัฐ โดยไม่ได้บังคับ มีเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์แล้วราว 97,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 1.5 ล้านไร่ ยังเหลืออีกประมาณหลายล้านไร่ ถ้าหากเรารวมกลุ่มกันได้ รัฐบาลก็พอจะจัดหางบประมาณมาส่งเสริม เติมเต็มในส่วนที่ขาดได้ตรงความต้องการ ตรงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ หากเราต้องดูทั้งหมด ทุกกลุ่ม ทุกประเด็นปัญหา งบประมาณเราไม่เพียงพอ กระจัดกระจายกันมากเกินไป เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มกันได้นั้น นอกจากจะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเองแล้ว รัฐบาลก็ยังจะหาทางให้การสนับสนุนอย่างบูรณาการ เช่น กรณีสินค้าข้าวสามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยร้อยละ 13 และลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 19 นอกจากนั้นยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกร ในเรื่ององค์ความรู้, การบริหารจัดการ, การเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การแปรรูป,การเพิ่มพูนมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการตลาด เป็นต้น โดยแผนงานส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2560 มีเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 400 แปลงเพื่อจะเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นสากล ที่สำคัญก็คือเป็นไปตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดการรวมกลุ่มประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาหลักของชุมชนชนบท ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของสหกรณ์ ดังนั้น ในทุกพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนิน และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมา ไม่ว่าลักษณะใด จะทรงเน้นเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกัน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกัน หรือเพื่อให้การทำมาหากินของชุมชนโดยส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพอเพียง จะเห็นได้ว่ากลุ่มสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จหลายโครงการนั้น พัฒนาขึ้นมาจากการรวมตัวกันของราษฎรกลุ่มเล็ก ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับในเรื่องการใช้เทคโนโลยีทันสมัยดิจิทัลในตลาดออนไลน์ ไม่อยากให้คิดว่าเป็นการแย่งตลาด หรือเป็นการเกื้อกูลให้กับใคร หากแต่เป็นการเปิดช่องทาง สร้างเครือข่าย เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ อาทิ กลุ่มผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรควรปรับตัว ต้องเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันได้ เราก็จะสามารถกำหนดราคากันเองได้ เพื่อเป็นการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เราจำเป็นต้องสร้างระบบและนวัตกรรมของเราเองบ้าง ควบคู่ไปกับการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ยกตัวอย่าง การรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวอุตรดิตถ์ 24 ราย พื้นที่ 270 ไร่ มีผลผลิตรวมกว่า 150 ตันต่อปี ราคาขาย 50,000 บาทต่อตัน ภายใต้การสร้างแบรนด์ “เพชรคอรุม” ที่ดำเนินการ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาสู่การปฏิบัติ กว่า 14 ปี ใช้เวลายาวนาน เราต้องเร่งกันพัฒนา ทั้งในเรื่องของการรวมกลุ่มเป็นศูนย์ข้าวชุมชน และการคิดครบวงจร อันได้แก่ การทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด การผลิตเมล็ดพันธุ์และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอดสารพิษ ใช้เองภายในกลุ่ม การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิก การสร้างเครือข่าย การสร้างแบรนด์ และการตลาดเชิงรุก โดยาส่งขายกลุ่มลูกค้าออนไลน์และกลุ่มที่นำไปขายต่อ สามารถขายส่งกิโลกรัมละ 50 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 70 บาท เป็นต้น ในเกษตรอินทรีย์ ในการปลูกพืชที่ต้องอาศัยน้ำ เราจำเป็นต้องเข้าใจข้อมูลพื้นฐาน ทั้งเรื่องน้ำและระบบเก็บกักน้ำ ส่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีพื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานร้อยละ 20 หรือเพียง 30 ล้านไร่ ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานถึงร้อยละ 80 หรือราว 120 ล้านไร่ รัฐบาลไม่อาจสามารถหาน้ำได้สมบูรณ์ทั้งหมด แต่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบได้ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการใช้สอยของประเทศได้ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำป้อนภาคการผลิต น้ำให้ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ถ้าเราเก็บกักน้ำไม่ได้ ประชาชนมีการขัดขวางในเรื่องของการขุด การสร้างเขื่อนที่จำเป็น หรือการทำแก้มลิง หรือการทำทางระบายน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำมากขึ้น เราจะบริหารจัดการอย่างไร ไม่ให้ท่วม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน และเราจำเป็นต้องมีน้ำเหลือไว้ใช้ในยามแล้งอีกด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมากหรือน้ำน้อยก็ตามนั้น รัฐบาลก็จำเป็นต้องเข้าไปจัดระเบียบการใช้น้ำเป็นพื้นที่ ไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ก็จะพอบรรเทาความเสียหายทั้งหมดได้ ต้องปลูกพืชให้ลดหลั่น ลงมาตามน้ำที่มีอยู่ หรือทำเป็นปฏิทินการทำเกษตรกรรมของประเทศที่สอดคล้องกัน ทั้งมิติของประเภทพืช พื้นที่ ฤดูกาล ปริมาณน้ำ และตลาด โดยใช้ Agri Map แผนที่ทางการเกษตรเป็นเครื่องมือช่วยด้วย ร่วมกับคำแนะนำของทางราชการ ก็ทำให้ทุกอย่างแก้ปัญหาไปได้โดยเร็ว รัฐบาลยืนยันว่าเราจะต้องทำควบคู่ไปกัน ทั้งในเรื่องของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคนทุกคน และไว้ให้ใช้นานที่สุดในประเทศไทย โดยเราจะต้องรักษาสมดุลกับด้านพัฒนาในการดูแลคนไทยทุกกลุ่มทุกอาชีพ เราไม่ได้มีเกษตรกรอย่างเดียว เกษตรกรเลี้ยงคนทั้งประเทศ แต่ก็จำเป็นต้องมีหลายอาชีพ เราต้องดูแลด้วย
เรื่องการเก็บกักน้ำ ลองช่วยกันคิดดูว่าเส้นทางน้ำจากภาคเหนือ ไหลลงมาภาคกลาง แล้วก็ลงสู่อ่าวไทย โดยภาคเหนือตอนบนมีแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นระบบระบายน้ำ และมีเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ก็มีเพียงแม่น้ำเจ้าพระยา และเราก็ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สำหรับรองรับปริมาณน้ำจากภาคเหนือทั้งหมด ถ้าหากเราไม่มีระบบระบายที่ดีแล้ว ก็เสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ น้ำล้นตลิ่งอยู่เสมอ หากไม่สามารถจะน้อมนำแนวทางพระราชดำริศาสตร์พระราชาในเรื่องแก้มลิง มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาพื้นที่แก้มลิงไม่ได้ สร้างที่เก็บน้ำหรือเขื่อนไม่ได้ เราจะระบายไปที่ไหน เราจะกักเก็บน้ำไปที่ไหนในหน้าแล้ง เพราะฉะนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างที่ประชาชน ในส่วนของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วันนี้ก็เป็นปัญหาหลักของเรา เราก็เลยต้องอยู่กับธรรมชาติตลอดมา น้ำมากก็ท่วม น้ำน้อยก็แล้ง เราจะต้องคิดหาการบริหารจัดการให้ได้ เราก็ต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเดือดร้อนเหมือนเดิม หากเราไม่ได้สร้างความยั่งยืน และหากว่าเราปล่อยลงทะเลจนหมด หน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเก็บไว้ใช้
ถ้าหากมวลน้ำ ไหลจากภาคเหนือตอนล่าง – ภาคกลางตอนบน ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สู่กรุงเทพฯ เกินกว่าปริมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วเราระบายลงทะเลไม่ทัน ก็จะเกิดน้ำท่วม ทั้งกรุงเทพฯ ทั้งภาคกลาง เพราะเป็นพื้นที่ที่ต่ำ กักไว้รอเวลาเก็บเกี่ยวก็ท่วมแปลงเกษตร ปล่อยไปก็ไปไม่ได้ กักไว้นานก็เสี่ยง เราก็ต้องคำนวณให้สัมพันธ์กับภาวะน้ำทะเลหนุนด้วย เพราะว่าระบายไม่ออก รัฐบาลก็บอกว่าถ้าหากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พื้นที่น้ำท่วม ก็จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จาก 1.66 ล้านไร่ เป็น 4.12 ล้านไร่ หรือสร้างความเสียหายมากขึ้นจาก 25,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 150,000 ล้านบาทต่อปี
สิ่งเหล่านี้ คือ ความเสียหายจากน้ำท่วม – น้ำแล้ง ที่จะต้องเกิดขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะบริหารอย่างไรก็แก้ไม่ได้ หากประชาชนไม่ร่วมมือ ไม่เข้าใจ น้ำมากก็ไม่ให้ผ่าน น้ำน้อยก็เก็บกักไว้ ไม่ปล่อยไปที่อื่น ทุกคนก็เลยเดือดร้อนกันหมด บานปลาย ใช้งบประมาณมากมาย ทั้งการช่วยเหลือ ทั้งการฟื้นฟู ขอร้องให้ช่วยกันคิดหน่อยนะครับ รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่การแก้ไขอย่างยั่งยืนต้องทำทั้งระบบประชาชนต้องมีส่วนร่วม ข้อร้อง NGO และนักอนุรักษ์ก็ต้องพยายามมองในมุมนี้ด้วย ฉะนั้นผลงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านอนุรักษ์ อาจจะออกมาดีในสายตาโลกภายนอก แต่ประชาชนยากจน เกษตรกรเดือดร้อน พัฒนาไปด้วยไม่ได้ แล้วติเตือนให้รัฐบาลรับผิดชอบ ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไร เราทำอยู่แล้ว เราควบคุมธรรมชาติ ให้สามารถมีฝนตกมากหรือมีฝนตกน้อยก็ไม่ได้อีก ป่าไม้ก็ถูกทำลายไปมากในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่ฝนตกเลื่อนลงมาใต้เขื่อน ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเราก็เก็บน้ำไม่ได้ในเขื่อนเดิมที่เรามีอยู่ น้ำก็สะสมในพื้นที่นอกเขื่อนใต้เขื่อนเดิม แล้วก็เอ่อล้นไหลต่อลงมาภาคกลาง จนเกิดผลเสียตามที่ผมกล่าวไว้ในขั้นต้น
ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางไว้แล้วทั้งหมด เราได้ทำสำเร็จบ้างบางพื้นที่ ขณะที่บางพื้นที่ก็ทำไม่ได้ เประชาชนยังไม่เข้าใจ แล้วก็ด้วยปัญหาหนี้สินที่มีมายาวนาน มีการต่อต้านจาก NGO ร้องเรียนในโครงการที่น่าจะทำได้ และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลก็ทำไม่ได้ทั้งหมด เมื่อเดือดร้อนก็เรียกร้องจากรัฐบาล เราก็ได้แต่เพียงใช้เงินเยียวยาก็หมดไปอย่างสิ้นเปลือง แก้แค่ปลายเหตุเฉพาะหน้า ไร้อนาคต ไม่ยั่งยืน ช่วยกันคิดนะครับ เสนอมา รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกอย่าง ขออย่างเดียว ขอความร่วมมือ ที่ผ่านมาไม่ร่วมมือ ไม่เข้าใจนโยบายที่สร้างความเข้มแข็ง แก้ปัญหาแบบยั่งยืน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ หาน้ำ หาตลาด รวมทั้งให้รับซื้อผลผลิตในราคาสูง ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นอันตรายต่อการใช้นโยบายทางการเมือง แก้ปัญหาที่ปลายทางไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ รู้ดีอยู่แล้ว ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาวครบวงจร ปัญหาเหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ตราบลูกหลาน ผมยืนยัน ถ้าหากคิดเพียงแค่นี้ มองปัญหาเพียงผิวเผินแก้ปัญหาแบบวันหน้าทำใหม่ ไม่มีใครจะแก้ได้ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม รัฐบาลนี้สามารถแก้ปัญหาได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนเข้าใจ ไม่มีแรงต้าน และได้รับความร่วมมือ แต่มันก็ไม่ต่อเนื่อง เพราะต้องทำทั้งระบบครบทั้งวงจรน้ำของประเทศ การต้องปล่อย การระบายน้ำ จากพื้นที่หนึ่ง ไปสู่พื้นที่อื่น ด้วยระบบชลประทาน แก้มลิง เพื่อกระจายไปในพื้นที่ที่เตรียมไว้รองรับ แต่หลายพื้นที่ไม่ยอม ไม่ร่วมมือ แล้วจะแก้ปัญหากันได้อย่างไร อย่างไก็ตาม ผมก็ขอขอบคุณ สำหรับผู้ที่เสียสละ ช่วยให้บางพื้นที่แก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ต้องแบกภาระแทนพื้นที่อื่นๆ อยู่ครับ ขอให้คนอื่นช่วยกันด้วย
ในปัจจุบัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามแผนงานการบรรเทาอุทกภัย พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง และให้บรรจุไว้ในโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการต่อไป โดยจะแบ่งการปฏิบัติเป็น 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนี้ 1) การระบายน้ำฝั่งตะวันตก ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมี 23 คุ้งน้ำ ปรับปรุงช่วงแคบ 105 กิโลเมตร และตัดช่องลัด 4 แห่ง จะสามารถย่นระยะทางน้ำ จาก 50 กิโลเมตร เหลือ 10 กิโลเมตร เหมือนแนวทางพระราชดำริคลองลัดโพธิ์ รวมทั้ง การปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานเดิม ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ ถึงชายทะเล 2) การระบายน้ำฝั่งตะวันออก อาทิ การปรับปรุง – ขยายระบบชลประทานเดิม เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำขึ้น 2 เท่า จาก 200 เป็น 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที การปรับปรุงคลองชัยนาท – ป่าสัก ให้ระบายน้ำได้มากขึ้น 4 เท่า รวมทั้งการหาพื้นที่รับน้ำนอง และการขุดลอกปรับปรุงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น แผนงานดังกล่าว จะช่วยตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะช่วยให้แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน สามารถระบายน้ำได้ รวม 3,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แล้วก็จะมีพื้นที่เก็บกักน้ำหลาก ไว้ในคลองขุดใหม่ ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ ถึง 3.58 ล้านไร่ ใน 14 จังหวัด ขอความร่วมมือทำความเข้าใจนะครับ ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้อีก สำหรับความคืบหน้าตามโครงการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการ ทั้งระบบของรัฐบาลนี้ มีความคืบหน้าไปมาก เมื่อเทียบกับ 27 ปี (พ.ศ. 2530 - 2557) ก่อนที่รัฐบาลนี้ จะเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตามแนวทางพระราชดำริ ยกตัวอย่างเช่น 1) การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง 27 ปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏผลการดำเนินการแต่อย่างใด แต่นับจากปี 2557 ของรัฐบาลนี้ได้ดำเนินขุดแหล่งน้ำบาดาลแล้ว 2,500 กว่าแห่ง ผลิตน้ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่รับกว่า 157,000 ไร่ 2) บาดาลเพื่อการเกษตร 27 ปีที่ผ่านมา ทำได้เพียง 1,300 กว่าแห่ง ในขณะที่รัฐบาลนี้ ทำได้ 2,300 กว่าแห่ง ใน 2 ปี มีพื้นที่รับกว่า 122,000 ไร่ 3) ประปาหมู่บ้าน 27 ปีที่ผ่านมา ทำได้ 12,000 กว่าแห่ง 2 ปีของรัฐบาลนี้ ทำได้ 5,700 กว่าแห่ง และ 4) การป้องกันและลดการพังทลายหน้าดิน ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่อาจจะไม่เคยดำเนินการมาก่อน แต่ก็มีความสำคัญ ในวงจรน้ำและระบบการระบายน้ำ โดยรัฐบาลนี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ กว่า 670,000 ไร่ ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้จะพยายามทำต่อไปให้ได้มากที่สุด สำหรับเรื่องป่าที่ถูกบุกรุกต้องหยุดการแผ้วถางป่า ไม่ให้ใครบุกรุกใหม่ ช่วยกันปลูกป่าตามหลักวิชาการ พร้อมกับมีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกินไปด้วย อยู่ร่วมกับป่า ดูแลป่า ปลูกป่าชุมชน สร้างป่าเศรษฐกิจ จะต้องดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย รัฐบาลประกาศพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแล้วแล้วจำเป็นต้องเอาคืน ใช่ว่ายึดมาแล้ว ไม่สนใจประชาชน ก็ต้องหาหนทางเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน ไม่ช่วยใครที่อยู่เบื้องหลังการบุกป่า ไม่ว่าจะเป็นนายทุน ทุกคนต้องยอมรับกฎหมาย ที่มีมาหลายสิบปี ไม่สนใจ ละเลย การบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาในวันนี้ อาจทำให้บางคนเดือดร้อน ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็พยายามให้เดือดร้อนกันน้อยที่สุด โดยมีมาตรการรองรับ ใช้หลักนิติศาสตร์ – รัฐศาสตร์ - เศรษฐศาสตร์ อย่างสมดุล จะไม่ให้รัฐบาลทำอะไรเลย คงเป็นไปไม่ได้ ภาพที่สังคมเห็นตามสื่อ วันนี้ก็คือ ผู้เดือดร้อนที่เป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นเพียงส่วนใหญ่ สร้างความเสียหายน้อย ไม่มีศักยภาพ เมื่อเทียบกับนายทุน – ผู้มีอิทธิพล ใช้ประชาชนบังหน้า สร้างความเสียหายในวงกว้าง เพราะมีศักยภาพสูง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือนายทุนผู้มีฐานะ ต่างก็ต้องเคารพกฎหมาย อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน วันนี้ รัฐบาลพยายามรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย กลับมาสู่ครรลองของกฎหมายที่ถูกต้อง หากปล่อยปละ หากละเลยคนหนึ่งคนใด คนอื่นก็จะร้องเรียน เป็นปัญหา รักษาความยุติธรรมไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ในที่สุดครับ เรื่องการปลูกป่านี้ ผมขอชื่นชม ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ หรือ ที่คนไทยรู้จักในนาม “ดาบวิชัย” ซึ่งน้อมนำแนวทางพระราชดำริ “ปลูกป่าในใจคน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง แล้วเริ่มปลูกป่า ด้วย2 มือของเขาเอง กว่า 30 ปี โดยไม่สนว่าใครจะคิด หรือจะเข้าใจหรือไม่อย่างไร แต่ต้นไม้ 3 ล้านต้นที่เขาปลูกขึ้นมาแล้ว ได้เป็นแรงบันดาลใจของเยาวชนและคนไทยจำนวนมาก ในการทำดีเพื่อพ่อถวายในหลวง เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม กลุ่มอื่น ๆ ที่ช่วยกันอนุรักษ์ก็ขอชื่นชมไปด้วย
เรื่องการจัดระเบียบรถ – ที่จอดรถ – เส้นทางจราจร – การรับส่ง รวมทั้งการขายของบนทางเท้า ริมถนน ก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จริงแล้วไม่ใช่วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่แท้จริง หากแต่เกิดจากการปล่อยปละ ละเลย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนเกิดความเคยชิน นอกจากจะก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และความไม่เท่าเทียมในสังคมกับประชาชนกลุ่มอื่น ผู้ใช้เส้นทางสัญจรที่เขาไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย ควรได้รับความสะดวก แต่กลับถูกละเมิดสิทธิ โดยการกระทำที่ผิดกฎหมายแบบนี้ ถือว่าไม่เป็นธรรม ขอความร่วมมือด้วยไม่อยากให้อ้างว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย แล้วละเมิดกฎหมายได้ ทุกฝ่ายต่างเข้าใจและเห็นใจ รัฐบาลเองก็มีมาตรการรองรับ เช่น การจัดสรรพื้นที่ใหม่ที่ถูกกฎหมาย มีระเบียบ มีที่จอดรถ สะดวกทั้งผู้ซื้อ – ผู้ขาย ช่วงแรกก็อาจต้องปรับตัวยังขายไม่คล่อง เพราะว่ายังไม่คุ้นชินกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาใหม่ แต่ก็สามารถสร้างความสบายใจกว่ากับทุกฝ่าย รัฐบาลก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ก้าวหน้าไปโดยมีความเดือดร้อนน้อยที่สุด เราต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะรายได้น้อย รายได้สูงก็ตาม เราต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย แล้วก็รักษากฎกติกาที่ชัดเจนต่อไป
พ่อแม่พี่น้องชาวไทยทุกท่านครับ เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายปัญหาของประเทศ มีต้นตอของปัญหามาจากระบบการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของประเทศ รวมความไปถึงการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันประเทศไทยก็มีปัญหา “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่มีอยู่จำนวนมากกว่า 15,000 โรงเรียน ซึ่งกว่า 900 โรงเรียน มีนักเรียนน้อยกว่า 20 คน บางโรงเรียนมีนักเรียนเพียง 15 คน แต่มีครู 3 คน แต่รัฐบาลยังคงต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาและจัดหาสื่อการเรียนการสอน ให้กับทุกโรงเรียนที่ผ่านมา นับเป็นรากเหง้าของปัญหาครูไม่ครบชั้น นักเรียนได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำ การบริหารงบประมาณไม่คุ้มค่า ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัญหาสะสมกันมายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านเศษรฐกิจการเมือง และสังคมของประเทศ แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รัฐบาลนี้ แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้ชุมชน ที่โรงเรียนตั้งอยู่ ปรึกษาหารือกันเพื่อกำหนดโรงเรียนดีใกล้บ้าน หรือโรงเรียนแม่เหล็ก สำหรับเป็นโรงเรียนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มีคุณภาพการศึกษา ที่ดีและได้มาตรฐาน มีสัดส่วนครูที่เหมาะสม, มีสื่อการเรียนรู้ห้องเรียน สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ความสมบูรณ์ สำหรับโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว ก็จะให้ชุมชนตัดสินใจ การใช้ประโยชน์ต่อไปอาจเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก หรือศูนย์ฝึกวิชาชีพ สำหรับชุมชนต่อไปก็ได้ รัฐบาลก็จะเข้ามาสนับสนุน ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว 286 โรงเรียน และจะดำเนินการในปีการศึกษาหน้าอีก 309 โรงเรียน ส่งผลให้มีจำนวนครู เกือบ 2,000 คน จากโรงเรียนที่ถูกยุบ ย้ายไปสอนใน โรงเรียนดีใกล้บ้าน 310 โรงเรียน ทำให้โรงเรียนดีใกล้บ้าน มีครูเพิ่มเฉลี่ย 6 คนต่อโรงเรียน ทั้งนี้ จากผลการประเมินทราบว่า เด็กนักเรียน ผู้ปกครองมีความสุขมากขึ้น ผู้ปกครองมีความพึงพอใจ ขอขอบคุณผู้ปกครอง – ชุมชน ที่เข้าใจ และให้ความร่วมมือ รัฐบาลมุ่งหวังจะดูแลลูกหลานของท่านให้ดีที่สุดให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับเด็กที่เรียนอยู่ในเมือง หรือในโรงเรียนขนาดใหญ่ ให้มีความเท่าเทียมกันในอนาคต
สำหรับการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญในความสำเร็จของการพัฒนาการศึกษา ซึ่งรัฐบาล โดยคณะทำงาน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ได้ดำเนินงาน โดยอาศัยหลักการสำคัญ คือ การเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เด็กต้องสามารถวิเคราะห์และปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้ง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และระบบ ICT เข้ามาสนับสนุน โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ ที่ว่าจะอบรมโดยใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีสูงเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ไม่มีอะไรแทนคนสอนคน” แสดงให้เห็นว่าครู – อาจารย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะสอนคนให้เป็นคน คือ มีความรู้คู่คุณธรรม นอกจากการพัฒนาครูแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับผู้อำนวยการโรงเรียน – ผู้บริหารการศึกษาระดับต่างๆ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการร่วมกันพัฒนาการศึกษา ในแต่ละท้องถิ่นของตนเอง กลไกประชารัฐนั้น ที่มีผลกับการพัฒนาด้านการศึกษาพื้นฐาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก ภายใต้โครงการ คอน-เน็ก- อี-ดี (CONNEXT-ED) เพื่อจะดูแลโรงเรียนในช่วงแรก จำนวน 3,342 โรงเรียน และจะขยายผลให้ครบ 7,424 โรงเรียน ในปี 2560 เป็นโรงเรียนต้นแบบประชารัฐในทุกตำบล ทั่วประเทศ โดยการทำงานร่วมกันของผู้นำรุ่นใหม่กับผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งแผนการพัฒนาการศึกษา ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน และแผนการพัฒนาโรงเรียน โดย 12 องค์กรเอกชน ที่ร่วมโครงการจะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ โรงเรียนละ 500,000-1,000,000 บาท เพื่อยกระดับการศึกษาพื้นฐาน สู่มาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคต จะจัดตั้งกองทุนการศึกษาวิจัยในการเพิ่มศักยภาพ การส่งเสริมและพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา การค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ใน 4 ด้าน คือ Bio, Nano, Robotic และ Digital โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำรุ่นใหม่รองรับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยในระดับภูมิภาค และสอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ในการที่จะผลิตแรงงานมีทักษะฝีมือ ป้อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมของประเทศไทยเอง ผมย้ำว่าทุกความสำเร็จในการพัฒนาประเทศนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ อย่างจริงจัง เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ ด้วยการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา มีความเท่าเทียมกัน ผมขอความร่วมมือจากครู ผู้ปกครองทุกคน
สุดท้ายนี้ ผมขอชื่นชมจิตอาสา และทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันถวายพระเกียรติและร่วมกันทำดีเพื่อพ่อ ในการดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการเดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพ ณ พื้นที่ท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง การรวมพลัง เอาชนะความเสียใจ ความเศร้าโศก เพื่อเป็นพลังในทางสร้างสรรค์ และความร่วมมือนี้ ผมถือว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่คนไทยร่วมกันทำ ถวายในหลวงของเรา แม้ว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราขาดพลังขับเคลื่อน เพราะไม่สามัคคีกัน ทะเลาะ ขัดแย้ง ติดกับดักตัวเอง จนทำให้ประชาชนไม่ได้รับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และขาดการสร้างความเข้มแข็ง อย่างเป็นระบบระเบียบ เป็นเหตุให้เราย่ำอยู่กับที่ และอาจจะช้ากว่าที่ควรจะเป็นก้าวไม่ทันโลก ไม่ทันเพื่อน ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้อีกต่อไปไม่ได้ หากเรายังติดอยู่กับความคิดเดิม ๆ นิสัยเดิม ๆ ที่เป็นสะดวกนิยม จนมองข้ามความถูกต้อง ความมีวินัย และความเสียสละ ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด ขอให้พวกเราทุกคน ใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงตนเอง หันหน้าเข้าหากัน รู้ รัก สามัคคี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกัน
ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ครบ 30 วัน การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลคำนึงถึงการแสดงความอาลัย และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเดินหน้าประเทศอย่างราบรื่นต่อเนื่อง ได้ผ่อนผันให้ทุกภาคส่วนดำเนินกิจกรรมได้ ที่ผ่านมาก็ขอให้พิจารณาถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย และบรรยากาศของสังคมด้วย สำหรับเทศกาลวันลอยกระทงนี้ ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย สืบสานความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของการเดินทางสัญจร และในเรื่องของกิจกรรม ระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ หลายหน่วยงานได้อำนวยดูแลความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะของเรือโดยสาร ท่าน้ำ ท่าเรือ โป๊ะ และแหล่งน้ำในการลอยกระทง รวมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนโดยใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในการทำกระทงเพื่อมาลอยมาขายในครั้งนี้ รวมทั้งให้ความรู้แก่ลูกหลานในเทศกาลนี้อย่างถูกต้อง วัตถุประสงค์ก็เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา คงไม่ใช่เพียงมุ่งหวังแต่ความสนุกสนานรื่นเริงแต่เพียงอย่างเดียว ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุข สวัสดีครับ.
หมายเหตุ ดาวน์โหลดรายการย้อนหลัง MP3