กสทช.เผย ไทยใช้4G แค่1ปี ส่งผลดีเศรษฐกิจประเทศกว่า 3.26 แสนล้านบาท

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1718 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสทช.เผย ไทยใช้4G แค่1ปี ส่งผลดีเศรษฐกิจประเทศกว่า 3.26 แสนล้านบาท

กสทช.เผย ไทยใช้4G แค่1ปี ส่งผลดีเศรษฐกิจประเทศกว่า 3.26 แสนล้านบาท

กสทช.”เผยเปิดใช้4G 1ปีส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศกว่า 3.26แสนล.-พร้อมขับเคลื่อนปท.เข้าสู่ไทยแลนด์4.0

เมื่อวันที 2 พฤศจิกายน 2559 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กสทช.จัดประมูลคลื่นย่านความถี่ 1800 MHz จำนวน 60 MHz เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และคลื่นย่านความถี่ 900 MHz จำนวน 40 MHz ในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งภายหลังการประมูลเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา คลื่นความถี่ได้ถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย นับตั้งแต่เงินประมูลที่มีมูลค่าสูงถึง 232,730 ล้านบาทให้กับภาครัฐ ในระยะเวลา 4 ปี คือตั้งแต่ช่วง ปี 2559-2563โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ชำระไปแล้วในช่วงปีแรกรวมประมาณ 58,830 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐสามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมไปถึงการขยายโครงข่ายของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชนะการประมูล ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ก็มีแรงกดดันทางการแข่งขันให้มีการลงทุนและขยายโครงข่ายตามไปด้วย
ในด้านการลงทุนของผู้ประกอบการ ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2558 ที่ผ่านมา จนกระทั่งไตรมาส 2 ของปีนี้ การลงทุนในสินทรัพย์รวมของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักทั้ง 3 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 100,264 ล้านบาท ซึ่งนอกจากการลงทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากมีนัยสำคัญแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนของผู้บริโภค ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ก็มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น มีบริการ รายการ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มจาก 58.4 ล้านเลขหมายในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 เป็น 61.7 ล้านเลขหมายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) มีการผลิตและนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงเกือบ 20 ล้านเครื่อง คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 167,267 ล้านบาท

“ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนสามารถหารายได้แบบใหม่ได้เพิ่มมากขึ้นจากความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น เช่น การทำธุรกิจออนไลน์ หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4G-LTE เข้ากับงานที่ตนทำเพื่อประหยัดเวลาหรือเพิ่มผลงาน โดยเทคโนโลยี 4G-LTE สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ระบบธนาคารและการเงิน การศึกษา การรักษาพยาบาล และภาคบันเทิงอื่นๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินและธนาคาร ธุรกรรมแบบ mobile banking ได้เติบโตขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนธุรกรรมจากเดือนมกราคม 2559 มาเดือนมิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จาก 29 ล้านครั้งเป็น 43 ล้านครั้ง”

นายฐากร กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ในตลาดให้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศทางตรงกว่า 3.26 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีเม็ดเงินการลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท มูลค่าการผลิตและนำเข้าเครื่องโทรศัพท์เป็นมูลค่ากว่า 1.67 แสนล้านบาท และมีเงินรายได้จากการประมูลส่งรัฐในปีแรก 59,000 ล้านบาท สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมที่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปจะใช้อินเทอร์เน็ตไปประกอบกิจการค้าต่างๆ คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบมากกว่าทางตรง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการประมูล 4G มีส่วนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าใกล้ไทยแลนด์ 4.0 มากขึ้นอีกด้วย

แหล่งที่มา : มติชนออนไลน์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้